ข้ามไปเนื้อหา

สัตว์ป่าสงวน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กวางผา (Nemorhaedus griseus) 1 ใน 20 ชนิดสัตว์ป่าสงวนของไทย

ความหมาย

[แก้]

สัตว์ป่าสงวน

  • ตาม พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 หมายถึง สัตว์ป่าหายากหรือสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์จำเป็นต้องสงวนและอนุรักษ์ไว้อย่างเข้มงวดตามที่กาหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ [1] [2]
  • ตาม พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 หมายถึง สัตว์ป่าที่หายากตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ และตามที่จะกำหนด โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา [3]
  • ตาม พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 หมายถึง สัตว์ป่าที่หายากตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ [4]

รวมความว่า สัตว์ป่าสงวน คือ สัตว์หายาก, ใกล้จะสูญพันธุ์ หรืออาจสูญพันธุ์ไปแล้ว จึงจำเป็นต้องมีบทบัญญัติเข้มงวดกวดขัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่สัตว์ป่าที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือซากสัตว์ป่า ซึ่งอาจจะตกไปอยู่ยังต่างประเทศด้วยการซื้อขาย โดยมีรายชื่อตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับนั้น

การครอบคลุมถึง ซากสัตว์ และครอบคลุมถึงสัตว์ที่สูญพันธุ์แล้วนั้น เพื่อเก็บรวบรวมซากไว้ให้ผู้มีหน้าที่โดยตรงได้ศึกษาทางวิชาการ, เพื่อเป็นมรดกของชาติ และเพื่อไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดสะสมเป็นส่วนตัวซึ่งเป็นเหตุให้มีความต้องการล่า หากมีโอกาสหลงเหลือแม้สักตัว

ประวัติการเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อ

[แก้]

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2503 มีการตรา พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันถัดมา [4]

รายชื่อ สัตว์ป่าสงวน ถูกกำหนดครั้งแรก ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มีจำนวน 9 ชนิด ล้วนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์กีบ ได้แก่ แรด กระซู่ กูปรี ควายป่า ละองหรือละมั่ง สมัน เนื้อทราย เลียงผา และ กวางผา [4] (รายชื่อนี้มีการเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมา)

ต่อมาเมื่อสถานการณ์ของสัตว์ป่าในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป สัตว์ป่าหลายชนิดมีแนวโน้มถูกคุกคามเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น ประกอบกับเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการควบคุมดูแลการค้าหรือการลักลอบค้าสัตว์ป่าในรูปแบบต่าง ๆ ตาม อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศว่าด้วยชนิดสัตว์ป่าและพืชป่า หรือ CITES ซึ่งเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2526 ประเทศไทยได้ร่วมลงนามรับรองอนุสัญญาในปี พ.ศ. 2518 และได้ให้สัตยาบัน นับเป็นสมาชิกลำดับที่ 80

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 มีการตรา พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดยปรับปรุงและยกเลิกพระราชบัญญัติฉบับเดิม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 [3]

ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้กำหนดให้สามารถเปลี่ยนแปลงรายชื่อชนิดสัตว์ป่าสงวนได้โดยสะดวกรวดเร็วขึ้น โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาแก้ไขหรือเพิ่มเติมเท่านั้น ไม่ต้องรอแก้ไขพระราชบัญญัติอย่างเดิมที่ใช้เวลานานกว่า [3]

ทั้งนี้ยังได้เพิ่มชนิดสัตว์ที่มีสภาพล่อแหลมต่อการสูญพันธุ์ (ในขณะนั้น) 7 ชนิด ได้แก่ สมเสร็จ(มลายู) เก้งหม้อ แมวลายหินอ่อน พะยูน นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร นกแต้วแร้วท้องดำ และ นกกระเรียนไทย [3]

และตัดสัตว์ป่าที่ไม่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากสามารถเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ได้มาก 1 ชนิด คือ เนื้อทราย [3]

วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2558 คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มีมติเห็นชอบให้เพิ่มสัตว์ 4 ชนิด โดยเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล 2 ชนิด ได้แก่ วาฬบรูดา วาฬโอมูระ เป็นสัตว์เลื้อยคลาน 1 ชนิด คือ เต่ามะเฟือง และปลาอีก 1 ชนิด คือ ปลาฉลามวาฬ [5]

วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 มีการตรา พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยปรับปรุงและยกเลิกพระราชบัญญัติฉบับเดิม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 [1]

วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2564 คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มีมติเห็นชอบเพิ่มสัตว์ 1 ชนิด คือ นกชนหิน ตามข้อเสนอโดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช [6]

