พระยาวุฒาธิคุณ (เคน ณ หนองคาย)
บทความนี้ต้องการการจัดหน้า จัดหมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือเก็บกวาดเนื้อหา ให้มีคุณภาพดีขึ้น คุณสามารถปรับปรุงแก้ไขบทความนี้ได้ และนำป้ายออก พิจารณาใช้ป้ายข้อความอื่นเพื่อชี้ชัดข้อบกพร่อง |
พระยาวุฒาธิคุณ (เคน ณ หนองคาย) | |
---|---|
ภาพถ่ายพระยาวุฒาธิคุณ (เคน ณ หนองคาย) จางวางเมืองหนองคาย ภาพถ่ายโดย Jean Marie August Pavie นักสำรวจชาวฝรั่งเศส | |
เจ้าเมืองหนองคาย | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2400 – พ.ศ. 2430 (เจ้าเมือง) พ.ศ. 2441 (จางวางเมือง) | |
ก่อนหน้า | พระปทุมเทวาภิบาล (ราชบุตร) |
ถัดไป | พระยาปทุมเทวาภิบาล (สุพรหม) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เสียชีวิต | 19 กันยายน พ.ศ. 2441 |
คู่สมรส | อัญญาคุณหญิงบุคศรี หม่อมบุปผา หม่อมเกิดมี หม่อมตื้อ หม่อมตุ หม่อมผิว หม่อมบัวภา |
บุตร | พระยาปทุมเทวาภิบาล (เสือ) พระยาวุฒาธิคุณวิบุลยศักดิ์ (แพ) พระยาปทุมเทวาภิบาล (สุพรหม) พระบริบาลภูมิเขตร (หนูเถื่อน) พระวิชิตภูมิกิจ (โพธิ์) ท้าวจันทกุมาร อัญญานางกุประดิษฐ์บดี (เปรี้ยง) อัญญานางราชามาตย์ (หนูพัน) |
บุพการี |
|
พระยาวุฒาธิคุณ หรือ เคน ณ หนองคาย (ถึงแก่อนิจกรรม 19 กันยายน พ.ศ. 2441) เป็นเจ้าเมืองหนองคายคนที่ 3 มีบรรดาศักดิ์เป็นพระปทุมเทวาภิบาล ต่อมาเลื่อนเป็นจางวางเมือง กรมการผู้ใหญ่ที่ปรึกษาราชการเมืองหนองคาย
ประวัติ
[แก้]พระยาวุฒาธิคุณวิบุลยศักดิ์ อัครสุรินทรมหินทรภักดี เจ้าเมืองหนองคายคนที่ ๓ มีนามเดิมว่า ท้าวเคน เป็นบุตรของพระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) เจ้าเมืองหนองคายคนแรก เป็นพระปนัดดาในพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวคำผง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช สืบเชื้อสายราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว จากเจ้าอุปราชนองเมืองหนองบัวลุ่มภู เดิมท้าวเคน รับราชการกับบิดาที่บ้านสิงห์โคกหรือเมืองยโสธร ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้ท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) กรมการเมืองยโยธร เป็นพระปทุมเทวาภิบาล เจ้าเมืองหนองคาย และท้าวเคน ผู้บุตรพระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) ได้ไปช่วยราชการบิดาที่เมืองหนองคาย ต่อมาในสมัยพระปทุมเทวาภิบาล (ราชบุตร) ท้าวเคนได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น พระอุปฮาด (เคน) อุปฮาดเมืองหนองคาย
ในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ พระปทุมเทวาภิบาล (ราชบุตร) เจ้าเมืองหนองคายคนที่ ๒ ถึงแก่อนิจกรรม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระอุปฮาด (เคน) ดำรงตำแหน่งเป็น พระปทุมเทวาภิบาล (เคน) เจ้าเมืองหนองคายคนที่ ๓ พระราชทานเครื่องยศสำหรับเจ้าเมืองประเทศราช ประกอบด้วย พานหมากเงินกลมถมตะทองปากจำหลักกลีบบัว ๑ เครื่องในทองคำ คือ จอกหมาก ๒ ผะอบ ๒ ตลับขี้ผึ้ง ๑ ซองพลู ๑ ซองบุหรี่ ๑ มีดหนีบหมาก ๑ คนโททองคำ ๑ กระโถนเงินถม ๑ ประคำทองสาย ๑ กระบี่บั้งทอง ๕ บั้ง ๑ สัปทนปัสตู ๑ เสื้อทรงประภาศหมวกตุ้มปี่กำมะหยี่สำรับ ๑ ปืนชนวนทองแดงต้นเลี่ยมเงิน ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วดี ๑ เสื้อแพรจินเจา ๑ แพรสีติดขลิบ ๑ ส่านไทยปักทอง ๑ ผ้าปูมเขมร ๑ ผ้าลายเกี้ยว ๑ แพรขาวหงอนไก่ลาย ๑ แพรขาวโล่ ๑
เลื่อนบรรดาศักดิ์
[แก้]พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนบรรดาศักดาศักดิ์ พระประทุมเทวาภิบาล (เคน) เจ้าเมืองหนองคาย เป็น พระยาประทุมเทวาภิบาล ผู้สำเร็จราชการเมืองหนองคาย ในวันอังคาร แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๒๓๑ ตรงกับปีพุทธศักราช ๒๔๑๒ ความว่า
"...ให้พระประทุมเทวาธิบาล เป็นพระยาประทุมเทวาภิบาล ผู้สำเร็จราชการเมืองหนองคาย ตั้งแต่ ณ วัน ๒ ฯ๑๓ ๗ ค่ำ ปีมเส็งเอกศก ศักราช ๑๒๓๑ เป็นวันที่ ๒๑๐ ในรัชกาลปัตยุกบันนี้"[1]
(สำเนาการแต่งตั้งสัญญาบัตร เล่มที่ ๑ การแต่งตั้งขุนนางหัวเมือง ในสมัยรัชกาลที่ ๕)
เลื่อนเป็นจางวางเมืองหนองคาย
[แก้]พระยาปทุมเทวาภิบาล (เคน) เป็นเจ้าเมืองหนองคาย อยู่ ๓๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๓๐ พระยาประทุมเทวาภิบาลแก่ชราและตาบอดทั้งสองข้าง ไม่สามารถรับราชการได้เต็มกำลัง จึงมีใบบอกกราบบังคมทูลขอให้ราชบุตร (ท้าวสุพรหม) ผู้เป็นเป็นบุตรชายขึ้นเป็นเจ้าเมืองหนองคายแทน ปรากฏตามพระราชกิจรายวัน พ.ศ. ๒๔๓๐ ความว่า
"...วัน ๖ ฯ๑๔ ๖ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙ เวลาย่ำค่ำแล้ว เสด็จออกขุนนางในห้องออกขุนนางตามเคย หลวงเสนาภักดีนำ...ใบบอกพระยาประทุมเทวาธิบาล อุปฮาดเมืองหนองคายว่า พระยาประทุมเทวาธิบาลเสียจักษุ อุปฮาดเป็นลมสันนิบาต จะรับราชการต่อไปไม่ได้ ขอรับพระราชทานราชบุตรผู้บุตรพระยาประทุมเทวาธิบาล ผู้ว่าราชการเมือง พระวรสารสุรไกรบุตรราชวงศ์คนเก่า เป็นพระอุปฮาดรับราชการต่อไป...แลนำราชบุตร พระวรสารสุรไกรเมืองหนองคาย ท้าวบุญจัน พระคลังทิพจักษ์เมืองขุขัน ราชบุตรหลวงศรีรัตนเมืองศรีสะเกษเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท..."[2]
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยาปทุมเทวาภิบาล (เคน) เป็นที่ “พระยาจางวาง” หรือที่ปรึกษาราชการเมือง รับพระราชทานราชทินนามที่ “พระยาวุฒาธิคุณวิบูลย์ศักดิ์ อรรคสุรินทร มหินทรภักดี” และให้ราชบุตร (ท้าวสุพรหม) บุตรชายพระยาวุฒาธิคุณฯ เป็นที่พระยาปทุมเทวาภิบาล ผู้ว่าราชการเมืองหนองคายแทน ความว่า
