ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา
หน้าปกดีวีดี
กำกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
บทภาพยนตร์หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์
อำนวยการสร้างหม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา
คุณากร เศรษฐี
นักแสดงนำ
ผู้บรรยายทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ
กำกับภาพณัฐวุฒิ กิตติคุณ
สตานิสลาฟ ดอร์ซิก
ตัดต่อหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
หม่อมราชวงศ์หญิงปัทมนัดดา ยุคล
ดนตรีประกอบริชาร์ด ฮาร์วีย์
แซนดี้ แม็คเลลแลนด์
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล
วันฉาย18 มกราคม พ.ศ. 2550
ความยาว167 นาที
ประเทศประเทศไทย
ภาษาไทย
ทุนสร้าง700 ล้านบาท (รวม 3 ภาค)
ทำเงิน219.06 ล้านบาท
(กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่)
ก่อนหน้านี้สุริโยไท
ต่อจากนี้ประกาศอิสรภาพ
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากสยามโซน

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา หรือ ภาคปฐมวัย เป็นภาพยนตร์ภาคแรกของภาพยนตร์ไตรภาคชุด ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นำแสดงโดย ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์, จิรายุ ละอองมณี, สุชาดา เช็คลีย์, โชติ บัวสุวรรณ, สรพงศ์ ชาตรี, ปวีณา ชารีฟสกุล, สมภพ เบญจาธิกุล, ฉัตรชัย เปล่งพานิช, สันติสุข พรหมศิริ, ไพโรจน์ ใจสิงห์, เกรซ มหาดำรงค์กุล บทภาพยนตร์และกำกับการแสดงโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

เนื้อเรื่อง[แก้]

พุทธศักราช 2106 พระเจ้าบุเรงนองแห่งอาณาจักรตองอูได้ตีหัวเมืองเหนือของสยามไล่มาตั้งแต่สุโขทัย, สวรรคโลก, และที่สองแคว ซึ่งที่พิษณุโลกสองแควนั้น พระมหาธรรมราชา (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) ผู้รั้งเมืองอยู่นั้นได้ขอความช่วยเหลือจากพระนครศรีอยุธยา แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากอยุธยา พระมหาธรรมราชาจึงแปรพักตร์ไปเข้าด้วยกับพระเจ้าบุเรงนองเพื่อร่วมกันโจมตีกรุงศรีอยุธยา โดยที่พระเจ้าบุเรงนองได้ขอเอาตัว พระนเรศ หรือ พระองค์ดำ (ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์) พระโอรสองค์โตในพระมหาธรรมราชาและพระนางวิสุทธิ์กษัตริย์ (ปวีณา ชารีฟสกุล) ไปเป็นตัวประกันในหงสาวดีโดยที่ให้สัตย์สาบานว่าจะเลี้ยงดูอย่างดีดุจพระโอรส

เมื่อทัพพิษณุโลกสองแควและหงสาวดีมาถึงอยุธยา ก็ต้องพบกับการต่อต้านอย่างหนักจากอยุธยา ด้วยเพราะมี พระราเมศวร (สถาพร นาควิลัย) พระโอรสพระองค์โตในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ศรัณยู วงศ์กระจ่าง) เป็นขุนศึกกล้าหาญชาญณรงค์สงครามทำการต่อต้าน แต่ทางสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเห็นว่าควรจะเจรจากับทางหงสาวดี เมื่อทั้งสองฝ่ายได้เจรจากัน พระเจ้าบุเรงนองได้ขอช้างเผือก 2 เชือกและขอตัวพระราเมศวรไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดีด้วยเช่นเดียวกับพระนเรศ โดยอ้างว่ายังมี พระมหินทราธิราช (สันติสุข พรหมศิริ) พระอนุชายังสามารถสืบราชสมบัติต่อไปได้

