ข้ามไปเนื้อหา

เรอัลโซซิเอดัด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Real Sociedad)
เรอัลโซซิเอดัด
ชื่อเต็มบริษัท เรอัลโซซิเอดัดเดฟุตโบล จำกัด (มหาชน)
ฉายาโลสชูริ-อูร์ดิน (ขาวและน้ำเงิน)
ก่อตั้ง7 กันยายน 1909
สนามสนามกีฬาอาโนเอตา
ความจุ39,500 ที่นั่ง[1]
ประธานโยกิน อาเปร์ริไบ
ผู้จัดการทีมอิมาโนล อัลกัวซิล
ลีกลาลิกา
2023–24ลาลิกา อันดับที่ 6 จาก 20
เว็บไซต์เว็บไซต์สโมสร
สีชุดทีมเยือน
สีชุดที่สาม
ฤดูกาลปัจจุบัน

เรอัลโซซิเอดัดเดฟุตโบล (สเปน: Real Sociedad de Fútbol; แปลว่า ราชสมาคมฟุตบอล) หรือเรียกโดยทั่วไปว่า เรอัลโซซิเอดัด (Real Sociedad) หรือ ลาเรอัล (La Real) เป็นสโมสรฟุตบอลในประเทศสเปน ตั้งอยู่ในเมืองซานเซบัสเตียน แคว้นประเทศบาสก์ ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 7 กันยายน ค.ศ 1909 ปัจจุบันลงเล่นในลาลิกาลีกสูงสุดของฟุตบอลสเปน โดยใช้เรอาเลอาเรนา (สนามกีฬาอาโนเอตา) เป็นสนามเหย้า ความจุ 39,500 ที่นั่ง สโมสรได้รับฉายา "โลสชูริ-อูร์ดิน" หมายถึงสีขาวและสีน้ำเงินซึ่งเป็นสีประจำสโมสร

สโมสรชนะเลิศลาลิกาสองครั้งในฤดูกาล 1980–81 และ 1981–82 และรองชนะเลิศในฤดูกาล 2002–03 และยังชนะเลิศโกปาเดลเรย์สามครั้งในฤดูกาล 1909, 1987 และ 2020 รวมทั้งชนะเลิศซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา ค.ศ. 1982 พวกเขามีคู่แข่งขันร่วมแคว้นกับอัตเลติกเดบิลบาโอ เรอัลโซซิเอดัดเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งลาลิกาใน ค.ศ. 1929 และเคยลงเล่นในลาลิกายาวนานถึง 40 ฤดูกาลตั้งแต่ ค.ศ. 1967 ถึง 2007[2]

ตามธรรมเนียมสโมสรในอดีต ได้มีนโยบายเซ็นสัญญากับนักเตะชาวบาสก์เท่านั้น (คล้ายกับอัตเลติกเดบิลบาโอ) แต่ได้ยกเลิกไปในปี 1989 หลังจากการย้ายเข้ามาของจอห์น ออลดริดจ์ นักเตะทีมชาติไอร์แลนด์ แต่ยังยึดแนวทางการใช้ผู้เล่นแคว้นบาสก์อย่างเหนียวแน่น สโมสรยังคงประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาผู้เล่นจากสถาบันเยาวชน เช่น ชาบี อาลอนโซ และอ็องตวน กรีแยซมานซึ่งประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก[3] ปัจจุบันสโมสรมีการผ่อนปรนแนวปฏิบัติดังกล่าว และมีการใช้งานผู้เล่นต่างชาติหลายรายในทีมชุดใหญ่