“...พระยาปทุมเทวาธิบาล ป่วยเจ็บเสียจักขุ จะรับราชการต่อไปไม่ได้นั้น ทรงพระราชดำริว่า พระยาประทุมเทวาธิบาลก็ได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณมานาน ไม่มีความผิดสิ่งใดลงไปให้ขุ่นเคืองฝ่าละอองธุลีพระบาท จะให้พระยาประทุมออกเสียจากตำแหน่งก็ยังไม่ควร จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามสัญญาบัตรประทับพระราชลัญจกร เลื่อนพระยาประทุมเทวาธิบาลเป็นที่พระยาวุฒาธิคุณวิบูลย์ศักดิ์ อรรคสุรินทร มหินทรภักดี จางวางที่ปรึกษาราชการ…วัน ๓ ฯ๔ ๙ ค่่ำ ปีกุนนพศก ๑๒๔๙”[3]
ส่วนอุปฮาดเมืองหนองคายที่เป็นโรคลมสันนิบาตรับราชการต่อไม่ได้นั้นก็ได้เลื่อนเป็น “พระยาปลัดจางวาง” ที่ปรึกษาราชการเมืองเช่นกัน โดยได้รับพระราชทานราชทินนามที่ “พระยาอดุลเดชากร”[4] แล้วเลื่อนพระวรสารสุรไกร ผู้ช่วยราชการเมืองเป็นอุปฮาดเมืองหนองคายแทน หากแต่ใน พ.ศ. 2430 ราชบุตร (ท้าวสุพรหม) ขณะเมื่อไปรับสัญญาบัตรเป็นที่พระยาปทุมเทวาภิบาล เจ้าเมืองหนองคายนั้น ได้เกิดป่วยที่กรุงเทพฯ และถึงแก่อนิจกรรม ดังความในจดหมายเหตุว่า
“...วันพฤหัส เดือนแปด แรมสองค่ำ ปีกุนนพศก พระยาประทุมเทวาธิบาลปวยเปนโลกจุกเสียดเหลือกำลังแพทย์จะเยียวยา เวลาสองโมงเช้า พระยาประทุมเทวาธิบาลถึงแก่กรรม…”[5]
ทางราชสำนักกรุงเทพฯ จึงให้กรมการเมืองหนองคายตกลงกันและให้เสนอผู้ที่ขึ้นจะเป็นเจ้าเมืองหนองคายต่อราชสำนักกรุงเทพฯ แต่มีหลักเกณฑ์ว่าผู้ที่เสนอมานั้นควรเป็น “บุตรชาย” ของพระยาวุฒาธิคุณฯ
“...พระยาประทุมเทวาธิบาล (สุพรหม) ถึงแก่กรรมแล้ว จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมว่า พระยาจางวางจะให้บุตรคนใดเปนพระยาประทุมต่อไป ก็ให้ไปบอกลงไปกรุงเทพพระมหานคร ไม่ว่าบุตรคนใดคนนึงจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานให้ทั้งสิ้น...”[6]
พระยาวุฒาธิคุณ (เคน) จึงมีเสนอชื่อราชบุตร (ท้าวเสือ) บุตรชายอีกคนของพระยาวุฒาธิคุณฯ ขึ้นเป็นพระยาปทุมเทวาภิบาล เจ้าเมืองหนองคายแทนพระยาปทุมเทวาภิบาล (สุพรหม) ที่ถึงแก่อนิจกรรมไป ซึ่งทางราชสำนักกรุงเทพฯ ก็ตั้งให้ตามคำขอดังกล่าว ความว่า
“...ณ วัน ๕ เดือน ๗ ขึ้น ๗ ค่ำ พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร...ท้าวเสือผู้ว่าที่ราชบุตร เปนพระยาประทุมเทวาธิบาล ผู้ว่าราชการเมืองหนองคาย ๑ ท้าวคำตัน เปนราชบุตรเมืองหนองคาย ๑…”[7]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2435 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)
- พ.ศ. 2418 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)
- พ.ศ. 2439 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[8]
- พ.ศ. 2440 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[9]
