พระศิลา
พระศิลา | |
---|---|
ชื่อเต็ม | พระศิลา |
ชื่อสามัญ | พระศิลา |
ประเภท | พระพุทธรูป |
ศิลปะ | ฝีมือช่างปาละของอินเดีย |
วัสดุ | หินชนวนดำ (บางตำนานว่าเป็นหินแดง) |
สถานที่ประดิษฐาน | ภายในพระวิหาร วัดเชียงมั่น |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา |
พระศิลา เป็นพระพุทธรูปแกะสลักจากแผ่นหินปางพระพุทธองค์ปราบช้างนาฬาคีรี ภายในแผ่นหินมีรูป พระพุทธเจ้าประทับยืน ด้านซ้ายมีรูปพระอานนท์ถือบาตร และรูปช้างนาฬาคีรี ปัจจุบัน พระศิลาประดิษฐานบนบัลลังก์หรือซุ้มไม้สัก มีคำจารึกที่ฐานและด้านหลังซุ้มด้วยอักษรธรรมว่า บัลลังก์นี้สร้างโดยพระเจ้ากาวิละ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๔ พระเจ้ากาวิละ เป็นผู้ครองนครเชียงใหม่ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๒๔-๒๓๕๖ (ฮันส์ เพนธ์ ๒๕๑๙: ๒๑๓-๒๑๖)
ตำนานพระศิลา
[แก้]ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อพระโคตมพุทธเจ้าปรินิพพานไปได้ 7 ปี 7 เดือน กับ 7 วัน พระเจ้าอาชาตศัตตุราช ผู้ครองนครราชคฤห์ มีพระประสงค์ที่จะสร้างพระพุทธรูป ทรงให้นำเอาหินอ่อนจากท้องมหาสมุทรมาสร้างพระพุทธรูปปางโปรดช้างนาฬาคีฬี ขณะเสด็จบิณฑบาตรในเวียงราชคฤห์ โดยมีรูปช้างนาฬาคีฬีนอนหมอบอยู่ทางขวา และรูปพระอานนท์ถือบาตรอยู่ทางซ้าย ทรงให้สร้างรูปทั้งสามนั้นในหน้าหินลูกเดียวกัน เมื่อสร้างพระพุทธรูปเสร็จ พระเจ้าอาชาตศัตตุราชาและพระอรหันต์เจ้าทั้งหลายพร้อมใจกันตั้งจิตอธิฐาน กล่าวคำอาราธนาพระบรมสารีริกธาตุ 7 พระองค์ ให้เสด็จเข้าสถิตย์ในองค์พระพุทธรูปศีลา เมื่อพระบรมสารีริกธาตุทั้ง 7 พระองค์สถิตย์ตั้งอยู่ในองค์พระศีลาเจ้าแล้ว พระศีลาก็ทรงสำแดงอิทธิฤทธิ์เสด็จขึ้นไปในอากาศ พระเจ้าอาชาตศัตตุราชทรงเห็นเป็นอัศจรรย์ จึงทรงประดิษฐานพระศีลาในเงื้อมเขาที่สูง และทำแท่นบูชาไว้ข้างล่างสำหรับผู้ที่ต้องการมาทำการสักการบูชา
ต่อมาพระเถรเจ้า 3 องค์ มีนามว่า สีละวังโส เรวะโต และญานคัมภีระเถระ พากันไปนมัสการพระศีลาเจ้าที่เงื้อมเขา และขออาราธนาพระองค์เสด็จโปรดมหาชนในประเทศบ้านเมืองที่ไกลบ้าง พระเถระเจ้าทั้ง 3 องค์จึงขออนุญาตพระเจ้าอาชาตศัตตุราชนำพระศีลาไปยังเมืองหริภุญชัย เมื่อพระเถระเจ้าทั้ง 3 มาถึงเมืองนคร (ลำปาง) ก็อัญเชิญพระศีลาเจ้าประดิษฐานไว้ในเมืองนั้น เพื่อเป็นที่สักการบูชาของประชาชนชาวเมืองเป็นเวลาหลายสมัย
ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ มีรับสั่งให้ไปอาราธนาพระศีลาเจ้ามาประดิษฐานไว้ ณ เมืองเชียงใหม่ โดยประดิษฐานไว้ที่วัดป่าแดง วัดหมื่นสาร และวัดสวนดอกตามลำดับ ในปีมะแม จุลศักราช 837 (พ.ศ. 2019) ทรงอาราธนาพระศีลาเจ้ามาประดิษฐานในหอพระแก้ว ในพระราชวังของพระองค์ ครั้นถึงเทศกาลอันสมควรก็กระทำพิธีสักการบูชาสระสรงสมโภชพระแก้วและพระศีลาเจ้าเป็นงานประจำปี ถ้าปีใดบ้านเมืองแห้งแล้งฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ก็ทรงให้จัดการทำพิธีขอฝน สระสรงองค์พระศีลาเจ้า เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช พระราชบุตร พระราชนัดดาได้เสวยราชสมบัติ ก็ทรงดำเนินตามราชประเพณีสืบๆกันมา
อ้างอิง
[แก้]- ตำนานพระแก้วขาวกับพระศิลา วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่. 2544. พิมพ์เนื่องในโอกาสฉลองสมโภชอุโบสถวัดเชียงมั่น เมืองเชียงใหม่ 700 ปี.