ข้ามไปเนื้อหา

เฉินหนงเปิ๋นเฉ่าจิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เฉินหนงเปิ๋นเฉ่าจิง (จีนตัวย่อ: 神农本草经; จีนตัวเต็ม: 神農本草經; พินอิน: Shénnóng Běncǎo Jīng) เป็นตำราภาษาจีนเกี่ยวกับการเกษตรและพืชสมุนไพรซึ่งเชื่อกันว่าสืบทอดมาจากเฉินหนง ซึ่งมีชีวิตอยู่ในราว 2,800 ปีก่อนคริสตกาล นักวิจัยเชื่อว่าข้อความเหล่านี้เป็นการรวบรวมประเพณีที่ถ่ายทอดด้วยปากเปล่า ซึ่งเขียนขึ้นระหว่างประมาณ ค.ศ. 200 ถึง 250[1][2] ต้นฉบับดั้งเดิมไม่ปรากฏอยู่แล้ว ประกอบด้วยสามเล่มที่มี 365 รายการซึ่งเกี่ยวกับเครื่องยารวมทั้งคำอธิบาย กล่าวได้ว่าเป็นตำรายาที่เก่าแก่ที่สุดของจีน[3]

ตำรายังรู้จักในชื่อว่า เฉินหนงเปิ๋นเฉ่า《神農本草》หรือชื่อย่อ เปิ๋นเฉ่าจิง《本草經》หรือ เปิ่นจิง《本經》

ประวัติ

[แก้]

ต้นฉบับของเอกสารได้สูญหายไป และเรื่องราวของการบันทึกใหม่นั้นค่อนข้างซับซ้อน

การเขียนบันทึกจากความรู้ปากเปล่าโบราณในครั้งแรกดูเหมือนจะทำขึ้นในช่วงต้นยุคสากลศักราช จากนั้นข้อความได้รับการแก้ไข, พิจารณ์ และเสร็จสิ้นในศตวรรษที่ 5–6 โดย เถา หงจิ่ง (จีน: 陶弘景; พินอิน: Táo Hóngjǐng) ก่อนที่จะสาบสูญและถูกเขียนขึ้นใหม่ระหว่างศตวรรษที่ 10 ถึงศตวรรษที่ 17 จากส่วนของเอกสารต่าง ๆ ในที่สุดตำรายาฉบับที่รู้จักกันในปัจจุบันก็ได้รับการเผยแพร่

ตำราเฉินหนงเปิ๋นเฉ่าจิง ไม่ได้รับการกล่าวถึงในพงศาวดารฮั่น (漢書 Hànshū) การกล่าวถึงครั้งแรกอยู่ในงานเขียนของแพทย์ลัทธิเต๋า เถา หงจิ่ง[4] (ค.ศ. 456–536) สมัยราชวงศ์เหลียง สำหรับเขาชื่อสถานที่ที่อ้างถึงในหนังสือเล่มที่สี่ของเฉินหนงเปิ๋นเฉ่าจิง "เป็นลักษณะของชื่อที่ราชวงศ์ฮั่นตั้งให้กับเขตการปกครอง" จากข้อสังเกตนี้เขาสรุปได้ว่า[5][N 1] งานชุดนี้ควรเป็นผลงานของแพทย์ในช่วงปลายยุคฮั่น (ค.ศ. 25–220)

ความรู้ทางเภสัชวิทยาที่ถ่ายทอดทางการบอกเล่ามาตั้งแต่สมัยโบราณ ได้รับการรวบรวมและบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรก สมมติฐานนี้เสริมด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าข้อความที่เต็มไปด้วยสูตรอาหารเพื่อการรักษาสุขภาพที่ดี และการค้นหาความเป็นอมตะนั้นสอดคล้องกับความกังวลของนักเล่นแร่แปรธาตุในลัทธิเต๋าในยุคนั้น

เถา หงจิ่ง กล่าวถึงตำราเกี่ยวกับยาหลายเล่มและฉบับต่าง ๆ ของ เฉินหนงเปิ๋นเฉ่าจิง ที่เขาเรียบเรียงอยู่[4] เขาอ้างถึงผู้เขียนหลายคนก่อนหน้าซึ่งมีส่วนร่วมในการแก้ไขต้นฉบับเก่าของงาน[N 2] สำหรับ เพาล์ อุลริช อุนชุลด์ (เยอรมัน: Paul Ulrich Unschuld) นักประวัติศาสตร์การแพทย์[4] ได้กล่าวว่า "ในขณะนี้เราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าแท้จริงแล้วว่ามีงานต้นฉบับและงานหรือชุดตำราเฉพาะที่ใช้ชื่อ เฉินหนงเปิ๋นเฉ่าจิง อยู่หรือไม่ เอกสารรวบรวมรายการยาหลายเล่มในสมัยฮั่น มีการใช้ชื่อนี้หรือชื่อที่คล้ายคลึงกัน