สโมสรร่วมแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 4 ครั้ง ลงเล่นในฤดูกาล 1981–82 เป็นครั้งแรก และตกรอบแรกโดยแพ้สโมสรกีฬากลางแห่งกองทัพบก โซเฟีย ก่อนจะเข้ารอบรองชนะเลิศในฤดูกาลถัดมา และแพ้ฮัมบัวร์เกอร์ เอ็สเฟา ต่อมาในฤดูกาล 2003–04 ยังได้ผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายก่อนจะแพ้ออแล็งปิกลียอแน และจบอันดับ 4 ในรอบแบ่งกลุ่มฤดูกาล 2013–14 พวกเขาลงแข่งขันรายการนี้ครั้งล่าสุดในฤดูกาล 2023–24 และจบอันดับ 1 ในรอบแบ่งกลุ่ม และแพ้ปารีแซ็ง-แฌร์แม็งด้วยผลประตูรวมสองนัด 4–1 เรอัลโซซิเอดัดลงแข่งขันในยูฟ่ายูโรปาลีก ฤดูกาลปัจจุบัน

นอกเหนือจากฟุตบอล (รวมถึงทีมฟุตบอลหญิง) สโมสรยังมีตัวแทนในแผนกกีฬาอื่น ๆ ได้แก่ กีฬาลู่และลาน, ฮอกกี้ และเปโลตาบาสก์

ประวัติ

[แก้]

ยุคแรก

[แก้]
ผู้เล่นสโมสร เรอัลโซซิเอดัดเดฟุตโบล ใน ค.ศ. 1912
11 ผู้เล่นสโมสรในลาลิกา ฤดูกาล 1930–31

กีฬาฟุตบอลกลายเป็นที่รู้จักในซานเซบัสเตียนในช่วงต้นทศวรรษ 1900 จากการเผยแพร่โดยกลุ่มนักเรียนและคนงานซึ่งเดินทางกลับมาจากสหราชอาณาจักร พวกเขาร่วมกันก่อตั้งทีมฟุตบอลขึ้นใน ค.ศ. 1904 ในชื่อ San Sebastián Recreation Club ถือเป็นทีมฟุตบอลทีมแรกในเมืองนี้ ก่อนที่ในอีกหนึ่งปีต่อมา สโมสรจะร่วมแข่งขันฟุตบอลถ้วยโกปาเดลเรย์[4] ความขัดแย้งในกลุ่มสมาชิกของสโมสรใน ค.ศ. 1907 ทำให้เกิดความแตกแยกและนำไปสู่การแยกตัวของผู้เล่นหลายคน (รวมถึงตัวหลักอย่าง อัลฟอนโซ เซนา, มิเกล เซนา และ โดมินโก อาร์ริลากา) ซึ่งแยกตัวออกไปตั้งทีมใหม่ใน ค.ศ. 1908 ในชื่อ San Sebastian Football Club (สโมสรฟุตบอลซาน เซบาสเตียน) และลงแข่งขันโกปาเดลเรย์อีกในปี 1909 แต่เนื่องจากปัญหาในการลงทะเบียน สโมสรจึงถูกบังคับให้ลงแข่งในชื่ออื่นแทน โดยได้ใช้ชื่อ Club Ciclista de San Sebastián ในรายการนั้น[5] มีผลงานโดดเด่นด้วยการเอาชนะสโมสรร่วมเมืองอย่างอัตเลติกเดบิลบาโอ 4–2 ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ตามด้วยการชนะ Club Español de Madrid (กลุบ อัสปัญญ็อล เด มาดริด) ในนัดตัดสิน 3–1 นับเป็นแชมป์ถ้วยแรกในประวัติศาสตร์สโมสร[6] ผู้เล่นโดดเด่นในชุดนี้ได้แก่ จอร์จ แมคกินนิส ชาวอังกฤษซึ่งทำ 6 ประตูในการแข่งขัน รวมทั้งทำประตูแรกในนัดตัดสิน

