ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี
ใบปิดภาพยนตร์อย่างเป็นทางการ
กำกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
บทภาพยนตร์หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์
อำนวยการสร้างหม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา
คุณากร เศรษฐี
นักแสดงนำ
กำกับภาพสตานิสลาฟ ดอร์ซิก
ตัดต่อหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
หม่อมราชวงศ์หญิงปัทมนัดดา ยุคล
ดนตรีประกอบแซนดี้ แม็คเลลแลนด์
รอส คัลลัม
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล
วันฉาย25 มีนาคม พ.ศ. 2554
(รอบปฐมทัศน์)
28 มีนาคม พ.ศ. 2554
(รอบสื่อมวลชน)
30 มีนาคม พ.ศ. 2554
(รอบการกุศล)
31 มีนาคม พ.ศ. 2554
(รอบฉายทั่วไป)
ความยาว147 นาที
ประเทศประเทศไทย
ภาษาภาษาไทย
ภาษาพม่า
ภาษามอญ
ทำเงิน201.08 ล้านบาท (กรุงเทพ, ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่)
ก่อนหน้านี้ประกาศอิสรภาพ
ต่อจากนี้ศึกนันทบุเรง
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากสยามโซน

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี เป็นภาพยนตร์ไทย ภาพยนตร์ภาคที่สามในภาพยนตร์ชุด ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยในภาคนี้จะกล่าวถึงสงครามระหว่างไทยและพม่า เน้นฉากสงครามทางเรือ กำหนดฉายในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

นำแสดงโดย วันชนะ สวัสดี ผู้รับบท สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, วินธัย สุวารี, นพชัย ชัยนาม, สรพงศ์ ชาตรี, ฉัตรชัย เปล่งพานิช, จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์, นภัสกร มิตรเอม, ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ, อินทิรา เจริญปุระ และนักแสดงสมทบอื่น ๆ

ฉากสำคัญคือ ยุทธนาวี ประการแรกเป็นเรื่องความสมจริงและยิ่งใหญ่ของฉากที่สร้างจากประวัติศาสตร์ของชาติ ประการที่สองเป็นกลยุทธ์ทางการศึกและพระปรีชาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่สามารถเอาชนะข้าศึกที่มีกำลังพลมากกว่า โดยใช้กุศโลบายทางการรบที่เหนือชั้น ประการสุดท้าย คือความเสียสละของคนไทยที่มีน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการปกป้องบ้านเมืองให้พ้นจากอริราชศัตรู

เนื้อเรื่อง[แก้]

ในปีพุทธศักราช 2127 การประกาศเอกราชที่เมืองแครง ทำให้พระเจ้านันทบุเรงแห่งพม่าเกิดความประหวั่นพรั่นพรึงว่า อยุธยาในฐานะประเทศราชในขณะนั้นทำการเยี่ยงนี้อาจเป็นชนวนให้ประเทศราชอื่นๆ ตั้งตัวกระด้างกระเดื่องตาม แต่ด้วยติดศึกอังวะ จึงส่งเพียงพระยาพะสิมและพระเจ้าเชียงใหม่เข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา

กิตติศัพท์การชนะศึกของสมเด็จพระนเรศหลายครั้งหลายคราระบือไกลถึงแผ่นดินละแวก เจ้ากรุงละแวกมิได้ทอดธุระ ได้ลอบส่งจารชนชาวจีนฝีมือกล้านามว่า “จีนจันตุ” มาลอบสืบความ ที่กรุงศรีอยุธยาแต่ถูกจับพิรุธได้จนต้องลอบตีสำเภาหนีกลับกรุงละแวก สมเด็จพระนเรศทรงนำทัพเรือออกตามจนเกิดยุทธนาวี แต่พระยาจีนจันตุหนีรอดได้ เมื่อเจ้ากรุงละแวกได้ทราบกิตติศัพท์การณรงค์ของพระนเรศจึงเปลี่ยนพระทัยหันมาสานไมตรีกับอยุธยา และส่งพระศรีสุพรรณราชาธิราชผู้อนุชามาช่วยอยุธยาทำศึกหงสา หากแต่พระศรีสุพรรณผู้นี้ต่างจากเจ้ากรุงละแวกเพราะหาใคร่พอใจผูกมิตรด้วยอยุธยา การได้พระศรีสุพรรณมาเป็นสหายศึกจึงประหนึ่งอยุธยาได้มาซึ่งหอกข้างแคร่

