การปาหิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การปาหินในศาสนาคริสต์ เพื่อลงโทษผู้ละเมิดข้อกำหนดวันสะบาโต ภาพจากพระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเดิม ฉบับพิมพ์ ค.ศ. 1545
แผนที่แสดงท้องที่ที่ยังใช้การปาหินเป็นการลงโทษ ไม่ว่าโดยกฎหมายหรือนอกกฎหมาย (ตามข้อมูลใน ค.ศ. 2013)[1]

การปาหิน (อังกฤษ: stoning หรือ lapidation) เป็นวิธีประหารชีวิตโดยให้บุคคลปาก้อนหินใส่นักโทษให้นักโทษบาดเจ็บจนตาย เป็นวิธีที่ใช้มาแต่สมัยโบราณสำหรับลงโทษผู้กระทำความผิดมหันต์ และยังใช้อยู่ในบางท้องที่ แต่ปัจจุบันเป็นที่วิจารณ์กันว่า เป็นวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม

คัมภีร์ของศาสนาคริสต์และศาสนายิว เช่น โทราห์และทัลมัด กำหนดให้การปาหินเป็นวิธีลงโทษสำหรับความผิดบางอย่าง แต่ในช่วงเวลาหลายร้อยปี ศาสนายิวแบบแรบไบได้พัฒนาข้อกำหนดในการพิจารณาคดีขึ้น ซึ่งทำให้กฎหมายปาหินนั้นไม่สามารถนำมาใช้ได้อีกในทางปฏิบัติ ส่วนคัมภีร์ของศาสนาอิสลาม เช่น โกหร่าน ไม่ได้เอ่ยถึงการปาหินไว้ แต่กระบวนการยุติธรรมในประเทศอิสลามแต่โบราณนำการปาหินมาเป็นวิธีลงโทษความผิดบางประการที่เกี่ยวกับการร่วมประเวณี โดยอ้างอิงว่า เป็นไปตามหะดีษ (บันทึกถ้อยคำ การกระทำ หรือการอนุญาตโดยนัยของนบีมุฮัมหมัด) นอกจากนี้ ยังวางข้อกำหนดบางประการที่ทำให้การพิสูจน์ความผิดเกี่ยวกับการร่วมประเวณีนั้นแทบจะทำไม่ได้ทางปฏิบัติ

ในทางประวัติศาสตร์ การปาหิน ปรากฏว่า เป็นวิธีมาตรฐานในการประหารชีวิตนักโทษในอิสราเอลโบราณ และยังมีบันทึกอยู่ในต้นยุคศาสนาคริสต์ แต่ในสมัยหลัง ๆ องค์กรตุลาการของยิวมักเลี่ยงไปใช้โทษอื่นแทนการปาหิน ส่วนในประเทศอิสลาม มีการปาหินเพียงไม่กี่กรณีที่บันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ยุคก่อนปัจจุบัน ส่วนในยุคปัจจุบันนั้น ประเทศมุสลิมส่วนใหญ่แม้จะใช้กฎหมายอาญาที่อ้างอิงรูปแบบมาจากตะวันตก แต่ได้สอดแทรกการปาหินและการลงโทษแบบอื่น ๆ เข้าไปภายใต้อิทธิพลของกลุ่มเคลื่อนไหวทางอิสลาม การลงโทษเหล่านี้กลุ่มอนุรักษนิยมทางศาสนามองว่า มีความสำคัญ เพราะถือว่า มีที่มาจากคัมภีร์ทางศาสนา

ปัจจุบัน การปาหินเป็นวิธีลงโทษตามกฎหมายหรือตามประเพณีในกาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ซูดาน โซมาเลีย ไนจีเรียตอนเหนือ บรูไน ปากีสถานในภูมิภาคที่เป็นชนเผ่า มอริเตเนีย เยเมน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อัฟกานิสถาน อิรัก และอิหร่าน[1][2][3][4] ในท้องที่เหล่านี้ มีบางแห่ง เป็นต้นว่า อัฟกานิสถานและอิรัก ที่การปาหินไม่ใช่การลงโทษตามกฎหมาย แต่เป็นการลงโทษตามประเพณี และมีการใช้งานในทางนอกเหนือกฎหมาย เช่น โดยคำสั่งของทหารหรือหัวหน้าเผ่า[2] และในบางแห่ง เช่น ไนจีเรียและเยเมน ที่การปาหินเป็นการลงโทษตามกฎหมาย แต่ก็ไม่เคยปรากฏการนำมาใช้งานในทางกฎหมาย อนึ่ง ในโลกมุสลิมนั้น ปรากฏว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบกับการลงโทษผู้กระทำชู้ด้วยการปาหินให้ตาย เช่น คิดเป็นร้อยละ 86 ของมุสลิมทั้งหมดในปากีสถาน แต่การลงโทษเช่นนี้เป็นที่ประณามของกลุ่มสิทธิมนุษยชนและสังคมโลก ทั้งยังก่อให้เกิดข้อโต้เถียงในระดับนานาชาติอยู่เสมอ

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Emma Batha (September 29, 2013). "FACTBOX: Stoning - where does it happen?". www.trust.org/. Thomson Reuters Foundation. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-17. สืบค้นเมื่อ 15 November 2015.
  2. 2.0 2.1 Batha, Emma (29 September 2013). "Special report: The punishment was death by stoning. The crime? Having a mobile phone". The Independent. London: independent.co.uk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-06. สืบค้นเมื่อ October 4, 2013.
  3. Ida Lichter, Muslim Women Reformers: Inspiring Voices Against Oppression, ISBN 978-1591027164, p. 189
  4. Tamkin, Emily (March 28, 2019). "Brunei makes gay sex and adultery punishable by death by stoning". Washington Post.