ไม่กี่เดือนหลังจากชนะการแข่งขัน กลุ่มผู้เล่นในทีมชุดนั้นร่วมกันก่อตั้ง Sociedad de Futbol ขึ้นในวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1909 และลงแข่งขันโกปาเดลเรย์อีกครั้งในปีต่อมา แต่ยังพบปัญหาเดิมคือต้องเปลี่ยนไปใช้ชื่ออื่นลงแข่งแทน สโมสรร่วมแข่งขันในชื่อ Sociedad de Futbol เข้าชิงชนะเลิศอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้แพ้อัตเลติกเดบิลบาโอ 1–0[7] ในปีเดียวกันนั้น สโมสรได้รับการอุปถัมภ์โดยพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 แห่งสเปน ซึ่งทรงโปรดปรานซานเซบัสเตียนในฐานะเมืองหลวงฤดูร้อน สโมสรได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น Real Sociedad de Fútbol การแข่งขันครั้งแรกในชื่อ เรอัลโซซิเอดัด เกิดขึ้นในปี 1913 ในนัดชิงชนะเลิศโกปาเดลเรย์ซึ่งบาร์เซโลนาต้องใช้เวลาถึง 3 นัดจึงจะเอาชนะพวกเขาได้ (การแข่งขัน 2 นัดแรกจบด้วยผลเสมอ 2–2 และ 0–0 และในนัดสุดท้ายเรอัลโซซิเอดัดแพ้ 2–1)[8] พวกเขาห่างหายจากการแข่งขันไปอีก 15 ปี และกลับมาเข้าชิงชนะเลิศอีกครั้งในปี 1928 ซึ่งเป็นอีกครั้งที่บาร์เซโลนาเอาชนะพวกเขาในการแข่งขัน 3 นัด ณ เมืองซันตันเดร์[9]

นักฟุตบอลสโมสรทศวรรษ 1950

เรอัลโซซิเอดัดเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งฟุตบอลลาลิกาในปี 1929 พวกเขาจบอันดับ 4 ในฤดูกาลแรกจากผลงานโดดเด่นของปาโก เบียนโซบาส ผู้ทำประตูสูงสุด สโมสรมีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งใน ค.ศ. 1931 เป็น Donostia Club de Futbol พร้อมกับการถือกำเนิดของสาธารณรัฐสเปนที่ 2 แต่ได้เปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อเรอัลโซซิเอดัดใน ค.ศ. 1939 ภายหลังสงครามกลางเมืองสเปน สโมสรมีผลงานไม่แน่นอนในทศวรรษ 1940 โดยสลับระหว่างการตกชั้นและการลงเล่นในลีกสูงสุดถึง 7 ครั้ง ในยุคนั้นเป็นช่วงที่สโมสรมีเอดูอาร์โด ชิลลิดา เป็นผู้รักษาประตูมือหนึ่งและมีผลงานเป็นที่ยอมรับ

ความสำเร็จในทศวรรษ 1980

[แก้]
กลุ่มผู้สนับสนุนสโมสรเรอัลโซซิเอดัด
จอห์น ออลดริดจ์ นักเตะทีมชาติไอร์แลนด์ ย้ายมาจากลิเวอร์พูล ถือเป็นผู้เล่นคนแรกที่ได้มาจากนอกแคว้นบาสก์ ก่อนหน้านั้นสโมสรมีธรรมเนียมปฏิบัติในการใช้ผู้เล่นจากบาสก์เท่านั้น

