ดอกไม้ทัด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หญิงชาวสยามไว้ผมปีก และทัดดอกไม้

ดอกไม้ทัด คือการนำดอกไม้ใด ๆ มาทัดระหว่างหูกับขมับเรียกว่าทัดดอกไม้[1] เพื่อความสวยงาม[2] บางกรณีอาจแฝงด้วยนัยบางประการ[3][4] ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา[5] หรือใช้เพื่อการลงโทษ[6] พบการทัดดอกไม้ได้ในหลายวัฒนธรรมทั่วโลก ในประเทศไทยมีการพัฒนาดอกไม้ทัดให้เป็นเครื่องประดับใบหู เรียกว่า จอนหู โดยทำจากวัสดุที่ทนทานแทน[7] ใช้เป็นเครื่องประดับสำหรับมนุษย์และสถาปัตยกรรมให้มีความสวยงาม[8]

ใน อักขราภิธานศรับท์ ระบุถึงคำว่า ทัด ไว้ว่า "ทัดดอกไม้, เหน็บดอกไม้ไว้ที่หู, ทรงดอกไม้. คือ คนเอาดอกไม้เหน็บไว้ที่หูนั้น, พวกเจ้าชู้ทัดดอกไม้เที่ยวเล่น"[2] ส่วนราชบัณฑิตยสภา ให้ความหมายไว้ว่า "สอดหรือเสียบสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ตรงซอกเหนือใบหู เช่น ผู้ที่รำสีนวลทัดดอกไม้ดอกโต เจ้าเงาะทัดดอกไม้แดง"[9]

นอกจากการทัดแล้ว ยังสามารถนำดอกไม้มาตกแต่งมวยผมได้ เรียกว่าการแซมดอกไม้ ถือเป็นเอกลักษณ์ด้านการแต่งกายที่โดดเด่นของชาวพม่าและชาวไทยวนทางตอนเหนือของไทย[10] แต่หากเป็นสตรีมีฐานะก็จะตกแต่งผมด้วยดอกไม้ไหวซึ่งทำมาจากทองเหลืองแทนดอกไม้สด[11]

ความหลากหลาย[แก้]

ประเทศไทย[แก้]

ชุดนักแสดงสวมชฎา จอนหู ทัดดอกไม้ และห้อยอุบะ

ในประเทศไทย มีการกล่าวถึงดอกไม้ทัด มาตั้งแต่ยุคอาณาจักรสุโขทัย ดังปรากฏใน ไตรภูมิพระร่วง อันเป็นเอกสารทางศาสนาไว้ ความว่า "...อันว่าฝูงผู้ชายอันอยู่ในแผ่นดินอุดรกุรุนั้นโสด รูปโฉมโนมพรรณเขานั้นงามดั่งบ่าวหนุ่มน้อยอันได้ยี่สิบปี มิรู้แก่มิรู้เถ้า เขาหนุ่มอยู่ดั่งนั้นชั่วตนทุก ๆ คนแล [...] แลแต่งแต่ตัว เขาทากระแจะแลจวงจันทน์น้ำมันอันดี แลมีดอกไม้หอมต่าง ๆ กัน เอามาทัดมาทรงเหล้น แล้วก็เที่ยวไปเหล้นตามสบาย..."[2]

ช่วงปลายอาณาจักรอยุธยา ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การที่หญิงนำดอกไม้มาทัดหู ถือเป็นกิริยาไม่งาม เพราะจะตกเป็นที่ครหาว่าเป็นหญิงนครโสเภณี แม้ว่าทัดแล้วจะสวยงาม หรือทัดภายในเหย้าในเรือนของตัวเองก็ตาม[3] ในวรรณคดีไทยช่วงอยุธยาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มักมีการกล่าวถึงตัวละครชายนำดอกไม้ทัดหูแล้วออกไปเกี้ยวจีบสาว[2] ใน กฎหมายตราสามดวง มีการใช้ดอกชบาทัดหูของผู้หญิงทั้งสองข้าง ถือเป็นการประจานหญิงชั่วที่คบชู้สู่ชาย[4] "...หญิงใดที่กระทำการมีชู้จะต้องโดนโทษทัณฑ์ด้วยการให้โกนศีรษะหญิงนั้นเป็นตะแลงแกง ทัดดอกชบาสองหู ขึ้นขาหย่างประจาน 3 วัน ในบางกรณีก็จะร้อยดอกชบาเป็นพวงมาลัยสวมคอหญิงชายที่ทำชู้นั้นด้วย..."[12] และมีบทลงโทษสำหรับชายหนุ่มที่ไปเที่ยวหญิงนครโสเภณี โดยมีบทลงโทษของหญิงนั้นไว้ว่า "...ส่วนหญิงอันร้ายให้เอาเฉลวปะหน้า ทัดดอกฉะบาทั้งสองหูร้อยดอกฉะบาแดงเป็นมาไลยใส่ศีศะใส่คอแล้วให้เอาหญิงนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง..."[6][13]

