เจฟฟรีที่ 2 ดยุกแห่งบริตานี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจฟฟรีย์ที่ 2
ดยุคแห่งเบรอตาญ
ครองราชย์กรกฎาคม ค.ศ. 1181 – 19 สิงหาคม ค.ศ. 1186
ประสูติ23 กันยายน ค.ศ. 1158
สิ้นพระชนม์19 สิงหาคม ค.ศ. 1186 (27 พรรษา)
ฝังพระศพอาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส
ชายากงส์ต็องส์ ดัชเชสแห่งเบรอตาญ
ราชวงศ์แพลนแพเจเนต
พระราชบิดาพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษ
พระราชมารดาอาลีเยนอร์แห่งอากีแตน

เจฟฟรีย์ที่ 2 (อังกฤษ: Geoffrey II, เบรอตาญ: Jafrez, ละติน: Galfridus, แองโกลนอร์มัน: Geoffroy) เป็นพระราชโอรสคนที่สี่ของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษกับพระราชินีอาลีเยนอร์แห่งอากีแตน[1]

วัยเยาว์[แก้]

พระราชบุตรตามกฎหมายของพระเจ้าเฮนรีที่ 2: (ซ้ายไปขวา) วิลเลียม, เฮนรียุวกษัตริย์) ริชาร์ด, มาทิลา, เจฟฟรีย์, เอเลนอร์, โจน และจอห์น

เจฟฟรีย์ แพลนแทเจเนตเป็นพระราชโอรสลำดับที่สี่ในห้าของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษกับพระราชินีอาลีเยนอร์แห่งอากีแตน ทรงประสูติที่ปราสามโบมอนต์ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1158 ซึ่งขณะนั้นพระราชบิดามารดาของพระองค์มีพระราชบุตรอยู่แล้วสามคน ได้แก่ พระราชโอรสสองคน คือ เฮนรีและริชาร์ด กับพระราชธิดาหนึ่งคน คือ มาทิลดา เจฟฟรีย์ถูกตั้งชื่อตามพระอัยกาฝั่งบิดา คือ จูฟเฟรย์ แพลนแทเจเนต เคานต์แห่งอ็องฌูที่สมญานาม "แพลนแทเจเนต" ของเขาถูกนำมาใช้เป็นชื่อราชวงศ์ เจฟฟรีย์มีพี่น้องทั้งหมดเจ็ดคน ได้แก่ วิลเลียมที่ 9 เคานต์แห่งปัวติเยร์, เฮนรียุวษัตริย์, มาทิลดา ดัชเชสแห่งซัคเซินและไบเอิร์น, พระเจ้าริชาร์ดที่ 1, เอเลนอร์ สมเด็จพระราชินีแห่งกัสติยา, โจน สมเด็จพระราชินีแห่งซิซิลี และพระเจ้าจอห์น

เนื่องจากเจฟฟรีย์เป็นพระราชโอรสเพียงคนเดียวของพระเจ้าเฮนรีกับพระนางอาลีเยนอร์ที่ไม่ได้รับการสวมมงกุฎ (วิลเลียม พระเชษฐาคนโตสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังเด็ก, เฮนรียุวกษัตริย์ได้รับการสวมมงกุฎคู่กับพระราชบิดา, ริชาร์ดกับจอห์นได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษ) พระองค์จึงเป็นที่ละเลยของนักประวัติศาสตร์ ส่งผลให้ประวัติในวัยเด็กของพระองค์มีไม่มากและไม่มีภาพเขียนของพระองค์หลงเหลืออยู่ พงศาวดารยุคนั้นกล่าวว่าเจฟฟรีย์มีผมสีเข้มและรูปร่างเตี้ย พระองค์หน้าตาปานกลางและไม่ได้ดูดีมีเสน่ห์

ดยุคแห่งเบรอตาญ[แก้]

อาณาเขตในฝรั่งเศสของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 (สีส้มและสีเหลือง)

พระเจ้าเฮนรีที่ 2 พระราชบิดาของเจฟฟรีย์มุ่งมั่นกับขยายและรักษาอาณาเขตในฝรั่งเศส พระเจ้าเฮนรีมีพระอนุชาคือเจฟฟรีย์ (จูฟเฟรย์) เคานต์แห่งน็อง ซึ่งน็องต์เป็นหนึ่งในสองเมืองหลวงเก่าของเบรอตาญ หลังเจฟฟรีย์ เคานต์แห่งน็องต์ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1158 โกน็องที่ 4 ดยุคแห่งเบรอตาญพยายามจะอ้างสิทธิ์ในน็องต์ ทว่าพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ได้ผนวกน็องต์เข้าเป็นส่วนหนึ่งในดินแดนของพระองค์


