ข้ามไปเนื้อหา

วัดช่างแต้ม (จังหวัดเชียงใหม่)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดช่างแต้ม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดช่างแต้ม , วัดช่างต้อมแต้มกว้างท่าช้างพิงชัย
ที่ตั้งตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดช่างแต้ม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 95 ตารางวา โฉนดเลขที่ 3608 อาณาเขตทิศเหนือจดหมู่บ้าน ทิศใต้จดหมู่บ้าน ตะวันออกจดถนนพระปกเกล้า ทิศตะวันตกจดที่ธรณีสงฆ์ มีที่ดินธรณีสงฆ์จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 2 งาน 58 ตารางวา โฉนดเลขที่ 3608

วัดช่างแต้มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2038–2069 ในสมัยพระเจ้าติโลกราช เดิมชื่อ วัดช่างต้อมแต้มกว้างท่าช้างพิงชัย สร้างโดยกลุ่มจิตรกร (ภาษาเหนือเรียกว่า ช่างแต้ม) จึงเป็นที่มาของชื่อวัด

อาคารเสนาสนะ

[แก้]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ วิหารศิลปะล้านนา หลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น หน้าบันลักษณะม้าต่างไหม แบ่งออกเป็นช่อง แต่ละช่องมีลวดลายพรรณพฤกษาและดอกไม้ประดับไว้ ซุ้มโขงล้านนามีลายปูนปั้นรูปหงส์ และพญานาคสองตนเกี่ยวพันกันเป็นซุ้ม ภายในวิหารประดิษฐานหมู่พระพุทธรูปปางมารวิชัย แต่ละองค์มีพระพักตร์ที่ไม่เหมือนกัน ด้านหลังพระประธานมีลายปูนปั้นซุ้มโขง และธรรมจักรสีทอง ตัดกับพื้นหลังสีแดง เบื้องหน้ามีสัตตภัณฑ์ (เชิงเทียน) ที่แกะสลักจากไม้เป็นรูปพญาครุฑ และพญานาคประดับด้วยกระจกหลากสี

เจดีย์ศิลปะพม่า ฐานด้านล่างเป็นสี่เหลี่ยม แต่ละมุมมีฉัตร ถัดขึ้นไปเป็นฐานย่อเก็จยกสูงรับกับชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยมซ้อนกัน 6 ชั้น รับกับองค์ระฆังทรงกลมหุ้มด้วยแผ่นทองจังโก ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง 7 ชั้น

อาคารเสนาสนะอื่น ได้แก่ กุฏิ 700 ปีศรีเมืองเชียงใหม่ 1 หลัง กุฏิสงฆ์ จำนวน 2 หลัง ศาลาอเนกประสงค์ หอระฆัง หอฉันโรงครัว ศาลาพักร้อน 1 หลัง ห้องน้ำ 3 หลัง[1]

วัดมีพระพุทธรูปที่สำคัญ คือ พระเจ้าแสนห่า เชื่อมาแต่โบราณกาลว่า พระพุทธรูปฝนแสนห่าองค์นี้ มีพุทธานุภาพบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "วัดช่างแต้ม! วัดที่สร้างโดยกลุ่มจิตรกรสมัยล้านนา". เชียงใหม่นิวส์.
  2. "เชียงใหม่ฝนหนัก หลังทำพิธีบูชาเสาหลักเมือง-แห่พระพุทธรูปฝนแสนห่า". ไทยรัฐ.