งูเหลือมอ้อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
งูเหลือมอ้อ
งูเหลือมอ้อหรืองูหัวกะโหลกที่สวนสัตว์พาต้า
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Reptilia
อันดับ: Squamata
อันดับย่อย: Serpentes
วงศ์: Homalopsidae
สกุล: Homalopsis
สปีชีส์: H.  buccata
ชื่อทวินาม
Homalopsis buccata
(Linnaeus, 1758)
ชื่อพ้อง
  • Coluber buccatus Linnaeus, 1758
  • Coluber horridus Daudin, 1803
  • Coluber monilis Linnaeus, 1758
  • Homalopsis horridus (Daudin, 1803)
  • Homalopsis monilis (Linnaeus, 1758)
  • Vipera buccata (Linnaeus, 1758)

งูเหลือมอ้อ หรือที่นิยมเรียกกันว่า งูหัวกะโหลก[2] (ชื่อวิทยาศาสตร์: Homalopsis buccata) เป็นงูพิษอ่อนชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์งูน้ำ (Homalopsidae)

อดีตเคยถูกจัดให้เป็นงูเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Homalopsis[3] แต่ปัจจุบันได้มีการจำแนกออกใหม่เป็น 5 ชนิด[4]

ลักษณะ[แก้]

งูเหลือมอ้อ เป็นสัตว์ชนิดแรก ๆ ชนิดหนึ่งที่ได้รับการอนุกรมวิธาน มีลวดลายสีน้ำตาลอ่อนที่ส่วนหัวแลคล้ายหัวกะโหลก อันเป็นที่มาของชื่อเรียก มีรูจมูกที่อยู่ด้านบนของส่วนหัวเพื่อสะดวกในการหายใจเมื่อขึ้นมาจากน้ำ เกล็ดที่ท้องมีพัฒนาการดี สามารถทำให้เลื้อยบนบกได้อย่างคล่องแคล่ว

มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 2 เมตร ในชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในน้ำ แม้กระทั่งตอนออกลูก ลูกงูแรกเกิดมีลายเหมือนตัวเต็มวัย แต่จะมีความต่างของสีมากกว่าโดยส่วนที่เป็นสีอ่อนในงูแรกเกิดมักเป็นสีชมพู เมื่อโตขึ้นสีจะเข้มขึ้นจนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ในงูขนาดใหญ่แทบจะไม่เห็นลายบนตัว

ถิ่นที่อยู่[แก้]

พบกระจายพันธุ์ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแหล่งน้ำ สำหรับในประเทศไทยพบได้ทุกภาค งูหัวกะโหลกมักจะอาศัยตามแหล่งน้ำนิ่ง น้ำไม่ไหลเชี่ยว ต่างกับพื้นที่ภาคใต้ที่มักจะอาศัยอยู่ในลำธารหรือโตรกธารน้ำไหล โดยจะหลบตัวอยู่ตามซอกหินเพื่อไม่ให้กระแสน้ำพัดพาไป หากินสัตว์น้ำและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเช่น ปลาทิลาเพีย ปลาหางนกยูง ปลาดุก ปลาไหลนา ปลาขนาดเล็กอื่น ๆ กบ หลากหลายชนิด ครัสเตเชียนน้ำจืด เป็นอาหาร โดยพฤติกรรมการล่าเหยื่อมีทั้งแบบซ่อนอยู่นิ่ง ๆ ให้เหยื่อเข้ามาหาเอง และบุกจู่โจมเหยื่อเอง ในที่เลี้ยงจะกินปลาซิว ปลาทอง ปลาหมอสีต่างๆ ปลามอลลี่ และ ลูกอ๊อด

พฤติกรรม[แก้]

เป็นงูที่มีนิสัยไม่ดุร้าย มีพิษที่อ่อนมาก ไม่ปรากฏว่าทำร้ายมนุษย์ได้ ผู้ที่โดนกัดจะมีแผลเพียงเลือดออกเท่านั้น จึงนิยมเลี้ยงกันเป็นสัตว์เลี้ยงสำหรับผู้ที่นิยมเลี้ยงสัตว์เลื้อยคลาน นอกจากนี้แล้ว งูหัวกะโหลกยังใช้ประโยชน์จากหนังบนหัวในเชิงอุตสาหกรรมเครื่องหนัง อีกด้วย[2] ที่เวียดนาม มีเกษตรกรรายหนึ่งได้เลี้ยงงูหัวกะโหลกเพื่อส่งขาย ทำรายได้ดี โดยมีราคาซื้อขายตั้งแต่ 80,000–100,000 ด่ง (3.8–4.7 ดอลลาร์) ต่อกิโลกรัม ในงูตัวเล็กน้ำหนัก 80–100 กรัม หรือราว 1 ขีด[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. จาก IUCN (อังกฤษ)
  2. 2.0 2.1 มนตรี สุมณฑา, งูหัวกะโหลก หรืองูเหลือมอ้อ (Homalopsis buccata (Linneaus, 1758)) คอลัมน์ Exotic Pets หน้า 152-155 นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 21 ปีที่ 2: มีนาคม ค.ศ. 2012
  3. "Homalopsis". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  4. John C. Murphy, Harold K. Voris, B.H.C.K. Murthy, Joshua Traub & Christina Cumberbatch. 2012: The masked water snakes of the genus Homalopsis Kuhl & van Hasselt, 1822 (Squamata, Serpentes, Homalopsidae), with the description of a new species. Zootaxa, 3208: 1–26. Preview
  5. "ชี้ช่องรวย.. เลี้ยงงูขายฟันกำไรปีละล้านไม่ยาก เกษตรกรเวียดนามไม่หวงวิชา". ผู้จัดการออนไลน์. 16 October 2014. สืบค้นเมื่อ 4 December 2014.[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Homalopsis buccata ที่วิกิสปีชีส์