ข้ามไปเนื้อหา

พิธีสารมอนทรีออล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พิธีสารมอนทรีออล
วันลงนาม16 กันยายน 1987
ที่ลงนามมอนทรีออล
วันมีผล1 มกราคม 1989 ถ้า 11 ชาติได้ให้สัตยาบันแล้ว
เงื่อนไขให้สัตยาบัน 20 ชาติ
ผู้ลงนาม46
ผู้ให้สัตยาบัน197 (สมาชิกสหประชาชาติทั้งหมด รวมทั้งนีวเว หมู่เกาะคุก สันตะสำนัก และสหภาพยุโรป)
ผู้เก็บรักษาเลขาธิการสหประชาชาติ
ภาษา
หลุมโอโซนที่ใหญ่ที่สุดของทวีปแอนตาร์กติกที่บันทึกเมื่อกันยายน 2006

พิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (อังกฤษ: Montreal Protocol on Substances That Deplete the Ozone Layer) คือสนธิสัญญาสากลที่กำหนดขึ้นเพื่อควบคุม, ยับยั้ง และรณรงค์ให้ลดการผลิตและการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน เพื่อรักษาชั้นบรรยากาศโอโซนที่เริ่มจะสูญสลายไปเนื่องจากสารเหล่านี้ โดยพิธีสารได้เปิดให้ประเทศต่างๆ ลงนามเป็นประเทศภาคีสมาชิกในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2530 (1987) และเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) เป็นต้นมา ตั้งแต่นั้นมา ได้มีการแก้ไขปรับปรุงพิธีสาร 5 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรก ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อ พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990), ครั้งที่สอง ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อ พ.ศ. 2535 (1992), ครั้งที่สาม ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เมื่อ พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995), ครั้งที่สี่ ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เมื่อ พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) และครั้งที่ห้า ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อ พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) เนื่องจากมีการนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ทั้งได้รับเสียงสนับสนุนและชื่นชมจากนานาประเทศและหลาย ๆ องค์กร พิธีสารมอนทรีออลจึงได้รับการยกย่องให้เป็นตัวอย่างการร่วมมือกันระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาในระดับนานาชาติ

ข้อสัญญาและจุดประสงค์

[แก้]

สนธิสัญญานี้มุ่งไปที่การจำกัดการใช้กลุ่มสารประกอบประเภทไฮโดรคาร์บอน-ฮาโลเจนซึ่งพบว่ามีส่วนสำคัญในการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน โดยสารทำลายชั้นโอโซนทั้งหมดนี้มีส่วนผสมของคลอรีนหรือโบรมีนประกอบอยู่ด้วย (ในขณะที่สารที่ประกอบด้วยฟลูออรีนเท่านั้นจะไม่ทำลายชั้นโอโซน) สนธิสัญญาได้จำแนกสารทำลายชั้นโอโซนออกเป็นกลุ่มๆ โดยแบ่งเป็นตารางเวลาที่ระบุถึงจำนวนปีที่การผลิตสารเหล่านี้จะต้องยุติลงและหมดสิ้นลงไปในที่สุด

จุดประสงค์ของสนธิสัญญานี้ได้ระบุไว้ในข้อสัญญาพิธีสาร โดยบรรดาประเทศที่ลงนามในพิธีสารได้แถลงว่า

...ผู้ลงนามในสัญญาทราบดีว่าการแพร่กระจายของสารประกอบหนึ่งๆ (สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน) ทั่วโลก ได้ทำให้ชั้นโอโซนหมดไปหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในระดับที่สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพของมวลมนุษยชาติและสิ่งแวดล้อมได้ ผู้ลงนามในสัญญาจึงตกลงที่จะปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซน โดยการวางมาตรการล่วงหน้าเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของสารประกอบที่ทำลายชั้นโอโซนทั่วโลกให้เท่ากับปริมาณโอโซนที่หมดไป พร้อมด้วยจุดมุ่งหมายสูงสุดในการกำจัดสารเหล่านี้ซึ่งจะเป็นไปตามพัฒนาการในด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่กำลังก้าวไปข้างหน้า และผู้ลงนามในสัญญาก็รับรู้ด้วยว่าข้อกำหนดพิเศษจะต้องร่างขึ้นเพื่อให้ตรงกับความจำเป็นของประเทศที่กำลังพัฒนา...

