ชาเอิร์ลเกรย์
ชาเอิร์ลเกรย์ (อังกฤษ: Earl Grey tea) คือ ชาแดงชนิดผสมประเภทหนึ่ง มีกลิ่นหอมของน้ำมันเบอร์กามอต (อังกฤษ: Bergamot) เป็นส่วนผสมหลักที่ทำให้ชาเอิร์ลเกรย์มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ชาเอิร์ลเกรย์เป็นที่นิยมทั้งในสหราชอาณาจักรและทั่วทั้งโลก ในสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นประเทศต้นกำเนิดชาเอิร์ลเกรย์นิยมดื่มชานี้กันอย่างแพร่หลายเป็นกิจวัตรประจำวัน
ชาเอิร์ลเกรย์แบบดั้งเดิมผลิตจากชาแดงจากประเทศจีน เช่น ชาคีมุน หรือ ชาเจิ้งซานเสียวจ่งซึ่งทำให้ชามีกลิ่นหอมของควันไม้ ในปัจจุบันผู้ผลิตชาเอิร์ลเกรย์ได้ผลิตชาเอิร์ลเกรย์ออกมาหลายรูปแบบมากขึ้นโดยมีการผลิตด้วย ชาอูหลง ชาเขียว ชาซีลอน ชาขาว และชารอยบอส
ชาเอิร์ลเกรย์สันนิษฐานว่าพยายามปรุงเพื่อเลียนแบบชาเจิ้งซานเสียวจ่ง (จีนตัวย่อ: 正山小种; จีนตัวเต็ม: 正山小種; พินอิน: zhèngshān xiǎozhǒng) หรืออาจเป็นความพยายามในการเพิ่มมูลค่าชาที่มีคุณภาพต่ำให้มีมูลค่ามากขึ้นด้วยการผสมน้ำมันเบอร์กามอตลงไป ทำให้พ่อค้าชาสามารถขายชาได้ในมูลค่าที่สูงขึ้น
ประวัติ
[แก้]ชาลส์ เกรย์ เอิร์ลเกรย์ที่ 2
[แก้]ชาเอิร์ลเกรย์เป็นชาที่ปรุงแต่งขึ้นให้แก่ ชาลส์ เกรย์ เอิร์ลเกรย์ที่ 2 นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ช่วงปี ค.ศ. 1830 ถึงปี ค.ศ. 1834 โดยการนำชาแดงผสมกับน้ำมันเบอร์กามอต[1] ต่อมาได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นสูงและได้กลายเป็นที่นิยมจากทั่วทั้งโลก ชาเอิรล์เกรย์เป็นชาที่ปรุงขึ้นเพื่อเลียนแบบชาจีนซึ่งมีราคาสูง ชาเอิร์ลเกรย์เป็นที่รู้จักในประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี ค.ศ. 1820 ในช่วงแรกชาเอิร์ลเกรย์เป็นที่รู้จักในชื่อ "เกรยส์ (Grey's Tea)" จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1880 บริษัทชาร์ลตันแอนด์โค ได้โฆษณาชาในชื่อ "เอิร์ลเกรย์"
ในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2011 บริษัททไวนิงส์ (อังกฤษ: Twinings) ผู้อ้างว่าเป็นต้นตำรับชาเอิร์ลเกรย์ ได้ประกาศการปรับเปลี่ยนสูตรชาเอิร์ลเกรย์ของบริษัท โดยมีการเพิ่มน้ำมันเบอร์กามอตและซิตรัส ชาเอิร์ลเกรย์ถือว่าเป็นชาตัวหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญและส่งผลต่อวัฒนธรรมการดื่มชาของชาวอังกฤษ ทำให้เกิดให้เกิดการคิดค้นชาสูตรใหม่ ๆ ขึ้น เช่น ชาเลดีเกรย์ ที่มีการใส่ผลไม้จำพวกมะนาวและส้ม
เรื่องราวของที่มาของชาเอิร์ลเกรย์ยังคงเป็นที่ถกเถียง มีเรื่องราวหนึ่งกล่าวว่า ผู้รับใช้ของลอร์ดเกรย์คนหนึ่งได้ช่วยชีวิตลูกชายของชาวจีนครอบครัวหนึ่งจากการจมน้ำ และเพื่อเป็นเกียรติแก่ลอร์ดเกรย์ ครอบครัวชาวจีนครอบครัวนั้นจึงได้ตอบแทนลอร์ดชาลส์ เกรย์ เอิร์ลเกรย์ที่ 2 โดยปรุงชาสูตรพิเศษขึ้นและมอบให้ในปี ค.ศ. 1803 เรื่องราวนี้ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือและไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ นอกจากนี้ยังพบข้อขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากลอร์ดเกรย์ไม่เคยเดินทางไปประเทศจีน[2] อีกทั้งในช่วงเวลาดังกล่าว การใช้น้ำมันเบอร์กามอตยังไม่เป็นที่ทราบกันในประเทศจีน จึงสรุปได้ว่าเรื่องเล่าเหล่านี้ไม่ถูกต้องและไม่สามารถยืนยันได้ว่าชาเอิร์ลเกรย์แท้จริงนั้นมีที่มาอย่างไร