สโมสรมีอันดับที่ดีที่สุดในลาลิกา โดยคว้าอันดับ 2 ในฤดูกาล 1979–80 มีคะแนน 52 คะแนน แพ้แชมป์อย่างเรอัลมาดริดเพียงคะแนนเดียว และห่างจากอันดับ 3 อย่างเอสปอร์ตินเดฆิฆอน 13 คะแนน สโมสรถึงจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ด้วยตำแหน่งชนะเลิศลีกสูงสุดครั้งแรกในฤดูกาล 1980–81 ด้วยการมี 45 คะแนนเท่ากับเรอัลมาดริด แต่มีผลงานการพบกับที่เหนือกว่า[10] ผู้เล่นโดดเด่นในทีมชุดนั้นคือ เฆซุส มาเรีย ซาทรูสเตกี กองหน้าชาวสเปนซึ่งยิง 16 ประตูในลีก และเป็นการหยุดสถิติการคว้าแชมป์สมัยที่ 4 ติดต่อกันของเรอัลมาดริด ต่อมา สโมสรได้สิทธิ์แข่งขันฟุตบอลยูโรเปียนคัพ ฤดูกาล 1981–82 แต่ตกรอบแรกจากการแพ้สโมสรกีฬากลางแห่งกองทัพบก โซเฟีย ด้วยผลประตูรวมสองนัด 1–0[11] สโมสรป้องกันแชมป์ลาลิกาได้ในฤดูกาล 1981–82 มี 47 คะแนนเหนือกว่ารองแชมป์อย่างบาร์เซโลนา 2 คะแนนเปโดร อูรัลเด ทำ 14 ประตูในลาลิกาฤดูกาลนี้[12] และลงแข่งขันยูโรเปียนคัพ ฤดูกาล 1982–83 แม้พวกเขาจะเอาชนะทีมดังจากสกอตแลนด์อย่างเซลติกในรอบที่ 2 ด้วยผลประตูรวม 3–2 ตามด้วยการชนะสปอร์ติงลิสบอนด้วยผลรวม 2–1 แต่ต้องยุติเส้นทางในรอบรองชนะเลิศโดยแพ้ฮัมบัวร์เกอร์ เอ็สเฟาด้วยผลรวม 3–2 นับเป็นผลงานที่ดีที่สุดของสโมสรในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก

เรอัลโซซิเอดัดชนะการแข่งขันซูเปร์โกปาเดเอสปัญญาในปี 1982 เอาชนะเรอัลมาดริดด้วยผลประตูรวม 2 นัด 4–1 แม้จะแพ้ในนัดแรกด้วยผลประตู 1–0 แต่พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในถ้วยรางวัลใดตลอด 4 ปี ต่อมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1987 สโมสรทำสถิติยิงประตูมากที่สุดในรอบก่อนรองชนะเลิศ (8 ทีมสุดท้าย) ถ้วยโกปาเดลเรย์ ด้วยการเอาชนะเอร์เรเซเด มายอร์กาด้วยผลประตู 10–1 และเอาชนะคู่ปรับสำคัญคืออัตเลติกเดบิลบาโอในรอบรองชนะเลิศด้วยผลประตูรวมสองนัด 1–0 การแข่งขันนัดตัดสินจัดขึ้นที่ซาราโกซาพบกับอัตเลติโกเดมาดริด จบลงด้วยการเสมอกัน 2–2 เรอัลโซซิดัดเอาชนะการยิงจุดโทษ 4–2 คว้าแชมป์รายการนี้เป็นสมัยที่ 2 (สมัยแรกในชื่อเรอัลโซซิเอดัด)[13] พวกเขาทำผลงานในรายการนี้ได้ดีต่อเนื่องในฤดูกาลต่อมา โดยเอาชนะอัตเลติโกมาดริดได้อีกครั้งในรอบก่อนรองชนะเลิศ และเอาชนะเรอัลมาดริดในรอบรองชนะเลิศด้วยผลประตูรวมสองนัด 5–0 แต่ในรอบชิงชนะเลิศพวกเขาแพ้บาร์เซโลนาที่สนามกีฬาซานเตียโก เบร์นาเบว 1–0 วันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1988[14] เรอัลโซซิเอดัดคว้าอันดับ 2 ในลาลิกา ฤดูกาล 1987–88 ตามหลังแชมป์อย่างเรอัลมาดริด 11 คะแนน มีผู้ทำประตูสูงสุดได้แก่ โฆเซ มาเรีย เบเกโร (17 ประตู)