เถา หงจิ่ง เองได้ให้ข้อพิจารณ์ในหนังสือเปิ่นจิง (本經) เจ็ดเล่มชื่อ เปิ๋นเฉาจิงจี๋จู้ (本草經集注 Běncǎo jīng jízhù) ซึ่งเป็นการพิจารณ์ตำราเกี่ยวกับเรื่องการแพทย์ มีการแบ่งประเภทใหม่ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับเลข 7 ในจักรวาลวิทยาลัทธิเต๋า เขาเพิ่มวัตถุทางการแพทย์ใหม่ 365 ชนิดเพิ่มจาก 365 ชนิดในตำรารุ่นเก่า โดยเครื่องยา 730 ชนิดนี้แบ่งออกเป็น

1) แร่ธาตุ 2) สมุนไพร 3) ต้นไม้ 4) แมลงและสัตว์

5) ผักและผลไม้ 6) ธัญพืช งานเหล่านี้ปัจจุบันได้สูญหายไปแล้ว

อย่างไรก็ตามความเป็นจริงของข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันโดยพงศาวดารสุย《 隋書•經籍志》(Suí shū•jīngjí zhì) ซึ่งเขียนขึ้นไม่กี่ทศวรรษต่อมา[N 3] ซึ่งในบทบรรณานุกรม กล่าวถึงเรื่องทางการแพทย์ของเฉินหนงใน เฉินหนงเปิ๋นเฉ่าซื่อเจียน (神農本草, 四卷 Shénnóng běncǎo, sì juǎn) ซึ่งเป็นตำราสี่ม้วนที่ไม่มีการระบุช่วงเวลาและผู้เขียน และโดยฉบับที่เขียนโดย เถา หงจิ่ง หรือ เฉินหนงเปิ๋นเฉ่าจิง ซึ่งมีเจ็ดม้วน

ส่วนในบรรณานุกรมพงศาวดารถัง《 唐書藝文志》(Táng shū yìwénzhì) พบการระบุถึง เฉินหนงเปิ๋นเฉ่าซานเจียน (神農本草, 三卷 Shénnóng běncǎo, sān juǎn) ซึ่งมีสามม้วน แต่จนกระทั่งถึงสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960–1280) จึงมีความพยายามใหม่ในการรวบรวม เฉินหนงเปิ๋นเฉ่าจิง

นักเขียนชาวจีนคุ้นเคยกับการใช้ผลงานของนักเขียนรุ่นก่อนโดยไม่ได้กล่าวถึงแหล่งที่มาเสมอ แต่บางครั้งก็ใช้หมึกที่มีสีต่างกันเพื่อระบุแหล่งกำเนิดโบราณ การรวบรวมตำรารายการยาจึงสะสมมาหลายศตวรรษ การสร้างงานดั้งเดิมของตำรับยาจีนขึ้นใหม่ ทำโดยใช้การเรียบเรียงผลงานที่แตกต่างกัน[6] ตั้งแต่สมัยถัง, สมัยซ่ง ไปจนถึงหมิง ดังนั้นเราจึงสามารถพบผลงานหลักของแพทย์ในยุคถัง ซุนซือเหมี่ยว (孫思邈 Sūn Sīmiǎo) (ค.ศ. 581–682) ในส่วนต่าง ๆ ของตำราเปิ๋นจิ่ง ทุกส่วน

ในทำนองเดียวกันผลงานของแพทย์ในสมัยซ่ง ถัง เซิ่นเวย (唐慎微 Táng Shènwēi) ตำราการแพทย์ฉุกเฉิน จิงสื่อเจิ้งเล่ยเป้ยจี๋เปิ๋นเฉ่า (經史證類備急本草 Jīng shǐ zhèng lèi bèi jí běncǎo) (ค.ศ. 1097~1108) เป็นแหล่งข้อมูลที่มีค่า สำหรับการสร้างและปรับปรุงตำราฉบับใหม่

