งูพิษ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพวาดงูสมิงทะเลปากเหลือง (Laticauda colubrina) ซึ่งเป็นงูที่มีพิษร้ายแรงเป็นอันดับ 5 ของโลก และเป็นเพียงชนิดเดียวที่เป็นงูทะเล

งูพิษ (Venomous Snake) คือ งูประเภทหนึ่งที่มีพิษใช้สำหรับป้องกันตัวจากการถูกคุกคามหรือใช้ล่าเหยื่อ ซึ่งมีฤทธิ์ร้ายแรงแตกต่างออกไปตามชนิด, วงศ์ และสกุล ซึ่งร้ายแรงที่สุดสามารถฆ่าสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่กว่าให้ตายได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที

พิษของงูจะอยู่ที่บริเวณต่อมน้ำพิษ ในบริเวณฟันเขี้ยว ซึ่งใช้ผลิตน้ำพิษ ซึ่งลักษณะของต่อมน้ำพิษและโครงสร้างจะเกี่ยวข้องในการอนุกรมวิธานจำแนกชนิดของงู น้ำพิษของงูนั้นเป็นสารประกอบเชิงซ้อนของโปรตีนและสารเคมีประเภทอื่น น้ำพิษในแต่ละชนิดเป็นสารประกอบต่างกันและมีน้ำหนักโมเลกุลต่างกันมาก และเป็นกรณีที่ไม่สามารถอธิบายวิวัฒนาการของน้ำพิษได้ชัดเจน รวมทั้งยากต่อการวินิจฉัยประเภทน้ำพิษและการรักษาเมื่อถูกกัด

น้ำพิษของงูนั้นแตกต่างกันตั้งแต่เป็นสารประกอบโมเลกุลเล็กของเพปไทด์ที่มีกรดอะมิโนไม่กี่ชนิดไปจนถึงสารประกอบประเภทเอนไซม์ที่เป็นโมเลกุลเชิงซ้อน หรือเป็นสารประเภทโปรตีนที่ไม่ใช่เอนไซม์และมีน้ำหนักโมเลกุลมาก น้ำพิษของูจำแนกตามลักษณะโครงสร้างของเคมีและผลทางสรีรวิทยาที่เกิดขึ้น เช่น Hemolysin และ Hemorrhagin ทำลายเนื้อเยื่อบุผนังของหลอดเลือดและเซลล์เม็ดเลือดแดง Myotoxin ทำลายกล้ามเนื้อกระดูก Neurotoxin มีผลต่อจุดประสานของเซลล์ประสาทหรือตรงรอยต่อระหว่างกล้ามเนื้อกับแขนงประสาท เป็นต้น โดยทั่วไปแล้วน้ำพิษของงูในวงศ์งูพิษเขี้ยวหน้า (Elapidae) มีผลต่อประบบประสาทและน้ำพิษของงูในวงศ์งูหางกระดิ่ง (Viperidae) มีผลต่อระบบไหลเวียนและเซลล์เม็ดเลือดแดง อย่างไรก็ตามน้ำพิษของงูทั้ง 2 วงศ์นี้อาจส่งผลต่อทั้ง 2 ระบบก็ได้[1]

โดยทั่วไปแล้วความรุนแรงของพิษงูจะพิจารณาจาก 2 ปัจจัย คือ ความเข้มข้นของพิษ ซึ่งดูจากค่า Lethal Dose 50 (LD50) ที่ได้จากการทดลอง ฉีดพิษงูในระดับความเข้มข้นต่าง ๆ เข้าไปในเส้นเลือดดำของหนูทดลอง จนถึงระดับที่ทำให้หนูทดลองตายไปครึ่งหนึ่ง โดยค่า LD50 น้อย หมายถึง "พิษรุนแรง" ส่วนอีกปัจจัยคือ ปริมาณของพิษที่งูปล่อยออกมา นอกจากปริมาณพิษจะแตกต่างกันในงูแต่ละชนิดแล้ว ในการกัด งูก็ไม่ได้ปล่อยพิษออกมา เท่ากันทุกครั้ง เนื่องจากการสร้างพิษใหม่ต้องใช้เวลา การปล่อยพิษพร่ำเพรื่อจะทำให้พลาดโอกาสสำคัญในการล่าเหยื่อ หรือเสียท่าพลาดพลั้งให้ศัตรูได้ ในบางครั้งเมื่องูพิษกัดก็อาจจะไม่ได้มีการปล่อยพิษเลยก็ได้[2] และถึงแม้ว่างูจะถูกตัดคอเหลือแต่ส่วนหัวของงูยังมีชีวิตอยู่อีกเป็นชั่วโมงและสามารถกัดและพ่นพิษได้เช่นกัน [3]

กะโหลกของงูหางกระดิ่งในสกุล Crotalus แสดงให้เห็นถึงฟันเขี้ยวขนาดใหญ่

วงศ์งูพิษ[แก้]