วันที่ 24 กันยายน 2567 ประกาศพระราชกฤษฎีกา เล่มที่ 141 ตอนที่ 58 ก (มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ประกาศ) กำหนดให้ เพิ่มสัตว์ป่า 2 ชนิด ทำให้มีสัตว์ป่าสงวนทั้งสิ้น 21 ชนิด โดยเพิ่ม วาฬสีน้ำเงิน (เปลี่ยนสถานะจากสัตว์ป่าคุ้มครอง ในบัญชีสัตว์ป่าสงวนท้ายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ลำดับที่ 15) และ นกชนหิน (เปลี่ยนสถานะจากสัตว์ป่าคุ้มครอง ในบัญชีสัตว์ป่าสงวนท้ายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ลำดับที่ 4) [7]

รายชื่อ และการจำแนก

[แก้]

สัตว์ป่าสงวน มีทั้งสิ้น 21 ชนิด (ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2567) ได้แก่

ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ ปีที่ประกาศ สถานะการอนุรักษ์
แรด หรือ แรดชวา หรือ แรดนอเดียว Rhinoceros sondaicus 2503 CR
กระซู่ หรือ แรดสุมาตรา Dicerorhinus sumatrensis 2503 CR
สมเสร็จ หรือ สมเสร็จมลายู Tapirus indicus 2535 EN
กูปรี หรือ โคไพร Bos sauveli 2503 CR
ควายป่า Bubalus arnee 2503 EN
เลียงผา หรือ เลียงผาใต้ หรือ เยือง หรือ กูรำ หรือ โครำ Capricornis sumatraensis 2503 VU
กวางผา หรือ กวางผาจีน Naemorhedus griseus 2503 VU
สมัน หรือ เนื้อสมัน หรือ กวางเขาสุ่ม Rucervus schomburki 2503 EX
ละอง (ตัวผุ้) และ ละมั่ง (ตัวเมีย) Rucervus eldi 2503 EN
เก้งหม้อ หรือ กวางเขาจุก หรือ เก้งดง Muntiacus feae 2535 DD
วาฬบรูดา Balaenoptera edeni 2562 LC
วาฬโอมูระ Balaenoptera omurai 2562 DD
พะยูน​ หรือ หมูน้ำ หรือ วัวทะเล Dugong dugon 2535 VU
แมวลายหินอ่อน Pardofelis marmorata 2535 NT
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร Pseudochelidon sirintarae 2535 CR
นกแต้วแร้วท้องดำ Pitta gurneyi 2535 CR
นกกระเรียน หรือ นกกระเรียนไทย Grus antigone 2535 VU
เต่ามะเฟือง Dermochelys coriacea 2562 VU
(ปลา) ฉลามวาฬ Rhincodon typus 2562 EN
นกชนหิน Rhinoplax vigil 2565 CR
วาฬสีน้ำเงิน Balaenoptera musculus 2567 EN


IUCN Red List category abbreviations (version 3.1, 2001)

อ้างอิง

[แก้]
  • "Wild Animal Reservation and Protection Act, BE 2535", Royal Thai Government Gazette, vol. 109 no. 15, 28 February 1992 (Unofficial translation เก็บถาวร 2012-03-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน by Dan Reik, April 1996).
  • Wildlife Conservation Development and Extension Section, Wildlife Conservation Division, Royal Forest Department, Wildlife Conservation in Thailand (PDF), คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-03-29, สืบค้นเมื่อ 2014-12-08{{citation}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) shurhare.
  1. 1.0 1.1 PDF "พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562" เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา โดย สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ประกาศ 2562-25-29
  2. PDF "พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562" เก็บถาวร 2022-06-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, สืบค้น 2564-06-26
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 "พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535" เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ประกาศ 2535-02-28
  4. 4.0 4.1 4.2 PDF "พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503" เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ประกาศ 2503-12-27
  5. "รู้ยัง เพิ่มสัตว์น้ำอีก 4 ชนิดเป็นสัตว์สงวนใหม่" เว็บไซต์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ส่วนจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล, สืบค้น 2564-06-26
  6. ภูริช วรรธโนรมณ์, "ลำดับเหตุการณ์ผลักดัน ‘นกชนหิน’ เป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของประเทศไทย" เว็บไซต์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, 9 มีนาคม 2564, สืบค้น 2564-06-26
  7. PDF "พระราชกฤษฎีกา กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน พ.ศ. 2567 ปนะกาศเล่มที่ 141 ตอนที่ 58 ก วันที่ 24 กันยายน 2567" เว็บไซต์ กองนิติการ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 24 กันยายน 2567, สืบค้น 2567-10-04 (อ้างจาก เว็บไซต์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, 3 ตุลาคม 2567, สืบค้น 2567-10-04)

ดูเพิ่ม

[แก้]