ในที่สุดผลงานของ หลี่ สือเจิน (李時珍 Lǐ Shízhēn) แพทย์สมุนไพรที่มีชื่อเสียงคือตำรา เปิ๋นเฉ่ากังมู่ (本草綱目 Běncǎo gāngmù) (ค.ศ. 1578) ก็ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงานต้นฉบับ การรวบรวมที่เก่าแก่ที่สุดในปัจจุบันคือฉบับของ หลู ฟู่ (盧复 Lú Fù) ในปี ค.ศ. 1616 จากนั้นก็มีของ ซุนซิงเหยี่ยน (孫星衍 Sūnxīngyǎn) ในปี 1799 และ กู้ กวนกวง (顧觀光 Gù Guānguāng) ในปี 1844 ซึ่งมีการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง และของ ริสฉิ โมริ (ญี่ปุ่น: 森立之โรมาจิMori Risshi) ในญี่ปุ่นประมาณปี ค.ศ. 1850

ประเพณีของขงจื๊อในเรื่องการเคารพอำนาจของบรรพชนได้ผลักดันให้นักเขียนชาวจีนต้องเขียนระบุให้ยาวที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้ว่าจะเป็นตำนานเช่นเดียวกับ เทพกสิกรรมเฉินหนง ในช่วงระหว่าง 2,700 หรือ 2,800 ปีก่อนคริสตกาล ที่พวกเขาไม่ลังเลที่จะอ้างถึง ดังคำกล่าวของขงจื้อ (ในหนังสือ หลวนอวี่ 論語 Lúnyǔ ฉบับที่ 11 บทที่ 19) “หากไม่มีการก้าวย่างตามร่องรอยก็จะไม่มีทางสามารถไปถึงห้องนั้นได้” นักคิดชาวจีนอ้างสิทธิ์ในการสั่งสอนอย่างเปิดเผยและหลีกเลี่ยงสิ่งใดก็ตามที่อาจคล้ายกับความเป็นอิสระทางความคิดอันเป็นที่นิยมของนักปรัชญาชาวยุโรป

ในบรรดาตำราเฉินหนงเปิ๋นเฉ่าจิงฉบับต่าง ๆ ไม่มีผู้เชี่ยวชาญคนใดยืนยันว่าต้นฉบับสืบทอดมากว่าพันปี ในทางกลับกัน หนังสือยังคงมีบทบาทสำคัญในปัจจุบัน เนื่องจากยังคงมีแพทย์แผนจีนใช้ประกอบในงานของตน แม้จะถูกปฏิเสธโดยงานวิชาการทางปรัชญาและโบราณคดีก็ตาม[7]

เนื้อหา

[แก้]

หนังสือเล่มแรกประกอบด้วยยา 120 ชนิดที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ มี "สรรพคุณกระตุ้น" เช่น เห็ดหลินจือ, โสม, พุทรา, ส้ม, อบเชยจีน, โต๋วต๋ง (杜仲), กัญชา หรือรากของชะเอมจีน (กำเช่า, Glycyrrhiza uralensis) สมุนไพรเหล่านี้ถูกขนานนามว่า "มีตระกูล" หรือ "สมุนไพรชั้นสูง" (上品)

หนังสือเล่มที่สองอุทิศให้กับสารบำบัด 120 ชนิด ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาผู้ป่วย แต่มีคุณสมบัติเป็นพิษหรืออาจก่อให้เกิดพิษในระดับที่แตกต่างกัน ในหมวดนี้ มีเช่น ขิง, ดอกโบตั๋น และแตงกวา สารในกลุ่มนี้ถูกขนานนามว่า "มนุษย์", "สามัญชน" หรือ "สมุนไพรชั้นกลาง" (中品)

ในเล่มสุดท้ายมี 125 รายการ ที่เกี่ยวข้องกับสารที่มีฤทธิ์รุนแรง หรือมีผลรุนแรงต่อการทำงานทางสรีรวิทยา และมักเป็นพิษ เช่น ตั้งอึ๊ง (Rheum officinale หรือรูบาร์บจีน), ลูกท้อและผลไม้เมล็ดแข็งต่าง ๆ เป็นตัวอย่างเด่นของกลุ่ม สมุนไพรเหล่านี้ถูกขนานนามว่า "สมุนไพรชั้นต่ำ" (下品)

