จันทร์ ขนนกยูง
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
จันทร์ ขนนกยูง | |
---|---|
เกิด | จันทร์ ขนนกยูง 19 มกราคม พ.ศ. 2452 อำเภอนครชัยศรี, จังหวัดนครปฐม, ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 10 กันยายน พ.ศ. 2543 (91 ปี) รพ.เกษมราษฎร์ประชาชื่น, กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย |
สาเหตุเสียชีวิต | โรคชรา |
อาชีพ | นักปฏิบัติธรรม, แม่ชี |
ปีปฏิบัติงาน | พ.ศ. 2481–2543 |
มีชื่อเสียงจาก | ผู้ก่อตั้งวัดพระธรรมกาย |
บิดามารดา |
|
แม่ชี จันทร์ ขนนกยูง หรือ คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง (19 มกราคม พ.ศ. 2452–10 กันยายน พ.ศ. 2543) เป็นแม่ชีผู้ก่อตั้งวัดพระธรรมกาย
จันทร์เป็นบุตรชาวนา เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ทำงานเป็นคนรับใช้และฝึกวิชชาธรรมกายกับพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จนกระทั่งมีการอ้างว่า สามารถลงไปขอขมาบิดาซึ่งกำลังตกนรกอยู่ได้ พระมงคลเทพมุนียกย่องจันทร์ว่า "ลูกจันทร์นี้เป็นหนึ่งไม่มีสอง"[1] ต่อมา อุบาสิกาจันทร์ได้ถ่ายทอดวิชาธรรมกายให้แก่พระไชยบูลย์ ธมฺมชโย แล้วชวนกันก่อตั้งวัดพระธรรมกาย อุบาสิกาจันทร์ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จหลายประการของวัดพระธรรมกายด้วย
ประวัติ
จันทร์เกิดเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2452 ซึ่งตรงกับ วันพฤหัสบดี ขึ้น 10 ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา ที่อำเภอนครไชยศรี จังหวัดนครปฐม นางเป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนพี่น้องชายหญิงทั้งหมด 9 คน มีบิดาชื่อ พลอย มีมารดาชื่อ พัน ซึ่งประกอบอาชีพทำนา ฐานะของครอบครัวจัดอยู่ในระดับปานกลาง[2] มารดาของจันทร์มีฐานะดีกว่าบิดา ในสมัยเด็กมีความใกล้ชิดกับมารดามากกว่าบิดา มารดาเป็นคนใจดี ชอบทำขนมให้ลูก ๆ รับประทาน ส่วนบิดาเป็นคนติดสุรา จึงมักทะเลาะกับมารดาเสมอ
ด้วยเหตุที่บิดาติดสุรา เมื่อมึนเมามักบ่นพึมพำ มารดารู้สึกรำคาญ จึงตะโกนออกไปว่า "ไอ้นกกระจอก อาศัยรังเขาอยู่" เมื่อบิดาของจันทร์ได้ยินก็โกรธจัด จึงถามลูก ๆ ว่าได้ยินที่แม่ด่าว่าพ่อไหม จันทร์ไม่อยากให้บิดาและมารดาทะเลาะกันจึงกล่าวว่า มารดากล่าวเช่นนั้นคงไม่ได้หมายถึงบิดา ทำให้บิดาโกรธมากจึงแช่งว่าขอให้จันทร์หูหนวก 500 ชาติ ทำให้จันทร์กลัวมาก เพราะเชื่อว่าคำพูดของบิดามารดานั้นมีความศักดิ์สิทธิ์มาก หากแช่งลูกอย่างไรย่อมจะเป็นเช่นนั้น เมื่อจันทร์อายุได้ 13 ปี บิดาได้เสียชีวิตในวันที่จันทร์กำลังอยู่ในท้องนา ทำให้ไม่ได้มาขอขมาบิดาก่อนเสียชีวิต ซึ่งความรู้สึกกลัวนั้นยังคงติดอยู่ในใจของจันทร์ตลอดมา จนกระทั่งเวลาผ่านไปทำให้ได้ยินกิตติศัพท์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำหรือที่รู้จักกันในอีกนามหนึ่งคือ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ว่า สามารถสอนสมาธิเพื่อไปเยี่ยมญาติที่เสียชีวิตแล้วได้ ไปนรก สวรรค์ และนิพพานได้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้จันทร์ปรารถนาที่จะศึกษาวิธีการนั่งสมาธิเพื่อไปขอขมาบิดาในปรโลกเพื่อให้ตนไม่ต้องหูหนวกในชาติต่อ ๆ ไป.