บรรดาประเทศที่ลงนามในสัญญายังยินยอมที่จะดำเนินการจำกัดการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFC) ประกอบอยู่ด้วยรวมไปถึง

ภายใน พ.ศ. 2534-2535: ควบคุมระดับการใช้และการผลิตสารที่อยู่ในประเภทที่ 1 ของ Annex A ไม่ให้เกิน 150% ของระดับการใช้และการผลิตสารดังกล่าวในปี พ.ศ. 2529
ภายใน พ.ศ. 2537: ควบคุมระดับการใช้และการผลิตสารที่อยู่ในประเภทที่ 1 ของ Annex A ไม่ให้เกิน 25% ของระดับการใช้และการผลิตสารดังกล่าวในปี พ.ศ. 2529
ภายใน พ.ศ. 2539: ยุติการใช้และการผลิตสารที่อยู่ในประเภทที่ 1 ของ Annex A

ส่วนในสารชนิดอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มสารประเภทที่ 1 ของ Annex A (เช่น สารฮาลอน 1211, 1301, 2402; สาร CFC 13, 111, 112 ฯลฯ) และสารเคมีบางชนิดที่ต้องการมาตรการเฉพาะในการจำกัดการใช้และการผลิต (เช่น คาร์บอนเตตระคลอไรด์) นั้นจะถึงกำหนดยุติการใช้และผลิตช้ากว่ากลุ่มสารข้างต้น โดยคาดว่าจะสามารถยุติการใช้ได้ภายใน พ.ศ. 2553 ในขณะที่การยุติการใช้สาร HCFC ที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมน้อยกว่าเพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2539 โดยคาดว่าจะสามารถหยุดการใช้และการผลิตสารนี้ได้อย่างสมบูรณ์ภายใน พ.ศ. 2573

มีข้อยกเว้นให้กับการใช้สารเหล่านี้ในกรณีที่เป็น "การใช้ที่สำคัญยิ่งยวด" และยังไม่สามารถหาตัวทดแทนได้ เช่นยาแบบพ่นเพื่อรักษาอาการหอบหืดและความผิดปกติอื่นๆ ของระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น

สารประกอบที่อยู่ในกลุ่มสารประเภทที่ 1 ของ Annex A ได้แก่

  • CFCl3 (CFC-11)
  • CF2Cl2 (CFC-12)
  • C2F3Cl3 (CFC-113)
  • C2F4Cl2 (CFC-114)
  • C2F5Cl (CFC-115)

ประวัติ

[แก้]

หลังจากการยอมรับอนุสัญญาเวียนนาเพียง 2 เดือน ได้มีการตีพิมพ์บทความรายงานการสำรวจทวีปแอนตาร์คติคของคณะสำรวจชาว อังกฤษที่มี ดร.โจ ฟาร์แมน เป็นหัวหน้าคณะ ในรายงานได้เปิดเผยถึงปริมาณโอโซนที่ลดลงอย่างน่าวิตกในฤดูใบไม้ผลิ จนเกิดลักษณะ ที่เรียกว่า “หลุมโอโซน” (Ozone Hole) ขึ้นเหนือทวีปแอนตาร์คติคซึ่งลักษณะการเกิดหลุมโอโซนดังกล่าวนี้ได้ถูกตรวจพบ โดยดาวเทียมสำรวจของประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2523 แต่มิได้มีการนำข้อมูลมาพิจารณาเนื่องจากความเข้าใจผิดว่า ข้อมูลที่พบโดยบังเอิญนั้นเกิดจากความผิดพลาดของเครื่องมือและอุปกรณ์ แม้ในขณะนั้นสาเหตุของการเกิดหลุมโอโซนยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ก็ได้มีการตั้งข้อสงสัยว่าสาร CFC อาจเป็นต้นเหตุของการเกิดหลุมโอโซน