ข้ามไปเนื้อหา

วีระ ธีรภัทร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วีระ ธีระภัทรานนท์
วีระ ธีรภัทร (คนขวา) ในปี พ.ศ. 2552
วีระ ธีรภัทร (คนขวา) ในปี พ.ศ. 2552
เกิด13 เมษายน พ.ศ. 2500 (67 ปี)
จังหวัดพิจิตร ประเทศไทย
นามปากกาวีระ ธีรภัทร
อาชีพนักเขียน, นักข่าว, นักหนังสือพิมพ์
สัญชาติไทย ไทย
ช่วงปีที่ทำงานพ.ศ. 2522 - ปัจจุบัน

วีระ ธีรภัทร (เกิด 13 เมษายน พ.ศ. 2500) กรรมการในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 นักจัดรายการวิทยุ นักเขียน คอลัมนิสต์ และเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ชาวไทย ,วิทยากรมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไปในนามอาจารย์วีระ

ประวัติ

[แก้]

มีชื่อจริงว่า วีระ ธีระภัทรานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2500 ที่ตำบลห้วยเกตุ อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร[1][2][3]

การศึกษา

[แก้]

วีระจบการศึกษาจากโรงเรียนลาซาลโชติรวีนครสวรรค์ และจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อปีการศึกษา พ.ศ. 2516 และสำเร็จระดับปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต (สาขาทฤษฎีและปรัชญาการเมือง) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2521[1]

การทำงาน[1]

[แก้]

วีระเริ่มการทำงานโดยเป็น ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ ของหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ในปี พ.ศ. 2522 จากนั้นย้ายไปอยู่ที่ฝ่ายข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ในปี พ.ศ. 2527 เนื่องจากมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ จึงมีโอกาสติดตามคณะ ผู้บริหารประเทศและนักการเมือง ไปทำข่าวยังต่างประเทศ และมีความสนิทสนมกับหลายคน ในยุคที่พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

จนกระทั่งเมื่อเดลินิวส์เปิดหน้าข่าวเศรษฐกิจขึ้น ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นบรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจคนแรก มีคอลัมน์ประจำชื่อ "ปากท้องชาวบ้าน" ในทุกวันจันทร์-วันศุกร์ โดยศึกษาเรื่องเศรษฐกิจด้วยตนเอง และเข้ารับการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ จนแตกฉาน เช่นหลักสูตรนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ของสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เมื่อปี พ.ศ. 2535 เป็นต้น จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญทางตลาดหลักทรัพย์คนหนึ่ง มีผลงานหนังสือหลายเล่ม ทั้งที่เขียนเอง และแปลจากภาษาอังกฤษ ทั้งเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ระหว่างปี พ.ศ. 2531-2532

ต่อมาราวปี พ.ศ. 2537 วีระลาออกจากเดลินิวส์ ไปดำรงตำแหน่งบรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์วัฏจักร และจัดรายการวิทยุเป็นครั้งแรก เมื่อต้นปี พ.ศ. 2538 ทางสถานีวิทยุเอฟเอ็ม 101.0 เมกะเฮิร์ตซ์ ในชื่อรายการ "คุยเฟื่องเรื่องเงิน" ทุกวันศุกร์ เวลา 09.00-11.00 น. จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2541 หนังสือพิมพ์วัฏจักรปิดกิจการ วีระจึงออกมาจัดรายการ "คุยกันจันทร์ถึงศุกร์" ทางเอฟเอ็ม 97.0 เมกะเฮิร์ตซ์ "ตรีนิตีเรดิโอ" (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น แฟมิลีเรดิโอ) ในช่วงบ่ายวันทำงาน ตั้งแต่เดือนตุลาคม ซึ่งสามารถตอบปัญหาให้ผู้โทรศัพท์เข้ารายการได้ทุกเรื่อง ทั้งเศรษฐกิจ การเงิน การเมือง สังคม หรือเรื่องปกิณกะอื่น ๆ ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น คือโผงผางเสียงดัง ทั้งยังตำหนิผู้โทรศัพท์เข้ารายการบางรายด้วย โดยในช่วง พ.ศ. 2541-2543 กล่าวกันว่าเป็นรายการวิทยุ ที่มีผู้ฟังมากที่สุดในช่วงบ่ายในคลื่นเอฟเอ็ม ที่มิใช่รายการเพลง[4] และยังจัดรายการ "เงินทองต้องรู้" ทางวิทยุเนชั่น เอฟเอ็ม 90.5 เมกะเฮิร์ตซ์ เวลา 10.00-11.30 น. อีกรายการหนึ่ง