นับเป็นเวลาหลายปีที่สโมสรถือธรรมเนียมปฏิบัติในการใช้ผู้เล่นในแคว้นบาสก์เท่านั้น ซึ่งเป็นธรรมเนียมเดียวกับที่คู่แข่งร่วมแคว้นอย่างอัตเลติกเดบิลบาโอใช้มายาวนาน สโมสรผ่อนปรนนโยบายดังกล่าวเป็นครั้งแรกในปี 1989 ด้วยการเซ็นสัญญากับจอห์น ออลดริดจ์ นักเตะทีมชาติไอร์แลนด์ ย้ายมาจากลิเวอร์พูล และในฤดูกาลแรกเขาทำ 16 ประตูในลาลิกากลายเป็นผู้ทำประตูสูงสุดประจำฤดูกาลของทีม ช่วยให้สโมสรจบอันดับ 5[15] ต่อมาในปี 1990 สโมสรเซ็นสัญญากับเดเลียน แอตกินสันจากเชฟฟีลด์เวนส์เดย์ซึ่งกลายเป็นนักฟุตบอลผิวสีคนแรกของสโมสร เขาทำ 12 ประตูในฤดูกาลนี้ เป็นรองเพียงออลดริดจ์ซึ่งทำ 17 ประตู และเป็นฤดูกาลสุดท้ายของออลดริดจ์กับสโมสรก่อนจะย้ายร่วมทีมแทรนเมียร์โรเวอส์[16] และในเวลาต่อมา แอตกินสันได้ย้ายร่วมทีมแอสตันวิลลา

เรอัลโซซิเอดัดจบอันดับ 3 ในฤดูกาล 1997–98 นับเป็นอันดับที่ดีที่สุดตั้งแต่ได้รองแชมป์ฤดูกาล 1987–88 มีคะแนน 63 คะแนนตามหลังบาร์เซโลนา 11 คะแนน และน้อยกว่าบิลบาโอ 2 คะแนน และเหนือกว่าเรอัลมาดริดด้วยผลต่างประตูได้และเสีย กองหน้าชาวยูโกสลาเวียอย่างดาร์กอ กอวาเซวิชทำ 17 ประตูในฤดูกาลนี้ และเป็นผู้ทำประตูสูงสุดในลีกเป็นอันดับ 4[17] สโมสรยังได้สิทธิ์ลงแข่งขันยูฟ่าคัพรอบคัดเลือก ฤดูกาล 1998–99 ซึ่งสโมสรผ่านคู่แข่งในสองรอบแรกอย่างสปาร์ตา ปราก และดีนาโมมอสโก แต่ก็แพ้อัตเลติโกเดมาดริดในรอบที่ 3

ศตวรรษที่ 21

[แก้]
มิเกล โอยาร์ซาบัล ผู้เล่นคนสำคัญในแนวรุกตั้งแต่ปี 2015

ภายหลังจบอันดับ 13 เป็นเวลา 3 ฤดูกาลติดต่อกัน สโมสรกลับมาคว้ารองแชมป์ในฤดูกาล 2002–03 เป็นอันดับที่ดีที่สุดในรอบ 15 ปี[18] จำนวน 76 คะแนนที่ทำได้น้อยกว่าทีมแชมป์เรอัลมาดริดเพียง 2 คะแนน และมากกว่าทีมอันดับ 3 อย่างเดปอร์ติโบเดลาโกรุญญา 4 คะแนน[19] ผู้จัดการทีมในชุดนั้นคือเคนาล เดอโนเอ ชาวฝรั่งเศส ด้วยผลงานโดดเด่นของสองผู้เล่นกองหน้าอย่างนิฮัต คาห์เวซี ชาวตุรกี และกอวาเซวิช ทั้งสองกลายเป็นผู้ทำประตูสูงสุดอันดับ 3 และ 4 ในลาลิกาจากผลงาน 23 และ 20 ประตูตามลำดับ[20] สโมสรยังนำเข้าผู้เล่นตัวหลักอย่างซานเดอร์ เวสเตอร์เฟลด์ ผู้รักษาประตูชาวดัตช์ รวมทั้งเป็นช่วงแจ้งเกิดของชาบี อาลอนโซซึ่งเป็นผลผลิตจากทีมเยาวชนของสโมสร และได้รับรางวัล Don Balon ปี 2003 ซึ่งมอบให้แก่นักฟุตบอลชาวสเปนที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดในลีก ผู้จัดการทีมอย่างเดอโนเอยังได้รับรางวัลผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมในปีนั้น[21]

