ท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ท้าวศรีสุนทรนาฎ
(แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา)

เกิด5 มกราคม พ.ศ. 2396
พระตะบอง อาณาจักรสยาม
เสียชีวิต15 กันยายน พ.ศ. 2473 (77 ปี)
กรุงเทพมหานคร อาณาจักรสยาม
อาชีพนางละคร
คู่สมรสเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)
หลวงอำนาจณรงค์ราญ (หม่อมราชวงศ์ยัน พนมวัน)[1]
บุตรคุณหญิงมณี พิพิธภัณฑ์พิจารณ์
เล็ก บุนนาค
หม่อมหลวงต่อ พนมวัน
บิดามารดาพระสุพรรณพิศาล (กอง อภัยวงศ์) (บิดา)
ญาติเจ้าจอมมารดาเอี่ยมบุษบา (พี่สาว)
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี (หลานสาว)

ท้าวศรีสุนทรนาฏ มีนามเดิมว่า แก้ว อำนาจณรงค์ราญ หรือ แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา (สกุลเดิม อภัยวงศ์; 5 มกราคม พ.ศ. 2396 — 15 กันยายน พ.ศ. 2473) บ้างเรียก หม่อมแก้ว[a] เป็นบุตรีของพระสุพรรณพิศาล (กอง อภัยวงศ์) บุตรชายของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน อภัยวงศ์) ผู้ว่าราชการจังหวัดพระตะบองคนแรก และเป็นพระอัยยิกาฝ่ายพระชนนีของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6[3]

อนึ่งท้าวศรีสุนทรนาฏเป็นน้องสาวของเจ้าจอมมารดาเอี่ยมบุษบา พระชายาในพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร (ซึ่งเจ้าจอมมารดาเอี่ยมบุษบาเป็นทวดในพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ)[4][5]

ประวัติ[แก้]

ชีวิตช่วงต้น[แก้]

ท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา) มีนามเดิมว่า แก้ว อภัยวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2396 ณ เมืองพระตะบอง เป็นบุตรีของพระสุพรรณพิศาล (กอง อภัยวงศ์) เมื่อท้าวศรีสุนทรนาฏมีอายุได้ 7 ขวบ ในปี พ.ศ. 2407[6] พระสุพรรณพิศาลผู้เป็นบิดาได้รับคำสั่งให้คุมไพร่พลไปรื้อปราสาทหินขนาดน้อยแห่งหนึ่งเพื่อขนเข้ามาก่อสร้างในกรุงเทพฯ เมื่อทำการครั้งนั้นพระสุพรรณพิศาลพาบุตรคนหนึ่งและท้าวศรีสุนทรนาฏไปด้วย แต่เกิดเหตุโจรเข้าปล้นฆ่าพระสุพรรณพิศาลและบุตรเสียชีวิต แต่ตัวท้าวศรีสุนทรนาฏนั้นได้รับการช่วยเหลือจากบ่าวไพร่ด้วยอุ้มพาหลบหนีไปยังเมืองพระตะบองได้[6] เมื่อข่าวทราบถึงกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสสั่งให้มีท้องตราออกไปยังเมืองพระตะบองว่าพระสุพรรณพิศาลเสียชีวิตในหน้าที่ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำนุบำรุงครอบครัวของพระสุพรรณพิศาลมิให้เดือดร้อน[6]

พระยาอภัยภูเบศรผู้ว่าราชการเมืองพระตะบอง ได้ส่งท้าวศรีสุนทรนาฏเข้ามายังกรุงเทพฯ ซึ่งในขณะนั้นน้องสาวของท้าวศรีสุนทรนาฏที่ชื่อบัวได้ถวายตัวอยู่ในพระบรมมหาราชวังโดยมีพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงเดือน ทรงอุปการะ[6] ส่วนท้าวศรีสุนทรนาฏได้รับการอุปการะจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าพระยาที่สมุหพระกลาโหม[6]

เมื่อเจ้าพระยาที่สมุหพระกลาโหมรับไปเลี้ยง ท้าวศรีสุนทรนาฏได้หัดรำละคอนได้เรียนจากครูที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 หลายคน ซึ่งท้าวศรีสุนทรนาฏเป็นศิษย์เอกของคุณน้อยงอกซึ่งเล่นเป็นตัวไกรทองได้ดีหาที่เปรียบไม่ได้[7] ท้าวศรีสุนทรนาฎนั้นเล่นเป็นตัวละคอนได้หลายตัวแต่ถนัดเล่นเป็นไกรทองฝีมือวิเศษไม่มีใครเทียมในสมัยเดียวกัน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์แก่ นางแก้ว อำนาจณรงค์ราญ เป็น ท้าวศรีสุนทรนาฏ ถือศักดินา 600[8]

เป็นครูละคร[แก้]

ท้าวศรีสุนทรนาฏเป็นผู้ที่ชำนาญด้านการฟ้อนรำ ได้เป็นครูละคอนในกรมมหรสพซึ่งเป็นทั้งครูและผู้บังคับควบคุมละครผู้หญิงของวังหลวง เจ้าพระยารามราฆพได้เชิญท่านไปอยู่ที่บ้านนรสิงห์เพราะท่านเป็นครูฝึกหัดฟ้อนรำให้ เจ้าพระยารามราฆพ และพระยาอนิรุธเทวามาตั้งแต่เป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิม[9]