เส้นทางธรรม
ปี พ.ศ. 2478 เมื่อจันทร์อายุได้ 26 ปี จึงตัดสินใจลามารดาและพี่น้อง เพื่อหาทางไปวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยอ้างว่าจะไปหางานทำ ทุกคนจึงเข้าใจว่านางอยากได้เงินทอง จึงออกปากมอบทรัพย์สมบัติให้ แต่นางไม่รับ แต่กลับมอบทรัพย์สินส่วนของตน อันได้แก่ เงิน และ ที่ดินส่วนที่เป็นมรดกให้พี่น้อง แล้วลามารดาโดยนำเงินติดตัวไป 2 บาท
ในสมัยนั้นการเข้าไปอยู่ในวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นเรื่องไม่ง่ายนักเพราะที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีพระและแม่ชีอยู่จำนวนมาก จันทร์จึงวางแผนไปทำงานรับใช้เลี๊ยบ สิกาญจนานันท์ เศรษฐินีย่านสะพานหัน ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากคนสำคัญของวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และมักไปทำบุญที่วัดเป็นประจำ จันทร์ยอมทำงานรับใช้ทุกอย่างเพื่อให้เจ้านายไว้วางใจ (รับใช้เยี่ยงทาส) จนกระทั่งได้พบกับอาจารย์ผู้สอนธรรมปฏิบัติให้แก่เลี๊ยบ ซึ่งมีชื่อว่าทองสุก สำแดงปั้น ซึ่งในขณะนั้นเป็นแม่ค้าขายมะพร้าวกะทิและเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ทองสุกได้สอนธรรมปฏิบัติให้แก่จันทร์ จนกระทั่งจันทร์ได้เข้าถึงพระธรรมกาย และมีการอ้างว่า ทองสุกพาจันทร์ไปพบบิดาที่ยมโลกของมหานรกขุมที่ 5 (มหาโรรุวมหานรก) เพราะกรรมดื่มสุราเป็นอาจิณ จันทร์ยังอ้างด้วยว่า เมื่อขอขมาบิดาแล้ว จึงช่วยให้บิดาอาราธนาศีล 5 และนำบิดาให้พ้นจากยมโลก[3]
ออกบวช
ปี พ.ศ. 2481 เมื่อจันทร์อ้างว่าได้พบบิดาในนรกแล้ว จึงลาคุณนายเลี๊ยบไปบวชที่วัดปากน้ำ 1 เดือน โดยไปกับทองสุกซึ่งในขณะนั้นมีความสนิทสนมกันเป็นอย่างยิ่ง เมื่อจันทร์ได้พบกับหลวงพ่อวัดปากน้ำ ก็ได้เข้าศึกษาวิชาธรรมกายในโรงงานทำวิชชาตั้งแต่วันแรกที่พบกัน ซึ่งการจะผ่านเข้าไปปฏิบัติธรรมขั้นสูงในโรงงานทำวิชชานั้น เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักต้องผ่านการทดสอบหลายอย่างก่อนที่จะได้เข้าไป[4] เมื่อได้เรียนรู้ธรรมปฏิบัติตามแนววิชชาธรรมกายมากขึ้น ทำให้จันทร์เกิดความซาบซึ้งในธรรมปฏิบัติอย่างยิ่ง จึงได้ชวนทองสุกโกนผมออกบวชเป็นอุบาสิกาในคืนก่อนวันครบกำหนด 1 เดือนที่ได้ลาคุณนายเลี๊ยบมาปฏิบัติธรรมนั่นเอง[4]
การก่อสร้างศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรมและวัดพระธรรมกาย
มีการอ้างว่า ก่อนที่หลวงพ่อสดจะถึงแก่มรณภาพ ได้มีคำสั่งให้จันทร์อยู่รอชายคนหนึ่งที่มาเกิดแล้วที่จังหวัดสิงห์บุรี เพื่อจะได้ถ่ายทอดวิชาธรรมกายให้แก่ชายคนนั้น เพื่อขยายพระพุทธศาสนาวิชาธรรมกายไปให้ทั่วโลก[5] ชายคนนั้นคือไชยบูลย์ สุทธิผล หรือต่อมาคือพระไชยบูลย์ ธมฺมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
จันทร์ได้พบและสั่งสอนธรรมปฏิบัติให้แก่ไชยบูลย์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ บริเวณวัดปากน้ำภาษีเจริญ ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 บ้านธรรมประสิทธิ์มีนิสิต นักศึกษา และสาธุชน มาปฏิบัติธรรมกับจันทร์ จนทำให้พื้นที่ดังกล่าวไม่อาจรองรับการปฏิบัติธรรมได้อีก ไชยบูลย์มีดำริร่วมกันกับจันทร์ที่จะสร้างวัดขึ้น เพื่อรองรับการเผยแผ่ธรรมปฏิบัติตามแนววิชชาธรรมกาย จึงคิดหาพื้นที่สร้างวัด จนกระทั่งพบที่ดินที่เหมาะสม จึงได้ติดต่อขอซื้อที่ดินจาก คุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี แต่เนื่องจากวันที่ไปเจรจาขอซื้อที่ดินนั้น ตรงกับวันเกิดของคุณหญิง คุณหญิงจึงยกที่ดินผืนดังกล่าวให้โดยไม่คิดมูลค่า มีจำนวนพื้นที่รวม 196 ไร่ 9 ตารางวา อยู่ ณ ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี[6]
