ธรณิศ ศรีสุข

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ธรณิศ ศรีสุข

ภาพถ่ายเมื่อตอนจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
เกิด28 กันยายน พ.ศ. 2520
จังหวัดขอนแก่น ประเทศไทย
เสียชีวิต29 กันยายน พ.ศ. 2550 (30 ปี)
จังหวัดยะลา ประเทศไทย
สัญชาติไทย
อาชีพตำรวจ
มีชื่อเสียงจากวีรบุรุษผู้เสียชีวิตจากความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย[1]
คู่สมรสทันตแพทย์หญิง คนึงนิจ บุตรวงศ์
บิดามารดารองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีสุข
รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง นิธิภาวี ศรีสุข
หมายเหตุ
สำเร็จหลักสูตรรีคอน[1]

พันตำรวจเอก ธรณิศ ศรีสุข (28 กันยายน พ.ศ. 2520 – 29 กันยายน พ.ศ. 2550) หรือ ผู้กองแคน ผู้บังคับหมวด (สัญญาบัตร 1) กองร้อยรบพิเศษที่ 1 กองกำกับการ 1 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

เขาเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ในเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย หลังจากวันคล้ายวันเกิด 1 วัน[2] วีรกรรมของเขา ส่งผลให้ผู้คนทั่วประเทศยกย่องถึงการเป็นแบบอย่างของตำรวจไทย รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้แก่กฤตติกุล บุญลือ ในการเข้าหน่วยรบพิเศษของตำรวจตระเวนชายแดนเช่นเดียวกัน[3]

ประวัติ[แก้]

พันตำรวจเอก ธรณิศ ศรีสุข เกิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2520 ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น มีชื่อเล่นว่า "แคน" เป็นบุตรของรองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีสุข เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยน้ำบาดาล ภาควิชาเทคโนโลยี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และอดีตคณบดีคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับรองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง นิธิภาวี ศรีสุข อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (เสียชีวิตแล้ว) มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดารวม 2 คน คือ พันตำรวจเอก ธรณิศ ศรีสุข เป็นบุตรคนที่ 1 และนายแพทย์ ธราธิป ศรีสุข เป็นบุตรคนที่ 2 ปัจจุบันปฏิบัติงานเป็นแพทย์ใช้ทุนที่ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภรรยาคือ ทันตแพทย์หญิง คนึงนิจ บุตรวงศ์ ปัจจุบันกำลังศึกษาเฉพาะทางด้านทันตกรรมจัดฟัน ที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง[4]

การศึกษา[แก้]

  • พ.ศ. 2526–2527 ศึกษาที่โรงเรียนอนุบาลพัฒนาเด็กขอนแก่น
  • พ.ศ. 2527–2533 ศึกษาที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1
  • พ.ศ. 2533–2534 ศึกษาที่โรงเรียนมัธยมต้นเมืองแอดมันตัน รัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
  • พ.ศ. 2534–2537 ศึกษาโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2–ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
  • พ.ศ. 2538–2539 ศึกษาโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่น 38 โดยสอบคัดเลือกเข้าศึกษาได้เป็นลำดับที่ 1 ในส่วนของกรมตำรวจ และได้รับการคัดเลือกเป็นหัวหน้าตอนเรียนที่ 4
  • พ.ศ. 2540–2544 ศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขารัฐประศาสนศาสตร์ นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 54

การศึกษาอบรมเพิ่มเติม[แก้]

  • พ.ศ. 2546 สำเร็จการศึกษาอบรมหลักสูตร การต่อต้านการก่อการร้ายสากล รุ่นที่ 8 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2547 สำเร็จการศึกษาอบรมหลักสูตร การโดดร่มแบบกระตุกเอง รุ่นที่ 1/47 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2548 สำเร็จการศึกษาอบรมหลักสูตรพับและซ่อมบำรุงร่มโด รุ่นที่ 1/48 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2549 สำเร็จการศึกษาอบรมหลักสูตรการลาดตระเวนจู่โจมสะเทินน้ำสะเทินบก (รีคอน) รุ่นที่ 36 ของ กองทัพเรือ[1]
  • พ.ศ. 2550 สำเร็จการศึกษาอบรมหลักสูตรเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด รุ่นที่ 1/50 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

