วัดเชียงมั่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเชียงมั่น
เจดีย์ช้างล้อมและพระวิหารในปี พ.ศ. 2565
แผนที่
ที่ตั้งตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา
พระวิหารประจำวัดเชียงมั่น

วัดเชียงมั่น (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นวัดที่ตั้งอยู่ถนนราชภาคิไนย ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่[1] มีพระเสตังคมณี (พระแก้วขาว) และพระศิลาซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางปราบช้างนาฬาคีรี ประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร

มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่และพงศาวดารโยนก หลังจากที่พญางำเมือง พญาร่วง และพญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1839 ทั้ง 3 พระองค์โปรดให้สร้างเจดีย์ และพญามังรายทรงประทับชั่วคราวในระหว่างควบคุมการสร้างเมือง ตรงหอนอนบ้านเชียงมั่น เรียกว่า "เวียงแก้ว" ทรงอุทิศตำหนักคุ้มหลวงเวียงเหล็ก ตั้งเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกและพระราชทานนามว่า "วัดเชียงมั่น" จากนั้นคาดว่าเจดีย์พังลงมาในสมัยพระเจ้าติโลกราช (ครองราชย์ พ.ศ. 1985 - 2031) พระองค์จึงโปรดให้สร้างเจดีย์ใหม่ ทำด้วยศิลาแลง เมื่อปี พ.ศ. 2014

เมื่อเชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ในปี พ.ศ. 2094 วัดเชียงมั่นจึงถูกปล่อยร้าง จนปี พ.ศ. 2101 เจ้าฟ้ามังทรา (สมเด็จพระมหาธัมมิกะราชาธิราช) แห่งพม่า บูรณปฏิสังขรณ์วัดเชียงมั่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยโปรดให้สร้างเจดีย์ วิหาร อุโบสถ หอไตร ธัมมเสนาสนะกำแพง และประตูโขง มีพระมหาหินทาทิจจวังสะเป็นเจ้าอาวาสเมื่อถึงสมัยพระยากาวิละครองเมือง เชียงใหม่ (พ.ศ. 2324–2358)

ต่อมาพระพุทธศาสนาแบบธรรมยุกนิกายเผยแผ่เข้ามาในอาณาจักรล้านนา เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์จึงนิมนต์พระธรรมยุตมาจำพรรษาอยู่ แต่ได้ย้ายไปอยู่วัดหอธรรมและวัดเจดีย์หลวงตามลำดับในภายหลัง

การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน[แก้]

ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 0ง วันที่ 8 มีนาคม 2478 พร้อมกับวัดอีกหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่[2]

อ้างอิง[แก้]