ชาวฮกเกี้ยน
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
閩南泉漳人 | |
---|---|
ครอบครัวชาวฮกเกี้ยน มณฑลฝูเจี้ยนตอนใต้ ค.ศ. 1920 | |
ประชากรทั้งหมด | |
~60,000,000[1] | |
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |
จีน | มณฑลฝูเจี้ยน |
ไต้หวัน | ไต้หวันเชื้อสายฮั่นส่วนใหญ่ (~22,277,000) |
มาเลเซีย | มาเลเซียเชื้อสายจีนที่มีจำนวนมากที่สุด |
สิงคโปร์ | สิงคโปร์เชื้อสายจีนที่มีจำนวนมากที่สุด |
ฟิลิปปินส์ | ฟิลิปิโนเชื้อสายจีนที่มีจำนวนมากที่สุด[2] |
อินโดนีเซีย | อินโดนีเซียเชื้อสายจีนที่มีจำนวนมากที่สุด[3] |
บรูไน | บรูไนเชื้อสายจีนที่มีจำนวนมากที่สุด |
พม่า | หนึ่งในสามพม่าเชื้อสายจีนที่มีจำนวนมากที่สุด (จำนวนรวมกับกวางตุ้ง)[4] |
สหรัฐ | 70,000+[5] |
เวียดนาม | ~45,000 |
ฮ่องกง | ชนกลุ่มน้อย |
มาเก๊า | ชนกลุ่มน้อย |
ภาษา | |
ภาษาแม่: จีนฮกเกี้ยน อื่น ๆ: จีนมาตรฐาน, อังกฤษ, ภาษาประจำชาติของประเทศที่เข้าอาศัย | |
ศาสนา | |
ศาสนาชาวบ้านจีน (รวมลัทธิเต๋า, ลัทธิขงจื๊อ, การบูชาบรรพบุรุษ และอื่น ๆ), พุทธนิกายมหายาน และไม่มีศาสนา |
ชาวฮกเกี้ยน (จีน: 福建人; เป่อ่วยยี: Hok-kiàn-lâng) เป็นชาวฮั่น[6]กลุ่มย่อยที่พูดภาษาฮกเกี้ยน[7] ภาษาหมิ่นใต้[8] หรือมีบรรพบุรุษจากฝูเจี้ยนตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศจีน[9] เป็นหนึ่งในชนเผ่าจีนโพ้นทะเล มีจำนวนมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประชากรส่วนใหญ่ของภูเก็ต ตรัง สงขลา สตูล พังงา(บางส่วน) ปีนัง สิงคโปร์ และเป็นชนเผ่าจีนที่มีสัดส่วนสูงในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
ชาวฮกเกี้ยน
[แก้]ชาวฮกเกี้ยนคือชนเผ่าจีนเผ่าหนึ่งที่อพยพมาจากทางตอนของมณฑลฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) เมืองหลักคือเอ้หมึง (เซี่ยเหมิน) พื้นที่ของชาวฮกเกี้ยนอยู่ตั้งแต่เมืองเอ้หมึงลงมาจนถึงเขตมณฑลกวางตุ้ง เป็นชนเผ่าจีนฮกเกี้ยนที่มีมากที่สุดในบรรดา 2 กลุ่ม สำเนียงการพูดเป็นสำเนียงฮกเกี้ยนใต้หรือหมิ่นหนาน
ชาวฮกโล่ นอกจากจะเป็นคำเรียกของชนเผ่าจีนฮกเกี้ยนที่อพยพมาจากตอนใต้ของมณฑลฮกเกี้ยนแล้ว ยังเป็นคำเรียกชาวไต้หวันด้วย ชาวไต้หวันส่วนใหญ่เรียกแทนตัวเองว่า ฮกโล่ หรือถ้าตรงกับภาษาอังกฤษ คือ Taiwanese[ต้องการอ้างอิง]
ชาวฮกเกี้ยนโพ้นทะเล
[แก้]ชาวฮกเกี้ยนเป็นชนเผ่าจีนกลุ่มแรก ๆ ที่อพยพออกมาจากพื้นแผ่นดินใหญ่ไปตามประเทศต่าง ๆ เนื่องจากเป็นมณฑลที่อยู่ติดทะเลจึงสามารถออกจากประเทศได้ง่ายกว่ามณฑลอื่น ช่วงแรกที่อพยพมาจะเป็นผู้ที่มีฐานะมาทำการค้า แต่ช่วงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มาแบบเสื้อผืนหมอนใบมาเป็นกุลี
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
