เสื้อแขนหมูแฮม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงสวมฉลองพระองค์แขนหมูแฮม

เสื้อแขนหมูแฮม หรือ ขาหมูแฮม เป็นเสื้อของไทยที่ได้อิทธิพลจากเครื่องแต่งกายหญิงชาวยุโรปช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเสื้อเข้ารูปลายลูกไม้ มีลักษณะโดดเด่นคือบริเวณต้นแขนจะจีบพองฟู และค่อย ๆ แคบลงมาถึงข้อมือ[1][2]

เสื้อแขนหมูแฮมเป็นที่นิยมในราชสำนักสยาม ปรากฏครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2438[2]–2439[3] เป็นอิทธิพลที่ได้รับจากฉลองพระองค์ของเจ้านายฝ่ายในจากราชสำนักรัสเซียและออสเตรีย[1] บางแห่งว่าได้รับอิทธิพลจากอังกฤษยุควิกตอเรีย[4] ซึ่งเรียกลักษณะแขนเสื้อนี้ว่า Gigot sleeve หรือ Leg-of-mutton sleeve เป็นที่นิยมในหมู่สตรียุโรปช่วงต้นและปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19[5] ตัวเสื้อประดับประดาด้วยลายลูกไม้เต็มที่ คอเสื้อตั้งสูง เอวจีบเข้ารูปพอดีตัว แต่งระบายลูกไม้ มีแผงระบายลูกไม้คลุมไหล่และอก[2][6] แต่คงเอกลักษณ์เดิมเอาไว้คือนุ่งโจงกระเบน สะพายแพร ไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม สวมถุงเท้ายาว และสวมรองเท้าคัทชูหัวเหลี่ยมส้นเตี้ย หรือรองเท้าบูต[2][4] ยกเว้นเจ้าดารารัศมี พระราชชายาจะสวมเสื้อแขนหมูแฮมคู่กับการนุ่งซิ่นลุนตะยาอะฉิกเท่านั้น[6] นอกนั้นก็ประดับประดาไปด้วยเครื่องประดับ เช่น พัดแบบพับได้ของหญิงตะวันตก ต่างหูแบบหยดน้ำ สร้อยคอไข่มุกซ้อนกันหลายสาย ประดับเข็มกลัดพระนามาภิไธย พระนาม รูปดอกไม้ หรือสัตว์ โดยการแต่งกายนี้จะต้องใช้อัญมณีเข้าชุดกัน และเข้ากันได้กับสีของเครื่องแต่งกาย[2]

ในประเทศไทย ปรากฏการแต่งกายด้วยชุดลักษณะนี้ครั้งแรกในพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และภาพของเจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 5 และเป็นที่นิยมในราชสำนักฝ่ายในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[5] แต่ภายหลังได้สิ้นความนิยมลงในช่วงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[2] และเปลี่ยนไปสวมเสื้อแพรแขนยาวที่ไม่โปร่งตอนบนแบบแขนหมูแฮม[3]

พ.ศ. 2561 ปรากฏเครื่องแต่งกายของสมาชิกในมิวสิกวิดีโอ "เธอคือ...เมโลดี้" ของบีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ซึ่งประยุกต์ไปจากเสื้อแขนหมูแฮม โดยเรียกชุดนั้นว่า "Siam Lolita" ออกแบบโดยจาตุรณ แร่เพชร ด้วยการนำโทนสี ลายผ้า การสะพายแพร และเข็มกลัดแบบไทยไปผสมกับวัฒนธรรมการแต่งกายแบบโลลิตา[7] โดบบิณฑ์ บัวหมื่นชล ผู้กำกับมิวสิกวิดีโอนี้ กล่าวว่า "...อยากให้คนเห็นพัฒนาการความน่ารักแบบไทย ๆ ที่ไม่ต้องอยู่กับไทยเดิม แต่เป็นไทยประยุกต์ แนวคิดหลักมาจากญี่ปุ่นนั่นแหละ แต่ผมอยากได้ความเป็นไทยเพิ่มเข้าไป..."[8]

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "เล่าเรื่องเจ้านายกับชุดไทย แต่ละสมัยรับอิทธิพลจากไหนกันบ้าง". ศิลปวัฒนธรรม. 17 ธันวาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 ยุวดี วัชรางกูร (2560). "แฟชั่นสาวสยาม สมัยรัชกาลที่ ๕". พีพีทีวี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-20. สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 "ประวัติแต่งกายสุภาพ เปลือยอกถึง "เสื้อลูกไม้" และที่มาสมัยร.3 "สวมเสื้อเข้ามาก็ไม่โปรด"". ศิลปวัฒนธรรม. 11 กันยายน 2563. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 "จากเสื้อราชปะแตน สู่มาลานำชาติไทย สร้างเอกลักษณ์ใหม่ของชาติด้วยแฟชั่น". ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียล. 26 มกราคม 2562. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 "เสื้อแขนหมูแฮมนี่มาจากไหนคะ". Vogue Thailand. 5 กันยายน 2561. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 เพ็ญสุภา สุขคตะ, ดร. "ภูษาทรงเจ้าดารารัศมี". Museum Thailand. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. "คุยกับ บอล-จาตุรณ แร่เพชร คอสตูมดีไซเนอร์เบื้อหลังชุด Siam Lolita ของ BNK48". Time Out Thailand. 8 ตุลาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. อาสา คำภา (2565). รสไทย(ไม่)แท้: ถอดรูปทิพย์อาหารไทยในสนามการเมืองวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: มติชน. p. 349-350.