ข้ามไปเนื้อหา

ปาณรวัฐ กิตติกรเจริญ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปาณรวัฐ กิตติกรเจริญ
เกิดอภิเชษฐ์ กิตติกรเจริญ
2 ธันวาคม พ.ศ. 2525
อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ประเทศไทย
เสียชีวิต9 ธันวาคม พ.ศ. 2550 (25 ปี)
โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
อาชีพ
  • นักร้อง
  • นักแสดง
  • นายแบบ
ส่วนสูง180 cm (5 ft 11 in)
อาชีพทางดนตรี
แนวเพลง
เครื่องดนตรีเสียงร้อง
ช่วงปีพ.ศ. 2543–2546
ค่ายเพลงอาร์เอส (2543–2546)
อดีตสมาชิกดีทูบี

ปาณรวัฐ กิตติกรเจริญ (เกิด 2 ธันวาคม พ.ศ. 2525 – 9 ธันวาคม พ.ศ. 2550) ชื่อเล่น บิ๊ก เป็นนักร้องและนักแสดงชาวไทย อดีตสมาชิกวงบอยแบนด์ดีทูบี สังกัดอาร์เอส

ประวัติ

[แก้]

ชีวิตตอนต้นและการศึกษา

[แก้]

ปาณรวัฐ มีชื่อเดิมว่าอภิเชษฐ์ กิตติกรเจริญ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2525 บิ๊กเป็นบุตรชายคนเดียวของอุดมกับยุพา กิตติกรเจริญ เข้ารับการศึกษาระดับปฐมวัยจากโรงเรียนอนุบาลเทพารักษ์ ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเพ็ญสมิทธ์ กรุงเทพมหานคร และเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ภาควิชาวิทยุโทรทัศน์ สาขาภาพยนตร์ ในชั้นปีที่ 2

บิ๊กเริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการประกวดร้องเพลงในโครงการพานาโซนิค สตาร์ ชาเลนจ์ ในปี พ.ศ. 2543 โดยใช้เพลง "งมเข็มในทะเล" ของโดม–ปกรณ์ ลัมในการประกวด เริ่มมีผลงานโฆษณา SWENSEN, PEPSI และถ่ายแบบลงนิตยสารวัยรุ่นอย่าง “เธอกับฉัน[1] ก่อนจะมาเป็นหนึ่งในสมาชิกวง "ดีทูบี (D2B)" ในปี พ.ศ. 2544 บิ๊กมีความสามารถพิเศษในการควงพลองไฟและกระโดดลอดห่วงไฟ ซึ่งเขาเคยแสดงในรายการ สมาคมชมดาว กับ ตี10 ตามลำดับ[1]

ประสบอุบัติเหตุและการเสียชีวิต

[แก้]

ขณะที่ดีทูบีกำลังโด่งดังถึงขีดสุด หลังจากได้รับรางวัลศิลปินยอดนิยมจาก "MTV Asia Award 2003" ที่ประเทศสิงคโปร์ มาได้ไม่นาน[2][3] ก็เกิดเหตุที่ไม่คาดฝันขึ้น ในช่วงเวลา 01.15 น. ของคืนวันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2546[4] บิ๊กได้ขับรถยนต์ของตนเพื่อกลับบ้านหลังจากแสดงคอนเสิร์ตเสร็จ[5] แต่กลับประสบอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำตกลงไปในคูน้ำที่ถนนศรีนครินทร์ จังหวัดสมุทรปราการ ตำรวจ สภ.เมืองสมุทรปราการ จึงนำส่งโรงพยาบาล[6][7]

มีน้ำครำท่วมปอดแต่การรักษาเป็นไปได้ด้วยดีเมื่อบิ๊กรู้สึกตัว ก็สามารถทักทายแฟนเพลงได้อีกครั้ง ก่อนกลายเป็นฝันร้ายเมื่อเขาเข้าสู่อาการโคม่าก่อนแพทย์ตรวจพบเชื้อรา Scedosporium ในสมองในวันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ซึ่งโอกาสรอดชีวิตมีเพียง 0.01% เท่านั้น หลังจากนั้นทางครอบครัวได้เปลี่ยนชื่อเขาเป็น ปาณรวัฐ ซึ่งเป็นชื่อขอพระราชทานจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร มีความหมายว่า "ผู้มีชีวิตอยู่ตามคำขอ" เพื่อเป็นสิริมงคล[8] ภายหลังการรักษาด้วยวัคซีนเฉพาะโรคและได้รับกำลังใจอย่างมากมาย บิ๊กรอดชีวิตและออกจากห้องไอซียูในเวลาต่อมา แต่กลายเป็นเจ้าชายนิทราซึ่งสร้างความเศร้าโศกแก่แฟนเพลงอย่างแสนสาหัส จึงเกิดปรากฏการณ์พับนกกระดาษส่งกำลังใจให้กันทั่วประเทศ[9]