ที่นครหงสาวดี พระองค์ดำขณะเที่ยวชมตลาดโยเดียซึ่งเป็นชุมนุมชาวสยามที่ถูกต้อนมาจากอยุธยาที่นอกกำแพงเมือง ได้พบกับเด็กชายผมยาวเร่ร่อน (จิรายุ ละอองมณี) ที่ไม่มีแม้แต่ชื่อ ขณะกำลังขโมยของเพื่อหาอะไรกิน โดยมี ขุนเดช (ดี๋ ดอกมะดัน) เศรษฐีชาวสยามแปรพักตร์รังแก องค์ดำได้ช่วยเหลือเด็กชายไร้ชื่อคนนี้ไว้ และเด็กชายคนนี้ก็ได้สาบานว่าจะติดตามองค์ดำไปตลอด ขณะที่องค์ดำจะกลับเข้าพระราชวังได้พบกับขบวนของมังสามเกียด (โชติ บัวสุวรรณ) พระโอรสของพระมหาอุปราชานันทบุเรง (จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์) ผ่านมา มังสามเกียดและลักไวทำมู ทหารคนสนิท พยายามให้องค์ดำก้มคาราวะตนในฐานะเชลย แต่องค์ดำไม่ยอม ขณะเดียวกันกับที่พระเจ้าบุเรงนองเสด็จผ่านมาเช่นกัน และให้มังสามเกียดเป็นฝ่ายก้มกราบองค์ดำแทน ด้วยเห็นว่ามีศักดิ์สูงกว่า และให้องค์ดำมาฝึกวิชาที่วัดหน้าประตูเมืองกับ พระมหาเถรคันฉ่อง (สรพงษ์ ชาตรี) ในวันรุ่งขึ้น เมื่อทั้งคู่มาถึงก็ได้พบกับ มณีจันทร์ (สุชาดา เช็คลีย์) เด็กผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในวัด และได้พบกับพระมหาเถรคันฉ่องที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศัสตราวุธ พระมหาเถรคันฉ่องได้ให้องค์ดำบวชเป็นเณรและตั้งชื่อให้เด็กไม่มีชื่อนั้นว่า "บุญทิ้ง" ซึ่งพระมหาเถรคันฉ่องได้สั่งสอนสรรพวิชาและให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองแก่องค์ดำตลอดมา

ต่อมาความสัมพันธ์ระหว่างพิษณุโลกสองแควและอยุธยาเริ่มคลอนแคลนกันมากขึ้น เมื่อทางฝ่าย สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช (รอน บรรจงสร้าง) กษัตริย์แห่งล้านช้างได้ส่งพระราชสาสน์มาขอตัว พระเทพกษัตรี (ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์) พระธิดาพระองค์เล็กในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเป็นพระมเหสีด้วยว่าเป็นพระธิดาในสมเด็จพระสุริโยไท แต่ทางฝ่ายพระมหาธรรมราชาได้ลักลอบส่งสาสน์ไปบอกความยังพระเจ้าบุเรงนองให้มาชิงตัวไปในระหว่างทาง และเมื่อพระเทพกษัตรีมาอยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าบุเรงนอง พระนางก็ได้ปลิดพระชนม์ชีพตนเอง ยังความให้ทางฝ่ายอยุธยาและพระนางวิสุทธิ์กษัตริย์ไม่พอพระทัยในท่าทีของพระมหาธรรมราชาหนักขึ้น

ทางฝ่ายล้านช้างเมื่อสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชได้สูญเสียพระเทพกษัตรีไปแล้วนั้น ได้ยกทัพมาโจมตีพิษณุโลกสองแคว ทำให้ทางฝ่ายพระมหินทราธิราชเกิดความระแวงในตัวพระมหาธรรมราชาหนักยิ่งขึ้น เพราะเกรงว่านี่จะเป็นกลศึก การสงครามที่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชตีพิษณุโลกสองแควนั้นไม่สำเร็จ พระเจ้าบุเรงนองได้ส่ง พระยาพุกาม และ พระยาเสือหาญ สองทหารมอญเข้ามาช่วยไล่ตีด้วยเพราะความเป็นสัมพันธไมตรีกันระหว่างสองเมือง แต่พระยามอญทั้งคู่ทำการไม่สำเร็จ พระเจ้าบุเรงนองจึงมีคำสั่งให้ประหารชีวิต แต่พระมหาธรรมราชาที่เดินทางไปยังหงสาวดีด้วยได้ทูลขอชีวิตไว้

