ข้ามไปเนื้อหา

มุขมณฑล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เขตมิสซัง)

มุขมณฑล[1] (อังกฤษ: diocese) คริสต์ศาสนิกชนโรมันคาทอลิกเรียกว่า สังฆมณฑล ในประเทศไทยกรมการศาสนาเรียกว่า เขตมิสซัง[2] เป็นเขตการปกครองของคริสตจักรซึ่งมีมุขนายกเป็นประมุข แต่ละมุขมณฑลจะแบ่งออกเป็นเขตแพริช

ในกรณีที่เป็นมุขมณฑลขนาดใหญ่และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากกว่ามุขมณฑลอื่นที่อยู่รอบ ๆ มุขมณฑลนั้นจะถูกยกสถานะขึ้นเป็นอัครมุขมณฑล[1] โดยมีอัครมุขนายกเป็นประมุข อัครมุขนายกมีสถานะเป็นมุขนายกมหานคร มีอำนาจสูงกว่ามุขนายกปริมุขมณฑลซึ่งเป็นมุขนายกประจำมุขมณฑลอื่น ๆ ในภาคคริสตจักรเดียวกัน

โครงสร้างการปกครองคริสตจักรแบบนี้เรียกว่า การจัดระเบียบองค์การแบบอิปิสโคปัล

มุขมณฑลยังอาจหมายถึง เขตมุขนายก (bishopric) หรือ อิปิสโคปัลซี (Episcopal see) แต่คำว่าอิปิสโคปัลซีมักใช้หมายถึงอาณาเขตที่ปกครองโดยบิชอป ขณะที่ bishopric อาจหมายถึงตำแหน่งบิชอปก็ได้

เขตมิสซังโรมันคาทอลิกในประเทศไทย

[แก้]

ศาสนจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 2 ภาคคริสตจักร[3] ซึ่งประกอบด้วย 11 เขตมิสซัง[2] 2 ภาคคริสตจักรได้แก่

  • ภาคกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย
    • เขตมิสซังกรุงเทพฯ มีอาณาเขตครอบคลุม 11 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา (บางส่วน) นครนายก (เฉพาะอำเภอบ้านนา) นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สุพรรณบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง
    • เขตมิสซังจันทบุรี มีอาณาเขตครอบคลุม 8 จังหวัด คือ จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา (บางส่วน) นครนายก (เว้นอำเภอบ้านนา) ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง และสระแก้ว
    • เขตมิสซังราชบุรี มีอาณาเขตครอบคลุม 4 จังหวัด คือ ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และสมุทรสงคราม
    • เขตมิสซังสุราษฎร์ธานี มีอาณาเขตครอบคลุม 15 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี กระบี่ ชุมพร ตรัง ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช พังงา นราธิวาส ภูเก็ต พัทลุง ระนอง ยะลา สงขลา และสตูล
    • เขตมิสซังเชียงใหม่ มีอาณาเขตครอบคลุม 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน และลำปาง (ยกเว้นอำเภองาว)
    • เขตมิสซังนครสวรรค์ มีอาณาเขตครอบคลุม 13 จังหวัด คือ นครสวรรค์ กำแพงเพชร ชัยนาท ตาก พิจิตร เพชรบูรณ์ ลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี สุโขทัย อุทัยธานี พิษณุโลก และอุตรดิตถ์
    • เขตมิสซังเชียงราย มีอาณาเขตครอบคลุม 5 จังหวัด คือ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และลำปาง (เฉพาะอำเภองาว)

ในบรรดาเขตมิสซังเหล่านี้ เขตมิสซังกรุงเทพฯ มีสถานะเป็นอัครมุขมณฑล มีอำนาจควบคุม 6 เขตมิสซังที่เหลือซึ่งเป็นปริมุขมณฑล

  • ภาคท่าแร่-หนองแสง ประกอบด้วย

ในบรรดาเขตมิสซังเหล่านี้ เขตมิสซังท่าแร่-หนองแสงมีสถานะเป็นอัครมุขมณฑล มีอำนาจควบคุม 3 เขตมิสซังที่เหลือซึ่งเป็นปริมุขมณฑล

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 139
  2. 2.0 2.1 กรมการศาสนา, รายงานการศาสนา ประจำปี ๒๕๔๓, กรมการศาสนา, 2543, หน้า 194-6
  3. "เอกสารกรมการศาสนาหน้า 161" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2011-05-08.