ข้ามไปเนื้อหา

ลัทธิแคทาร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ลัทธิแคทาร์ (อังกฤษ: Catharism, มาจากภาษากรีก καθαροί, katharoi, "ผู้บริสุทธิ์")[1][2] เป็นขบวนการคริสตชนแบบทวินิยมและไญยนิยมระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 12–14 เจริญในยุโรปใต้โดยเฉพาะอิตาลีตอนเหนือและฝรั่งเศสตอนใต้[3] ผู้นับถือลัทธินี้เรียกว่า ชาวแคทาร์ (Cathars) และแทนตนเองว่า ชาวคริสต์ผู้ประเสริฐ (Good Christians) เป็นที่รู้จักจากการถูกเบียดเบียนทางศาสนาอย่างยาวนานจากพระศาสนจักรคาทอลิก ลัทธิแคทาร์มาถึงยุโรปตะวันตกที่แคว้นล็องก์ด็อกของฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 11 บางครั้งผู้นับถือลัทธิแคทาร์ถูกเรียกว่า แอลบิเจนเซียน (Albigensians)[3] ตามชื่อเมืองอาลบีอันเป็นที่ตั้ง[4] ความเชื่อของลัทธิแคทาร์อาจมีต้นกำเนิดในจักรวรรดิไบแซนไทน์ เริ่มแรกถูกเผยแพร่โดยนักพรตผู้วางแนวทางปฏิบัติเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้วัตรปฏิบัติของลัทธิแคทาร์ในแต่ละท้องที่แตกต่างกันไป ด้านพระศาสนจักรคาทอลิกไม่ยอมรับวัตรปฏิบัติดังกล่าวรวมถึงพิธีศักดิ์สิทธิ์ consolamentum ซึ่งชาวแคทาร์จะได้รับการล้างบาปและกลายเป็น "ผู้สมบูรณ์" (Perfect)[5]

ลัทธิแคทาร์ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากกลุ่มบอกอมิลลิซึมในจักรวรรดิบัลแกเรียที่ 1[6] และอาจมีรากฐานมาจากลัทธิพอลิเซียนในอาร์มีเนียและตะวันออกของอานาโตเลียผ่านการตั้งถิ่นฐานใหม่ของชาวพอลิเซียนในเธรซ แม้ว่าแคทาร์จะเป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มนี้มานานหลายศตวรรษ แต่การเรียกตนเองด้วยชื่อนี้ยังคงเป็นถกเถียง[7] ในบันทึกของชาวแคทาร์ระบุว่า ผู้ประเสริฐ (Bons Hommes), สตรีผู้ประเสริฐ (Bonnes Femmes) และชาวคริสต์ผู้ประเสริฐ (Bons Chrétiens) เป็นคำทั่วไปที่ชาวแคทาร์ใช้เรียกตนเอง[8]

แนวคิดพระเป็นเจ้าสององค์หรือหลักการแบบเทวัสนิยมที่ว่ามีพระเป็นเจ้าที่ดีและชั่วร้ายนั้นเป็นจุดที่พระศาสนจักรคาทอลิกใช้โจมตีชาวแคทาร์ พระศาสนจักรคาทอลิกอ้างว่าแนวคิดนี้เป็นปฏิปักษ์กับเอกเทวนิยมซึ่งเชื่อว่ามีพระเป็นเจ้าเพียงองค์เดียวผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งมองเห็นและมองไม่เห็น[9] ชาวแคทาร์เชื่อว่าพระเป็นเจ้าที่ดีคือพระเป็นเจ้าในพันธสัญญาใหม่ผู้สร้างโลกแห่งจิตวิญญาณ ขณะที่พระเป็นเจ้าที่ชั่วร้ายคือพระเป็นเจ้าในพันธสัญญาเก่าผู้สร้างโลกกายภาพ ซึ่งชาวแคทาร์หลายคนเปรียบเสมือนซาตาน ชาวแคทาร์เชื่อว่าจิตมนุษย์เป็นจิตของเทวทูตไร้เพศที่ติดอยู่ในโลกกายภาพของพระเป็นเจ้าที่ชั่วร้าย ถูกกำหนดให้เวียนว่ายตายเกิดจนบรรลุความรอดผ่านพิธี consolamentum ซึ่งกระทำในช่วงใกล้เสียชีวิตเพื่อกลับคืนสู่พระเป็นเจ้าที่ดี[10]

สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 พยายามกำจัดลัทธิแคทาร์มาตั้งแต่เริ่มดำรงตำแหน่งด้วยการส่งมิชชันนารีและโน้มน้าวผู้มีอำนาจในท้องถิ่น ค.ศ. 1208 ปีแยร์ เดอ กัสแตลโน ผู้แทนของพระองค์ถูกสังหารระหว่างเดินทางกลับโรมหลังประกาศขับแรมงที่ 6 เคานต์แห่งตูลูซออกจากศาสนาด้วยเหตุผลว่าปรานีต่อชาวแคทาร์เกินไป[11] หลังจากนั้นสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 ประกาศให้กัสแตลโนเป็นมรณสักขีและเริ่มสงครามครูเสดแอลบิเจนเซียนในค.ศ. 1209 สงครามนี้จบลงในค.ศ. 1229 ด้วยความพ่ายแพ้ของชาวแคทาร์ จากนั้นชาวแคทาร์ที่ยังหลงเหลือถูกปราบปรามจนหมดสิ้นในค.ศ. 1350

ลัทธิแคทาร์เป็นหัวข้อขัดแย้งในวงวิชาการถึงความเป็นขบวนการที่เป็นระบบหรือเป็นเพียงแค่แนวคิด การขาดองค์กรกลาง ความแตกต่างระหว่างความเชื่อและการปฏิบัติในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการขาดหลักฐานจากฝ่ายแคทาร์เองส่งผลให้นักวิชาการบางส่วนตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของลัทธิแคทาร์ ขณะที่นักวิชาการบางส่วนกล่าวว่ามีหลักฐานยืนยันการมีอยู่จริงของลัทธินี้ และพบว่าศาสนจักรสมัยกลางสร้างให้ภัยคุกคามของลัทธิแคทาร์ดูเกินจริง[12]

อ้างอิง

[แก้]
  1. OED (1989), "Cathar".
  2. καθαροί. Liddell, Henry George; Scott, Robert; A Greek–English Lexicon at Perseus Project.
  3. 3.0 3.1 Huey 2012, Cathars.
  4. Le Roy Ladurie 1990, p. vii.
  5. Lambert (1998), p. 21.
  6. Peters 1980, p. 108, The Cathars.
  7. Pegg (2001a), pp. 181 ff.
  8. Théry (2002), pp. 75–117.
  9. ดูที่ หลักข้อเชื่อไนซีน
  10. Schaus (2006), p. 114.
  11. Sumption (1999), pp. 15–16.
  12. Roach 2018, pp. 396–398.