เมื่อขุนนางเบรอตาญลุกฮือขึ้นก่อกบฏ โกน็อง ดยุคแห่งเบรอตาญได้ร้องขอความช่วยเหลือจากกษัตริย์แห่งอังกฤษซึ่งพระองค์ได้ตอบรับการร้องขอเพราะหมายตาเบรอตาญอยู่ พระองค์ต้องการได้เบรอตาญซึ่งตั้งอยู่บนพรมแดนทางตะวันตกของนอร์ม็องดีมาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักร ในปี ค.ศ. 1164 พระองค์ดำเนินการยึดดินแดนตามแนวชายแดนเบรอตาญ-นอร์ม็องดี ทำให้อำนาจในเบรอตาญของพระองค์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้พระเจ้าเฮนรีมองว่าพระองค์คือเจ้าเหนือหัวของเบรอตาญและโกน็องที่ 4 ดยุคแห่งเบรอตาญคือขุนนางศักดินาของพระองค์ ในปี ค.ศ. 1166 พระองค์ได้บุกเบรอตาญเพื่อลงโทษกลุ่มขุนนางกบฏ หลังปราบการปฏิวัติได้สำเร็จ พระองค์บีบให้โกน็องสละตำแหน่งให้แก่กงส์ต็องส์ บุตรสาววัย 5 ปีและจับดัชเชสน้อยหมั้นหมายกับเจฟฟรีย์วัย 8 พรรษา เป็นไปได้ว่าที่พระเจ้าเฮนรีบีบให้โกน็องสละตำแหน่งเพราะไม่ต้องการให้บุตรชายที่อาจเกิดมาในอนาคตของเขาได้สืบทอดดัชชี


ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1169 เจฟฟรีย์ทำพิธีเข้ารับตำแหน่งเป็นดยุคแห่งเบรอตาญที่อาสนวิหารแร็งส์และได้รับการถวายความเคารพจากขุนนางเบรอตาญในช่วงคริสต์มาสของปี ค.ศ. 1169 ในปี ค.ศ. 1181 เจฟฟรีย์ได้สมรสกับกงส์ต็องส์แห่งเบรอตาญ ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันสามคน คือ

  • เอเลนอร์แห่งเบรอตาญ (เกิด ค.ศ. 1184)
  • มาทิลดาแห่งเบรอตาญ (เกิด ค.ศ. 1185) เสียชีวิตในวัยเด็ก
  • อาเธอร์ที่ 1 ดยุคแห่งเบรอตาญ (เกิด ค.ศ. 1187) เกิดหลังเจฟฟรีย์สิ้นพระชนม์ได้หกเดือน


กบฏพระราชโอรส[แก้]

ตราประทับของเจฟฟรีย์ที่ 2 ดยุคแห่งเบรอตาญ

ก่อนที่จอห์น พระราชโอรสคนสุดท้ายจะประสูติ พระเจ้าเฮนรีที่ 2 ได้แบ่งดินแดนของพระองค์ให้แก่พระโอรสที่ยังมีชีวิตอยู่สามคน คือ ให้เฮนรีขึ้นเป็นยุวกษัตริย์แห่งอังกฤษและจะได้ปกครองอ็องฌู เมน และนอร์ม็องดี, ให้ริชาร์ดสืบทอดอากีแตนและปัวตีเยซึ่งเป็นดินแดนของพระนางอาลีเยนอร์แห่งอากีแตน และให้เจฟฟรีย์เป็นดยุคแห่งเบรอตาญ เมื่อจอห์นประสูติในปี ค.ศ. 1166 จึงไม่มีดินแดนเหลือให้ ทำให้พระองค์ได้รับสมญานามว่า จอห์นผู้ไร้ดินแดน (แลคแลนด์)


เมื่อพระราชโอรสของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 โตขึ้น ความตึงเครียดเรื่องการสืบทอดจักรวรรดิในอนาคตก็เริ่มปรากฏขึ้น กระทั่งในปี ค.ศ. 1173 เฮนรีที่ได้รับแต่งตั้งเป็นยุวกษัตริย์เคียงคู่พระราชบิดาได้ก่อกบฏเพื่อประท้วงพระเจ้าเฮนรีโดยมีพระอนุชาสองคน คือ ริชาร์ดกับเจฟฟรีย์วัย 15 พรรษา และพระนางอาลีเยนอร์แห่งอากีแตน พระราชมารดาของเจ้าชายทั้งสามร่วมด้วย ทั้งฝรั่งเศส สกอตแลนด์ แฟลนเดอส์ และบูโลญต่างร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มกบฏ แต่สุดท้ายพระเจ้าเฮนรีที่ 2 สามารถปราบกบฏได้ พระองค์ให้อภัยพระราชโอรสโดยได้มีการทำสนธิสัญญาพักรบกันที่กิซอร์ในปี ค.ศ. 1174 แต่กับพระนางอาลีเยนอร์ผู้เป็นพระมเหสี พระองค์ได้จองจำพระนางจนสิ้นรัชกาลเป็นระยะเวลา 16 ปี