การเสียชีวิต[แก้]

เมื่อวันเสาร์ที่ 29 กันยายน 2007 เวลา 08.40 น. พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา (ปัจจุบันเลื่อนยศเป็น พล.ต.อ.) ผกก.สภ.อ.บันนังสตาจ.ยะลา ได้รับแจ้งมีเหตุเจ้าหน้าที่ปะทะกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่บริเวณเนินเนาวรัตน์หรือเนิน 9 ศพ ระหว่างบ้านสายสุราษฏร์-บ้านภักดีหมู่ที่ 3 ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา

พื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ป่าเขาสูง ลาดชัน เจ้าหน้าที่เข้าไปด้วยความยากลำบากต้องใช้เวลานานกว่า 30 นาที ที่จุดเกิดเหตุ พบกำลัง ตำรวจตระเวนชายแดนหน่วยรบพิเศษ พลร่มอยู่ในสภาพการเตรียมพร้อม และพบศพ ร.ต.อ.ธรณิศ ศรีสุข อายุ 30 ปี รอง ผบ.ร้อยรบพิเศษ 1 (รพศ 1) กก.1 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ (ตชด.) ค่ายนเรศวร จ.เพชรบุรี สภาพศพนอนเสียชีวิตในชุดลายพรางของพลร่มมีแผลถูกยิงที่ใบหน้าและลำตัว เจ้าหน้าที่ต้องประสานขอสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ตำรวจ จากศปก.ตร.เพื่อรับศพกลับมายัง จ.ยะลา

จากการสอบสวนทราบว่า หน่วยรบพิเศษ 1 ตั้งฐานปฏิบัติการที่บ้านสายสุราษฏร์ ขณะเกิดเหตุ ผู้ตายเป็น หน.ชุด นำกำลังจำนวน 12 นายออกลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยตามปกติเมื่อลาดตระเวนมาถึงที่เกิดเหตุ คนร้ายไม่น้อยกว่า 20 คนซุ่มอยู่บนเนินสูงใช้อาวุธสงคราม ทั้ง อาร์ก้า เอ็ม 16 และลูกซอง กราดยิง จนท.จนเกิดการปะทะกันดุเดือดกว่า 20 นาที คนร้ายได้อาศัยความชำนาญพื้นที่และป่าทึบ หลบหนีไป

หลังเสียงปืนสงบตรวจเคลียร์พื้นที่ พบฝ่ายเจ้าหน้าที่เสียชีวิต เบื้องต้นเจ้าหน้าที่คาดว่า คนร้ายได้เฝ้าติดการการเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่มาโดยตลอด เมื่อสบโอกาส จึงลงมือปฏิบัติการและมุ่งเป้า ที่หัวหน้าชุดเป็นเป้าแรก

เมื่อเวลา 16.50 น. ที่วัดเมืองยะลา ในเขตเทศบาลนครยะลา พล.ต.ท.นิพนธิ์ ศิริวงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เป็นประธานในพิธีรดน้ำศพ ร.ต.อ.ธรณิศ ศรีสุข รอง ผบ.ร้อย หน่วยรบพิเศษ 1 (รพศ 1) กองกำกับการ 1 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ (ตชด.) ค่ายนเรศวร จ.เพชรบุรี

ภายหลังจากนั้นได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเลื่อนยศขึ้น 3 ชั้นยศ จากยศเดิมร้อยตำรวจเอก เลื่อนเป็น พันตำรวจเอก (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอน 13ข ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2552)

ส่วนเกี่ยวข้อง[แก้]

ธรณิศ ศรีสุข สอบเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจได้อันดับที่ 1 ของรุ่น เมื่อสำเร็จการศึกษา ได้รับการบรรจุเป็น ผู้บังคับหมวดหน่วยรบพิเศษ และเดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังเกิดเหตุ คนร้ายปล้นอาวุธปืนกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อต้นปี 2547 และหมุนเวียนปฏิบัติหน้าที่ ในพื้นที่ จ.ปัตตานี นราธิวาส และสุดท้าย ที่ จ.ยะลา เคยปะทะกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหลายครั้ง