จากนั้นในราวปี พ.ศ. 2542-2544 วีระเริ่มเขียนคอลัมน์ "เงินทองต้องรู้" และ "ปากท้องของเรา" ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และเขียนคอลัมน์ "หอมปากหอมคอ" ประจำในหนังสือพิมพ์คมชัดลึกด้วย นอกจากนั้น วีระยังเคยเป็นวิทยากรในรายการ "บ้านเลขที่ 5" อยู่ช่วงหนึ่ง รวมถึงเคยเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์กับอุ้ม-สิริยากร พุกกะเวส ในช่วงสายวันเสาร์ และยังเป็นวิทยากรคุยเรื่องเศรษฐกิจ ในรายการ "สยามเช้านี้" และ "สยามทูเดย์" ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ออกอากาศทาง ททบ.5 ระยะต่อมา เข้าร่วมเป็นพิธีกรรายการ "ตาสว่าง" เริ่มตั้งแต่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ระยะหลัง วีระลดความร้อนแรงในการจัดรายการลง โดยให้เหตุผลว่าเบื่อและอิ่มตัวแล้ว จึงเปลี่ยนชื่อรายการทางเอฟเอ็ม 97.0 เมกะเฮิร์ตซ์เป็น "คุยได้คุยดี" และเปลี่ยนรูปแบบไปเป็น การเล่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งต่อมารายการยุติลง ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตรายการ หมดสัญญาเช่าคลื่นกับสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จากนั้นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 ร่วมจัดรายการ "ข่าวเป็นข่าว" เพิ่มขึ้นทางเอฟเอ็ม 105 เมกะเฮิร์ทซ์ "วิสดอมเรดิโอ" กับหลานชายคือ ณัฐพงษ์ ธีระภัทรานนท์ ในเวลา 08.00-09.00 น. ต่อมารายการยุติลงเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 เนื่องจากณัฐพงษ์เปลี่ยนไปทำงานผู้ประกาศและพิธีกรข่าวทางโทรทัศน์

ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2551 วีระเป็นวิทยากรเศรษฐกิจในรายการตลาดเช้าข่าวสด ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ในทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดีเวลา 06.00-07.30 น. ต่อมายุติการร่วมรายการ และตัวรายการเปลี่ยนชื่อไปแล้ว, วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ไปร่วมจัดรายการ เช้านี้...ที่หมอชิต ทางช่อง 7 ออกอากาศทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 06.00-07.30 น. ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2552 โดยเขาร่วมรายการในช่วงข่าวเศรษฐกิจ เฉพาะวันจันทร์-พุธ-ศุกร์ เวลา 06.50-07.00 น. ต่อมายุติการร่วมรายการ ในวันที่ 30 ตุลาคม ปีเดียวกัน โดยให้เหตุผลว่า งานมากเกินไปจนทำไม่ไหว จากนั้นเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เป็นพิธีกรสนทนารายการ "คุยนอกทำเนียบ" ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ออกอากาศทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 20.30-21.00 น. ปัจจุบันยุติรายการแล้ว

เริ่มจัดรายการคุยได้คุยดี Talk News & Music ทางสถานีวิทยุ อสมท โมเดิร์นเรดิโอ คลื่นความคิด เอฟเอ็ม 96.5 เมกะเฮิร์ตซ์ ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 14.00-16.00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2551 โดยหลังจากนั้นสามวัน ทางรายการสัมภาษณ์พิเศษ นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช เกี่ยวกับการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในวันที่ 4 กันยายน นอกจากนี้ เนื่องในวาระครบรอบ 1 ปีของรายการนี้ จึงมีการจัดทำคอมแพ็กต์ดิสก์ บันทึกเสียงที่เจ้าตัวเล่าประวัติการทำงานของตนเอง เพื่อแจกให้ผู้ฟังรายการ โดยให้เหตุผลว่า ประวัติของตนที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ มีความคลาดเคลื่อนในหลายส่วน

วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551 วีระเริ่มเขียนคอลัมน์ "สีซอให้ควายฟัง" ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อคอลัมน์เป็น "เล่าเท่าที่รู้" โดยให้เหตุผลว่า คนอ่านอาจเข้าใจผิด คิดว่าผู้เขียนว่าคนอ่านเป็นควาย ต่อมาเจ้าตัวเขียนในคอลัมน์ว่า จะยุติการเขียนคอลัมน์นี้ ในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เป็นวันสุดท้าย เนื่องจากงานรัดตัว และช่วงนี้ไม่มีประเด็นน่าสนใจที่จะเขียนถึง