เรื่องราวที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดถึงต้นกำเนิดของชาเอิร์ลเกรย์ถูกกล่าวโดยบริษัทชาทไวนิงส์ โดยทายาทของลอร์ดเกรย์ที่สอง ฟิลิป เคนต์ เกรย์ เอิร์ลเกรย์ที่ 7 ให้การรับรองว่าทไวนิงส์เป็นผู้คิดค้นสูตรชาเอิร์ลเกรย์ ด้วยการเซ็นชื่อรับรองลงบนกล่องของชาเอิร์ลเกรย์ของทไวนิงส์ที่จัดจำหน่ายในสหราชอาณาจักรอีกด้วย
ในเว็บไซต์ทไวนิงส์ได้ระบุว่า
" ราชทูตท่านหนึ่งได้เดินทางไปประเทศจีน ภายหลังเดินทางกลับมายังสหราชอาณาจักร ทูตท่านนี้ได้นำชาเอิร์ลเกรย์กลับมาด้วยและได้มอบให้แก่ ลอร์ดชาลส์ เกรย์ เอิร์ลเกรย์ที่ 2 " - ทไวนิงส์ ออฟ ลอนดอน[3]
ร้านแจ็คสันออฟพิคคาดิลลี่ (อังกฤษ: Jacksons of Piccadilly) อ้างว่า ทางร้านเป็นผู้ริเริ่มขายสูตรชาเอิร์ลเกรย์นี้เป็นร้านแรก ลอร์ดเกรย์ได้มอบสูตรชานี้ให้แก่โรเบิร์ต แจ็คซัน (อังกฤษ: Robert Jackson & Co) และบริษัทหุ้นส่วนจอร์จ ชาร์ลตัน (อังกฤษ: Charlton & Co. of Jermyn Street)ในปี ค.ศ. 1830 ตามที่ตระกูลแจ็คซันกล่าวอ้าง พวกเขาผลิตชาเอิร์ลเกรย์นี้ขึ้นมาตั้งแต่ได้รับสูตรมา โดยแรกเริ่มชานี้มีพื้นฐานมาจากชาแดงจีน[4][5]
ความเห็นต่อชาเอิร์ลเกรย์ในปัจจุบัน
[แก้]ในปี ค.ศ. 2010 ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในสหราชอาณาจักรต่อชาเอิร์ลเกรย์ พบว่าชาวสหราชอาณาจักรส่วนน้อยมีความเห็นว่า การดื่มชาเอิร์ลเกรย์มีความเชื่อมโยงกับความหรูหราและเกี่ยวข้องกับชนชั้นสูง ทว่า ในมุมมองต่างชาติมักมองว่าชาเอิร์ลเกรย์เป็นเครื่องดื่มที่แสดงถึงชนชั้นและความมีระดับ นอกจากนี้ ความคิดเห็นดังกล่าวยังครอบคลุมถึงวัฒนธรรมการดื่มชายามบ่ายแบบอังกฤษอีกด้วย[6][7]
ประเภท
[แก้]ชาเอิร์ลเกรย์ไม่ใช้สินค้าจดทะเบียนโดยบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ชาเอิร์ลเกรย์จึงมีสูตรมากมายแตกต่างไปตามบริษัทผู้ผลิต โดยแต่ละบริษัทมักชูเอกลักษณ์และความแตกต่าง ด้วยการใช้ประเภทของชาที่แตกต่างกันไปและด้วยการเพิ่มส่วนผสมบางอย่างลงไปเพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้แก่ชาของบริษัทตน
น้ำมันหอมระเหยจากผลเบอร์กามอต ที่ใส่ในชาเอิร์ลเกรย์ยี่ห้อต่าง ๆ มาจากผลของต้นเบอร์กามอต ซึ่งเป็นเป็นพืชตระกลู Citrus มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Citrus bergamia มีแหล่งปลูกที่แคว้นคาลาเบรีย ประเทศอิตาลี่[8]
- ชาเลดีเกรย์ ถูกต่อยอดสูตรมาจากชาเอิร์ลเกรย์ ชาเลดีเกรย์มีสองสูตรที่นิยม (ชาเลดี้เกรย์ดอกคอร์นฟลาวเวอร์ และชาเลดี้เกรย์ส้ม) ซึ่งทั้งสองสูตรเกิดจากการผสมชาเอิร์ลเกรย์กับดอกคอร์นฟลาวเวอร์และส้มซ่า โดยที่ชื้อชาเลดีเกรย์เป็นชื่อสินค้าจดทะเบียนโดยบริษัททไวนิงส์แต่เพียงผู้เดียว ทำให้บริษัทอื่น ๆ ไม่สามารถนำคำว่า “เลดี เกรย์” ไปใช้ในเชิงการค้าได้ จึงทำให้ชานี้เป็นที่รู้จักในชื่ออื่น ๆ แตกต่างกันไปตามบริษัทผู้ผลิต
- "London Fog" เป็นเครื่องดื่มที่เกิดจากการผสมชาเอิร์ลเกรย์กับนมและวานิลลาไซรัป
- ชาเอิร์ลเกรย์ถูกผสมด้วยดอกไม้ต่าง ๆ เช่นมะลิ คอร์นฟลาวเวอร์ หรือ กุหลาบ เป็นที่รู้จักในชื่อ เฟรนช์เอิร์ลเกรย์ (French Earl Grey)