ครั้งนั้นพม่ารามัญยกเข้ามาเป็นศึกกระหนาบถึง 2 ทาง ทัพพระยาพะสิมยกเข้ามาทาง ด่านพระเจดีย์สามองค์ เลยล่วงเข้ามาถึงแดนสุพรรณบุรี ส่วนพระเจ้าเชียงใหม่-นรธาเมงสอ มาจากทางเหนือ นำทัพบุกลงมาตั้งค่ายถึงบ้านสระเกศ แขวงเมืองอ่างทอง พระนเรศวรและกองทัพของพระองค์ได้วางแผนในการแยกสายเข้าตีทัพของพม่านั้นโดย แข่งกับเวลา หากช้าไปอยุธยาอาจแตกพ่ายก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังมีศึกรักระหว่างรบของคนสี่คน คือ พระราชมนู เลอขิ่น เสือหาญฟ้า และรัตนาวดี รวมถึงสถานะของพระสุพรรณกัลยาที่อาจต้องเป็นบาทบริจาริกาของพระเจ้านันทบุเรง ผู้ราชบุตรแห่งพระเจ้าบุเรงนองอดีตสวามีอีกด้วย

กองทัพพระยาพสิมยกเข้ามาถึงเมืองกาญจนบุรี (ถึงก่อนทัพเจ้าเมืองเชียงใหม่) สมเด็จพระนเรศวรทรงให้พระยาจักรียกทัพเรือไปยิงปืนใหญ่ดักข้าศึกแถว ๆ เมืองสุพรรณบุรี ทัพพม่าถูกปืนใหญ่แตกพ่ายหนีไป ต่อมาสมเด็จพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถยกทัพไปถึงตำบลป่าโมก ก็พบกับกองทัพพม่าซึ่งลงมาเที่ยวรังแกราษฎรทางเมืองวิเศษชัยชาญ จึงได้เข้าโจมตีจนทัพพม่าล่าถอยไป พระเจ้าเชียงใหม่จึงจัดกองทัพยกลงมาอีก สมเด็จพระนเรศวรจึงดำรัสสั่งให้พระราชมนูคุมกองทัพขึ้นไปลาดตระเวนดูก่อน กองทัพพระราชมนูไปปะทะกับพม่าที่บ้านบางแก้ว สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปถึงบ้านแห จึงมีดำรัสให้ข้าหลวงขึ้นไปสั่งพระราชมนูให้ทำเป็นล่าทัพกลับถอยลงมา แล้วพระองค์กับพระอนุชาก็รุกไล่ตีทัพพม่าแตกพ่ายทั้งทัพหน้าและทัพหลวงจนถึงค่ายที่ตั้งทัพของพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกษ ทัพของพระเจ้าเชียงใหม่จึงแตกกระจัดกระจายไป

เมื่อได้ค่ายที่บ้านสระเกศแล้วสมเด็จพระนเรศวรทรงติดตามพระเจ้าเชียงใหม่ขึ้นไปถึงนครสวรรค์ ทรงทราบข่าวว่าพระเจ้าเชียงใหม่นี้หนีไปอาศัยอยู่กับพระมหาอุปราชาที่เมืองกำแพงเพชรแล้ว หากติดตามไปอาจเสียทีพระมหาอุปราชาได้ จึงได้วางกำลังส่วนหนึ่งเป็นหน่วยลาดตระเวนเอาไว้ที่เมืองนครสวรรค์ แล้วยกทัพเสด็จกลับพระนคร

ตัวละคร[แก้]

ตัวละคร รับบทโดย
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วันชนะ สวัสดี
สมเด็จพระเอกาทศรถ วินธัย สุวารี
มณีจันทร์ ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ
พระราชมนู นพชัย ชัยนาม
พระเจ้านันทบุเรง จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์
มังกะยอชวา นภัสกร มิตรเอม
พระยาละแวก เศรษฐา ศิระฉายา
พระศรีสุพรรณราชาธิราช ดิลก ทองวัฒนา
เล่อขิ่น อินทิรา เจริญปุระ
เสือหาญฟ้า ดอม เหตระกูล
รัตนาวดี อคัมย์สิริ สุวรรณศุข
อังกาบ ศิรพันธ์ วัฒนจินดา
พระยาจีนจันตุ ชูชาติ ทรัพย์สุทธิพร
นรธาเมงสอ พระเจ้าเชียงใหม่ ชลิต เฟื่องอารมย์
มหาเถรคันฉ่อง สรพงศ์ ชาตรี
พระยาพะสิม ครรชิต ขวัญประชา
ไอ้ขาม ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ

งานสร้างภาพยนตร์[แก้]

ภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่กลับมาสานต่อความยิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยฉากสำคัญของภาคนี้คือ ยุทธนาวี ซึ่งเป็นฉากรบทางเรือ และยังไม่เคยปรากฏในภาพยนตร์ไทยเรื่องไหนมาก่อน[1]

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 3 ยุทธนาวี ทิ้งช่วงจากภาคที่แล้ว 4 ปี ก็คือ ภาพยนตร์นี้ถ่ายทำยากกว่าภาคก่อน ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่หนังภาคนี้ต้องมีสัตว์อย่าง ช้าง และ ม้า เข้าฉากเป็นจำนวนมาก ซึ่งยากมากต่อการควบคุม