ในปัจจุบันงูเป็นสัตว์ที่มีการจำแนกออกเป็นวงศ์หรือตระกูลได้ 18 วงศ์ แต่ที่เป็นงูที่มีพิษนั้นมีทั้งหมด 5 วงศ์ แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของฟันเขี้ยว คือ

  • วงศ์งูพิษเขี้ยวหน้า (Elapidae) มีฟันเขี้ยวขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นร่องหรือท่อกลวง จำนวน 1 ซี่อยู่ทางด้านกระดูกแมคซิลลาขนาดใหญ่และยาว และอาจมีฟันซี่เล็ก ๆ อีก 2-3 ซี่ต่อไปทางด้านท้าย โดยปกติแล้ว งูในวงศ์นี้ จัดว่าเป็นงูที่มีพิษร้ายแรง เช่น งูเห่า (Naja spp.), งูแมมบา (Dendroaspis spp.), งูไทปัน (Oxyuranus spp.), งูทะเล (Hydrophiidae)
  • วงศ์งูพิษเขี้ยวหลัง (Colubridae) ฟันเขี้ยวจะอยู่ทางด้านท้ายของกระดูกแมคซิลลา โดยมีช่องว่างตรงกลางระหว่างฟันซี่ใหญ่ทางด้านท้ายของกระดูกแมคซิลลากับฟันซี่เล็กทางด้านหน้าของกระดูกแมคซิลลา โดยปกติแล้ว งูในวงศ์นี้จัดว่ามีพิษอ่อนอ่อนที่สุดในบรรดางูพิษทั้งหมด
  • วงศ์งูหางกระดิ่ง (Viperidae) มีฟันเขี้ยวขนาดใหญ่เพียงซี่เดียวและเป็นท่อกลวงที่กระดูกแมคซิลลาเล็กซึ่งมีขนาดเล็กและสั้น ตัวฟันเขี้ยวถูกยกตั้งตรงได้จากการหมุนกระดูกแมคซิลลาตรงตำแหน่งของกระดูกฟรีฟอนทัล
  • วงศ์งูโพรงแอฟริกา (Atractaspididae) มีฟันเขี้ยวขนาดใหญ่ กระดูกแมคซิลลาเรียงตัวตามยาว ขากรรไกรล่างไม่มีกระดูกโคโรนอยด์ เป็นงูที่พิษร้ายแรง พบแพร่กระจายพันธุ์อยู่เฉพาะทวีปแอฟริกาเท่านั้น [4]
  • วงศ์งูน้ำ มีลักษณะโดยรวม คือ ช่องเปิดจมูกอยู่ทางด้านบนของหัวและมีแผ่นลิ้นปิด ตามีขนาดเล็กและอยู่ทางด้านบนของหัว ช่องเปิดของท่อลมยืดยาวไปในโพรงจมูกได้ ทำให้หายใจได้ตามปกติเมื่อโผล่เฉพาะช่องเปิดจมูกขึ้นเหนือน้ำ บนหัวมีแผ่นเกล็ดนาซัลใหญ่กว่าแผ่นเกล็ดอินเตอร์นาซัล ฟัน 2–3 ซี่อยู่ทางด้านท้ายของขากรรไกรบนขยายใหญ่เป็นฟันเขี้ยวที่มีร่องอยู่ทางด้านหน้า แต่ส่วนใหญ่ใต้ท้องของงูวงศ์นี้จะไม่มีเกล็ดขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแต่จะมีเกล็ดที่ขนาดเท่ากับเกล็ดบนส่วนอื่นๆของลำตัวซึ่งทำให้เลื้อยบนบกได้ลำบาก งูในวงศ์นี้จัดว่ามีพิษอ่อนอ่อนที่สุดในบรรรดางูพิษทั้งหมด[ต้องการอ้างอิง]

งูที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก[แก้]

ได้มีการจัดอันดับงูพิษที่มีพิษร้ายแรงสุดในโลก 10 อันดับ ดังนี้[5]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

อ้างอิง
  1. วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, 2552: หน้า 399-400
  2. สวัสดีปีงู: ตอนเจ้าแห่งอสรพิษ โดย รักฉัตร เวทีวุฒาจารย์, "Cover Story". หน้า 1-2 สาระวิทย์: ฉบับที่ 2 พฤษภาคม 2556 ISSN 2286-9298
  3. "อุทาหรณ์เปิบพิสดาร!งูหัวขาดฉกเชฟจีนดับ..." โพสต์ทูเดย์.[ลิงก์เสีย]
  4. วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, 2552: หน้า 411
  5. "10 อันดับ งูที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก". ท็อปเทนไทยแลนด์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-14. สืบค้นเมื่อ 2011-12-29.
บรรณานุกรม
  • เลาหะจินดา, วีรยุทธ์ (ธันวาคม 2552). วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ISBN 978-616-556-016-0.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]