ขณะที่พระมหาธรรมราชาเสด็จไปยังหงสาวดีนั้น ทางฝ่ายพระมหินทราธิราชได้เสด็จมายังพิษณุโลกสองแควอัญเชิญตัวพระนางวิสุทธิ์กษัตริย์กลับไปยังอยุธยา ทางฝ่ายพระมหาธรรมราชาและพระเจ้าบุเรงนองที่ยังประทับอยู่ที่หงสาวดีทราบความดังนั้นก็พิโรธ ยกทัพของทั้งสองเมืองไปโจมตีอยุธยาพร้อมกัน แต่การสงครามครั้งนี้กลับยืดเยื้อนานกว่าที่คาดคิด จนเวลาล่วงไปเกือบปี ขณะเดียวกัน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ก็เสด็จสวรรคต พระมหินทราธิราช ได้ขึ้นเสวยราชย์เป็น สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้า ทางฝ่ายพระเจ้าบุเรงนองไม่อาจให้การสงครามยืดเยื้อมากไปกว่านี้ ออกญาจักรี (ไพโรจน์ ใจสิงห์) ขุนนางฝ่ายอโยธยาเก่าได้ทำอุบายแสร้งเป็นว่าสามารถหนีมาจากทัพหงสาวดีได้และเข้าไปในราชสำนักอยุธยาเสนอตัวเป็นผู้บัญชาการทัพเอง โดยที่สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าก็มิได้สงสัย ท้ายที่สุดออกญาจักรีก็เปิดประตูเมืองให้ฝ่ายหงสาวดีเข้ามาตีเมืองได้

เมื่อได้ชัยชนะแล้ว พระเจ้าบุเรงนองได้ให้พระมหาธรรมราชาขึ้นครองราชย์แทนเป็น สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และได้ขอเอาตัว พระสุพรรณกัลยา (เกรซ มหาดำรงค์กุล) พระธิดาองค์โตในพระมหาธรรมราชาและพระนางวิสุทธิ์กษัตรีย์กลับไปยังหงสาวดีพร้อมกับสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าด้วย ขณะเดินทางพระเจ้าบุเรงนองได้สั่งประหารชีวิตออกญาจักรีด้วยว่าเป็นคนที่ยอมหักหลังได้แม้กระทั่งเจ้านายเดิมของตน หากเลี้ยงไว้ก็จะไม่เป็นผลดี ต่อมาไม่นาน เมื่อมาถึงหงสาวดี สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าก็ประชวรและเสด็จถึงแก่สวรรคต

ขณะที่ฝ่าย องค์ดำ เมื่ออยู่ที่หงสาวดีได้รับการดูถูกตลอดเวลาจากฝ่ายมังสามเกียดและพรรคพวก โดยเรียกชื่อว่า ตองเจ หนักขึ้นถึงขั้นปองร้ายหมายเอาชีวิต องค์ดำจึงคิดหนีกลับพิษณุโลกสองแคว โดยขอให้สมเด็จพระสุพรรณกัลยา ซึ่งเป็นพระพี่นางเสด็จกลับไปด้วย แต่สมเด็จพระสุพรรณกัลยาไม่กลับ ด้วยทรงดำริว่าหากพระองค์ยังอยู่ที่หงสาวดีนี้ก็จะช่วยกราบทูลขอชีวิตองค์ดำจากพระเจ้าบุเรงนองไว้ได้ ทำให้องค์ดำ บุญทิ้ง และชาวสยามอีกจำนวน 300 คนหนีกลับไปได้สำเร็จ ในขณะที่มณีจันทร์ได้เข้าเป็นข้ารับใช้ในสมเด็จพระสุพรรณกัลยา

ข้อแตกต่างระหว่างประวัติศาสตร์กับภาพยนตร์[แก้]

  • สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งยังเป็นองค์ประกันประทับอยู่ที่หงสาวดีในวัยเยาว์ มิได้มีหลักฐานใดระบุว่าพระองค์ได้บวชเป็นเณร
  • พระเทพกษัตรีย์ได้ถูกชิงตัวระหว่างทางไปยังล้านช้าง และเมื่อไปถึงหงสาวดีแล้ว ก็ไม่ได้มีหลักฐานใดระบุว่า พระนางปลงพระชนม์พระองค์เอง เพียงแต่ไม่ได้กล่าวถึงอีกเลย
  • มณีจันทร์ บุคคลที่ปัจจุบันมีหลักฐานยืนยันว่าเป็นพระชายาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในภายหลัง เป็นบุคคลที่ไม่ทราบที่มาที่ไป แต่ในภาพยนตร์กำหนดให้นางเป็นธิดาลับของพระเจ้าบุเรงนองกับพระนางจันทรา ธิดาของสมิงสอทุต บุคคลที่ลอบปลงพระชนม์พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ซึ่งพระนางจันทราก็เป็นตัวละครสมมติขึ้นมาเช่นกัน[1]
  • ออกพระราชมนู ทหารเอกในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็ไม่มีที่มาที่ไปเช่นกัน แต่ในภาพยนตร์กำหนดให้เป็นเด็กชายกำพร้าผมยาวที่ถูกตั้งชื่อว่า บุญทิ้ง โดยพระมหาเถรคันฉ่อง และเป็นพระสหายกับพระนเรศวรตั้งแต่วัยเยาว์
  • พระมหาเถรคันฉ่อง เป็นพระภิกษุชาวมอญที่ปรากฏบทบาทภายหลังเมื่อครั้งที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง ไม่มีหลักฐานว่าเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในวัยพระเยาว์แต่ประการใด รวมทั้งไม่ได้เป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าบุเรงนองด้วย[2] การที่ผู้สร้างกำหนดให้พระมหาเถรคันฉ่องเป็นพระอาจารย์ของทั้งพระนเรศวรและพระเจ้าบุเรงนองนั้น เป็นการหยิบเอาลักษณะตัวละครมาจาก พระมหาเถรวัดกุโสดอ ในนวนิยายพงศาวดารเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ของยาขอบ
  • การสวรรคตของสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้านั้น มีหลักฐานระบุไว้สองกรณี กรณีแรกระบุว่า ทรงทำท่าทีกระด้างกระเดื่องต่อพระเจ้าบุเรงนองเมื่อครั้งตีอยุธยาได้สำเร็จ จึงให้สำเร็จโทษด้วยการถ่วงน้ำที่เมืองสระถุง[3] กรณีหลังระบุว่า ประชวรด้วยพระโรคปัจจุบันในระหว่างทางขณะเสด็จไปยังหงสาวดีและได้สวรรคตที่เมืองแครง[4] ในขณะที่ภาพยนตร์กำหนดให้ออกญาจักรีผู้ขายชาติถูกพระราชโองการพระเจ้าบุเรงนองให้ประหารชีวิตด้วยการถ่วงน้ำที่เมืองสระถุงแทน ส่วนในประวัติศาสตร์มิได้ระบุชะตากรรมภายหลังของออกญาจักรีไว้ และในภาพยนตร์ให้สมเด็จพระมหินทราธิราชถึงแก่สวรรคาลัยด้วยพระโรคปัจจุบันเมื่อถึงหงสาวดีแล้วแทน
  • ปัจจุบัน ไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่าระหว่าง สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้า กับ พระนางวิสุทธิ์กษัตริย์ องค์ใดเป็นพระพี่หรือพระน้อง ซึ่งในข้อมูลทั่วไปจะถือเอา สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้า เป็นพระเชษฐา แต่ในความเห็นของ สุเนตร ชุตินธรานนท์ นักวิชาการผู้ให้ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์แก่ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ผู้สร้างภาพยนตร์นั้น เห็นว่า สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้า น่าจะเป็นพระอนุชา แต่ในภาพยนตร์มีการเรียกสถานะของสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าเป็นทั้งพี่และน้อง ซึ่งถือเป็นข้อผิดพลาดประการหนึ่ง[5]
  • ในสงครามช่วงแรกของภาพยนตร์นั้น คือในปี พ.ศ. 2106 ถูกเรียกว่า สงครามช้างเผือก ในสงครามช่วงหลัง คือในปี พ.ศ. 2112 คือ สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1

อ้างอิง[แก้]

  1. [1]เก็บถาวร 2007-11-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ‘นเรศวร’ฉบับท่านมุ้ย - อาจารย์สุเนตร(ตอนที่ 1) โดย คำนูณ สิทธิสมาน
  2. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ภาคที่ ๒)
  3. หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า โดย สำนักพิมพ์แสงดาว-สร้อยทอง (พ.ศ. 2544) ISBN 9748789578
  4. "สมเด็จพระมหินทราธิราช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-21. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  5. สงสัยเรื่องพระมหินทราธิราช จากเว็บบอร์ดภาพยนตร์