ความตึงเครียดในราชวงศ์แพลนแทเจเนตทะยานถึงจุดเดือดอีกครั้งในปี ค.ศ. 1182 เมื่อเฮนรียุวกษัตริย์ผิดหวังที่พระองค์มั่งคั่งขึ้นเพียงเล็กน้อยและไม่มีอำนาจอะไรเลยแม้จะได้ราชาภิเษกเป็นกษัตริย์คู่กับพระราชบิดา ขณะที่ริชาร์ด พระอนุชาที่ไม่ยอมถวายความเคารพต่อพระองค์ตามที่พระราชบิดาสั่งกลับได้ปกครองอากีแตนของพระราชมารดา ในความขัดแย้งครั้งนี้เจฟฟรีย์เลือกอยู่ข้างเฮนรียุวกษัตริย์ พระเจ้าเฮนรีที่ 2 ได้เข้ามาแทรกแซงด้วยหวังจะลดอุณหภูมิของความขัดแย้งภายในครอบครัว กษัตริย์กับพระราชโอรสเจอกันที่อ็องฌูซึ่งพระราชโอรสทั้งสามได้ให้คำสัตย์ว่าจะเชื่อฟังพระราชบิดาผู้เป็นกษัตริย์โดยชอบธรรมของอังกฤษและจะไม่ก่อกบฏอีก

ในปี ค.ศ. 1183 เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นในราชวงศ์แพลนแทเจเนตเมื่อเฮนรียุวกษัตริย์ติดเชื้อบิดและเสด็จสวรรคตในเดือนพฤษภาคม หลังพระราชโอรสคนโตสิ้นพระชนม์ พระเจ้าเฮนรีที่ 2 มีแผนที่จะปรับเปลี่ยนการแบ่งสรรดินแดนให้พระราชโอรสใหม่ ทรงดำเนินแผนการอย่างลับๆ และส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับพระราชโอรสสามคนที่เหลืออยู่ คือ ริชาร์ด, เจฟฟรีย์ และจอห์น ยิ่งแย่ลง เจฟฟรีย์กับจอห์นผู้ไร้ดินแดน พระอนุชาคนสุดท้ายได้จับมือเป็นพันธมิตรอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับริชาร์ด ทั้งยังมีพันธมิตรอีกคน คือ พระเจ้าฟีลิปออกุสตุส กษัตริย์หนุ่มของฝรั่งเศสซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 อดีตพระสวามีของพระนางอาลีเยนอร์แห่งอากีแตนที่ตั้งป้อมเกลียดชังพระเจ้าเฮนรีที่ 2 มาตั้งแต่เมื่อครั้งที่กษัตริย์แห่งอังกฤษ (ขณะนั้นยังไม่เป็นกษัตริย์) สมรสกับอดีตพระมเหสีของพระองค์ พระเจ้าฟีลิปยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยเจฟฟรีย์วางแผนต่อสู้กับพระราชบิดาและริชาร์ด พระเจ้าเฮนรีที่ 2 เพิ่มความรุนแรงในการจัดการกับปราสาทและที่ดินศักดินาที่เป็นพันธมิตรกับเจฟฟรีย์จนสุดท้ายพระองค์กับริชาร์ดสามารถยึดปราสาทกบฏทุกแห่งได้ ปราสาทบางแห่งถึงขั้นถูกทำลายจนเหลือแต่ซาก


แหล่งข้อมูลจากยุคนั้นกล่าวว่าเจฟฟรีย์ไม่เก่งด้านการทหารอย่างริชาร์ด แต่ทรงเป็นนักรบผู้ไร้ความปราณีที่กล้าใช้ความรุนแรง พระองค์อาจเป็นพระราชโอรสที่ฉลาดที่สุดของพระนางอาลีเยนอร์กับพระเจ้าเฮนรี แต่ทรงใช้ปัญญาที่มีไปกับแผนการอันเห็นแก่ตัว พระองค์ทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ หากต้องหาเงินทุนมาใช้ในการสู้รบเพิ่ม พระองค์จะโจมตีและขโมยเงินของอารามและวิหารต่างๆ จนสร้างความไม่พอใจให้แก่คริสตจักร