ทางด้าน ร.ต.อ.นิรุตต์ พร้อมญาติ รอง ผบ.ร้อย ตชด.335 ทำหน้าที่ผู้บังคับหมวดเฉพาะกิจ ตชด.ที่ 330 ต.สะเอ๊ะ อ.กรงปินัง จ.ยะลาซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารและนักเรียนนายร้อยสามพรานรุ่นเดียวกับ พล.ต.ท.ธรณิศ ศรีสุข รอง ผบ.ร้อย รพ.ศ. 1กก.1กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศตชด.ค่ายนเรศวร จ.เพชรบุรี ได้กล่าวถึงเพื่อนสนิทที่เสียชีวิตว่าเป็นคนที่เรียนหนังสือเก่งและมีความตั้งใจจริงที่จะเข้ามีส่วนร่วมในการนำความสงบกลับคืนสู่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และได้สมัครลงทำงานในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อช่วงต้นปี 2547 เป็นต้นมา ว่า

ไม่มีใครในรุ่นที่ไม่รู้จัก ธรณิศ หรือแคน เพราะว่าแคนสอบได้ที่ 1 ของนักเรียนเหล่าตำรวจ จึงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก สำหรับตัวเองนั้นก็เป็นเพื่อนอยู่กองร้อยเดียวกันด้วย ลักษณะนิสัยของแคน เป็นคนที่ชอบช่วยเพื่อนเห็นอกเห็นใจเพื่อน มีลักษณะการเป็นผู้นำซึ่งตนเองจะปรึกษาหารือในเรื่องของภาษาอังกฤษ เนื่องจากแคน เขามีความถนัดในภาษาอังกฤษ เพราะได้มีโอกาสติดตามคุณพ่อไปศึกษาที่แคนาดา แคนเป็นที่รักของเพื่อนๆในรุ่น เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่น ชอบที่จะฝึกในวิชาอาวุธเป็นพิเศษ

เมื่อเรียนจบแล้ว แคนเป็นคนแรกที่เลือกจะลงใน กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนทั้งที่ผลการเรียนของเขาดีมาตลอด ซึ่งสามารถที่จะเลือกลงในสถานีตำรวจนครบาลหรือในเขตเมืองหลวงได้ แต่ก็เลือกที่จะมาอยู่หน่วยพลร่ม ค่ายนเรศวรและมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยประเทศชาติ เมื่อเกิดเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็สมัครลงมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่เกิดเหตุใหม่ๆ ในปี 2547 และตั้งแต่นั้นมา ผมและแคนก็จะหมุนเวียนมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่แห่งนี้มาโดยตลอดเป็นระยะเวลา 3 ปีรู้สึกเสียใจและเสียดาย ซึ่งผมเห็นว่าบุคลากรผู้นี้จะเป็นผู้ที่สามารถเป็นผู้นำหน่วยของหน่วยตำรวจตระเวนชายแดนในอนาคตได้เป็นอย่างดี จึงรู้สึกว่าเป็นการสูญเสียบุคคลที่สำคัญยิ่งในหน่วย สุดท้ายขอฝากให้เพื่อนไปสู่สุคติและขอให้ดวงวิญาณของเพื่อนมาช่วยให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดความสงบสุขโดยเร็ว

เกียรติยศ[แก้]

รางวัล[แก้]

  • รางวัลจักรดาวสดุดีประจำปี 2552[5]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 พลีชีพป้องปฐพี แด่...“ผู้กองแคน” นักรบนเรศวร! - Manager Online
  2. เอ็กซเรย์บันนังสตา…แดนสนธยากลืนชีวิต “หมวดตี้-ผู้กองแคน-ผู้กำกับฯสมเพียร”
  3. รำลึก 11 ปีผู้กองแคน อุดมการณ์ที่ไม่เคยตาย - LINE Today
  4. สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสด็จฯพระราชทานเพลิงศพ “ผู้กองแคน”
  5. "มูลนิธิศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหาร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-11. สืบค้นเมื่อ 2019-04-11.
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นกรีพิเศษ, เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๑๓ ข หน้า ๕, ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๒
  • ตวงพร อัศววิไล. ความฝันอันสูงสุด ผู้กองแคน ร.ต.อ. ธรณิศ ศรีสุข. แพรวสำนักพิมพ์. ISBN 978-974-475-130-0

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]