โดยทางทางต้นสังกัด คือ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ได้จัดคอนเสิร์ตพิเศษในชื่อ "ดีทูบี เดอะ เนเวอร์-เอ็นดิ้ง คอนเสิร์ต : ทริบูต ทู บิ๊ก ดีทูบี" ขึ้นในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2547 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อเป็นการระลึกถึงบิ๊ก และถือเป็นการยุติวงดีทูบีไปในตัว โดยรายได้จากการจัดคอนเสิร์ตเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว ได้มอบให้ครอบครัวของบิ๊ก เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วย[10]

ส่วนอาการของบิ๊กเบื้องต้นยังเป็นไปได้ด้วยดี ยังมีความรู้สึกตัวดี แต่ไม่นาน ก็ต้องนอนโดยไม่รู้สติ เพราะสมองถูกเชื้อโรคที่มาจากน้ำเน่าในคูทำลาย แฟนคลับที่ทราบข่าวซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่นหญิง ต่างพากันไปเยี่ยมเยือนและร้องไห้เป็นกลุ่มจำนวนมากกลุ่มหนึ่ง การรักษา คณะแพทย์ได้พยายามช่วยชีวิตบิ๊กด้วยการให้ยาและผ่าตัดอยู่หลายครั้ง รวมถึงยาตัวใหม่ที่เพิ่งมีการผลิตออกมาด้วย แต่ก็ทำได้เพียงช่วยไม่ให้เสียชีวิตเท่านั้น แต่สมองก็ยังไม่รับรู้ใด ๆ ทั้งสิ้น ได้ย้ายที่รักษาไปหลายแห่ง และต้องนอนรักษาตัวอยู่นานถึง 4 ปี โดยมี น.พ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ เป็นแพทย์เจ้าของคนไข้ ซึ่งคณะแพทย์ผู้รักษาได้เปิดแถลงข่าว ความคืบหน้าของอาการเป็นระยะ ๆ จนกระทั่งเวลา 09.30 น. เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2550 บิ๊กเสียชีวิตลงในที่สุด ที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือดทางปอด รวมอายุได้ 25 ปี กับ 1 สัปดาห์ หลังเป็นเจ้าชายนิทราจากประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ถึง 4 ปี[11] ต่อมา ศิลปินค่ายอาร์เอสกับศิลปินค่ายกามิกาเซ่ รุ่นบุกเบิกและแฟนคลับทั่วประเทศต่างก็มาร่วมไว้อาลัย บิ๊ก เป็นจำนวนมากครั้งสุดท้าย โดยทางสำนักข่าวสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวีหรือช่อง 9 เดิม กล่าวว่า บิ๊กเป็นผู้ป่วยชาวไทยคนแรกของเอเชีย ที่ป่วยเป็นเชื้อราร้าย Scedosporium จึงเป็นข่าวดังที่สนใจไปทั่วโลกเป็นอย่างมากในช่วงเวลานั้น[12]

พิธีงานศพและรำลึก

[แก้]

พิธีศพของบิ๊กถูกจัดขึ้นที่ศาลา 3 วัดหนามแดง (จังหวัดสมุทรปราการ) (ซึ่งเป็นศาลาที่ใช้ทำบุญวันเกิดบิ๊กตลอด 4 ปี ที่เป็นเจ้าชายนิทรา) โดยมีการสวดอภิธรรม 7 วัน ก่อนจะมีพิธีบรรจุศพ ซึ่งครอบครัวกิตติกรเจริญ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพวงมาลาหน้าศพ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพวงมาลา และทรงเป็นเจ้าภาพสวดอภิธรรม 7 วัน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ประทานพวงมาลาหน้าศพ และตลอดระยะเวลา 100 วันที่ได้มีการบรรจุศพของบิ๊ก จะมีการสวดพระอภิธรรมทุกวันพระใหญ่ โดยจะมีแฟนคลับและผู้ที่มีความผูกพันกับบิ๊กไปร่วมงานเสมอ วันทำบุญครบรอบ 50 และ 100 วันก็มีการถวายภัตตาหาร และทำบุญร่วมกัน ซึ่งจะมีคนมาร่วมงานมากกว่าปกติ วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นวันสวดอภิธรรมวันสุดท้าย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้ในพระราชานุเคราะห์

และครอบครัวกิตติกรเจริญก็ได้รับพระมหากรุณาสูงสุด เมื่อได้รับพระราชทานเพลิงศพจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จแทนพระองค์มาพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2551 โดยตลอดวันมีผู้คนเป็นจำนวนมากมาร่วมไว้อาลัยบิ๊กเป็นครั้งสุดท้าย โดยมีหลายคนที่ปักหลักอยู่ที่วัดหนามแดง จนกระทั่งได้รับคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ทางวัดหนามแดงว่าศพได้เผาหมดแล้ว จึงแยกย้ายกันกลับบ้าน และในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2551 ครอบครัวและคนใกล้ชิด ได้นำอัฐิของบิ๊กไปลอยอังคารที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