หลังจากที่เล็ก บุตรสาวคนที่สองได้ถึงแก่กรรม ท้าวศรีสุนทรนาฏจึงรับเอาเครือแก้ว อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นหลานมาไว้ในการดูแล[3] ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับพระนางเจ้าสุวัทนาเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ท้าวศรีสุนทรนาฎก็เข้าไปเป็นผู้ใหญ่อยู่ที่ตำหนัก[9]

อนิจกรรม[แก้]

ในวัยชราท้าวศรีสุนทรนาฏป่วยหลายครั้งแต่ก็สามารถแก้ให้หายเป็นปกติ จนการป่วยครั้งที่สี่ พบว่าอาการหนักมากหมดหนทางจะแก้ไข จึงถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2473 สิริรวมอายุได้ 77 ปี[9] พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีทรงรับเป็นเจ้าภาพในงานศพของท้าวศรีสุนทรนาฏ การนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีเสด็จไปการพระราชทานเพลิงศพท้าวศรีสุนทรนาฏแทนพระองค์ ภายหลังพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีโปรดให้แบ่งอัฐิเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกพระราชทานใส่โกศเงินแล้วเชิญอัฐิของท้าวศรีสุนทรนาฏไปบรรจุที่เขามอวัดประยุรวงศาวาสราชวรวิหารที่ช่องบรรจุเคียงข้างเล็ก บุนนาค ธิดา ส่วนอัฐิอีกหนึ่งส่วนพระราชทานใส่โกศแก้วเจียระไนพระราชทานแก่หม่อมหลวงต่อ พนมวันไปรักษาไว้[ต้องการอ้างอิง]

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

ท้าวศรีสุนทรนาฎมีธิดากับเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สองคนคือ

  1. มณี บุนนาค สมรสกับพระยาพิพิธภัณฑ์พิจารณ์ (เจริญ โชติกเสถียร) ต่อมาเป็น คุณหญิงพิพิธภัณฑ์พิจารณ์
  2. เล็ก บุนนาค สมรสกับพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) เป็นพระมารดาของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และสมรสอีกครั้งกับหลวงบริหารยุคลบาท (แหวน จารุดุล) มีบุตรสี่คน

ต่อมาหม่อมแก้วเมื่อออกจากการปกครองของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์แล้วจึงได้เป็นภรรยาของหลวงอำนาจณรงค์ราญ (หม่อมราชวงศ์ยัน พนมวัน) และมีบุตรด้วยกันคนเดียวคือ หม่อมหลวงต่อ พนมวัน โดยหม่อมหลวงต่อรับราชการอยู่ในกรมมหรสพ และหลังจากที่หลวงอำนาจณรงค์ราญถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2434[1] ท้าวศรีสุนทรนาฎได้พาบุตรธิดากลับออกไปอยู่กับญาติฝ่ายสกุลอภัยวงศ์ที่พระตะบอง เมื่อธิดาได้เติบโตขึ้นแล้ว ญาติฝ่ายสกุลบุนนาคเกรงว่าธิดาของเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) จะได้สามีไม่สมกัน จึงชวนให้ท้าวศรีสุนทรนาฎพาครอบครัวเข้ากรุงเทพฯ[9]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

หมายเหตุ
  1. "หม่อม" เป็นคำนำหน้าสตรีที่เป็นอนุภรรยาของขุนนางชั้นเจ้าพระยาและพระยาชั้นผู้ใหญ่ ครั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตราพระราชกฤษฎีกาคำนำหน้าสตรี พ.ศ. 2460 คำว่าหม่อมสำหรับภรรยาขุนนางเป็นอันยกเลิกไป[2]
เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 วชิรญาณสุภาษิต (PDF). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. 2555. p. 124. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-11-20. สืบค้นเมื่อ 2021-05-19.
  2. เล็ก พงษ์สมัครไทย. "คำว่า หม่อม ใช้มาตั้งแต่เมื่อใด? หม่อมแต่ละประเภทต่างกันอย่างไร?". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 28 Jul 2022.
  3. 3.0 3.1 พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ ๖ - พระประสูติการ
  4. Pantip - ๘๓ พรรษา สมเด็จฯ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ พระกุลเชษฐ์แห่งพระบรมราชวงศ์ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
  5. "Princess Bejaratana". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-08. สืบค้นเมื่อ 2011-05-21.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2554. หน้า 200
  7. Pantip - เจ้าจอม หม่อมละคร ในกรุงรัตนโกสินทร์
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ฝ่ายใน, เล่ม ๓๗, ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๓, หน้า ๓๐๔๘
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 เรือนไทย - ชาลวันและเถรขวาด ความคล้ายคลึง
  10. หนังสือบทละคร เรื่องไกรทอง หน้า 236
  11. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน, เล่ม ๔๑, ตอน ๐ง, ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๗, หน้า ๒๙๔๙
  12. หนังสือบทละคร เรื่องไกรทอง หน้า 235