จ่งตู
จ่งตู (จีนตัวย่อ: 总督; จีนตัวเต็ม: 總督; พินอิน: Zǒngdū; "ผู้บังคับการทั้งปวง") ในภาษาอังกฤษมักแปลว่า ผู้สำเร็จราชการ, ผู้ว่าการใหญ่, ข้าหลวงใหญ่, หรือ อุปราช (Governor-General/Viceroy) เป็นตำแหน่งผู้ปกครองมณฑล (省) ในประเทศจีนช่วงราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง
ในราชวงศ์หมิง ตำแหน่งนี้เดิมทีมอบเป็นบำเหน็จชั่วคราวให้แก่ผู้ตรวจการทหาร (military inspector) โดยเฉพาะแถบชายแดนทางเหนือ เนื่องจากเป็นตำแหน่งชั่วคราว จึงไม่มีขั้นตามระบบเก้าขั้นของราชการ จนกระทั่งใน ค.ศ. 1469 ตรงกับรัชสมัยจักรพรรดิเฉิงฮว่า (成化) มีการกำหนดให้เหลียงกวั่งจ่งตูเป็นตำแหน่งราชการตามปรกติ จึงเป็นจ่งตูแรกที่กลายเป็นตำแหน่งตามระบบ และภายหลังจึงให้จ่งตูมีอำนาจทางพลเรือนด้วย มาในราชวงศ์ชิง ตำแหน่งจ่งตูก็เป็นผู้บัญชาการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนในมณฑลแล้ว และขยายจำนวนออกไปในส่วนอื่น ๆ นอกจากภาคเหนือในช่วงราชวงศ์หมิง
จ่งตูที่ปกครองมณฑลในราชวงศ์ชิงมีเก้าตำแหน่ง ดังนี้
- จื๋อลี่จ่งตู (直隸總督; "ผู้สำเร็จราชการจื๋อลี่") ปกครองจื๋อลี่
- ฉ่านกานจ่งตู (陝甘總督; "ผู้สำเร็จราชการฉ่านกาน") ปกครองกานซูและฉ่านซี
- ซื่อชวนจ่งตู (四川總督; "ผู้สำเร็จราชการซื่อชวน") ปกครองซื่อชวน (เสฉวน)
- ตงซันเฉิ่งจ่งตู (東三省總督; "ผู้สำเร็จราชการสามมณฑลบูรพา") ปกครองจี๋หลิน, เฟิ่งเทียน, และเฮย์หลงเจียง
- ยฺหวินกุ้ยจ่งตู (雲貴總督; "ผู้สำเร็จราชการยฺหวินกุ้ย") ปกครองกุ้ยโจวและยฺหวินหนาน (ยูนนาน)
- หู-กวั่งจ่งตู (湖廣總督; "ผู้สำเร็จราชการหู-กวั่ง") ปกครองหู-กวั่ง
- หมิ่นเจ้อจ่งตู (閩浙總督; "ผู้สำเร็จราชการหมิ่นเจ้อ") ปกครอง เจ้อ คือ เจ้อเจียง และหมิ่น คือ ไถวาน (ไต้หวัน) กับฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน)
- เหลียงกวั่งจ่งตู (兩廣總督; "ผู้สำเร็จราชการสองกวั่ง") ปกครองกวั่งทั้งสอง คือ กวั่งซีและกวั่งตง
- เหลี่ยงเจียงจ่งตู (兩江總督; "ผู้สำเร็จราชการสองเจียง") ปกครองเจียงทั้งสอง คือ เจียงซีและเจียงซู รวมถึงอานฮุย
นอกจากจ่งตูมณฑลทั้งเก้าตำแหน่งแล้ว ยังมีจ่งตูพิเศษอีกหลายตำแหน่ง เช่น เจียงหนานเหอเต้าจ่งตู (江南河道總督; "ผู้สำเร็จราชการลำน้ำเจียงหนาน") ควบคุมโครงการเกี่ยวกับลำน้ำในภูมิภาคเจียงหนาน
อ้างอิง
[แก้]- Mayers, William Frederick. The Chinese Government: A Manual of Chinese Titles, Categorically Arranged and Explained, with an Appendix. 3rd edition revised by G.M.H. Playfair ed. Shanghai: Kelly & Walsh, 1897; reprint, Taibei: Ch'eng-Wen Pub. Co., 1966.