ในปี พ.ศ. 2512 เมื่อไชยบูลย์จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามคำแนะนำของจันทร์ว่า ให้ศึกษาปริญญาทางโลกให้จบเสียก่อน จึงค่อยอุปสมบทเป็นภิกษุ ไชยบูลย์จึงอุปสมบทเป็นภิกษุที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ในวันที่ 27 สิงหาคม ซึ่งต่อมาวัดพระธรรมกายได้กำหนดให้วันดังกล่าวคือ "วันธรรมชัย"
การก่อสร้างศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรมได้สร้างอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งการก่อสร้างศาลาสำหรับปฏิบัติธรรมและกุฏิเสร็จสิ้นลงในปี พ.ศ. 2518 พระไชยบูลย์และจันทร์จึงย้ายจากบ้านธรรมประสิทธิ์มาอยู่ที่ศูนย์พุทธจักปฏิบัติธรรม จันทร์ได้ตั้งกฎระเบียบภายในวัดด้วยตนเองทั้งหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งความมีระเบียบและความสะอาด ซึ่งได้นำประสบการณ์เมื่อครั้งที่อยู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มาใช้ และเนื่องจากวัดเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ การเทศน์สอนให้ลึกซึ้งยังทำได้ไม่สะดวกนัก จันทร์จึงได้สั่งสอนญาติโยมด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สำคัญต่อการปฏิบัติธรรม ซึ่งก็คือ ความมีระเบียบ สะอาด เช่น การวางรองเท้า ไม้กวาด ผ้าขี้ริ้ว ถังขยะ โดยสอนว่าสิ่งเหล่านี้ทำไปเพื่อให้ใจของผู้ที่มาปฏิบัติธรรมนั้น ใส สะอาด สว่าง สงบ
ประมาณปี พ.ศ. 2528 เมื่อมีผู้เข้ามาปฏิบัติธรรมมากจนพื้นที่วัด 196 ไร่ ไม่อาจรองรับได้ มูลนิธิธรรมกายจึงได้ซื้อที่ดินเนื้อที่ 2,000 ไร่เศษ จากกองมรดกของ ม.ร.ว. สุวพันธุ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เพื่อจัดสร้างเป็นศูนย์กลางแห่งการปฏิบัติธรรม
ประธานงานบุญกฐินสามัคคี
ปี พ.ศ. 2531 จันทร์ได้ขอพระไชยบูลย์เป็นประธานกฐินครั้งแรกในชีวิด ซึ่งในครั้งนั้นได้ทำการทอดกฐินสามัคคี ณ สภาธรรมกายสากลหลังคาจาก วัดพระธรรมกาย ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 และได้มีการทอดกฐิน ที่วัดพระธรรมกายเรียกว่า กฐินคุณยาย โดยการนำชื่อจันทร์มาเป็นประธานกฐิน ต่อมา ได้มีการทอดกฐินเนื่องในการระลึกถึงนางอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2553 และมีการสร้างอาคารเพื่อระลึกนึกถึงนางในโอกาสครบรอบ 100 ปีของอายุนาง ชื่อว่า อาคาร 100 ปี คุณยายอาจารย์จันทร์ ขนนกยูง
ชีวิตบั้นปลาย
ปีพ.ศ. 2537-2541 สุขภาพของจันทร์อ่อนแอลงมาก ไม่สามารถออกมาต้อนรับและสอนศิษยานุศิษย์ได้ เช้ามืดของวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2543 จันทร์เสียชีวิตด้วยโรคชรา ณ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ประชาชื่น กรุงเทพฯ
หลังจากการเสียชีวิตของจันทร์ พระไชยบูลย์มีดำริให้สวดอภิธรรมติดต่อกันเป็นเวลา 500 วัน ณ บ้านแก้วเรือนทอง ซึ่งต่อมาคือพื้นที่ของ โรงเรียนอนุบาลผันในฝันวิทยา ที่อยู่ด้านเหนือของสภาธรรมกายสากล