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีฉากใหญ่ที่รบกันทางน้ำ ซึ่งการถ่ายหนังกันในน้ำจริง ๆ จะไม่สามารถควบคุมทิศทางลม และกระแสน้ำได้ ที่มาของ ตอน ยุทธนาวี นั่นมาจากเนื้อหาสำคัญส่วนหนึ่งในหนังภาคนี้คือการที่ พระยาจีนจันตุ ถูก สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จับได้ว่าเป็นสายลับให้เขมร จึงพยายามแล่นเรือสำเภาหนีการไล่ล่าของพระนเรศวร และเป็นสาเหตุให้การทำ ยุทธนาวี เกิดขึ้นในหนังภาคนี้ ซึ่งเป็นการรบกันกลางน้ำของกองเรือพิฆาตของสมเด็จพระนเรศวร กับ เรือสำเภาของพระยาจีนจันตุที่เข้ามาเป็นไส้ศึกยังกรุงอโยธยา โดยฉากรบทางเรือให้สมจริง นอกจากนี้ยังมีการสร้างเรือสำเภาจีนโบราณที่สามารถใช้งานได้จริง ลำเดียวในโลก เพื่อนำมาใช้สำหรับฉากนี้โดยเฉพาะอีกด้วย

เรือสำเภาจีนโบราณลำนี้ยาว 35 เมตร กว้างประมาณ 8 เมตร ความสูง 2 ชั้น 5 เมตร ใช้ฝีพาย 72 คน ประจำ 36 ช่องพาย ผู้ออกแบบใช้เวลาค้นคว้าข้อมูลจากพงศาวดารไทยและบันทึกประวัติศาสตร์ของต่างชาติที่เข้ามาในสมัยอยุธยานับร้อยเล่ม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ใช้เวลาในการสร้างและตกแต่งถึง 6 เดือน ด้วยงบประมาณกว่า 30 ล้านบาท โครงสร้างเป็นเหล็กและใช้ไม้ประกอบและตกแต่งทั้งลำ มีอายุการใช้งานกว่า 30 ปี โดยสามารถปรับเปลี่ยนเป็นเรือสำเภาแบบตะวันตกได้เพื่อนำไปใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ[2]

โดยครั้งแรก ความตั้งใจของผู้สร้าง คือ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ได้วางตัวให้ ฉี เส้าเฉียน รวมถึงแม้กระทั่ง หลิว เต๋อหัว 2 นักแสดงชาวฮ่องกงชื่อดัง เป็นผู้รับบทพระยาจีนจันตุ [3]

การออกฉาย[แก้]

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทอดพระเนตรภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 ณ โรงมหรสพหลวง ศาลาเฉลิมกรุง โดยมีผู้กำกับ คณะทำงาน นักแสดง และแขกผู้มีเกียรติ เฝ้าฯ รับเสด็จ โดยภาพยนตร์มีกำหนดฉายรอบสื่อมวลชนในวันที่ 28 เดือนเดียวกัน ณ พารากอนซีนีเพล็กซ์ สยามพารากอน[4]

นอกจากนี้ทางสหมงคลฟิล์มยังจัดฉายรอบการกุศลช่วยเหลือผู้ประสบภัยในญี่ปุ่น ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554 ณ โรงภาพยนตร์เวิลด์ แม็กซ์ สกรีน เอส เอฟ เวิลด์ ซีนีมา ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์[5]

ข้อแตกต่างจากประวัติศาสตร์[แก้]

เหตุการณ์การไล่ตามจับพระยาจีนจันตุนี้ เกิดขึ้นก่อนประกาศอิสรภาพที่เมืองแครงของสมเด็จพระนเรศวร และเกิดก่อนการสวรรคตของพระเจ้าบุเรงนองด้วย ซึ่งทาง ม.จ.ชาตรีเฉลิม ผู้สร้างก็ยอมรับในจุดนี้[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี
  2. ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สร้างเรือสำเภาจีนโบราณลำเดียวในโลกให้ฉาก ยุทธนาวี ยิ่งใหญ่สุดอลังการ
  3. "ผู้พันเบิร์ด ยอมผอม-ดำ เพื่อภาพยนตร์ยิ่งใหญ่". สนุกดอตคอม. 2 June 2008. สืบค้นเมื่อ 24 May 2014.
  4. สมเด็จพระราชินีทอดพระเนตร"พระนเรศวรภาค3ยุทธนาวี" จากคมชัดลึก เก็บถาวร 2011-05-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  5. ""ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 3" จัดรอบพิเศษช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-13. สืบค้นเมื่อ 2011-03-31.
  6. ข้อแตกต่างจากประวัติศาสตร์[ลิงก์เสีย] จากพันทิปดอตคอม

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]