การรวบรวมในปัจจุบันได้แบ่งออกเป็นสี่หมวดขึ้นไป[N 4] ได้แก่ ต้นไม้, พืช, สัตว์, แร่ธาตุ จากนั้นแต่ละหมวดแบ่งย่อยเป็นหมวดหมู่ชั้นบน, ชั้นกลางและชั้นต่ำ ส่วนขยายของหมวดอาจแตกต่างกันไปในตำราแต่ละฉบับ ดังนั้นแร่ธาตุที่เป็นพิษเช่น หรดาล (雄黃 Xiónghuáng; อาร์เซนิกซัลไฟด์) สามารถพบได้ในชั้นสูง (รวบรวมโดย เฉา เหยียนอวี่; 曹元宇 Cáo Yuányǔ)[6] หรือในชั้นกลาง (รวบรวมโดย กู้ กวนกวง)[8]

การบันทึก

[แก้]

ตำราการแพทย์จีนจะเขียนในรูปแบบของรายการที่ไม่เรียงลำดับ ซึ่งมีความยากในการค้นหารายการ ทำให้ผู้รวบรวมตำราเฉินหนงเปิ๋นเฉ่าจิง แบ่งยาออกเป็นหลายระดับ (แร่ธาตุ, ต้นไม้ ฯลฯ) เพื่อการค้นหาได้รวดเร็ว วิธีนี้ดูเหมือนจะย้อนกลับไปในสมัยของ เถา หงจิ่ง และได้ถูกนำไปใช้กับตำราเปิ๋นเฉ่าฉบับที่ตามมาทั้งหมด รวมถึงฉบับเรียบเรียงใหม่ของเฉินหนงเปิ๋นเฉ่าจิง

การบำบัดแบบมารวิทยา

[แก้]
ชิ้นส่วนของนอแรด

ความเชื่อเรื่องปีศาจฝังรากลึกในวัฒนธรรมจีน ในสมัยก่อนจักรวรรดินั้น โรคร้ายเชื่อว่าเกิดจากปีศาจ แม้ว่าในช่วงเวลาของการเขียนเฉินหนงเปิ๋นเฉ่าจิง ระบบการตีความธรรมชาติของโรคตามแนวคิดของหยินหยาง (陰陽) และอู่สิง (五行) (ธาตุทั้งห้า) ได้เริ่มปรากฏขึ้น แต่ความเชื่อในพลังที่ทำให้เกิดโรคของปีศาจยังคงแข็งแกร่ง "ประมาณ 15% ของรายการยา 357 รายการในฉบับที่รวบรวมขึ้นใหม่โดย ริสฉิ โมริ (森立之 Mori Risshi) มีการกล่าวถึง "การฆ่า" หรือ "ขับไล่" ปีศาจหรือกำจัด "การครอบงำโดยปีศาจ" เพื่อเป็นข้อบ่งชี้ในการรักษา"[4]

ยกตัวอย่างเกี่ยวกับรายการเช่น นอแรด (犀角 xījiǎo) สรรพคุณ: "รสขมเย็น ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการต้าน สารพิษต่าง ๆ, พิษกู่, ปีศาจร้าย (邪鬼 xiéguǐ), การขัดขวางพลังชี่ มันทำลายผลของพิษจากพืชเช่น มะเค็ด (钩吻 gōuwěn)[N 5], พิษขนนก (ในตำนาน) (鴆鳥 zhènniǎo)[N 6] และพิษงู ทำการกำจัดปีศาจ (邪 xié) (พลังที่เป็นอันตราย) และป้องกันอาการสับสนและฝันร้าย การได้รับเป็นเวลานานจะทำให้ร่างกายเบาลง ฤทธิ์ยาเข้าสู่เส้นลมปราณและข้อพับของร่างกาย" แรดชนิดต่าง ๆ ที่เคยมีอยู่ในประเทศจีนโบราณได้หายไป[9] เมื่อถึงยุครณรัฐ และเนื่องจากเป็นสิ่งที่มีค่าหายากในช่วงเวลาที่เขียนตำราเปิ๋นเฉ่าจิง นอแรดจึงมีความเชื่อในเรื่องความสามารถในการขับไล่ปีศาจออกไป นอกจากฤทธิ์ในฐานะยาเย็นเพื่อต่อสู้กับโรคร้อน (เป็นยาลดไข้) และเป็นยาแก้พิษ

การกล่าวถึง

[แก้]

ในหนังสือ คำบรรยายเกี่ยวกับจักรวรรดิจีน (ฝรั่งเศส: Description de l'Empire de la Chine) ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1735–36 คณะนักบวชเยสุอิตชาวปารีส ฌ็อง-บัปติสต์ ดู อัลด์ Jean-Baptiste Du Haldeได้ตีพิมพ์การแปลบางส่วนของบทนำของเฉินหนงเปิ๋นเฉ่าจิง เป็นภาษาฝรั่งเศส[10][11][12]