อ็องตวน กรีแยซมาน เลี้ยงลูกฟุตบอลผ่านผู้เล่นเลบันเต อูเด ในการแข่งขันลาลิกาปี 2012

ช่วงเวลาสำคัญในฤดูกาลนี้คือการเปิดสนามอาโนเอตา เอาชนะเรอัลมาดริดด้วยผลประตู 4–2 ในเดือนเมษายน ทำให้สโมสรขึ้นเป็นทีมนำของตารางจนถึงนัดที่ 37 ของฤดูกาลซึ่งพวกเขาพลาดท่าแพ้ให้กับเซลตาเดบิโก 3–2 และเรอัลมาดริดเอาชนะอัตเลติโกเดมาดริด 4–0 แซงขึ้นเป็นอันดับ 1 ในนัดสุดท้ายซึ่งเรอัลโซซิเอดัดเอาชนะอัตเลติโกมาดริด 3–0 แต่ก็ไม่เพียงพอเนื่องจากเรอัลมาดริดเอาชนะอัตเลติกเดบิลบาโอ 3–0[22] เรอัลโซซิเอดัดไม่แพ้ทีมใดในบ้านตลอดทั้งฤดูกาล และทำได้ 71 ประตูและแพ้เพียง 6 นัดในลาลิกา ได้สิทธิ์แข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2003–04 และคว้าอันดับ 2 ของกลุ่มจากผลงานชนะ 2, เสมอ 3 และแพ้ 1 นัดตามหลังอันดับ 1 คือยูเวนตุส[23] แต่แพ้ออแล็งปิกลียอแนในรอบ 16 ทีมสุดท้ายด้วยผลรวมสองนัด 2–0[24] แต่นับว่าพวกเขามีผลงานในลาลิกาที่ตกลงไปมาก จบเพียงอันดับ 15 จาก 20 ทีมมี 46 คะแนนมากกว่าทีมตกชั้นอันดับ 18 เพียง 5 คะแนน และมีผลต่างประตูได้และเสียที่ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี[25] และยังย่ำแย่ต่อเนื่องด้วยการจบอันดับ 16 ในฤดูกาล 2005–06 รอดพ้นการตกชั้นเหนือทีมอย่างเดปอร์ติโบอาลาเบสเพียงคะแนนเดียว

สโมสรพบกับช่วงตกต่ำที่สุดในรอบกว่า 40 ปีด้วยการตกชั้นจากลาลิกาในฤดูกาล 2006–07 แม้จะลงเล่นครบ 2,000 นัดในลีกสูงสุดเมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 2006 พวกเขาจบในอันดับ 19 คริส โคลแมน ได้รับการแต่งตั้งให้คุมทีมในปี 2007 และลาออกในปีต่อมา[26] หลังจากระยะเวลา 3 ปีในลีกระดับสอง พวกเขากลับขึ้นสู่ลาลิกาอีกครั้งในฤดูกาล 2010–11 แต่ยังคงสถานะการเป็นทีมกลางตารางและท้ายตารางเป็นส่วนใหญ่ และจบอันดับ 15 อีกครั้ง ภายใต้ผู้ฝึกสอนชาวอุรุกวัย มาร์ติน ลาซาร์เต มีคะแนนมากกว่าพื้นที่ตกชั้นเพียง 2 คะแนน ตามมาด้วยการจบอันดับ 12 ในฤดูกาล 2011–12

