นกแต้วแร้วท้องดำ
นกแต้วแร้วท้องดำ | |
---|---|
นกตัวผู้ที่เขานอจู้จี้ จังหวัดกระบี่ | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Aves |
อันดับ: | Passeriformes |
วงศ์: | Pittidae |
สกุล: | Hydrornis |
สปีชีส์: | H. gurneyi |
ชื่อทวินาม | |
Hydrornis gurneyi Hume, 1875 | |
ชื่อพ้อง[1] | |
|
นกแต้วแร้วท้องดำ หรือ นกแต้วแล้วท้องดำ (อังกฤษ: Gurney's Pitta, ชื่อวิทยาศาสตร์: Hydrornis gurneyi) เป็นนกที่พบในพม่าและไทย ปัจจุบันพบได้ที่ เขานอจู้จี้ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และบางส่วนในประเทศพม่า
นกแต้วแร้วท้องดำถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1875 ในเขตตะนาวศรี ประเทศพม่า โดยชื่อสามัญในภาษาอังกฤษและชื่อวิทยาศาสตร์ตั้งขึ้นเป็นเพื่อเป็นเกียรติแก่ จอห์น เฮนรี เกอนีย์ นายธนาคารและนักปักษีวิทยาสมัครเล่นชาวอังกฤษ[2] มีรายงานการพบครั้งสุดท้าย ในประเทศพม่าปี ค.ศ. 1914 และไม่พบอีกเลยติดต่อกันนานถึง 50 ปี ทำให้ CITES ขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1986 ถูกค้นพบในประเทศไทยโดย ฟิลิป ดี. ราวด์ และ อุทัย ตรีสุคนธ์ [3] โดยพบ 44-45 คู่ แต่ในปี ค.ศ. 1997 เหลือเพียง 9 คู่เท่านั้น ปัจจุบันคาดว่ามีอยู่ประมาณ 13-20 คู่เท่านั้น จึงถูกให้เป็นสัตว์ป่าสงวน 20 ชนิดของไทย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่ง IUCN ประเมินสถานภาพให้อยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Cr) นกแต้วแร้วท้องดำ เป็นหนึ่งในนกแต้วแร้ว 12 ชนิดที่พบได้ในประเทศไทย รูปร่างอ้วนป้อม คอสั้น หัวโต หางสั้น ลำตัวยาว 22 เซนติเมตร ตัวผู้หัวมีสีดำ กระหม่อมและท้ายทอยสีน้ำเงินเหลือบฟ้า หางสีน้ำเงินอมเขียว ท้องสีเหลืองสดมีริ้วสีดำบาง ๆ พาดสลับตลอดช่วงท้อง ใต้ท้องมีแต้มสีดำ อันเป็นที่มาของชื่อ ตัวเมียกระหม่อมสีเหลืองอ่อน มีแถบดำผ่านใต้ตาลงไปถึงแก้ม ท้องสีขาว มีแถบสีน้ำตาลขวางจากอกลงไปถึงก้น
อาศัยอยู่ในป่าดิบที่ราบต่ำ ซึ่งมีระดับความสูงไม่เกิน 200 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบตามที่ราบ ใกล้ร่องน้ำหรือลำธารที่ชื้นแฉะ ไม่ชอบอยู่บริเวณที่มีไม้พื้นล่างขึ้นรกทึบ
หากินด้วยการกระโดดหาแมลงบนพื้นดินกินหรืออาจขุดไส้เดือนดินขึ้นมากิน บางครั้งอาจจับกบ และสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กด้วย โดยเฉพาะในช่วงมีลูกอ่อน
นกตัวผู้จะร้องหาคู่ด้วยเสียง 2 พยางค์ เร็ว ๆ ว่า "ท-รับ" แต่ถ้าตกใจจะร้องเสียงว่า "แต้ว แต้ว" เว้นช่วงแต่ละพยางค์ประมาณ 7-8 วินาที และอาจร้องนานเป็นชั่วโมง ส่วนเสียงที่ใช้ในการสื่อสารกันระยะใกล้จะใช้เสียงนุ่มดังว่า "ฮุ ฮุ"
มีฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน ออกไข่คราวละ 3-4 ฟอง[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Irestedt, M., Ohlson, J. I., Zuccon, D., Källersjö, M. & Ericson, P. G. P. (2006). "Nuclear DNA from old collections of avian study skins reveals the evolutionary history of the Old World suboscines (Aves: Passeriformes)" (PDF). Zoologica Scripta. 35: 567–580. doi:10.1111/j.1463-6409.2006.00249.x. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-02-23. สืบค้นเมื่อ 2016-08-20.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Beolens, Bo; Watkins, Michael (2003). Whose Bird? Men and Women Commemorated in the Common Names of Birds. London: Christopher Helm. p. 153.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-13. สืบค้นเมื่อ 2008-03-03.
- ↑ ["นกแต้วแล้วท้องดำ (ไทย)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-18. สืบค้นเมื่อ 2011-12-30. นกแต้วแล้วท้องดำ (ไทย)]
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Hydrornis gurneyi ที่วิกิสปีชีส์