ข้ามไปเนื้อหา

เซลล์เลย์ดิก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เซลล์เลย์ดิก
ภาพไมโครกราฟแสดงกลุ่มของเซลล์เลย์ดิก (กลางภาพ) ผ่านการย้อมสี
ภาพมิญชวิทยาของพาเรงไคมาอัณฑะของหมูป่า 1 ช่องภายในหลอดของส่วนขดของหลอดสร้างอสุจิ, 2 สเปอร์มาทิด, 3 สเปอร์มาโทไซต์, 4 เซลล์ต้นกำเนิดตัวอสุจิ, 5 เซลล์เซอร์โตลี, 6 ไมโอไฟโบรบลาสท์, 7 เซลล์เลย์ดิก, 8 หลอดเลือดฝอย
ตัวระบุ
MeSHD007985
FMA72297
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์

เซลล์เลย์ดิก (อังกฤษ: Leydig cell) หรือ เซลล์แทรกของเลย์ดิก (อังกฤษ: interstitial cells of Leydig) เป็นเซลล์ที่อยู่ติดกับหลอดสร้างอสุจิในอัณฑะ ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเมื่อมีการกระตุ้นจากลูติไนซิงฮอร์โมน (LH) ตัวเซลล์เลย์ดิกมีรูปรางมุมหลายหน้า มีนิวเคลียสขนาดใหญ่โดดเด่น มีไซโทพลาซึมที่สามารถติดสีแดงได้ และมีถุงซึ่งเต็มไปด้วยลิพิดจำนวนมาก

โครงสร้าง

[แก้]

เซลล์เลย์ดิกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นเซลล์คล้ายเยื่อบุที่มีมุมหลายหน้า และมีนิวเคลียสรูปไข่เดียวที่ตั้งอยู่นอกศูนย์กลางอย่างผิดปกติ ในนิวเคลียสประกอบด้วยนิวคลีโอลัสที่โดดเด่นหนึ่งถึงสามอัน และมีเฮเทอโรโครมาทินซึ่งย้อมติดสีทึบล้อมรอบเป็นจำนวนมาก ไซโทพลาซึมชอบกรดของเซลล์มักประกอบด้วยหยดลิพิดจำนวนมากที่ติดอยู่กับเยื่อบุ และมีร่างแหเอนโดพลาซึมแบบเรียบ (SER) จำนวนมาก นอกเหนือจาก SER แล้วยังมีร่างแหเอ็นโดพลาสซึมแบบขรุขระอยู่อย่างกระจัดกระจายด้วย และยังมีไมโทคอนเดรียจำนวนมากซึ่งสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนในไซโทพลาซึม บ่อยครั้งจะพบไลโปฟัสซินและโครงสร้างคล้ายผลึกรูปแท่งที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 ถึง 20 นาโนเมตร ซึ่งยังไม่ทราบถึงหน้าที่ของโครงสร้างดังกล่าว แต่พบว่าโครงสร้างนั้นจะน้อยลงไปกว่าครึ่งในเนื้องอกเซลล์เลย์ดิก จึงถูกใช้ในการช่วยวินิจฉัยโรคเนื้องอกเซลล์เลย์ดิก[1][2] นอกเหนือจากเซลล์เลย์ดิกแล้ว ไม่มีเซลล์แทรกใดในอัณฑะที่มีนิวเคลียสหรือไซโทพลาซึมที่มีลักษณะเหล่านี้อีก จึงทำให้สามารถค้นหาเซลล์เลย์ดิกได้โดยง่าย

พัฒนาการ

[แก้]

เซลล์เลย์ดิกแบบ 'ผู้ใหญ่' เปลี่ยนสภาพอยู่ในอัณฑะหลังจากคลอดจากนั้นจะหยุดพักไปจนถึงวัยเริ่มเจริญพันธุ์ เซลล์นี้พบในอัณฑะในฐานะเซลล์เลย์ดิกแบบ 'ทารกในครรภ์' ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 8 ถึง 20 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนขึ้นในจำนวนที่เพียงพอต่อการทำให้ทารกเพศชายในครรภ์แสดงออกถึงลักษณะเป็นชาย[3]

การผลิตฮอร์โมนเพศชาย

[แก้]