ปัจจุบัน วีระ ธีรภัทร จัดรายการวิทยุรายการคุยได้คุยดี Talk News & Music ทางสถานีวิทยุ อสมท โมเดิร์นเรดิโอ คลื่นความคิด เอฟเอ็ม 96.5 เมกะเฮิร์ตซ์ ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 14.00-16.00 น. ร่วมกับ ณัฐพงษ์ ธีระภัทรานนท์ และดำเนินรายการโทรทัศน์รายการคุยรอบทิศร่วมกับ สุทธิชัย หยุ่น และ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ ทางช่อง9MCOT HD30 ต่อมาย้ายมาออกอากาศยังช่อง Thai PBS และเปลี่ยนชื่อรายการเป็นรายการคุยให้คิด เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ทุกวันเสาร์ เวลา 21.10 น. และดำเนินรายการฟังหูไว้หู ทางช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 ร่วมกับ ชุติมา พึ่งความสุข ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 20.50-21.30 น.

คณะกรรมการ ปปง.[1]

[แก้]

วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในฐานะบังคับบัญชาสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอรายชื่อบุคคลเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จำนวน 9 คน และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามลำดับเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป โดยวีระเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อด้วย

วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทั้ง 9 คน เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติอีกชั้นหนึ่ง

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองวันที่ 19 พฤษภาคม ปีเดียวกัน วีระกล่าวทางรายการวิทยุที่ตนจัดหลายรายการว่าจะทยอยเลิกงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากรู้สึกว่าสถานการณ์ สภาพแวดล้อม และความรู้สึกของตนเอง ไม่เหมาะสมที่จะจัดรายการแบบนี้อีกต่อไป อย่างไรก็ตามในเดือนตุลาคมเจ้าตัวกล่าวว่าจะไม่เลิกจัดรายการคุยได้คุยดีแต่จะหยุดพักสองเดือนหรือหยุดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนและกลับมาจัดใหม่ในเดือนมกราคมปี พ.ศ. 2554

วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณารายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน จำนวน 9 คน ตามที่ ครม.เสนอมาและคณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อ จำนวน 9 คน ด้วยวิธีลงคะแนนลับผ่านซองลงคะแนน ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก โดย รศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ได้ 245 คะแนนต่อ 88 งดออกเสียง 5 นายถาวร พานิชพันธ์ ได้ 242 ต่อ 88 งดออกเสียง 6 นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ ได้ 237 ต่อ 90 งดออกเสียง 6 นายบัญชา เสือวรรณศรี ได้ 342 ต่อ 5 งดออกเสียง 4 นายวีระ ธีระภัทรานนท์ ได้ 200 ต่อ 126 งดออกเสียง 12 พล.ต.อ.สมชาย ประภัสภักดี ได้ 339 ต่อ 8 งดออกเสียง 5 รศ.จุราพร ไวยนันท์ได้ 342 ต่อ 5 งดออกเสียง 4 นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล ได้ 344 ต่อ 5 งดออกเสียง 4 และ นายมนัส สุขสวัสดิ์ได้ 354 ต่อ 5 งดออกเสียง 4 และขั้นตอนต่อจากนี้จะเสนอให้วุฒิสภาเห็นชอบต่อไป

วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553 วุฒิสภาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน จำนวน 9 คน ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ

คณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19)

[แก้]

วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ราชกิจจานุเบกษา ประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 21/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ได้แต่งตั้งนายวีระ ธีระภัทรานนท์ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) เพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็นทางวิชาการ เสนอแนะแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม จากสถานการณ์โรค COVID 19

งานเขียนและงานแปลที่เคยตีพิมพ์[1]

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 วีระ ธีรภัทร (นามแฝง). (2561). คนไร้ราก. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โรนิน. ISBN 978-616-7686-17-2
  2. เงินทองต้องรู้(ตอนพิเศษ): "เยือนอาศรมสนธยาสนทนากับอ.วีระ ธีรภัทร" (2 มีนาคม 2564) YouTube สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2564
  3. เยือนอาศรมสนธยาของฤๅษี "วีระ ธีระภัท" อลังการร่มรื่นน่าอยู่มาก ผู้จัดการออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2563
  4. "อยากทราบประวัติของคุณวีระในรายการคุยกับวีระครับ". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-30. สืบค้นเมื่อ 2007-06-07.
  • ประวัติจากหลังปกหนังสือ เรื่องเก่าเล่าใหม่ รวมคอลัมน์ในกรุงเทพธุรกิจ (พ.ศ. 2544)
  • เทปบันทึกเสียง 25 ปีแห่งการงาน บอกเล่าถึงประวัติของตัวเองในวาระ 25 ปี แห่งการทำงาน

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]