ลัทธิแคทาร์
ลัทธิแคทาร์ (อังกฤษ: Catharism, มาจากภาษากรีก καθαροί, katharoi, "ผู้บริสุทธิ์")[1][2] เป็นขบวนการคริสตชนแบบทวินิยมและไญยนิยมระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 12–14 เจริญในยุโรปใต้โดยเฉพาะอิตาลีตอนเหนือและฝรั่งเศสตอนใต้[3] ผู้นับถือลัทธินี้เรียกว่า ชาวแคทาร์ (Cathars) และแทนตนเองว่า ชาวคริสต์ผู้ประเสริฐ (Good Christians) เป็นที่รู้จักจากการถูกเบียดเบียนทางศาสนาอย่างยาวนานจากพระศาสนจักรคาทอลิก ลัทธิแคทาร์มาถึงยุโรปตะวันตกที่แคว้นล็องก์ด็อกของฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 11 บางครั้งผู้นับถือลัทธิแคทาร์ถูกเรียกว่า แอลบิเจนเซียน (Albigensians)[3] ตามชื่อเมืองอาลบีอันเป็นที่ตั้ง[4] ความเชื่อของลัทธิแคทาร์อาจมีต้นกำเนิดในจักรวรรดิไบแซนไทน์ เริ่มแรกถูกเผยแพร่โดยนักพรตผู้วางแนวทางปฏิบัติเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้วัตรปฏิบัติของลัทธิแคทาร์ในแต่ละท้องที่แตกต่างกันไป ด้านพระศาสนจักรคาทอลิกไม่ยอมรับวัตรปฏิบัติดังกล่าวรวมถึงพิธีศักดิ์สิทธิ์ consolamentum ซึ่งชาวแคทาร์จะได้รับการล้างบาปและกลายเป็น "ผู้สมบูรณ์" (Perfect)[5]
ลัทธิแคทาร์ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากกลุ่มบอกอมิลลิซึมในจักรวรรดิบัลแกเรียที่ 1[6] และอาจมีรากฐานมาจากลัทธิพอลิเซียนในอาร์มีเนียและตะวันออกของอานาโตเลียผ่านการตั้งถิ่นฐานใหม่ของชาวพอลิเซียนในเธรซ แม้ว่าแคทาร์จะเป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มนี้มานานหลายศตวรรษ แต่การเรียกตนเองด้วยชื่อนี้ยังคงเป็นถกเถียง[7] ในบันทึกของชาวแคทาร์ระบุว่า ผู้ประเสริฐ (Bons Hommes), สตรีผู้ประเสริฐ (Bonnes Femmes) และชาวคริสต์ผู้ประเสริฐ (Bons Chrétiens) เป็นคำทั่วไปที่ชาวแคทาร์ใช้เรียกตนเอง[8]
แนวคิดพระเป็นเจ้าสององค์หรือหลักการแบบเทวัสนิยมที่ว่ามีพระเป็นเจ้าที่ดีและชั่วร้ายนั้นเป็นจุดที่พระศาสนจักรคาทอลิกใช้โจมตีชาวแคทาร์ พระศาสนจักรคาทอลิกอ้างว่าแนวคิดนี้เป็นปฏิปักษ์กับเอกเทวนิยมซึ่งเชื่อว่ามีพระเป็นเจ้าเพียงองค์เดียวผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งมองเห็นและมองไม่เห็น[9] ชาวแคทาร์เชื่อว่าพระเป็นเจ้าที่ดีคือพระเป็นเจ้าในพันธสัญญาใหม่ผู้สร้างโลกแห่งจิตวิญญาณ ขณะที่พระเป็นเจ้าที่ชั่วร้ายคือพระเป็นเจ้าในพันธสัญญาเก่าผู้สร้างโลกกายภาพ ซึ่งชาวแคทาร์หลายคนเปรียบเสมือนซาตาน ชาวแคทาร์เชื่อว่าจิตมนุษย์เป็นจิตของเทวทูตไร้เพศที่ติดอยู่ในโลกกายภาพของพระเป็นเจ้าที่ชั่วร้าย ถูกกำหนดให้เวียนว่ายตายเกิดจนบรรลุความรอดผ่านพิธี consolamentum ซึ่งกระทำในช่วงใกล้เสียชีวิตเพื่อกลับคืนสู่พระเป็นเจ้าที่ดี[10]
สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 พยายามกำจัดลัทธิแคทาร์มาตั้งแต่เริ่มดำรงตำแหน่งด้วยการส่งมิชชันนารีและโน้มน้าวผู้มีอำนาจในท้องถิ่น ค.ศ. 1208 ปีแยร์ เดอ กัสแตลโน ผู้แทนของพระองค์ถูกสังหารระหว่างเดินทางกลับโรมหลังประกาศขับแรมงที่ 6 เคานต์แห่งตูลูซออกจากศาสนาด้วยเหตุผลว่าปรานีต่อชาวแคทาร์เกินไป[11] หลังจากนั้นสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 ประกาศให้กัสแตลโนเป็นมรณสักขีและเริ่มสงครามครูเสดแอลบิเจนเซียนในค.ศ. 1209 สงครามนี้จบลงในค.ศ. 1229 ด้วยความพ่ายแพ้ของชาวแคทาร์ จากนั้นชาวแคทาร์ที่ยังหลงเหลือถูกปราบปรามจนหมดสิ้นในค.ศ. 1350
ลัทธิแคทาร์เป็นหัวข้อขัดแย้งในวงวิชาการถึงความเป็นขบวนการที่เป็นระบบหรือเป็นเพียงแค่แนวคิด การขาดองค์กรกลาง ความแตกต่างระหว่างความเชื่อและการปฏิบัติในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการขาดหลักฐานจากฝ่ายแคทาร์เองส่งผลให้นักวิชาการบางส่วนตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของลัทธิแคทาร์ ขณะที่นักวิชาการบางส่วนกล่าวว่ามีหลักฐานยืนยันการมีอยู่จริงของลัทธินี้ และพบว่าศาสนจักรสมัยกลางสร้างให้ภัยคุกคามของลัทธิแคทาร์ดูเกินจริง[12]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ OED (1989), "Cathar".
- ↑ καθαροί. Liddell, Henry George; Scott, Robert; A Greek–English Lexicon at Perseus Project.
- ↑ 3.0 3.1 Huey 2012, Cathars.
- ↑ Le Roy Ladurie 1990, p. vii.
- ↑ Lambert (1998), p. 21.
- ↑ Peters 1980, p. 108, The Cathars.
- ↑ Pegg (2001a), pp. 181 ff.
- ↑ Théry (2002), pp. 75–117.
- ↑ ดูที่ หลักข้อเชื่อไนซีน
- ↑ Schaus (2006), p. 114.
- ↑ Sumption (1999), pp. 15–16.
- ↑ Roach 2018, pp. 396–398.