แม้จะมีนัยที่หลากหลาย แต่การทัดดอกไม้ยังปรากฏอยู่ในเครื่องแต่งกายของชุดการแสดงนาฏกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะโขน ซึ่งยังคงตกทอดการแต่งกายโบราณมาจนถึงปัจจุบัน[14] หรือการแสดงร่วมสมัยอย่างเพลงเต้นกำรำเคียว[15] เป็นต้น

ส่วนในท้องที่อื่น ๆ ของไทย ยังปรากฏการทัดดอกไม้อยู่ทั่วไป ดังในบันทึกของนายแพทย์ พอล นีส (Paul Neis) กล่าวถึงหญิงชาวเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2427 ไว้ว่า "...ผู้หญิงทุกคนทัดดอกไม้ที่หูและเสียบไว้ที่มุ่นมวยผม"[16] หากเป็นหญิงชาวบ้านจะปักผมด้วยดอกไม้สีอ่อน มีกลิ่นหอม และมีความหมายที่ดี ได้แก่ ดอกเอื้อง (กล้วยไม้) หอมนวล (ลำดวน) มะลิ สลิด สลับเวียนกันไป ด้วยถือว่าเป็นการบูชาขวัญแห่งตน ส่วนหญิงมีฐานะจะประดับผมด้วยดอกไม้ไหว ซึ่งทำจากวัสดุที่ทนทานกว่าดอกไม้สด[11] หญิงชาวอูรักลาโว้ยไว้ผมมวยและทัดดอกไม้ตามธรรมเนียม[17] ส่วนชาวมานิ หรืออาจเป็นที่รู้จักในนามเงาะป่า มีการทัดดอกไม้เพื่อความสวยงาม แต่มักเกิดภาพจำจากวรรณคดีไทย คือ สังข์ทอง และ เงาะป่า ทำให้คนภายนอกเข้าใจว่าพวกเขาชอบดอกไม้สีแดง ซึ่งไม่เสมอไป[18] และธรรมเนียมการอุปสมบทของชาวมอญสมุทรสาครและบางกระดี่ นาคจะแต่งกายคล้ายผู้หญิง มีการห่มสไบ ทัดดอกไม้ สวมต่างหู สร้อย กำไล แต่งหน้าทาปากให้สวยงาม[5]

ต่างประเทศ[แก้]

ในประเทศพม่า การทัดดอกไม้หรือการแซมดอกไม้ในมวยผมถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมพม่า สตรีวัยกลางคนเป็นต้นไปมักทัดดอกไม้เมื่อเกล้าผมมวย โดยมากจะใช้ดอกกุหลาบ และดอกมะลิ[19] แต่จะไม่ทัดด้วยดอกชบาโดยเด็ดขาด เพราะมีไว้ทัดหูคนตายเท่านั้น ในช่วงที่อองซานซูจีถูกกักตัวที่บ้านพักหลังถูกรัฐประหาร มีชาวพม่าจำนวนหนึ่งทัดดอกไม้ที่หู อันเป็นแสดงออกเชิงสัญลักษณ์สำหรับอวยพรวันเกิดแก่นาง[20] ตามธรรมเนียมการบวชนาคก่อนเข้าบรรพชาของชาวมอญ นาคจะแต่งกายคล้ายเจ้าชาย ได้แก่ สวมชฎา ทัดดอกไม้ ห่มผ้าแพร แต่งหน้าให้งาม สวมต่างหู สวมกำไลมือเท้า และนุ่งลอยชาย[5]

ในรัฐฮาวาย สหรัฐ สตรีพื้นเมืองมีธรรมเนียมการทัดดอกไม้ กล่าวคือ หญิงใดทัดดอกไม้ไว้ที่หูด้านซ้ายแสดงว่าสมรสแล้ว ตรงกันข้ามหากทัดดอกไม้ไว้ที่หูด้านขวาแสดงว่ายังโสด[21]

ในประเทศกัมพูชา ในชุดการแสดงนาฏกรรม ผู้แสดงจะมีการทัดดอกไม้และอุบะเช่นเดียวกับละครของไทย หากแต่ของฝ่ายกัมพูชาจะทัดดอกไม้และอุบะไว้คนละข้างซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับละครวังหน้าของกรุงสยามในอดีต ในขณะที่ฝ่ายไทยในปัจจุบัน โดยมากจะทัดดอกไม้และทัดอุบะไว้ข้างเดียวกันตามอย่างวังหลวง[22]

ในประเทศจีน มีการทัดดอกไม้มายาวนานทั้งผู้ชายและผู้หญิง ผู้ชายทัดดอกไม้แสดงว่าเป็นขุนนางตัวโปรดของฮ่องเต้ ส่วนผู้หญิงมีไว้เพื่อความสวยงามส่วนบุคคล และเป็นชุดสำหรับการแสดงอุปรากรจีน