พระไชยบูลย์ได้เลือกวันฌาปนกิจศพของจันทร์ คือวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2545 เป็นวันที่เดียวกับที่หลวงพ่อสดและทองสุกได้มรณภาพ ซึ่งในเวลาต่อมาทางวัดพระธรรมกายได้กำหนดให้วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี คือ วันมหาปูชนียาจารย์
ในงานฌาปนกิจศพจันทร์ พระไชยบูลย์จัดพิธีอย่างยิ่งใหญ่ โดยถวายหนังสือฎีกาที่พระไชยบูลย์ขณะมีสมณศักดิ์เป็นพระเทพญาณมหามุนีลงชื่อเองเพื่อนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ทั่วเมืองไทยจาก 30,000 วัดทั่วประเทศไทยมางานร่วมกับศิษยานุศิษย์กว่า 200,000 คน
ภายหลังการฌาปนกิจศพ มีการอ้างว่ากระดูกของจันทร์เปลี่ยนเป็นรัตนชาติ[7] คือเป็นทอง ทับทิม และ แก้ว จึงบรรจุไว้ภายในมหารัตนธาตุเจดีย์ ประดิษฐาน ณ บ้านแก้วเรือนทองคุณยายฯ หรือโรงเรียนอนุบาลฝ้นในฝันวิทยา ซึ่งปัจจุบันได้ถูกรื้อถอนไปในเดือนพฤษภาคม 2553 ส่วนอัฐิของจันทร์นั้นย้ายไปไว้ที่วิหารคุณยายฯ (ทรงปิรามิด) ในวันวิสาขบูชาที่ 4 มิถุนายน 2555 แต่บ้านแก้วเรือนทองคุณยายฯ ห้องกระจกที่เคยเป็นที่บรรจุรัตนอัฐิธาตุฯ นั้น ยังคงไว้เหมือนเดิม
อนุสรณ์
สำหรับอนุสรณ์ที่พระไชยบูลย์ได้มีดำริให้ก่อสร้างขึ้นโดยอาศัยปัจจัยจากศิษยานุศิษย์ ได้แก่
- หอฉัน: หอฉันที่วัดพระธรรมกาย ได้ตั้งชื่อตามผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกายว่า "หอฉันคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง" หรือ เรียกโดยย่อว่า "หอฉันคุณยาย" สามารถรองรับพระภิกษุได้มากถึง 6,000 รูป โดยในแต่ละวัน จะมีสาธุชนมาร่วมกันถวายภัตตาหารและน้ำปานะแด่พระภิกษุสามเณร จำนวนกว่า 1,200 รูป ซึ่งประจำอยู่ ณ วัดพระธรรมกาย หอฉันมีพื้นที่กว้างขวางนี้ มักใช้เป็นสถานที่ต้อนรับพระภิกษุสามเณรอาคันตุกะ และยังเป็นที่รวมตัวกันของพระภิกษุสงฆ์เพื่อการสวดมนต์ การประชุม พร้อมทั้งเป็นสถานที่สำหรับสาธุชนในการถวายภัตตาหาร และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ที่เหมาะสมต่อนักบวช เช่น ผ้าไตรจีวร คิลานเภสัช เครื่องอุปโภค ผ้าห่ม ดอกไม้ ดอกบัว พวงมาลัย และอื่น ๆ
- มหาวิหารคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง: สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ผู้สถาปนาวัดพระธรรมกาย โดยเหล่าศิษยานุศิษย์ของจันทร์ ทั้งพระภิกษุและสาธุชน ร่วมกันประกอบพิธีตอกเสาเข็มต้นแรก สถาปนามหาวิหารฯ เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2545 มหาวิหารฯ เสร็จสมบูรณ์ในเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2546 ทั้งพระภิกษุและสาธุชน ร่วมกันประกอบพิธีอัญเชิญรูปเหมือนทองคำของจันทร์ไปประดิษฐาน ณ ศูนย์กลางของมหาวิหารฯ ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2548 มหาวิหารฯ เป็นสถาปัตยกรรมทรงพีระมิดหกเหลี่ยมสีทอง มหาวิหารฯ ตั้งอยู่ท่ามกลางสระน้ำและแมกไม้อันร่มรื่นภายในวัดพระธรรมกาย มหาวิหารฯ มีพื้นที่ใช้ประโยชน์ 2 ชั้น โดยที่ชั้นที่ 1 ได้จัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับผลงานที่จันทร์ได้สร้างและอุทิศไว้ในพระพุทธศาสนา และจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของจันทร์ เพื่อบ่งบอกถึงความเรียบง่าย สมถะในการใช้ชีวิตของผู้ที่รักการปฏิบัติธรรม การเป็นผู้สอนธรรมะ และผู้สถาปนาวัดพระธรรมกาย ส่วนชั้นที่ 2 สร้างไว้สำหรับเป็นห้องปฏิบัติธรรม โดยมีรูปหล่อทองคำแท้ของอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ตั้งอยู่ ณ กลางห้องปฏิบัติธรรม[8]