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. ดูเพิ่มเติม Zhenglei bencao《证类本草》, ม้วนที่ 1
  2. อ้างอิงจาก Unschuld, Zhang ji 张机, Hua Tuo 华佗, Wupu 吴普และ Li Dangzhi 李当之 มีรายงานว่ามีการทบทวน '本经' หรือรวบรวมหนังสืออื่น ๆ ที่เกี่ยวกับยา
  3. ในช่วงราชวงศ์สุย ค.ศ. 581–618
  4. ยังพบมีการแบ่งเป็น 6 หมวด ดังต่อไปนี้: หยกและหิน, สมุนไพร, ต้นไม้, สัตว์, ผลไม้และผัก, ธัญพืช
  5. เพชฌฆาตสีทองหรือ มะเค็ด, Gelsemium elegans เป็นไม้พุ่มในวงศ์กันเกรา (Loganiaceae) ทุกส่วนประกอบด้วยยางที่มีแอลคาลอยด์ที่เป็นพิษมาก
  6. กล่าวว่าพิษของมันเกิดจากอาหาร ขนที่หมักด้วยเหล้าเป็นยาพิษที่มีชื่อ

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Herbal". Herbal. October 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-04. สืบค้นเมื่อ 9 June 2016.
  2. Unschuld, Paul U. (1986). Medicine in China: A history of Pharmaceutics. Berkeley: Univ. of California Pr. p. 17. ISBN 9780520050259.
  3. 小曽戸洋 (2018-10-01). 新版 漢方の歴史――中国・日本の伝統医学――. あじあブックス076 (ภาษาญี่ปุ่น). 大修館書店. p. 43. ISBN 9784469233162.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Paul U. Unschuld (1986). Medicine in China, A History of Pharmaceutics (ภาษาอังกฤษ). University of California Press. ISBN 9780520050259.
  5. Zhenguo Wang; Ping Chen; Peiping Xie (1999). History and development of traditional Chinese medicine (ภาษาอังกฤษ). Science Press. ISBN 978-9051993240.
  6. 6.0 6.1 Yang Shou-Zhong, บ.ก. (1998). The Divine Farmer's Materia Medica (ภาษาอังกฤษ). Portland, OR: Blue Poppy Press. ISBN 978-0936185965.
  7. Catherine Despeux (3 May 2000). La maladie dans la Chine médiévale, la toux (ภาษาฝรั่งเศส). Frédéric Obringer. Harmattan. ISBN 978-2738450432.
  8. 陶隐夕 (2008). 图解神农本草经 (ภาษาจีน). 山东,济南市: 山东美术出版社. ISBN 9787533025298.
  9. "The rhinoceros in ancient China". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-12. สืบค้นเมื่อ 2021-02-21.
  10. Joseph Needham. Science and civilisation in China. 6(1), p. 235: "The old translations in Du Halde (1) vol 3, pp. 444 f, ... are not, as sometimes thought, of the whole of Ben jing ... but of its preface as reproduced by Li Shi Zhen in the Ben Cao Gang Mu ..."
  11. Jean-Baptiste Du Halde SJ (1736). Description Géographique, Historique, Chronologique, Politique et Physique de l'Empire de la Chine et de la Tartarie chinoise (ภาษาฝรั่งเศส). Vol. 3. The Hague: Henri Scheurleer. pp. 539 f. สืบค้นเมื่อ September 3, 2010.
  12. Du Halde. Ausführliche Beschreibung des Chinesischen Reichs und der grossen Tartarey. Johann Christian Koppe, vol 3, Rostock 1749, pp. 478 f. (Digitalisat)

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Yang, Shou-zhong (1998). The Divine Farmer's Materia Medica: A Translation of the Shen Nong Ben Cao Jing. Boulder, CO: Blue Poppy Press. ISBN 9780936185965.
  • Schneebeli-Graf R (1992): Nutz- und Heilpflanzen Chinas – Botanische Berichte und Bilder aus China, Thomae, Frankfurt am Main. ISBN 3524750117.
  • Li Shizhen (2003). Luo, Xiwen (บ.ก.). Compendium of Materia Medica: Bencao Gangmu. Beijing: Foreign Languages Press. ISBN 7119032607. (Review, Edward B. Jelks).

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]