อุทยานราชภักดิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทยานราชภักดิ์
อุทยานราชภักดิ์
แผนที่
ที่ตั้งตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ผู้ออกแบบกรมศิลปากร
ประเภทอุทยาน
วัสดุสำริด
ความยาว218 เมตร
ความกว้าง73 เมตร
ความสูงเฉลี่ย 13.9 เมตร (ฐาน 12 เมตร)
สร้างเสร็จพ.ศ. 2558
การเปิด26 กันยายน พ.ศ. 2558
อุทิศแด่

อุทยานราชภักดิ์ เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต 7 พระองค์ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานชื่อว่า “อุทยานราชภักดิ์" ซึ่งเป็นอุทยานที่สร้างขึ้นด้วยความจงรักภักดีและเพื่อเป็นการเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณพระมหากษัตริย์แห่งสยาม โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา (พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาในขณะนั้น) ทรงเปิดอุทยาน เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558[1] ในปีถัดมาได้มีการจดทะเบียน "มูลนิธิอุทยานราชภักดิ์ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร" ย่อว่า "ร.ภ."[2] โดยมีพลเอก อุดมเดช สีตบุตร เป็นประธานคณะกรรมการ

การจัดสรรพื้นที่[แก้]

อุทยานราชภักดิ์ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่

  1. พระบรมราชานุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์ไทย 7 พระองค์ ประกอบด้วย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, สมเด็จพระนารายณ์มหาราช , สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช, พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช
  2. ลานอเนกประสงค์ ด้านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ สำหรับกระทำพิธีสำคัญของกองทัพ และรับรองบุคคลสำคัญจากต่างประเทศ
  3. พิพิธภัณฑ์ จัดแสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทยทั้ง 7 พระองค์

โดยพื้นที่ส่วนที่เหลือจะเป็นสภาพภูมิทัศน์โดยรอบ และการจัดสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาเยี่ยมชม

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2560 กองทัพบกเคยมีแนวคิดก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเพิ่มเติม [3] แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

เหตุการณ์สำคัญ[แก้]

ข้อวิจารณ์[แก้]

การดำเนินการสร้างอุทยานราชภักดิ์ซึ่งดำเนินการโดย พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร นั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการทุจริตในหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นเงินที่ไปรับบริจาคมาจากเอกชนหลายราย, ค่าสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์แต่ละองค์ซึ่งตั้งงบเอาไว้องค์ละ 50 ล้านบาท แต่กลับมีการเปิดเผยจากโรงหล่อว่าต้นทุนที่แท้จริงเพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น, ไปจนถึงต้นปาล์มที่ใช้ประดับในบริเวณอุทยานที่ตั้งงบเอาไว้ต้นละ 1 แสนบาท แต่ทางเอกชนผู้เพาะปลูกต้นปาล์มระบุว่าบริจาคให้กับโครงการฯ โดยไม่ได้คิดเงินแต่อย่างใด

เมื่อถูกสื่อมวลชนสอบถามถึงเรื่องนี้ ทั้ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คสช. และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ปฏิเสธข่าว และยืนยันว่าไม่มีการทุจริตแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่คิดจะตรวจสอบหาข้อเท็จจริงโดยให้เหตุผลว่าไม่มีผู้มาร้องทุกข์ จนกระทั่งเมื่อสื่อมวลชนและพรรคการเมืองกดดันมากเข้าจึงยอมตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่ก็ถูกวิจารณ์อีกว่าคณะกรรมการผู้ตรวจสอบมีแต่ทหารด้วยกันซึ่งตรวจสอบกันเอง ภายหลังคณะกรรมการฯ ได้ยืนยันว่าไม่พบการทุจริตแต่อย่างใด แต่กระแสสังคมก็ยังไม่ปักใจเชื่อ

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2558 นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัตน์ พร้อมทั้งกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา และประชาชนจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม "นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง" โดยการขึ้นรถไฟจากสถานีรถไฟธนบุรี มุ่งหน้าไปยังอุทยานราชภักดิ์ ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้กักขบวนรถไฟไว้ที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะตัดโบกี้รถไฟที่ 3 ที่มีนายสิรวิชญ์ และผู้ร่วมกิจกรรมโดยสารอยู่ และได้นำตัวไปกักไว้ที่ห้องนายสถานีรถไฟเพื่อทำการพูดคุย โดยมีเจ้าหน้าคอยดูแลความเรียบร้อย รวมทั้งนักข่าวจากสื่อต่าง ๆ ที่มาคอยสังเกตการณ์และทำข่าว ซึ่งระหว่างนั้นมีเสียงตะโกนด่าทอกลุ่มนักศึกษาจากกลุ่มประชาชนชาวอำเภอบ้านโป่งและใกล้เคียงดังกล่าวตลอดเวลา[5]

วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2559 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติเอกฉันท์ว่าการดำเนินการสร้างอุทยานราชภักดิ์เป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบราชการทุกประการ[6]

กองทัพบกยื่นฟ้องนายฐนกร ศิริไพบูลย์ ตามกฎหมายอาญามาตรา 116 และพรบ.คอมพิวเตอร์ ฐานแชร์ลงแผนผังการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ลงในสื่อสังคมออนไลน์ ศาลจังหวัดสมุทรปราการอ่านคำพิพากษาในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2564 ให้ยกฟ้องจำเลยทุกข้อกล่าวหา เนื่องจากกองทัพบกไม่นำส่งรายงานการตรวจสอบต่อศาล จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าแผนผังดังกล่าวเป็นความเท็จ[7]

อ้างอิง[แก้]

  1. "พระบรมฯเสด็จเปิดอุทยานราชภักดิ์ - ประวิตรนำครม.เฝ้าฯ". ไอเอ็นเอ็นนิวส์. September 26, 2015. สืบค้นเมื่อ September 8, 2016.[ลิงก์เสีย]
  2. http://www.dailynews.co.th/politics/370928
  3. ผบ.ทบ. เผยมีแนวคิดสร้าง 'พระบรมรูป ร.9' ที่อุทยานราชภักดิ์ ไทยรัฐ, 19 พฤษภาคม 2560.
  4. "นายกฯ เปิดงานเฟสติวัลมวยไทย 'บัวขาว' นำทหาร 3,660 นายไหว้ครู บันทึกสถิติโลก". 2023-02-06.
  5. ""จ่านิว"บุกอุทยานราชภักดิ์ ถูกกักตัวตัดโบกี้ที่บ้านโป่ง". เดลินิวส์. December 7, 2016. สืบค้นเมื่อ September 8, 2016.
  6. "ไม่ผิดจ้า! ป.ป.ช.มติเอกฉันท์ "อุทยานราชภักดิ์" ถูกระเบียบเป๊ะ "อุดมเดช-ศิริชัย" รอด". ผู้จัดการออนไลน์. September 7, 2016. สืบค้นเมื่อ September 8, 2016.
  7. ยกฟ้อง ‘ฐนกร’ ม.112 กดไลค์เพจ-ม.116 แชร์ผังอุทยานราชภักดิ์ มติชน. 13 มกราคม พ.ศ. 2564

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 12°30′04″N 99°58′00″E / 12.501°N 99.966611°E / 12.501; 99.966611