[แก้]ชาวจีนฮกเกี้ยนเริ่มอพยพมาสู่เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคเริ่มอาณานิคมของดัตซ์ซึ่งต้องการแรงงานชาวจีนมาก ทำให้มีเรือไปรับชาวจีนฮกเกี้ยนทุกเดือน เดือนละหลายเที่ยว มาตุภูมิจุดกำเนิดของชาวฮกเกี้ยนมาจากหลากหลายเมืองครอบคุมทั่วบริเวณมณฑลฮกเกี้ยน แต่ส่วนมากมาจากเมืองชายฝั่งที่ติดทะเล โดยส่วนมากมาจาก เมืองจังโจว เมืองเฉวียนโจว เมืองฝูโจว เมืองเซี่ยเหมิน เมืองจังโจวและเฉวียนโจว เป็นพื้นที่บริเวณมีท่าเรือและผู้อพยพมากที่สุด
ประเทศไทย
[แก้]คาดกันว่าชาวจีนฮกเกี้ยนอพยพมาประเทศไทยเป็นจีนกลุ่มแรก ๆ จีนฮกเกี้ยนเข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยาก่อนจีนกลุ่มอื่นและเป็นชนเผ่าจีนอาสาช่วย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกอบกู้เอกราช แม้แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ท่านถือกำเนิดในชุมชนจีนฮกเกี้ยนบริเวณวัดสุวรรณดาราราม ฝั่งตะวันออกของคลองนายก่าย กรุงศรีอยุธยา มารดาของท่านชื่อดาวเรืองหรือหยก เป็นธิดาที่เกิดในสกุลคหบดีจีนที่ร่ำรวยที่สุดในชุมชนชาวจีนฮกเกี้ยนถึง แม้ในประเทศไทยโดยรวมจะมีจำนวนน้อยแต่กลุ่มวัฒนธรรมฮกเกี้ยนเป็น 1 ใน 2 กลุ่มวัฒนธรรมจีนที่ได้รับความความนิยมมากพร้อมกับแต้จิ๋ว และมีจำนวนประชากรมากในภาคใต้ของประเทศไทยมากกว่าชาวจีนกลุ่มอื่น มีมากที่สุดในจังหวัดภูเก็ตจนเกือบเป็นประชากรส่วนใหญ่ โดยส่วนมากเป็นชาวฮกเกี้ยน หรือ ชาวฮกโล่ ที่อพยพมากจากสิงคโปร์ และ มาเลเซีย อีกที ส่วนหนึ่งมาจากแผ่นดินใหญ่ ชาวฮกเกี้ยนอาศัยทางตอนใต้ในประเทศไทยมากกว่าภาคอื่น ๆ ชาวจีนแต่ละก๊กจะรวมตัวกันสร้างสมาคมของตัวเองเพื่อช่วยเหลือกันเองและช่วยเหลือสังคมในท้องถิ่น อาทิเช่นสมาคมฮกเกี้ยน สมาคมแต้จิ๋ว สมาคมฮากกา สมาคมไหหลำ เมื่อเทศกาลสำคัญมาถึงชาวจีนแต่ละเชื้อสายจะมาช่วยเหลือกันโดยจะใช้ภาษาจีนกลางเป็นหลักในการสื่อสาร ในภาคกลางของประเทศไทย ชาวจีนฮกเกี้ยนจะอาศัยอยู่บริเวณตลาดน้อย เยาวราช และฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร และกระจ่ายไปทั่วชุมชนที่มีชาวจีนอยู่ทั่วประเทศ
เมืองที่อพยพ
[แก้]ชาวฮกเกี้ยนมีถิ่นฐานเดิมโดยมาจากเมืองเซี่ยเหมิน เมืองเฉวียนโจว เมืองจังโจว เมืองผูเถียน เมืองจางผิง เมืองหลงหยาน เมืองจางผู ฯลฯ มีเมืองท่าออกสู่ท้องทะเล คือ เมืองเซี่ยเหมิน (เอ้หมึง) เนื่องจากติดกับเมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง จึงมักมีชาวแต้จิ๋วอพยพมาด้วย นับว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่ชาวแต้จิ๋วออกทะเลเช่นกัน
เมืองจางโจว
