คณะพระมหาไถ่
ชื่อย่อ | C.Ss.R. |
---|---|
คําขวัญ | Copiosa apud eum redemptio |
ก่อตั้ง | 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1732 |
ประเภท | คณะนักบวชคาทอลิก |
สํานักงานใหญ่ | กรุงโรม ประเทศอิตาลี |
บาทหลวงโรเจอริโอ โกเมส | |
เว็บไซต์ | คณะพระมหาไถ่แห่งประเทศไทย |
คณะพระมหาไถ่[1] (อังกฤษ: Congregation of the Most Holy Redeemer; Redemtorists) เป็นคณะนักบวชธรรมทูตโรมันคาทอลิกที่นักบุญอัลฟอนโซ มาเรีย เด ลีกูโอรีได้ก่อตั้งขึ้น ณ เมืองสกาลา แคว้นคัมปาเนีย ประเทศอิตาลี ในตอนแรกมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำงานช่วยเหลือชาวชนบทที่ถูกทอดทิ้งรอบ ๆ เมืองเนเปิลส์
นักบวช (religious) ของคณะนี้มีทั้งบาทหลวงและภราดา ปฏิบัติงานอยู่ใน 77 ประเทศทั่วโลก
ประวัติ
[แก้]บาทหลวงอัลฟอนโซ มาเรีย เด ลีกูโอรี เห็นว่ามีคนยากจนจำนวนมากต้องทนทุกข์ลำบากและต้องการความช่วยเหลือทางจิตวิญญาณ อัลฟอนโซจึงหันไปเน้นงานมิชชันนารีเพื่อเทศน์สอนประชาชนให้มั่นคงในความเชื่อ ท่านได้ประพันธ์หนังสือไว้ถึง 11 เล่ม ที่มีชื่อเสียง เช่น "เครื่องมือสำคัญแห่งความรอด" "พระทรมานของพระคริสต์" ซึ่งพระสันตะปาปาหลายพระองค์ชื่นชมผลงานของท่านอย่างมาก[2]
ต่อมาท่านได้รวบรวมบาทหลวงและฆราวาส ตั้งชื่อกลุ่มว่า "คณะพระมหาไถ่" สมาชิกมีเจตนารมณ์ในการประกาศข่าวดีแก่คนยากจน เพื่อให้จิตวิญญาณของบุคคลเหล่านี้ได้ถึงความรอด คณะนักบวชนี้ได้รับการรับรองจากสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 14 ในปี ค.ศ. 1794
สมาชิกของคณะก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้คณะแพร่หลายมากขึ้น เช่น บาทหลวงเคลเมนส์ มาเรีย ฮอฟเบาเออร์ (ต่อมาได้รับการประกาศเป็นนักบุญ) ได้ขยายงานของคณะไปยังจักรวรรดิออสเตรีย แม้ในช่วงแรกจะมีอุปสรรคจากปัญหาการเมืองแต่ท่านก็นำคณะผ่านวิกฤตนั้นมาได้ สมาชิกในรุ่นต่อ ๆ มายังทำให้คณะขยายตัวไปทั่วทวีปยุโรป ข้ามไปยังทวีปอเมริกาเหนือ จนปัจจุบันสมาชิกคณะพระมหาไถ่ได้ทำงานอยู่ถึง 77 ประเทศทั่วโลก
ในประเทศไทย
[แก้]มุขนายกอ็องฌ์-มารี-โฌแซ็ฟ แกว็ง ผู้แทนพระสันตะปาปาประมุขมิสซังลาวขณะนั้น ได้ขอให้สันตะสำนักส่งมิชชันนารีมาประกาศข่าวดีในเขตมิสซังสยามและเขตมิสซังลาว สันตะสำนักจึงสอบถามยังคณะพระมหาไถ่ จนตัดสินใจให้คณะพระมหาไถ่แขวงเซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา มาปฏิบัติหน้าที่ แต่ด้วยปัญหาสงครามโลกครั้งที่สองทำให้การเดินทางต้องล่าช้าออกไป
เมื่อปัญหาต่าง ๆ คลี่คลายมิชชันนารี 4 ท่านก็ออกเดินทางมากับเรือจากรัฐแคลิฟอร์เนียและถึงท่าเรือเกาะสีชังในวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1948 เข้าพำนักที่เขตมิสซังกรุงเทพฯ ระยะหนึ่งแล้วจึงเดินทางต่อไปยังมิสซังลาวซึ่งขณะนั้นมีมุขนายกโกลด-ฟีลิป บาเยเป็นประมุข การเผยแผ่ศาสนาได้ก้าวหน้ามาจนปัจจุบัน และขยับขยายไปยังเขตมิสซังอื่น ๆ ด้วย งานที่สำคัญคือเมื่อพระสันตะปาปาให้ตั้งมิสซังอุดรธานีแยกออกจากมิสซังท่าแร่ ได้ทรงให้มิสซังอุดรธานีอยู่ในความดูแลของคณะพระมหาไถ่ โดยบาทหลวงแคลเรนซ์ เจมส์ ดูฮาร์ต อธิการคณะพระมหาไถ่ในขณะนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นมุขนายกและผู้แทนพระสันตะปาปาประมุของค์แรกของมิสซังอุดรธานี[2]
ปัจจุบันนี้มีบ้านนักบวชคณะพระมหาไถ่แล้ว 8 แห่งทั่วประเทศไทย[3] มีบาทหลวงชาวไทยที่เป็นนักบวชคณะพระมหาไถ่ได้รับแต่งตั้งเป็นมุขนายกมิสซังมาแล้ว 2 ท่าน[4] คือมุขนายกยอร์ช ยอด พิมพิสาร อดีตมุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิกอุดรธานี และมุขนายกฟิลิป บรรจง ไชยรา มุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิกอุบลราชธานี สำหรับการปกครองภายในคณะมี บาทหลวงเปโตร จิตตพล ปลั่งกลาง[5] เป็นอธิการเจ้าคณะแขวงคณะพระมหาไถ่แห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 457
- ↑ 2.0 2.1 คณะพระมหาไถ่[ลิงก์เสีย]. หอจดหมายเหตุ มิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ. เรียกข้อมูลวันที่ 19 ก.ค. พ.ศ. 2555.
- ↑ บ้านของคณะพระมหาไถ่. คณะพระมหาไถ่แห่งประเทศไทย. เรียกข้อมูลวันที่ 19 ก.ค. พ.ศ. 2555.
- ↑ ประวัติศาสตร์คณะพระมหาไถ่ในประเทศไทย. คณะพระมหาไถ่แห่งประเทศไทย. เรียกข้อมูลวันที่ 19 ก.ค. พ.ศ. 2555.
- ↑ "คณะพระมหาไถ่ - อธิการเจ้าคณะ". www.cssr.or.th.