ไรซิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เมล็ดละหุ่ง

ไรซิน (อังกฤษ: Ricin) เป็นสารพิษประเภทโปรตีน สกัดได้จากเมล็ดละหุ่ง ปริมาณเฉลี่ยที่เป็นอันตรายถึงตายต่อร่างกายมนุษย์อยู่ที่ 0.2 มิลลิกรัม จัดว่ามีพิษรุนแรงเป็นสองเท่าของพิษงูเห่า หนังสือ Guinness World Records ปี 2007 (พ.ศ. 2550) ได้จัดอันดับให้ไรซินเป็นสารพิษจากพืชที่มีความรุนแรงมากที่สุดในโลก

ความเป็นพิษและการผลิต[แก้]

โครงสร้างของไรซิน สายสีฟ้าคือไรซิน เอ และสายสีแสดคือไรซิน บี

ไรซินจะเป็นพิษต่อร่างกายถ้าถูกสูดดม ฉีดเข้าเส้นเลือด หรือรับประทานเข้าไป โดยเป็นสารพิษที่จะยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนของร่างกาย ในสมัยที่ยังไม่มียาต้านพิษ ทางกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาวัคซีนป้องกันพิษขึ้น ไรซินจะทำให้มีอาการท้องร่วง ผู้ได้รับพิษอาจเสียชีวิตเนื่องจากอาการช็อค

ตามข้อมูลในหอสมุดแพทยศาสตร์แห่งชาติ ได้กล่าวไว้ว่า "กรณีของการรับประทานเมล็ดละหุ่งนั้นพบได้น้อย และในกรณีแม้จะเป็นพิษต่อร่างกาย แต่ผู้ได้รับพิษส่วนใหญ่มักรอดชีวิต ส่วนประกอบที่เป็นพิษนี้สันนิษฐานว่าเป็นไรซิน ซึ่งเป็นพิษต่อเซลล์อย่างรุนแรง เราได้รายงานถึงกรณีของคนวัยผู้ใหญ่คนหนึ่งที่รับประทานเมล็ดละหุ่งเข้าไปจำนวนมาก ทำให้เกิดอาการเป็นพิษเบื้องต้นที่ทราบกันดี แต่ต่อมาร่างกายก็ฟื้นฟูหายเป็นปกติ เรายังคงถกปัญหาเกี่ยวกับการได้รับพิษในลักษณะนี้ และข้อมูลที่ขัดแย้งกันระหว่างความเป็นพิษที่รุนแรงมากของไรซินกับพิษที่รุนแรงน้อยกว่าจากการรับประทานเมล็ด" [1]

แม้ว่าความเป็นพิษตามธรรมชาติของเมล็ดละหุ่งจะเป็นที่รู้จักกันดี แต่รายงานความเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ในเอกสารทางการแพทย์ภาษาอังกฤษยังไม่มีมากนัก มีข้อมูลว่าจำนวนเมล็ดที่มีทำให้เป็นพิษรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้นั้น ในร่างกายของเด็กจะอยู่ที่ 3 เมล็ด และในผู้ใหญ่ 8 เมล็ด เมื่อเร็วๆนี้มีรายงานถึงกรณีของผู้ป่วย 2 รายซึ่งอาจทำให้มีความเข้าใจในการรักษาอาการเป็นพิษได้ดียิ่งขึ้น ทั้ง 2 รายมีอาการอาเจียนบ่อยครั้ง ท้องร่วง และระดับสาร creatine ในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในรายที่สองนั้นมีอาการของการสูญเสียน้ำปรากฏอย่างชัดเจน ผู้ป่วยทั้ง 2 รายได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ โดยไม่มีรายงานว่ามีอาการอื่นๆที่จะแสดงออกเมื่อได้รับพิษจากเมล็ดละหุ่ง เช่น เซลล์ตับถูกทำลาย ไตทำงานผิดปกติ เลือดคั่งเนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตกตัว หรือกล้ามเนื้อหดเกร็ง

มีรายงานว่า นักศึกษาวัย 21 ปีคนหนึ่งได้พยายามฆ่าตัวตายโดยรับประทานเมล็ดละหุ่งเข้าไป 30 เมล็ด โดยมีบางเมล็ดถูกบดเคี้ยวด้วย สามชั่วโมงต่อมานักศึกษาคนดังกล่าวมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง คลื่นไส้อาเจียน และปวดช่องท้อง ตามมาด้วยอาการสูญเสียน้ำภายนอกเซลล์ และระบบไหลเวียนของเลือดล้มเหลว เขาได้รับการรักษาตามอาการโดยการฉีดสารละลายเกลือแร่และน้ำตาลกลูโคสเข้าเส้นเลือด

ไรซินประกอบด้วยสายโปรตีน 2 สายที่แตกต่างกัน เชื่อมต่อเข้าด้วยกันด้วยพันธะไดซัลไฟด์ ได้แก่

  • ไรซิน เอ เป็นสารประเภท N-glycoside hydrolase เมื่อเข้าสู่เซลล์ จะดึงเบส adenine ออกจาก ribosomal RNA ซึ่งมีผลทำให้เกิดการยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีน
  • ไรซิน บี เป็นโปรตีนประเภท lectin ที่จับตัวกับกากของน้ำตาลกาแลกโทส มีส่วนทำให้ริซิน เอ เข้าสู่เซลล์โดยจับตัวกับสารประกอบที่ผิวหน้าของเซลล์

พืชหลายชนิดอย่างเช่นข้าวบาร์เลย์ จะมีไรซิน เอ แต่ไม่มีไรซิน บี เนื่องจากไม่มีรายงานว่ามีคนที่ปรากฏอาการเป็นพิษหลังจากกินพืชเหล่านี้ในปริมาณมาก จึงสันนิษฐานว่าไรซิน เอ จะมีความเป็นพิษอยู่น้อยมากถ้าไม่ได้จับตัวกับไรซิน บี

ไรซินสามารถทำให้บริสุทธิ์ได้ง่ายจากกากที่เหลือจากการผลิตน้ำมันละหุ่ง เนื้อเมล็ดที่เหลือจากการคั้นเอาน้ำมันจะมีปริมาณไรซินโดยเฉลี่ยอยู่ 5% โดยน้ำหนัก ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่ค่อนข้างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณไรซินบริสุทธิ์ที่มีพิษรุนแรงถึงตาย คือ 0.2 มก.

ตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา ผู้ที่ผลิตหรือมีสารไรซินไว้ในครอบครองมีโทษจำคุก 30 ปี

การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์[แก้]

ไรซินสามารถนำมาใช้ในเชิงบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งได้ โดยนำมาใช้เพื่อให้ทำงานร่วมกับ monoclonal antibody เพื่อระบุเซลล์ร้ายที่แอนติบอดีตรวจจับได้ เชื่อกันว่าการดัดแปลงทางพันธุกรรมของไรซินนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะลดความเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ แต่พิษต่อเซลล์มะเร็งนั้นไม่ได้ลดลงเลย อีกวิธีการหนึ่งที่เป็นไปได้คือ การนำเอาไรซิน บี ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่มีพิษ มาใช้เป็นพาหะในการส่งแอนติเจนเข้าสู่เซลล์ เพื่อให้เซลล์มีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันได้ดียิ่งขึ้น

อ้างอิง[แก้]