[แก้]เมืองจางโจว หรือเมืองเจียงจิว เป็นเมืองทางใต้สุดของมณฑลฮกเกี้ยนอยู่ติดกับจังหวัดแต้จิ๋วในมณฑลกวางตุ้ง สถาปนาเมือสมัยราชวงศ์ถัง ในปีช่วง ค.ศ. 686 ตามคำกราบบังคมทูลของ นายตันเกียวหลุน ที่ต้องการให้ให้พื้นที่บริเวณนี้เป็นท่าเรือประมง และ บริเวณเกษตรกรรม มีชื่อเสียงในการผลิตลิ้นจี่ และ อาหารทะเล ผู้อพยพจากเมืองนี้ส่วนใหญ่กระจายอยู่บริเวณ ตอนเหนือของเกาะสุมาตรา เกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย และจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออกของประเทศไทย เช่น ปัตตานี สงขลา นราธิวาส ฯลฯ
เมืองเฉวียนโจว
[แก้]เมืองเฉวียนโจว หรือ เมืองจวนจิว เป็นเมืองทางตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับฉายาว่าเป็นช่องทางทะเล เมืองแห่งผ้าไหม สถาปนาในสมัยราชวงค์ถัง ในปี 684 โดย เดิมเมืองชื่ออู่หรงโจว ต่อมาในปี 711 เมืองได้เปลี่ยนชื่อใหม่เฉวียนโจว ในสมัยราชวงศ์หยวนได้เกิดสงครามขึ้นในภาคตะวันออก ในระหว่างสงครามทำให้คนจำนวนมากจากเมืองเฉวียนโจวหลบหนีไปยังฮ่องกงและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ที่อพยพจากเฉวียนโจว ส่วนใหญ่ตั้งหลักตัวอยู่ใน ประเทศสิงคโปร์ ซาราวัก ประเทศมาเลเซีย จังหวัดชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันตกของไทย เช่น ภูเก็ต ระนอง กระบี่ พังงา ตรัง สตูล ฯลฯ
เมืองเซียะเหมิน
[แก้]เมืองเซี่ยเหมิน 厦門 หรือ เมืองเอ้หมึง เซี่ยเหมินเป็นหนึ่งในเมืองที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และเจริญในมณฑลฝูเจี้ยน เซี่ยเหมินเป็นเมืองที่เข้าร่วมโครงการดำเนินการตามนโยบายในการเปิดทางเศรษฐกิจของจีน ครั้งหนึ่งเคยถูกปกครองโดยอังกฤษ ในสมัยพระจักรพรรดิกวางซวี่ แห่งราชวงศ์ชิงทำให้เมืองเอ้หมึงเป็นเมืองที่เจริญมาก โดยส่วนมากผู้ที่อพยพจากเมืองเอ้หมึงจะเป็นผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจเป็นเสียส่วนใหญ่
อาชีพชาวฮกเกี้ยน
[แก้]ชาวฮกเกี้ยนในไทยตอนแรกจะเข้ามาเป็นกุลีเหมืองแร่ก่อนจนสร้างตนเป็นคหบดีได้ อาชีพส่วนใหญ่ที่เห็นได้ชัดของชาวฮกเกี้ยนคือ รับราชการ ต่อมาเป็นข้าหลวงใหญ่ เพราะ ขุนนาง คหบดีของไทยที่เป็นชาวจีนส่วนมากเป็นชาวฮกเกี้ยน ส่วนอาชีพนึงก็คือชาวประมง และ คนเดินเรือ เพราะชาวฮกเกี้ยนมีความรู้ทางด้านทะเลและการเดินเรือมากกว่าชาวแต้จิ๋ว เพราะถิ่นเดิมของชาวฮกเกี้ยน อยู่ติดทะเล ชาวฮกเกี้ยนตั้งแต่ชุมพรไล่ไปจนถึงนราธิวาส นิยมอาชีพค้าขาย, เจ้าของสวนยางพารา, โรงบ่มยาง, โรงแรม, ที่ดิน จนกลายมาผู้มีอิทธิพลทางการเงินในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (นายทุนปักษ์ใต้) และในสมัยก่อนชาวฮกเกี้ยนในภาคใต้ของไทย จะนิยมส่งบุตร-หลานไปเรียนหนังสือที่ ปีนัง, มาเลเซีย
ภาษาฮกเกี้ยน