- อาคารร้อยปีคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง: ในปี พ.ศ. 2552 พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (พระไชยบูลย์) ได้ดำริให้สร้างอาคารเพื่อเป็นอนุสรณ์และบูชาธรรมแก่จันทร์ อีกหลังหนึ่งทดแทนพื้นที่ที่เคยเป็นสภาธรรมกายสากลหลังคาจากที่ได้เคยใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมตั้งแต่ครั้งสร้างวัดพระธรรมกายได้ไม่นานนัก ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นอาคารสำนักงานใหญ่ของวัด เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นห้องปฏิบัติธรรมของพุทธบริษัทสี่ขนาดใหญ่ เป็นห้องประชุมทางด้านวิชาการทางพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติ โดยมีเจตจำนงให้เป็นฐานที่ตั้งด้านวิชาการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลกและวิธีปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายภายใน โดยให้ชื่ออาคารหลังนี้ว่า "อาคารร้อยปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง" โดยมีการระดมทุนร่วมปัจจัยสร้างโดยการทอดกฐินสามัคคี ซึ่งให้ชื่อว่า "กฐินบรมจักรพรรดิ์" ในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
เสียงวิพากษ์
มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับจันทร์ ขนนกยูง ที่สังคมเห็นว่าเป็นเรื่องหลอกลวง เช่น เรื่องเล่าจากวัดพระธรรมกายว่า จันทร์ ขนนกยูงเหาะขึ้นอากาศไปปัดระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่สอง ให้พ้นจากประเทศไทยไปตกที่เมืองฮิโระชิมะและนะงะซะกิ ประเทศญี่ปุ่นแทน และทำให้ผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก [9] ได้มีการอภิปรายเรื่องเล่านี้ในบริการเครือข่ายสังคมและกระทู้อินเทอร์เน็ต เช่นเว็บพันทิป.คอม โดยมีการคำนวณแรงที่ต้องใช้ในการปัดระเบิดอย่างคร่าว ๆ และแสดงให้เห็นว่าการปัดระเบิดเป็นไปไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์[ต้องการอ้างอิง]
อ้างอิง
- ↑ ลูกจันทร์นี้ หนึ่งไม่มีสอง, ลูกจันทร์นี้ หนึ่งไม่มีสอง
- ↑ FLASH ประวัติคุณยายอาจารย์ฯ
- ↑ เข้าสู้เส้นทางธรรม[ลิงก์เสีย], เข้าสู่เส้นทางธรรม
- ↑ 4.0 4.1 ออกบวช[ลิงก์เสีย], ออกบวชที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
- ↑ สร้างวัดพระธรรมกาย[ลิงก์เสีย], การก่อสร้างศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรมและวัดพระธรรมกาย
- ↑ พระจันทร์วันเพ็ญ 1. กรุงเทพมหานคร : วัชระออฟเซ็ท, 2544.
- ↑ สุนิดา นาคเสน. อยู่กับยาย. กรุงเทพมหานคร : ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์, 2545.
- ↑ มหาวิหารคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง
- ↑ ประภาศรี บุญสุข, คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูงผู้ให้กำเนิดวัดธรรมกาย พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับปรับปรุง) หน้า 55-56 ISBN 9748962083 หรือหนังสือออนไลน์
- อารีพันธุ์ ตรีอนุสรณ์. คืนที่พระจันทร์หายไป. กรุงเทพมหานคร : ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์, 2544.