พระยาวุฒาธิคุณเป็นเจ้าเมืองในหัวเมืองลาวพวนเพียงไม่กี่ท่านที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เพราะท่านได้อุตสาหะในราชการเป็นอันมาก ดังปรากฏในพระหัตถเลขาของ พระเจ้าน้องยาเธอฯ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงมณฑลลาวกาว ซึ่งนำขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า
"เมืองหนองคาย วันที่ ๒๐ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๑
ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ...พระยาวุฒาธิคุณ จางวางเมืองหนองคาย ได้รับราชการรบทัพเมื่อคราวพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น) ขึ้นไปเป็นแม่ทัพได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ภูสนาภรณ์เป็นความชอบ มาภายหลังเมื่อพระยาราชวรานุกูล (เอก บุญยรัตนพันธุ์) ยกกองทัพขึ้นไป ๒ ครั้ง ได้ส่งเสบียงอาหารเรียบร้อยตลอด เมื่อข้าพระพุทธเจ้าขึ้นไปรับราชการฉลองพระเดชพระคุณเมื่อปีกุนนพศก ก็ได้ส่งเสบียงอาหารเป็นกำลังแก่ราชการมาก
ประการหนึ่งบรรดาผู้ที่ว่าราชการในเมืองตะวันออกที่ได้พบ ๆ มาไม่เห็นผู้ใดเป็นหลักฐานมั่นคงยั่งยืนเหมือนสักคนหนึ่งไม่มี ประการหนึ่ง สิ่งไรที่เป็นราชการแล้ว ตั้งหน้าทำโดยความอุตส่าห์ภักดีต่อราชการมิได้เห็นแก่ประโยชน์ตน รู้ว่าการสิ่งไรจะเป็นประโยชน์แก่ราชการแล้วก็พูดจาแนะนำสิ่งนั้นขึ้น ไม่เหมือนกับผู้ว่าราชการเมืองอื่น ผู้ว่าราชการเมืองอื่น ๆ มักจะคิดเสียว่าถ้าจะแนะนำการสิ่งไรขึ้นก็จะต้องใช้ให้ตัวไปทำ เหมือนหนึ่งผู้ที่มาบอกกับนายว่าหญ้าม้าที่ตรงนั้นงามแล้วนายก็ใช้ให้ผู้นั้นไปตัดหญ้าม้าให้ พระยาวุฒานี้หาเป็นเช่นนั้นไม่ ถ้ารู้ว่าสิ่งไรว่าเป็นประโยชน์แก่ราชการแล้ว ก็พูดจาแนะนำตามความเห็น อนึ่งในเร็ว ๆ นี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ไปตรวจดูถนนที่ได้ทำไว้แต่ก่อนเห็นแคบไป ก็พูดกับกรมการและผู้อื่น ๆ บ้าง ว่าจะคิดทำถนนให้กว้างแต่ยังติดอยู่ด้วยบ้านราษฎรและกรมการที่กีดขวางอยู่มาก จึงให้ลงมือทำแผนที่ ถ้าควรจะผ่อนผันซื้อให้น้อยที่สุดเพียงไรก็จะได้คิดให้ทำลง มาภายหลังพระยาวุฒาฯ ทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าคิดจะทำถนนก็ให้รื้อบ้านตัวเองเข้าไปก่อน ไม่ทันที่จะได้บอกกล่าวว่ากระไร ได้ทราบข่าวจากผู้มาบอกเล่าว่า พระยาวุฒาว่าถ้าจะไม่รื้อของตัวเองเสียก่อน ภายหลังเวลาจะทำจะว่ากล่าวผู้อื่นไม่ได้ เป็นตัวอย่างดังนี้ ราชการอื่น ๆ ที่แกลงเนื้อเห็นว่าเป็นคุณประโยชน์แก่ราชการแล้ว เป็นทำไปโดยแข็งแรงไปอย่างนี้ทุกอย่าง อนึ่ง การสิ่งไรที่ไม่เห็นด้วยที่สงสัย ก็มีความกล้าหาญเข้ามาโต้ทานไต่ถาม ไม่เหมือนกับคนอื่น ๆ เป็นคนดีมาก สมควรที่จะได้รับพระราชทานเลื่อนยศความชอบอยู่แล้ว จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานความชอบชั้นใด ก็สุดแล้วแต่จะทรงกรุณาโปรดเกล้า ฯ ...
ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า ประจักษ์ศิลปาคม"
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขา โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฏสยามแด่พระยาวุฒาธิคุณ ความว่า
"เกาะสีชัง วันที่ ๒๑ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๑
ถึงกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ด้วยเธอจดหมายลงวันที่ ๒๐ เมษายน ๑๑๑ มาขอตั้งตำแหน่งและขอตรามานั้นได้ทราบแล้ว ...และส่งตรามงกุฏสยามชั้นที่ ๒ ขึ้นไปให้พระยาวุฒาธิคุณ เหรียญบุษปะมาลาให้หลวงณรงค์โยธาแล้ว.
(พระปรมาภิไธย) สยามินทร์ "
ถึงแก่อนิจกรรม
[แก้]พระยาวุฒาธิคุณ (เคน) ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๑ ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๕ หน้า ๔๐๘-๔๐๙ ร.ศ. ๑๑๗ ความว่า
"...พระยาวุฒาธิคุณ (เคน) จางวางเมืองหนองคาย ป่วยเปนโรคลมอำมพาธ ถึงแก่อนิจกรรม วันที่ ๑๙ กันยายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๗..” [10]
เป็นเจ้าเมืองและจางวางเมืองหนองคาย รวมระยะเวลา ๔๑ ปี
พงศาวลี
[แก้]พงศาวลีของพระยาวุฒาธิคุณ | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สำเนาการแต่งตั้งสัญญาบัตร เล่ม ๑ การแต่งตั้งขุนนางหัวเมือง ในสมัยรัชกาลที่ ๕http://www.car.chula.ac.th/rarebook/book2/clra60_0155/mobile/index.html#p=25
- ↑ จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันภาค ๒๓ เดือน ๖ จุลศักราช ๑๒๓๙
- ↑ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, หจช., ร.5 ม.2.12ก/4[55] เรื่อง “ใบบอกเมืองหนองคาย (มี.ค. – 24 ธ.ค. 109)” อ้างใน พื้นสังกาส : พื้นประวัติศาสตร์เมืองหนองคาย. (ปูมโหรเมืองหนองคาย). กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2566. หน้า 176
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา รัตนโกสินทรศก 118 หน้า 298- 299 ประวัติพระยาอดุลเดชา ปลัดจางวางเมืองหนองคาย https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1019313.pdf?fbclid=IwAR3N_Li7b91UYorEtD3YZs0eFk4b7km1xW2mphfYm8bdCN-RsHV2KThrpBc
- ↑ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, หจช., ร.5 ม.2.12ก/4[55] เรื่อง “ใบบอกเมืองหนองคาย" (มี.ค. – 24 ธ.ค. 109)
- ↑ ใบบอกเมืองหนองคาย, เรื่องเดียวกัน
- ↑ ใบบอกเมืองหนองคาย, เรื่องเดียวกัน
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ วันที่ 10 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 115, เล่ม ๑๓ ตอนที่ ๓๐ หน้า ๓๒๔, ๒๔ ตุลาคม ๒๔๓๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ วันที่ 28 พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก 115, เล่ม ๑๓ ตอนที่ ๓๐ หน้า ๔๓๓, ๒๔ ตุลาคม ๒๔๓๙
- ↑ ข่าวตายหัวเมือง ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 15 หน้า 408-409 ร.ศ.117 (2441) https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1020410.pdf
ก่อนหน้า | พระยาวุฒาธิคุณ (เคน ณ หนองคาย) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระปทุมเทวาภิบาล (ราชบุตร) | เจ้าเมืองหนองคาย (พ.ศ. 2400 - พ.ศ. 2441) |
พระยาปทุมเทวาภิบาล (สุพรหม ณ หนองคาย) |