เซลล์เลย์ดิกจะปล่อยฮอร์โมนประเภทที่เรียกว่า ฮอร์โมนเพศชาย (19-คาร์บอน สเตอรอยด์)[4] โดยจะหลั่งเทสโทสเตอโรน แอนโดรสตีนไดโอน และ ดีไฮโดรเอพิแอนโดรสเตอโรน (DHEA) ออกมา เมื่อถูกกระตุ้นโดยลูติไนซิงฮอร์โมน (LH) ซึ่งจะถูกหลั่งออกมาจากต่อมใต้สมองส่วนหน้าเพื่อตอบสนองต่อฮอร์โมนกระตุ้นการหลั่งโกนาโดโทรปินซึ่งถูกหลั่งออกมาโดยไฮโปทาลามัส[4] LH จะเข้าจับกับตัวรับ (LHCGR) ซึ่งเป็นตัวรับคู่จี-โปรตีน เป็นผลให้เกิดสร้าง cAMP ที่เพิ่มขึ้น[4] จากนั้น cAMP จะไปปลุกฤทธิ์ของโปรตีนไคเนส เอขึ้นตามลำดับ ซึ่งจะไปกระตุ้นการเคลื่อนย้ายคอเลสเดอรอลจากแหล่งกักเก็บในเซลล์ (โดยแหล่งหลักอยู่ที่เยื่อหุ้มเซลล์และพื้นที่กักเก็บภายในเซลล์) ไปยังไมโทคอนเดรีย โดยแรกสุดจะไปถึงยังเยื่อหุ้มไมโทคอนเดรียชั้นนอก และจากนั้นจะถูกเคลื่อนย้ายเข้าสู่เยื่อหุ้มไมโทคอนเดรียชั้นในด้วยโปรตีนควบคุมสเตียรอยด์เฉียบพลัน ซึ่งจะจำกัดอัตราชีวสังเคราะห์ของสเตียรอยด์ จากนั้นจะตามด้วยการสร้างเพรกเนโนโลนขึ้น จากคอเลสเตอรอลที่ถูกเคลื่อนย้ายผ่านเอนไซม์แยกสายด้านข้างคอเลสเตอรอล ซึ่งพบอยู่ในเยื่อหุ้มไมโทคอนเดรียชั้นใน และในที่สุดก็จะนำไปสู่การสังเคราะห์ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและการหลั่งโดยเซลล์เลย์ดิก[4]

โพรแลกติน (PRL) จะเพิ่มการตอบสนองของเซลล์เลย์ดิกต่อ LH โดยการเพิ่มจำนวนของตัวรับ LH ที่ปรากฏอยู่บนเซลล์เลย์ดิก[ต้องการอ้างอิง]

นัยสำคัญทางคลินิก

[แก้]
ภาพไมโครกราฟแสดงกลุ่มของเซลล์เลย์ดิก (กลางภาพ) ผ่านการย้อมสี

เซลล์เลย์ดิกอาจเจริญขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้ จนก่อตัวขึ้นเป็นเนื้องอกเซลล์เลย์ดิก เนื้องอกเหล่านี้มักเป็นเนื้องอกไม่ร้ายตามธรรมชาติ โดยเนื้องอกเหล่านี้อาจมีกิจกรรมเกี่ยวกับฮอร์โมน เช่น การหลั่งฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (ซึ่งรับผิดชอบลักษณะทุติยภูมิของเพศชาย)

อะดรีโนลิวโคดิสโทรฟี เป็นอีกตัวอย่างของโรคที่ส่งผลกระทบต่อเซลล์เลย์ดิก โดยฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนของผู้ป่วยอาจลดลงแม้ว่าระดับ LH และฮอร์โมนกระตุ้นต่อมน้อย (FSH) จะเพิ่มสูงกว่าปกติก็ตาม

ในกระต่าย พบว่าการบำบัดด้วยการกระตุ้นผิวหนังด้วยไฟฟ้าด้านข้าง เป็นสาเหตุให้เกิดการเพิ่มจำนวนขึ้นของเซลล์เลย์ดิก[5]

ประวัติ

[แก้]

นิรุกติศาสตร์

[แก้]

ชื่อของเซลล์เลย์ดิกถูกตั้งตามฟรานซ์ ไลดิช นักกายวิภาคชาวเยอรมัน ผู้ซึ่งค้นพบเซลล์นี้เมื่อปี ค.ศ. 1850[6]

ระเบียงภาพ

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Al-Agha O, Axiotis C (2007). "An in-depth look at Leydig cell tumor of the testis". Arch Pathol Lab Med. 131 (2): 311–7. doi:10.5858/2007-131-311-AILALC. PMID 17284120.
  2. Ramnani, Dharam M (2010-06-11). "Leydig Cell Tumor : Reinke's Crystalloids". สืบค้นเมื่อ 2011-11-06.
  3. Svechnikov K, Landreh L, Weisser J, Izzo G, Colón E, Svechnikova I, Söder O (2010). "Origin, development and regulation of human Leydig cells". Horm Res Paediatr. 73 (2): 93–101. doi:10.1159/000277141. PMID 20190545. S2CID 5986143.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Zirkin, Barry R; Papadopoulos, Vassilios (July 2018). "Leydig cells: formation, function, and regulation". Biology of Reproduction. 99 (1): 101–111. doi:10.1093/biolre/ioy059. ISSN 0006-3363. PMID 29566165.
  5. Bomba G, Kowalski IM, Szarek J, Zarzycki D, Pawlicki R (2001). "The effect of spinal electrostimulation on the testicular structure in rabbit". Med. Sci. Monit. 7 (3): 363–8. PMID 11386010.
  6. synd/625 ใน Who Named It?

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]