เจฟฟรีย์ แพลนทาเจเนตยังเป็นสหายรักของพระเจ้าฟีลิปออกุสตุส พระองค์มักอยู่ที่ราชสำนักฝรั่งเศสในกรุงปารีสจนทำให้กษัตริย์แห่งอังกฤษไม่พอใจเป็นอย่างมาก พระเจ้าฟีลิปกับเจฟฟรีย์ร่วมมือกันก่อปฏิวัติต่อพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ในปี ค.ศ. 1183–84 มีหลักฐานสนับสนุนว่าทั้งคู่วางแผนจะก่อกบฏต่อพระเจ้าเฮนรีที่ 2 อีกครั้งในช่วงฤดูร้อน ปี ค.ศ. 1186 ทว่าแผนการเป็นอันพับไปเมื่อเจฟฟรีย์ตกจากหลังม้าระหว่างกำลังประลองทวนและถูกม้าเหยียบจนสิ้นพระชนม์ในวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 1186 ขณะพระชนมายุ 27 พรรษา ร่างของพระองค์ถูกฝังที่อาสนวิหารน็อทร์-ดามในกรุงปารีส ทว่าศิลาหน้าโลงศพของพระองค์ถูกทำลายในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส ว่ากันว่าพระเจ้าฟีลิปเสียใจอย่างมากกับการสูญเสียสหายรักจนคนต้องมารั้งพระองค์ไว้ไม่ให้โผเข้ากอดโลงศพ


การสูญเสียพระราชโอรสคนที่สามส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าเฮนรีที่ 2 กับพระราชโอรสที่ยังมีชีวิตอยู่อีกสองคน คือ ริชาร์ดกับจอห์นซึ่งก่อนหน้านี้เคยอยู่ฝ่ายพระราชบิดา ทั้งคู่หันมาเป็นพันธมิตรกับพระเจ้าฟีลิปแห่งฝรั่งเศสและทำศึกกับพระเจ้าเฮนรีหลายครั้งจนกระทั่งพระองค์เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1189 ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์คือพระเจ้าริชาร์ดที่ต่อมาสวรรคตโดยไร้ทายาท พระเจ้าจอห์นจึงได้ขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากพระเชษฐา


ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นกงส์ต็องส์ ชายาม่ายของเจฟฟรีย์มีอายุได้ 25 ปี เธอมีธิดาน้อยสองคน คือ เอเลนอร์และมาทิลดา และกำลังตั้งครรภ์บุตรอีกคน ในวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1187 กงส์ต็องส์ได้ให้กำเนิดบุตรชายชื่อว่าอาเธอร์ซึ่งได้สืบทอดตำแหน่งดยุคแห่งเบรอตาญต่อจากบิดา แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1202 อาร์เธอร์ถูกพระเจ้าจอห์นผู้เป็นอาจับตัวไปคุมขังที่ชาโตเดอฟาเลสในดัชชีนอร์ม็องดี สาเหตุของการคุมขังครั้งนี้เนื่องมาจากอาร์เธอร์เป็นบุตรชายของเจฟฟรีย์ซึ่งเป็นพระราชโอรสคนที่สามของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 กับพระนางอาลีเยนอร์แห่งอากีแตนและเป็นพระเชษฐาของพระเจ้าจอห์น ตามสิทธิของบุตรหัวปีเขาสมควรได้เป็นทายาทของพระเจ้าริชาร์ดมากกว่า ทว่าพระเจ้าริชาร์ดได้ประกาศบนเตียงสวรรคตให้พระอนุชาเป็นทายาทของพระองค์ ด้วยเห็นว่าพระภาติยะนั้นเด็กเกินกว่าจะปกครองประเทศได้ อาร์เธอร์ได้หายตัวไประหว่างถูกคุมขัง สันนิษฐานกันว่าเขาน่าจะถูกพระเจ้าจอห์นสังหารในปี ค.ศ. 1203 เอเลนอร์ พี่สาวของอาร์เธอร์ก็ถูกพระเจ้าจอห์นคุมขังเช่นกัน

บุตรทั้งสองคนของเจฟฟรีย์ไม่ได้สมรส เชื้อสายของพระองค์สิ้นสุดลงเมื่อเอเลนอร์ บุตรสาวของพระองค์ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1241

อ้างอิง[แก้]

บรรณานุกรม[แก้]

  • Costain, Thomas B. The Conquering Family, 1962
  • Everard, Judith (1999). Charters of Duchess Constance of Brittany and her Family, 1171–1221.
  • Everard, Judith. Brittany and the Angevins: Province and Empire, 1158–1203, 2000
  • Gillingham, John. The Life and Times of Richard I, 1973
  • Gillingham, John. Richard the Lionheart, 1978
  • Gillihgham, John. Richard I, 1999
  • Reston, James. Warriors of God: Richard the Lion-Heart and Saladin in the Third Crusade, 2001
  • Turner, Ralph V.; Heiser, Richard R (2000), The Reign of Richard Lionheart, Ruler of the Angevin empire, 1189–1199, Harlow: Longman, ISBN 978-0-582-25659-0
  • Warren, W. L. (2000). Henry II.