เจ้าแก้วมงคล ณ เชียงใหม่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าแก้วมงคล ณ เชียงใหม่
เกิด26 ตุลาคม พ.ศ. 2446
ถึงแก่กรรม12 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 (81 ปี)
ภริยาเจ้าแสงดาว ณ เชียงใหม่
ศรีนวล ณ เชียงใหม่
บุตรเจ้าประกายแก้ว ณ เชียงใหม่
ราชสกุลณ เชียงใหม่
ราชวงศ์ทิพย์จักร
เจ้าบิดาเจ้าราชวงศ์ (เลาแก้ว ณ เชียงใหม่)
เจ้ามารดาเจ้าจันทร์จร ณ เชียงใหม่

เรืออากาศโท เจ้าแก้วมงคล ณ เชียงใหม่ (26 ตุลาคม พ.ศ. 2446 – 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2528) เป็นบุตรของเจ้าราชวงศ์ (เลาแก้ว ณ เชียงใหม่) เจ้าราชวงศ์นครเชียงใหม่ โอรสองค์เดียวในเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 8 ประสูติแต่เจ้าทิพเนตร สมรสกับเจ้าแสงดาว ณ เชียงใหม่ บุตรบุญธรรมในเจ้าดารารัศมี พระราชชายา[1]

เจ้าแก้วมงคล เป็นเจ้านายฝ่ายเหนือคนหนึ่งที่ถูกมองว่าอาจจะได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 10[2] หากว่าการแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สืบแทนพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ ให้สิทธิ์แก่โอรสองค์เดียว คือ เจ้าราชวงศ์ (เลาแก้ว ณ เชียงใหม่) แต่กลับเป็นเจ้าแก้วนวรัฐ อนุชาของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์

ประวัติ[แก้]

เจ้าแก้วมงคล ณ เชียงใหม่ เป็นบุตรเจ้าราชวงศ์ (เลาแก้ว) กับเจ้าจันทร์จร ณ เชียงใหม่ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2446 เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อย จากนั้นได้เข้ารับราชการเป็นทหารอากาศ ต่อมาถูกจับและคุมขังในข้อหากบฏ พร้อมกับคณะกบฏบวรเดช[3] หลังจากพ้นโทษจึงกลับมาใช้ชีวิตที่อำเภอแม่ริมกับเจ้าแสงดาว มีธิดาคนเดียวคือเจ้าประกายแก้ว ณ เชียงใหม่ (19 กันยายน 2475 – 30 พฤษภาคม 2534)

ภายหลังเจ้าแก้วมงคล ณ เชียงใหม่ ได้ย้ายไปอยู่ที่ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน พร้อมทั้งแต่งงานใหม่กับนางศรีนวล ณ เชียงใหม่ (11 มกราคม 2459 - 4 สิงหาคม 2558)

การรับมรดกของเจ้าดารารัศมี พระราชชายา[แก้]

ก่อนที่เจ้าดารารัศมี พระราชชายา จะสิ้นพระชนม์ได้ทรงทำพินัยกรรมแบ่งพื้นที่พระตำหนักดาราภิรมย์ และสวนเจ้าสบาย ให้แก่ทายาทออกเป็น 4 ส่วน ซึ่งเจ้าแก้ว มงคล กับเจ้าแสงดาว ณ เชีงใหม่ ได้รับจำนวน 1 ส่วน ต่อมาเจ้าแก้วมงคล ได้ขอซื้อที่ดินทั้ง 76 ไร่ เพื่อให้เป็นผืนเดียวกัน

กระทั่งในปี พ.ศ. 2490 กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ขอซื้อที่ดินดังกล่าว แต่ก็มิได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันการศึกษาแต่อย่างใด[4]

การทำงาน[แก้]

เจ้าแก้วมงคล ณ เชียงใหม่ เคยรับราชการเป็นทหารอากาศ ต่อมาได้รับการทาบทามให้มารับตำแหน่งผู้จัดการบริษัท ขนส่งเรือเมล์ จำกัด (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นการบินไทย) จนกระทั่งเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2507 หลังจากนั้นจึงหันมาทำสวนลำใย ที่บ้านเด่น ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ และทำกิจการเหมืองแร่ที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงขายกิจการและย้ายไปอาศัยอยู่ที่อำเภอสารภี

ถึงแก่อนิจกรรม[แก้]

เจ้าแก้วมงคล ณ เชียงใหม่ ถึงแก่อนิจกรรม ในปี พ.ศ. 2528 รวมอายุ 82 ปี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์ , นาวาอากาศเอก. เจ้านายฝ่ายเหนือ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-14. สืบค้นเมื่อ 2012-06-16.
  2. เบญจวรรณ บุญโทแสง. พัฒนาการการปรับตัวทางการเมืองของกลุ่มอำนาจท้องถิ่นภายหลังการผนวกดินแดนของสยาม (พ.ศ. 2442-2547): กรณีศึกษาตระกูล ณ เชียงใหม่. เก็บถาวร 2011-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2550
  3. เชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๒[ลิงก์เสีย]
  4. อนุ เนินหาด, สังคมเมืองเชียงใหม่ เล่ม 9, นพบุรีการพิมพ์, 2547