นวมทอง ไพรวัลย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นวมทอง ไพรวัลย์
ภาพถ่ายของนวมทอง ไพรวัลย์ที่ญาติตั้งหน้าศพ
เกิดนวมทอง ไพรวัลย์
21 ตุลาคม พ.ศ. 2489
อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย
เสียชีวิต31 ตุลาคม พ.ศ. 2549 (60 ปี)
เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
สาเหตุเสียชีวิตอัตวินิบาตกรรม
พบร่างใต้สะพานลอยถนนวิภาวดีรังสิต
สัญชาติไทย ไทย
อาชีพคนขับแท็กซี่
คู่สมรสบุญชู ไพรวัลย์
บุตร1 คน

นวมทอง ไพรวัลย์ (21 ตุลาคม พ.ศ. 2489 – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2549) เป็นคนขับแท็กซี่ที่ฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอใต้สะพานลอยบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต หลังขับรถแท็กซี่พุ่งชนรถถังของคณะรัฐประหารนามคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ต่อสาธารณชนว่า ได้พยายามกระทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อประท้วงรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549[1] และได้บรรลุเจตนารมณ์ดังกล่าวในที่สุด เพื่อสนองคำพูดของรองโฆษกคณะรัฐประหารที่เขาถือว่าเป็นการเหยียดหยามวัตถุประสงค์แห่งกรรมของเขา[2]

ประวัติ[แก้]

นวมทอง ไพรวัลย์ เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2489 เป็นอดีตพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อำเภอบางกรวย และทำอาชีพขับรถแท็กซี่ สมรสกับ นาง บุญชู ไพรวัลย์ และมีบุตรสาวด้วยกัน 1 คน[3]

การต่อต้านรัฐประหารของนวมทอง[แก้]

จดหมายลาตายของนวมทอง ไพรวัลย์ ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2549

เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 นวมทอง อดีตพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อำเภอบางกรวย ได้ขับรถแท็กซี่ โตโยต้า โคโรลล่า สีม่วง ทะเบียน ทน 345 กรุงเทพมหานคร ของบริษัท สหกรณ์แหลมทองแท็กซี่ จำกัด พุ่งชนรถถังเบา M41A2 Walker Bulldog ป้ายทะเบียนตรากงจักร 71116 ของคณะรัฐประหารและได้รับบาดเจ็บสาหัส

ต่อมาในคืนวันที่ 31 ตุลาคม นวมทองผูกคอตายกับราวสะพานลอย บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (บริษัท วัชรพล จำกัด) โดยในจดหมายลาตายระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของพันเอก อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ที่ว่า ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้ ในคืนที่นวมทองแขวนคอตาย เขาตั้งใจสวมเสื้อยืดสีดำ สกรีนข้อความเป็นบทกวี ที่เคยใช้ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย[4] โดยด้านหน้าเป็นบทกวีของรวี โดมพระจันทร์ และด้านหลังเป็นบทกวีของศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์)

หลังอัตวินิบาตกรรม[แก้]

มีกลุ่มผู้ต่อต้านคณะปฏิรูปฯ หยิบยกการฆ่าตัวตายของเขามากล่าวถึง เช่น จิ้น กรรมาชน[5] เขียนบทกวีขึ้นเพื่อคารวะต่อนวมทอง ความว่า

เขาชื่อ..นวมทอง

นวมทองขอพลีชีพ จุดประทีปแห่งสมัย
เกิดมาเพื่อรับใช้ พิทักษ์ไว้อุดมการณ์
เชื่อมั่นต่อจุดยืน เขาลุกขึ้นอย่างกล้าหาญ
คัดค้านเผด็จการ รัฐประหารน่าชิงชัง
เป็นเพียงสามัญชน พุ่งรถยนต์ชนรถถัง
หนึ่งคนมิอาจยั้ง เกินกำลังจะประลอง
วีรชนไม่ตายเปล่า หากปลุกเร้าเราทั้งผอง
คนซื่อชื่อนวมทอง จักเรียกร้องความเป็นธรรม

— ด้วยจิตคารวะ

จิ้น กรรมาชน

2 พ.ย. 2549

ภาพยนตร์สารคดี[แก้]

งานรำลึก นวมทอง ไพรวัลย์ ในปี 2562

ปลายปี พ.ศ. 2559 มีการทำภาพยนตร์เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การต่อต้านรัฐประหารของ นวมทอง ไพรวัลย์ โดย เนติ วิเชียรแสน ผู้กำกับและเขียนบทที่ต้องลี้ภัยทางการเมืองจากการโดนข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ชื่อว่า Democracy After Death : A Tragedy of Uncle Nuamthong Praiwan ออกฉายครั้งแรกในงานรำลึก 40 ปี 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2559[6] หลังจากนั้นออกฉายในงาน Screening of THAI Political Film โดยกลุ่ม ASEAN’s friend ในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ที่มหาวิทยาลัย Songkunghoe University ประเทศเกาหลีใต้ และนำเผยแพร่ในยูทูบในเวอร์ชันที่ผ่านการเซนเซอร์เพียงเล็กน้อยเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2559[7]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Taxi driver 'sacrificed himself for democracy'" เก็บถาวร 2007-01-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Nation. เรียกข้อมูลวันที่ 15 ธ.ค. 2551.
  2. "พ.อ.อัครต้องขอขมาศพ เมียแท็กซี่ใจเด็ดยื่นคำขาด'". ไทยรัฐ. เรียกข้อมูลวันที่ 15 ธ.ค. 2551.
  3. ‘ลุงนวมทอง’ ขับแท็กซี่ชนรถถังคณะรัฐประหาร เมียยังทำใจไม่ได้ ไทยรัฐ สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2560
  4. มติชนสุดสัปดาห์ 3-9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 หน้า 98, คอลัมน์ชกคาดเชือก โดย วงศ์ ตาวัน
  5. เพลง ‘วันของเรา’ จากจิ้น กรรมาชน และบทกวีคารวะแด่ แท็กซี่วีรชน (ที่นี่ที่เดียว) เวอร์ชันเต็มมาแล้ว จากเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ประชาไท
  6. "รู้จัก 'ปรวย' ผู้ลี้ภัย-ผู้กำกับหนังลุงนวมทอง /Democracy After Death". prachatai.com. ประชาไท. 2017-01-16. สืบค้นเมื่อ 2019-09-30.
  7. "Democracy After Death (Censored Version)". Youtube. Anonymous Films. 2016-12-30. สืบค้นเมื่อ 2019-09-30.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]