ข้ามไปเนื้อหา

กำจร สถิรกุล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กำจร สถิรกุล
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ดำรงตำแหน่ง
14 กันยายน พ.ศ. 2527  – 5 มีนาคม พ.ศ. 2533
ก่อนหน้านายนุกูล ประจวบเหมาะ
ถัดไปนายชวลิต ธนะชานันท์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด19 สิงหาคม พ.ศ. 2476
อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
เสียชีวิต9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 (77 ปี)
ศาสนาพุทธ
คู่สมรสพาณี สถิรกุล

กำจร สถิรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 11[1] และเป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[2]

ประวัติ

[แก้]

นายกำจร สถิรกุล หรือ ดร.กำจร สถิรกุล เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2476 ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรคนที่ 4 จาก 5 คน ของนายส่อง และนางห่วง สถิรกุล เกิดในครอบครัวคหบดี มีบรรพบุรุษเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว แซ่เฮง (หวัง) นายส่องผู้เป็นบิดาเสียชีวิตตั้งแต่นายกำจรยังเล็ก นายกำจรย้ายเข้ามาเรียนที่กรุงเทพในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย มีผลการเรียนดีเลิศ สอบชั้นมัธยม 6 ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 30 ของประเทศ สอบเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาที่คณะบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นรุ่นที่ 10 ของคณะ และได้รับทุนศุลกากรไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีและโทด้านเศรษฐศาสตร์ที่ มหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกาก่อนเดินทางกลับประเทศไทยมารับราชการที่กรมศุลกากร ต่อมาได้สมรสกับคุณพาณี คุณวิศาลซึ่งได้พบรักกันขณะที่มาช่วยดูงานด้านการเงินที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยสาขาเพลินจิต และย้ายเข้ามาอยู่บ้านหลังแรกที่ซอยมั่นสิน มีบุตรชายหนึ่งคนคือนายสาธิษฐิ์  สถิรกุล จนเมื่อพ้นจากการรับราชการจึงได้ย้ายมาอยู่ที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี หลาน นส ภัทร์ณิชา สถิรกุล และ นาย ภวัต สถิรกุล

งานอดิเรก

[แก้]

การสะสมพระเครื่อง

[แก้]

ดร.กำจร สถิรกุล สนใจในพุทธศิลป ชื่นชอบการแสวงหาพระเครื่องมาสะสม นายกำจรจะพกแว่นขยายสำหรับส่องพระเครื่องติดตัวและใช้เวลายามว่างเดินชมตลาดพระเครื่องอยู่เสมอจนเป็นที่รู้กันดีในหมู่เพื่อนและคนสนิท พระเครื่องที่นายกำจรเช่ามานั้นแม้จะชอบแต่นายกำจรก็ไม่ได้ยึดติดหรือหวงและมักมอบให้ผู้อื่นเป็นของขวัญหากเห็นว่าจะมีคุณค่าหรือเป็นประโยชน์แก่ผู้นั้น ในงานฉลองวันเกิดอายุครบ 72 ปี นายกำจรยังได้นำพระเครื่องที่สะสมไว้กว่าหนึ่งพันองค์แจกให้ผู้มาร่วมงาน นายกำจร เคยร่วมสร้างจตุคามรามเทพรุ่นแรกๆก่อนที่จะได้รับความนิยม โดยมอบพระปิดตาพังพระกาฬให้เพื่อเป็นต้นแบบ

พระสมเด็จพิมพ์นิยม พระกริ่ง พระหลวงพ่อทวด และ ของเก่า ๆ ที่น่าสนใจ

งานภาพวาดสีน้ำมัน

[แก้]

ดร.กำจร สถิรกุล เริ่มวาดภาพสีน้ำมันตั้งแต่สมัยที่เรียนอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแต่ไม่ได้มีโอกาสวาดอีกเลยจนหลังเกษียณอายุราชการจึงได้เริ่มวาดอีกครั้ง งานภาพนามธรรมสีนำมันของนายกำจรเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมงานศิลปะรวมไปถึงนักธุรกิจและผู้บริหารของธนาคารและสถาบันการเงิน นายกำจรได้วาดภาพไว้ทั้งสิ้นราว 600 ภาพและเกือบทั้งหมดได้มอบให้นำไปประมูล โดยรายได้จากการประมูลทั้งหมดได้นำไปบริจาคเพื่อการกุศลแก่หน่วยงานที่ทำประโยชน์แก่สังคม อาทิ มูลนิธิรัฐบุรุษฯ มูลนิธิ TISCO[3] โรงพยาบาลชลประทาน โครงการสร้างบ้านให้พ่อหลวง (ปากพนัง) โครงการเด็กออทิสติก โรงเรียนสาธิตเกษตร รวมทั้งสิ้นเป็นมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท

ปัจจุบันจัดแสดงภาพอยู่ใน art gallary ของ EGCO,TISCO, Bank of Thailand.