สโมสรกลับมายกระดับผลงานได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ กลับมาเป็นทีมหัวตารางอีกครั้งและจบอันดับ 4 ในฤดูกาล 2012–13 ด้วยการคุมทีมของฟีลิป มงตานีเย ผู้จัดการชาวฝรั่งเศส และกัปตันทีมอย่างชาบี เปรียโต กองหน้าคนสำคัญการ์โลส เบลา จากทีมชาติเม็กซิโกทำได้ 14 ประตู และผ่านบอลให้เพื่อนร่วมทีมทำประตูอีก 9 ครั้ง ต่อมาในฤดูกาล 2013–14 สโมสรยังคงอยู่หัวตารางและจบอันดับ 7 เบลาทำไป 16 ประตูโดยมีตัวหลักอีกหนึ่งคนอย่างอ็องตวน กรีแยซมาน ซึ่งทำ 14 ประตู และในการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2013–14 สโมสรจบอันดับสุดท้ายโดยไม่ชนะทีมใด[27] ยาโกบา อาร์ราซาเต ถูกปลดและแทนที่โดยเดวิด มอยส์ ในฐานะผู้จัดการทีมจากสหราชอาณาจักรคนที่ 6 ในประวัติศาสตร์สโมสร[28] แต่ก็ถูกปลดในเดือนพฤศจิกายน ปี 2015 จากผลงานย่ำแย่ด้วยการชนะเพียง 5 จาก 17 นัดแรกของลาลิกา และสโมสรจบอันดับ 12 ต่อมา อูเซเบียว ซาคริสตัน พาทีมจบอันดับ 9 ในฤดูกาล 2015–16 และกลับมาอยู่หัวตารางด้วยการจบอันดับ 6 ฤดูกาล 2016–17 ได้สิทธิ์แข่งขันยูฟ่ายูโรปาลีก ฤดูกาล 2017–18 แต่กลับไปจบอันดับ 12 ในฤดูกาล 2017–18 และอันดับ 9 ในฤดูกาล 2018–19

เรอัลโซซิเอดัดกลับสู่การแข่งขันฟุตบอลยุโรปด้วยการคว้าอันดับ 6 ในฤดูกาล 2019–20 ภายใต้ผู้ฝึกสอนชาวสเปนอิมานอล อัลกูอาซิล ผ่านเข้าสู่ยูฟ่ายูโรปาลีก ฤดูกาล 2020–21 รอบแบ่งกลุ่ม และจบอันดับ 2 เข้ารอบตามหลังนาโปลี แต่แพ้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในรอบแพ้คัดออกด้วยผลประตูรวมสองนัด 4–0 สโมสรมีอันดับที่ดีที่สุดในรอบหลายปีด้วยอันดับ 5 ในฤดูกาล 2020–21 กลับไปแข่งขันยูฟ่ายูโรปาลีก ฤดูกาล 2021–22 และจบอันดับ 2 ในกลุ่มบีตามหลังมอนาโกแต่เข้าไปแพ้แอร์เบ ไลพ์ซิชในรอบแพ้คัดออกด้วยผลประตูรวม 5–3 สโมสรยังคงทำอันดับไปเล่นฟุตบอลยุโรปได้อย่างต่อเนื่องจากการจบอันดับ 6 ในฤดูกาล 2021–22 และคว้าอันดับ 4 ในฤดูกาล 2022–23 ทำไปถึง 71 คะแนนทำให้พวกเขากลับไปแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2023–24 เป็นการเข้าร่วมรายการนี้เป็นครั้งที่ 4 และคว้าอันดับ 1 ได้ด้วยการไม่แพ้ทีมใดตลอด 6 นัด แต่ก็ต้องตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายอีกครั้งจากการแพ้ทีมใหญ่จากฝรั่งเศสอย่างปารีแซ็ง-แฌร์แม็งขาดลอย 4–1

รายชื่อผู้เล่น

[แก้]

ผู้เล่นชุดปัจจุบัน

[แก้]
ณ วันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 2023[29]

หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ

เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
1 GK สเปน อาเลกซ์ เรมิโร
2 DF สเปน อาเลก โซลา
3 MF สเปน มาร์ติน ซูบิเมนดี
4 MF สเปน อาซิเอร์ อิยาร์ราเมนดี (กัปตัน)
5 MF สเปน อิกอร์ ซูเบลเดีย
6 DF สเปน อาริตซ์ เอลุสตอนโด (กัปตันที่สาม)
7 FW สเปน อันเดร์ บาร์เรเนตเชอา
8 MF สเปน มิเกล เมริโน
9 FW สเปน การ์โลส เฟร์นันเดซ
10 FW สเปน มิเกล โอยาร์ซาบัล (รองกัปตัน)
11 FW ฝรั่งเศส โมโม โช
12 DF สเปน ไอเอน มุญญอซ
เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
14 FW ญี่ปุ่น ทาเกฟูซะ คูโบะ
15 DF สเปน ดิเอโก ริโก
16 MF สเปน อันเดร์ เกรบารา
17 MF สเปน โรเบร์ต นาบาร์โร
18 DF สเปน อันโดนี โกโรซาเบล
19 FW สเปน อเล็กซานเดอร์ ซอร์ลอธ
20 DF สเปน ฆอน ปาเชโก
21 MF สเปน ดาบิด ซิลบา
22 MF สเปน เบญญัต ตูร์ริเอนเตส
24 DF ฝรั่งเศส รอแบ็ง เลอ นอร์ม็อง
25 FW ไนจีเรีย อูมาร์ ซาดิก

เกียรติประวัติ

[แก้]

ระดับประเทศ

[แก้]

ลีก

[แก้]

ถ้วย

[แก้]

ระดับภูมิภาค

[แก้]
  • กิปุซโกอาแชมเปียนชิป
    • ชนะเลิศ (6): 1918–19, 1922–23, 1924–25, 1926–27, 1928–29, 1932–33

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Anoeta: bienvenido el fútbol en color" [Anoeta: welcome football in color]. El Diario Vasco (ภาษาสเปน). 8 September 2019. สืบค้นเมื่อ 13 September 2019.
  2. "Real Sociedad". free-elements.com.
  3. Athletic Bilbao v Real Sociedad: How La Real's trust in youth is paying off, Alex Bysouth, BBC Sport, 29 December 2020
  4. Ramajo, Roberto (2009-08-15). "Todo empezó en el Club Ciclista San Sebastián..." Diario AS (ภาษาสเปน).
  5. Ramajo, Roberto (2009-08-15). "Todo empezó en el Club Ciclista San Sebastián..." Diario AS (ภาษาสเปน).
  6. "Spain - Cup 1909". www.rsssf.org.
  7. "Spain - Cups 1910". www.rsssf.org.
  8. "Spain - Cups 1913". www.rsssf.org.
  9. "Spain - Cup 1928". www.rsssf.org.
  10. "Spain, Final Tables 1979-1989". www.rsssf.org.
  11. UEFA.com. "The official website for European football". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  12. "Real Sociedad 1981-1982". free-elements.com.
  13. "Spain - Cup 1987". www.rsssf.org.
  14. "Spain - Cup 1988". www.rsssf.org.
  15. "Spain, Final Tables 1989-1999". www.rsssf.org.
  16. "Real Sociedad 1990-1991". free-elements.com.
  17. "La Liga Top Scorers - 1997-1998". free-elements.com.
  18. "Futbolme - 404". futbolme.com (ภาษาสเปน).
  19. "Spain La Liga Predictions, Head to Head (H2H) Statistics, Match Fixtures, Odds and Results - SoccerPunter.com". www.soccerpunter.com.
  20. "La Liga Top Scorers - 2002-2003". free-elements.com.
  21. "Spain - Footballer of the Year". www.rsssf.org.
  22. "Real Sociedad 2002/03". Holding Midfield (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2011-08-26.
  23. UEFA.com. "The official website for European football". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  24. UEFA.com. "The official website for European football". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  25. "2003/04 Spanish Primera División Spain: La Liga Table - ESPN Soccernet". web.archive.org. 2010-12-02.
  26. "Coleman resigns as Sociedad boss" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2008-01-16. สืบค้นเมื่อ 2024-12-10.
  27. UEFA.com. "The official website for European football". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  28. "David Moyes confirmed as new manager of Real Sociedad". The Telegraph (ภาษาอังกฤษ). 2014-11-10.
  29. "First team numbers and shirt names". Real Sociedad. สืบค้นเมื่อ 14 August 2018.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]