[แก้]ภาษาฮกเกี้ยนเป็นหนึ่งในภาษากลางที่ใช้ติดต่อระหว่างชนเผ่าจีนโพ้นทะเล เรียกว่า "ภาษาหมิ่น" สำเนียงสำคัญที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ "หมิ่นหนาน" เป็น สำเนียงที่สำคัญของชาวจีนโพ้นทะเล เป็นภาษาแม่ ต้นภาษาของ สำเนียงไหหล่ำ และ สำเนียงแต้จิ๋ว ทั้งสองสำเนียงนี้ถูกจัดอยู่ในสำเนียงหมิ่นหนานของฮกเกี้ยนเช่นกัน ภาษาหมิ่นหนาน ยังเป็นภาษาสื่อกลางที่ใช้ติดต่อระหว่างชาวจีนในห้าจังหวัดชายแดนทางใต้ รวมถึง สิงคโปร์ มาเลเซีย และเป็นภาษาประจำชาติของไต้หวัน[ต้องการอ้างอิง]
วัฒนธรรม
[แก้]วัฒนธรรมชาวจีนฮกเกี้ยนเป็นวัฒนธรรมที่เก่าแก่มาอายุราว 2,000 ปี มีเอกลักษณ์และวัฒนธรรมที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร และยังเป็นวัฒนธรรมประจำชาติของไต้หวัน[ต้องการอ้างอิง]
อุปรากรจีนฮกเกี้ยน มาอายุราวพันกว่าปีมีเอกลักษณ์การร้องการแสดงไม่เหมือนใคร เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของมณฑลฮกเกี้ยน ที่ว่าใครเดินทางไปมณฑลฮกเกี้ยนต้องไปดู ปัจจุบันงิ้วฮกเกี้ยนมีอยู่หลายคณะทั้งในจีน ไต้หวัน มาเลเซีย และ สิงคโปร์ ส่วนในประเทศไทยในอดีตเคยมีงิ้วฮกเกี้ยนแต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว โดยเฉพาะในไต้หวัน และ สิงคโปร์มีการตั้งโรงงิ้วซึ่งเอาไว้แสดงเฉพาะงิ้วฮกเกี้ยนเท่านั้น อุปรากรจีนฮกเกี้ยนแบ่งย่อยเป็น 2 แบบตามสำเนียงถิ่น คือ
- งิ้วฮกเกี้ยน (หมิ่นหนาน) เป็นงิ้วที่ได้รับความนิยมสุดทั้งในแผ่นดินใหญ่ สิงคโปร์ มาเลเซีย มีเอกลักษณ์การร้องคือการใช้ภาษาถิ่นในการร้อง การร้องคือร้องนิ่ม ๆ ไม่กระแทกเสียง และยังมีเอกลักษณ์ของงิ้วทางตอนใต้อยู่ แต่ไม่เหมือนงิ้วฮกเกี้ยนไต้หวัน
- งิ้วไต้หวัน เป็นอุปรากรจีนที่เป็นสัญลักษณ์ประจำของไต้หวัน ใช้สำเนียงถิ่นฮกเกี้ยนในการร้อง แต่วิธีการร้อง การแสดง เหมือนอุปรากรจีนปักกิ่ง คือการร้องแน่นเสียงสูง ๆ และแน่นลีลาอันอ่อนช้อยสวยงาม
หุ่นกระบอกฮกเกี้ยน หรือ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "กาเหล" เป็นมหรสพอย่างหนึ่งของชาวฮกเกี้ยนที่นิยมชมกัน นิยมเล่นในงานมงคล จะใช้คนเชิดหนึ่งคน ต่อ สองหุ่นตัวละคร จะแบ่งเป็นสองชนิดการแสดง คือ ร้องแบบงิ้ว กับร้องแบบบทกวี โดยจะใช้เป็นสำเนียงฮกเกี้ยนหมิ่นหนาน แต่ปัจจุบันการแสดงนี่ไม่มีแล้วในแผ่นดินใหญ่ มีที่ ไต้หวัน สิงคโปร์ และ จังหวัดภูเก็ต ของ ประเทศไทย
ชาฮกเกี้ยนและเอกลักษณ์การดื่มชา ชาส่วนมากที่มีชื่อเสียงของจีนและระดับโลกปลูกมาจากมณฑลเกี้ยน เพราะ มีภุมิประเทศที่เหมาะสมจึงทำให้ได้ชาที่ดี ชาวฮกเกี้ยนเรียกชาว่า "เต๋" ชาที่ขึ้นชื่อที่สุดคือ ชาอูหลง
อาหารฮกเกี้ยน เป็นหนึ่งในอาหารแบ่งตามกลุ่มหลักของจีน มีรสชาติที่กลมกล่อม ไม่รสจัด และ รสอ่อน นิยมใช้ ผัก ไก่ เนื้อหมู และ อาหารทะเล มีวิธีการทำที่พิถีพิถัน อาหารขึ้นชื่อของชาวฮกเกี้ยนที่นิยมรับประทานกัน คือ บ๊ะกุ๊ดเต้ ฮกเกี้ยนหมี่ จับฉ๋ายหมูสามชั้น ปอเปี๊ยะสดแป้งบางแผ่นใหญ่ และพระกระโดดกำแพง