ประวัติการทำงาน

[แก้]

ดร.กำจร สถิรกุล เริ่มงานครั้งแรกเข้ารับราชการที่กรมศุลกากรเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ  สร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการพิกัดอัตราศุลกากร อีกทั้งนำทีมเจรจา GATT และเวทีสำคัญอื่น ๆ มากมาย จึงได้รับการปรับเลื่อนขั้นอย่างต่อเนื่องจนถึงตำแหน่งรองอธิบดีด้านบริหาร ก่อนจะย้ายไปเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และที่สุดได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนอำลาวงการราชการ ในปี พ.ศ. 2536

ประวัติการทำงานโดยสรุป

[แก้]

[4]

พ.ศ. 2500 นักเรียนเก่าดีเด่น วชิราวุธวิทยาลัย/ ได้รับทุน กพ. ไปเรียนต่อ ป ตรี/โท/เอก ที่ The University of Michigan, Ann Arbor, USA / ได้รับเลือกเป็นประธานนักเรียนไทย
พ.ศ. 2515  ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกในสภานิติบัญญัติ
พ.ศ. 2517 ได้รับเลือกเป็นสมาชิกในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
พ.ศ. 2506 – 2527 เป็นกรรมการในคณะกรรมการพิกัดอัตราศุลกากร
พ.ศ. 2520 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการปิโตรเลียมภายใต้ พ.ร.บ. การปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
พ.ศ. 2522 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2522 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2524 ได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการบริหารของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
พ.ศ. 2525 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการของบริษัทการบินไทย จำกัด
พ.ศ. 2525 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการของธนาคารแห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2525 ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
22 เม.ย. พ.ศ. 2528 ได้รับแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิก
8-11 ต.ค. พ.ศ. 2528 เข้าร่วมการประชุมสภาผู้ว่าการฯ ประจำปี 2528 ณ โซล สาธารณรัฐเกาหลี ในฐานะผู้ว่าการของประเทศไทยในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ สมาชิกกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฯ และกรรมการสมทบในคณะกรรมการชั่วคราว
พ.ศ. 2523 – 2525 รองอธิบดี กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง
พ.ศ. 2525 – 13 ก.ย. 2527 ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง

2527-2532 ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 2534-2540 ประธานกรรมการ unicord tuna canning

ผลงาน

[แก้]

ถาวรวัตถุ:

[แก้]
* ช่วยคุณพิสิทฐ์ นิมนามเหมินทร์ สร้างพระประธาน พระพุทธชินราช ที่วัดเกาะเสือ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
* สมทบทุนสร้าง ตึกปัญญานัทนะ โรงพยาบาลชลประทาน
* ริเริ่มบูรณะวังบางขุนพรหม
* โครงการสร้างบ้านให้พ่อหลวง (หัวงาน ปากพนัง)
* ร่วมสร้างรูปเหมือนเจ้าแม่ลิ้วก่อเหนี่ยว ทองคำ ทูลเกล้าถวายพ่อหลวง
* ร่วมออกแบบ บัตรธนาคารมูลค่า 60 บาท (รุ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัส)

อื่น ๆ:

[แก้]
* จัดทำระบบพิกัดอัตราศุลกากรที่สมบูรณ์ทันสมัยฉบับแรกของประเทศ
* เป็นผู้แทนเจรจาให้ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก GATT
* แก้ไขวิกฤตการทางการเงินของประเทศ ในสมัยของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์
* การนำเอาระบบ basket มาใช้ในการดูแลค่าเงินบาท

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ผู้ว่าการจากอดีตถึงปัจจุบัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-06-22.
  2. "พระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญํติแห่งชาติ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2014-07-08.
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-22. สืบค้นเมื่อ 2011-06-12.
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-18. สืบค้นเมื่อ 2011-06-12.
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๕ ตอนที่ ๒๐๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๑
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2019-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๖, ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๐๕ ตอนที่ ๒๑๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๙๐, ๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๑
ก่อนหน้า กำจร สถิรกุล ถัดไป
นุกูล ประจวบเหมาะ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
(14 กันยายน พ.ศ. 2527 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2533)
ชวลิต ธนะชานันท์