แม้ทุกวันนี้บิ๊กจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่แฟนคลับ และคนใกล้ชิด ก็ยังแวะไปเยี่ยมเยือนครอบครัวกิตติกรเจริญเสมอ[13] โดยมีงานทำบุญครบรอบวันคล้ายวันเสียชีวิตในวันที่ 9 ธันวาคมของทุก ๆ ปี โดยมีแดน-วรเวช ดานุวงศ์ และบีม-กวี ตันจรารักษ์ มาร่วมงานทำบุญนี้ด้วยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา

ผลงาน

[แก้]

อัลบั้มเพลง

[แก้]
ปี ผลงาน หมายเหตุ
2544 D2B[14] อัลบั้มชุดแรก
2545 D2B Summer[15] อัลบั้มชุดพิเศษ
2546 D2B Type II[16] อัลบั้มชุดที่สอง

คอนเสิร์ต

[แก้]
ปี คอนเสิร์ต
2545 D2B SUMMER LIVE IN CONCERT[17]
D2B GOODTIME THANKS CONCERT FOR FRIENDS[18]
2546 D2B THE MIRACLE CONCERT[19]

ละครโทรทัศน์

[แก้]
ปี เรื่อง รับบทเป็น ออกอากาศ หมายเหตุ
2544 วัยร้ายไฮสคูล บิ๊ก ช่อง 3 รับเชิญ
2545 วัยร้ายเฟรชชี่ พระเอก

ภาพยนตร์

[แก้]
ปี เรื่อง รับบทเป็น หมายเหตุ
2546 สังหรณ์ บิ๊ก พระเอก

รางวัลที่ได้รับ

[แก้]
  • กรกฎาคม พ.ศ. 2545 "D2B" ได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทาน ประจำปี 2545 สาขานักร้องกลุ่มยอดเยี่ยม
  • 17 มกราคม พ.ศ. 2545 "D2B" ได้รับรางวัลนักร้องกลุ่มยอดนิยมประจำปี 2002 จาก ท็อปอวอร์ดส์ 2002 ของนิตยสารทีวีพูล [20]
  • 24 มกราคม พ.ศ. 2546 "D2B" ได้รับรางวัลศิลปินยอดนิยมจาก MTV Asia Awards 2003 ที่ประเทศสิงคโปร์ [2]
  • พฤษภาคม พ.ศ. 2546 "D2B" ได้รับรางวัลศิลปินไทยกลุ่มยอดนิยม จาก Channel V Thailand 2003

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 อบอุ่นเหมือนเคย ครบรอบ 13 ปี บิ๊ก จากไป แดน - บีม ครอบครัว ดีทูบี ไม่เคยลืม
  2. 2.0 2.1 เปิดใจ D2B หลังคว้ารางวัล MTV ASIA AWARDS 2003
  3. ดีทูบี ศิลปินไทยยอดนิยม เอ็มทีวี เอเชีย อวอร์ดส์ 2003
  4. คนค้นฅน REPLAY : บิ๊ก D2B ดวงใจของพ่อ
  5. "เปิดใจ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ "บิ๊ก ดีทูบี" เคสสตัดดี้ วงการแพทย์ทั่วโลกตื่นตัว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-05. สืบค้นเมื่อ 2012-02-26.
  6. ย้อนวันวาน D2B บอยแบนด์ไทยในตำนานที่ยังอยู่ในความทรงจำ
  7. 〈獨家〉D2B 落入污河染細菌 泰偶像歌手命垂危 TVBS News 發佈時間:2003/10/27
  8. คนไทยเศร้า "บิ๊ก ดีทูบี" สิ้นลมสงบ หลังนิทรามา 4 ปี
  9. ย้อนความทรงจำแห่งรัก 'บิ๊ก ดีทูบี'
  10. "โจ๋น้ำตาทะลักอำลาวงดีทูบี แบ่งรายได้! ค่ารักษา "บิ๊ก"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-06-17. สืบค้นเมื่อ 2012-02-26.
  11. "แฟน ๆ ร่ำไห้สุดอาลัย "บิ๊ก ดีทูบี"...จากชั่วนิรันดร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-19. สืบค้นเมื่อ 2010-09-03.
  12. เปิดประวัติและปิดตำนานของ Big D2B
  13. บิ๊ก ดีทูบี สิ้นลม
  14. อัลบั้ม D2B
  15. อัลบั้ม D2B Summer
  16. อัลบั้ม D2B Type II
  17. ดีทูบี ซัมเมอร์ ไลฟ์ อิน คอนเสิร์ต กับสามหนุ่ม บิ๊ก แดน บีม
  18. กรี๊ดกันสนั่นอีกครั้ง กับคอนเสิร์ต ดีทูบี ขอบคุณแฟนเพลง
  19. ความประทับใจเปี่ยมล้นเวที ดีทูบี เดอะ มิราเคิล คอนเสิร์ต
  20. เบิร์ด-ดีทูบี-ปาน คว้ารางวัลทางด้านเพลงจาก ท็อป อวอร์ด ข้อมูลจาก สยามโซนดอตคอม

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]