เอกลักษณ์ ห้าจังหวัดชายแดนใต้ รวมถึง มาเลเซีย สิงคโปร์ เมื่อตัดยางเสร็จแล้ว จะนิยมดื่มโกปีออ (กาแฟดำ) ดื่มแตออ (ชาดำ) กับจาโก้ยหรือปาท่องโก๋ โรตีน้ำแกง ข้าวเหนียวปิ้ง ไข่ลวก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ผสมผสานระหว่างจีนฮกเกี้ยนกับชาวมาลายูท้องถิ่น การพูดจาภาษาจะผสมคำจีนฮกเกี้ยนและมาลายูเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นภาษาที่เข้าใจกันในเฉพาะท้องถิ่น
คติของชาวฮกเกี้ยน
[แก้]ต้องสู้ถึงจะชนะ (ตัวเต็ม: 愛拼才會贏, ตัวย่อ: 爱拼才会赢, พินอิน: Ài pīn cái huì yíng อ้ายพินไฉฮุ่ยอิ๋ง, ฮกเกี้ยน: อ้ายเปี่ยเจียะเอเอี๋ย) คติดังกล่าวถูกปลูกฝังให้ลูกหลานชาวฮกเกี้ยนทั่วโลกมีความกระตือรือร้นในการยกระดับชีวิตของตน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 闽南文化研究. 2004. ISBN 9787806409633.
- ↑ Ng, Maria; Holden, Philip, บ.ก. (1 September 2006). Reading Chinese transnationalisms: society, literature, film. Hong Kong University Press. p. 20. ISBN 978-962-209-796-4.
- ↑ Lewis, M. Paul, บ.ก. (2005), "Indonesia", Ethnologue: Languages of the World (15th ed.), Dallas, T.X.: SIL International, ISBN 978-1-55671-159-6, สืบค้นเมื่อ 26 January 2010.
- ↑ Mya Than (1997). Leo Suryadinata (บ.ก.). Ethnic Chinese As Southeast Asians. ISBN 0-312-17576-0.
- ↑ 2005-2009 American Community Survey
- ↑ Damm, Jens (2012). "Multiculturalism in Taiwan and the Influence of Europe". ใน Damm, Jens; Lim, Paul (บ.ก.). European perspectives on Taiwan. Wiesbaden: Springer VS. p. 62. ISBN 9783531943039.
- ↑ Bolton, Kingsley; Botha, Werner; Kirkpatrick, Andy (14 September 2020). The Handbook of Asian Englishes. ISBN 9781118791653.
- ↑ Ding 2016, p. 1.
- ↑ Ding 2016, p. 3.
บรรณานุกรม
[แก้]- Brown, Melissa J. (2004). Is Taiwan Chinese? : The Impact of Culture, Power and Migration on Changing Identities. Berkeley: University of California Press. ISBN 0-520-23182-1.
- Davidson, James W. (1903). The Island of Formosa, Past and Present. London and New York: Macmillan. OCLC 1887893. OL 6931635M.
- Ding, Picus Sizhi (2016), Southern Min (Hokkien) as a Migrating Language: A Comparative Study of Language Shift and Maintenance Across National Borders, Springer
- The Republic of China Yearbook 2014 (PDF). Executive Yuan, R.O.C. 2014. ISBN 9789860423020. สืบค้นเมื่อ 2016-06-11.