- รัสเซียนเอิร์ลเกรย์ (Russian Earl Grey) คือชาที่มีการผสมเปลือกส้มและตะไคร้แทนการใช้ใบชาแดงและน้ำมันเบอร์กามอต
การปรุงแต่งรสชาติ
[แก้]ชาเอิร์ลเกรย์ถูกใช้เพื่อปรุงแต่งรสชาติเค้กและของหวานอย่างแพร่หลาย เช่น ช็อกโกแลต และซอสปรุงของหวาน
วัฒนธรรมการดื่ม
[แก้]โดยทั่วไปไม่นิยมเติมนมลงในชาเอิร์ลเกรย์ดังเช่นชาอื่น ๆ ชาวสหราชอาณาจักรส่วนมากให้ความเห็นว่าชาเอิร์ลเกรย์และนมนั้นไม่อาจเข้าด้วยกันได้ เนื่องจากนมทำให้กลิ่นของน้ำมันเบอร์กามอตอันเป็นเอกลักษณ์ของชาหายไป และทำให้รสชาติของชาเปลี่ยนจึงไม่นิยมเติมนมลงในชา
ชาเอิร์ลเกรย์นิยมทานขณะยังร้อน โดยสามารถเติมน้ำตาลหรือน้ำผึ้งเพื่อเพิ่มความหวาน หรืออาจเติมมะนาวหรือส้มได้ตามแต่ใจผู้ดื่ม
ชาเอิร์ลเกรย์นิยมดื่มกันในช่วงบ่าย มักทานคู่กับขนมเค้กหรือของว่างต่าง ๆ เช่น แซนด์วิช แยมโรล มาการอง หรือ สกอน สามารถดื่มได้ทุกช่วงเวลา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Foods of England เก็บถาวร 2013-01-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Retrieved 1 January 2013.
- ↑ Pettigrew, Jane (2004). The Tea Companion: A Connoisseur's Guide (Connoisseur's Guides). Philadelphia, Pa: Running Press Book Publishers. ISBN 0-7624-2150-9.
- ↑ "Earl Grey". Twiningsusashop.com. Retrieved 2010-12-07.
- ↑ Fenix, Micky (24 July 2008). "More Than Just A Pot Of Tea". Philippine Daily Inquirer. Archived from the originalon 20 January 2013.
Stephen Twining traced back his family's business to the 1700s, when coffee houses as meeting places were the vogue. How ironic that it was in the company's coffee house where tea was introduced. Earl Grey tea makes Stephen Twining wish he could move back time because the company did not lay claim to the formula, or the name, when they had produced the blend for the British Prime Minister who was known as the second Earl Grey.
- ↑ Pagano, Margareta (3 July 1985). "The secret of Earl Grey tea is changing hands at last / Sale of Jacksons of Piccadilly to Fitch Lovell food manufacturing group". The Guardian (London).
The original secret formula for Earl Grey tea is changing hands after 155 years with its sole proprietors, the Jacksons of Piccadilly tea merchants... with the sale goes the special recipe of the Earl Grey blend which was entrusted to Robert Jackson's partner, George Charlton, in 1830 by the second Earl Grey. To this day the formula—which mixes black China tea with other unknown teas—has remained unaltered.
- ↑ "Want to seem posh? Employ a cleaner and drink Earl Grey". The Telegraph.
- ↑ "Survey Results". 20 May 2010. Retrieved 15 Jan 2016.
- ↑ RFLP ANALYSIS OF THE ORIGIN OF CITRUS BERGAMIA, CITRUS JAMBHIRI, AND CITRUS LIMONIA[1]. nternational Society for Horticultural Science. Retrieved 18 February2012.