ในประเทศอินเดีย ชาวโบรกปาซึ่งเป็นชุมชนดาร์ดกลุ่มหนึ่งที่นับถือศาสนาพุทธแบบทิเบตในลาดัก ชายและหญิงโบรกปามักตกแต่งเครื่องสวมศีรษะด้วยดอกไม้ บ้างก็ทัดดอกไม้เพื่อความสวยงาม[23]

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ทัดดอกไม้". ราชบัณฑิตยสภา. 10 กุมภาพันธ์ 2550. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 ญาดา อารัมภีร (29 ธันวาคม 2564). "จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ผู้ชายกับดอกไม้". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 "อย่าได้เอาดอกไม้ทัดหู เดี๋ยวเค้าจะหาว่า เป็น 'หญิงงามเมือง'". ไทยรัฐออนไลน์. 4 เมษายน 2561. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 Peeranat Chansakoolnee (11 พฤศจิกายน 2563). "'ดอกชบา' สัญญะเชิงชู้สาวในอดีต ที่กลับมาทำหน้าที่อย่างทันสมัยอีกครั้งในซีรีส์ Y ยุค 2020". Vogue Thailand. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 5.2 องค์ บรรจุน (13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566). "ธรรมเนียมแต่งสวยก่อนบวช". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  6. 6.0 6.1 เทพชู ทับทอง (13 ตุลาคม 2565). "ดูหลักฐาน "นครโสเภณี" ในไทย ความเสี่ยงของหนุ่มซื้อบริการยุคสุโขทัย ถึงหญิง "โคมเขียว"". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. นิรภัฎ ช้างแดง (15 กันยายน 2564). "SARRAN แบรนด์จิวเวลรี่ที่เล่าเรื่องหญิงไทยได้เก๋ไก๋ จนได้ไปอวดโฉมใน MV เพลง LALISA". The Cloud. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. "พระพุทธรูปทรงเครื่อง". พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. "ทัด". ราชบัณฑิตยสภา. 5 กรกฎาคม 2552. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. "เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๓ ประดู่ ประดอกไม้ประจำชาติของเมียนมาร์". อุทยานหลวงราชพฤกษ์. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. 11.0 11.1 อริสรา คงประเสริฐ. "การเกล้าผมตามแบบฉบับแม่หญิงล้านนา". กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. เฉลิมพล ตั้งศิริสกุล (11 กุมภาพันธ์ 2561). "ทำไมจึงต้อง 'ดอกทอง'". GQ Thailand. สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. ประพนธ์ เรืองณรงค์. เล่าเรื่องเมืองใต้ : ภาษา วรรณกรรม ความเชื่อ. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2550, หน้า 95-96
  14. "การแต่งกายยืนเครื่องโขน กรมศิลปากร" (PDF). กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. "การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว". 168 เอ็ดดูเคชั่น. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  16. สมโชติ อ๋องสกุล (มกราคม–มิถุนายน 2555). ล้านนา-บาหลี ความเหมือนความต่างและทิศทางสำหรับเชียงใหม่-เชียงราย (PDF). ร่มพยอม 14:(1). p. 25.
  17. กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลจังหวัดกระบี่. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่. 2564. p. 14.
  18. สุวิไล เปรมศรีรัตน์, ดร. และชุมพล โพธิสาร (2564). มานิ (ซาไก) ชนพื้นเมืองในภาคใต้ของไทย. ดำรงวิชาการ. p. 48.
  19. รายงานฉบับสมบูรณ์ ผลการศึกษาข้อมูลเชิงลึกในกลุ่มอุตสาหกรรม Wellness ที่มีต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย (PDF). มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย. 2555. p. 21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-07-21. สืบค้นเมื่อ 2023-04-27.
  20. วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา (15 กันยายน 2564). ""ไม่ใช่ว่าคอลเอาต์เพราะเป็นหน้าที่ดารา แต่เพราะสามัญสำนึกในความเป็นมนุษย์" – Daung นักแสดงพม่า". The 101 World. สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  21. "ฮาวาย รัฐที่ค่าครองชีพแพงสุด ในสหรัฐอเมริกา". ลงทุนแมน. 2 กันยายน 2563. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  22. สุรัตน์ จงดา (พฤษภาคม–สิงหาคม 2021). อิทธิพลละครวังหน้าในนาฏศิลป์กัมพูชา. วารสารพิพิธพัฒนศิลป์ 1 (2). p. 48.
  23. กรกิจ ดิษฐาน (3 ตุลาคม 2564). "Brokpa ชาวอารยันพุทธกลุ่มสุดท้ายแห่ง "โยนก"". โพสต์ทูเดย์. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)