กางเกงช้าง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วลาดีมีร์ นีคอลาเยวิช อานีซีมอฟ จิตรกรชาวรัสเซีย สวมกางเกงช้าง ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พ.ศ. 2558

กางเกงช้าง เป็นกางเกงขายาวทำจากผ้าฝ้ายที่พิมพ์ลวดลายรูปช้าง กับลายไทย ซึ่งสัตว์สัญลักษณ์และลวดลายเอกลักษณ์ของประเทศไทยลงผืนผ้าสีต่าง ๆ[1][2] มีลักษณะเด่นคือ เนื้อผ้านุ่มนิ่ม แห้งเร็ว ระบายอากาศได้ดี สวมใส่ได้อย่างสบายสำหรับภูมิอากาศร้อนชื้นในไทย กางเกงช้างมีหลายรูปแบบ ทั้งขาสั้น ขายาว ขาจั๊ม หรือกางเกงจินนี่[3] ใช้ผ้าสีโทนต่าง ๆ ตั้งแต่สีดำ แดง เขียว และขาว สามารถสวมเข้าชุดหรือเสื้อผ้าได้หลากหลาย[4] นอกจากนี้ยังสร้างเป็นผลิตภัณฑ์อื่นเพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลาย เช่น เป็นผ้าถุง หรือเป็นผ้าคลุม[5] กางเกงช้างเป็นที่นิยม โดยเริ่มจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ต้องการเยี่ยมชมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง ซึ่งกำหนดธรรมเนียมการแต่งกายที่เคร่งครัด นักท่องเที่ยวจึงต้องซื้อกางเกงช้างจากคนไทยเพื่อสวมทับเครื่องแต่งกายให้มิดชิดเหมาะสม[1][2][3][5][6] และเป็นที่นิยมมากขึ้นช่วง พ.ศ. 2565 หลังผู้มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งผู้ใช้ติ๊กต็อกสวมใส่กันอย่างแพร่หลาย[1][2][4]

ไม่เป็นที่ปรากฏชัดเจนว่าแหล่งผลิตกางเกงช้างแห่งแรกอยู่ที่ใด แต่คาดว่าน่าจะอยู่ในย่านพาหุรัด กรุงเทพมหานคร[4][6] ต่อมาใน พ.ศ. 2556 เนทาน โคลแมน (Nathan Coleman) และเจมส์ บรุกส์ (James Brooks) ได้เดินทางไปเที่ยวที่ประเทศไทย และได้ซื้อกางเกงช้างไปฝากเพื่อน ๆ ซึ่งถูกใจผู้รับ จากนั้นทั้งสองได้สร้างตราสินค้าของตนเอง ใช้ชื่อว่า The Elephant Pants โดยหาทุนดำเนินธุรกิจ และจ้างโรงงานที่จังหวัดเชียงใหม่ผลิตกางเกงช้าง ก่อนนำไปจำหน่ายผ่านเฟซบุ๊ก โดยรายได้ทุกร้อยละ 10 จะนำไปบริจาคองค์กรดูแลและปกป้องสัตว์ป่า ในระยะเวลาเพียงสองปี ทั้งสองทำรายได้ 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 230 ล้านบาท แต่ภายหลังตราสินค้าดังกล่าวถูกขายกิจการให้กับนักธุรกิจชาวจีน[7]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 ""กางเกงช้าง" คืออะไร รู้จักกางเกงช้างแฟชั่นยอดฮิต ไอดอลชื่อดังยังใส่". ไทยรัฐออนไลน์. 15 มีนาคม 2566. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 "กางเกงช้าง แฟชั่นกางเกงไทยกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ". The Standard. 5 มกราคม 2566. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 "เปิดที่มา 'กางเกงช้าง' ทำไมถึงดัง? ต่างชาติแห่ใส่กันเพียบ!". TNN Thailand. 15 มีนาคม 2566. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 "รู้จัก "กางเกงช้าง" แฟชั่น Streetwear สู่ Airport Look". ไทยรัฐออนไลน์. 8 ธันวาคม 2565. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 "กางเกงลายช้าง แฟชั่นลายไทยกับ นทท. ต่างชาติ". TNN Thailand. 13 มกราคม 2566. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 "'กางเกงช้าง' แฟชั่นฮิตนักท่องเที่ยว แต่ไม่คิดว่าจะขนาดนี้..." อมรินทร์ เทเลวิชั่น. 14 มีนาคม 2566. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. "รู้จัก The Elephant Pants แบรนด์ต่างชาติที่นำ "กางเกงช้าง" มาเพิ่มมูลค่า จนสร้างยอดขายได้ 200 ล้าน". Market Think. 12 มกราคม 2566. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)