แรยอน็อง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Rayonnant)
มหาวิหารโคโลญ (ค.ศ. 1248-ค.ศ. 1322) ที่ถือกันว่าเป็นงานสถาปัตยกรรมแรยอน็องที่งดงามที่สุดของยุคกลาง
หน้าต่างกุหลาบแบบแรยอน็องของมหาวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส

แรยอน็อง (ฝรั่งเศส: Rayonnant, เสียงอ่านภาษาฝรั่งเศส: [ʁɛjɔnɑ̃]) เป็นคำที่ใช้ในการบรรยายลักษณะสถาปัตยกรรมกอทิกแบบฝรั่งเศสที่รุ่งเรืองระหว่างกลางคริสต์ศตวรรษที่ 13 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14[1][2]

แรยอน็องเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่วิวัฒนาการมาจากสถาปัตยกรรมกอทิกตอนกลาง แรยอน็องเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่หันความสนใจจากสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่และความกว้างใหญ่ของสิ่งก่อสร้างเช่นมหาวิหารชาทร์ หรือทางเดินกลางของมหาวิหารนอเทรอดามแห่งอาเมียงมาเป็นการคำนึงถึงผิวสองมิติของสิ่งก่อสร้าง และการตกแต่งด้วยลวดลายที่ซ้ำซ้อนที่มีขนาดต่าง ๆ กัน หลังจากกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 แรยอน็องก็ค่อยวิวัฒนาการไปเป็นสถาปัตยกรรมกอทิกตอนปลายและสถาปัตยกรรมกอทิกวิจิตร และดังกล่าวแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงจากสมัยหนึ่งไปอีกสมัยหนึ่งมิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดแจ้ง

ที่มาของคำ[แก้]

คำว่า “Rayonnant” มาจากความพยายามของนักประวัติศาสตร์ศิลป์ฝรั่งเศสของคริสต์ศตวรรษที่ 19 (โดยเฉพาะอ็องรี ฟอซีลง และแฟร์ดินานด์ เดอ ลาสเตย์รี) ที่พยายามจัดลักษณะสถาปัตยกรรมกอทิกโดยใช้ลักษณะซี่หน้าต่างเป็นหลัก แม้ว่าในปัจจุบันจะถือกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องในการใช้ในการจัดกลุ่ม แต่คำนี้ก็ยังคงใช้กันอยู่ (แรยอน็องและกอทิกวิจิตรยังเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายโดยนักประวัติศาสตร์ศิลป์ แม้ว่าคำเช่น “Lancet Gothic” จะเปลี่ยนไปเป็น “กอทิกตอนกลาง” แล้วก็ตาม) อ็องรี ฟอซีลงและนักประวัติศาสตร์ศิลป์ผู้อื่นใช้คำว่า “Rayonnant” (จากภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า “เปล่งรัศมี”) โดยเฉพาะเพื่อบรรยายถึงลักษณะที่กระจายออกไปจากศูนย์กลางของหน้าต่างกุหลาบที่เป็นงานที่นิยมทำกันอย่างแพร่หลายในยุคนี้ (แหล่งข้อมูลบางแหล่งกล่าวว่ามาจากคำว่าชาเปลดาวกระจายที่กระจายออกไปจากมุขโค้งด้านสกัดของตัวคริสต์ศาสนสถาน แต่ลักษณะที่ว่านี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมของยุคนี้ และเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่เป็นมาตรฐานของสถาปัตยกรรมของแผ่นดินใหญ่ยุโรปมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 11 ในสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์เช่นที่แอบบีคลูนี และ มหาวิหารซานเตียโกเดกอมโปสเตลา)

ที่มาและวิวัฒนาการ[แก้]

ภาพวาดของซุ้มทางเข้าของแอบบีแซงต์นิเคส์

แม้ว่าองค์ประกอบของลักษณะใหม่จะพบในแอบบีซิสเตอร์เชียนแอบบีรัวโยมง (เริ่มสร้าง ค.ศ. 1228, ปัจจุบันถูกทำลายไปเกือบหมด) แต่ขั้นตอนที่สำคัญของการวิวัฒนาการมาเป็นสถาปัตยกรรมแรยอน็องอยู่ที่แอบบีแซงต์นิเคส์ (St Nicaise) ที่เมืองแร็งส์ (เริ่มสร้าง ค.ศ. 1231) แม้ว่าตัววัดจะถูกทำลายไปเกือบหมดระหว่าการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่ด้านหน้าก็เป็นที่รู้จักกันดีจากภาพพิมพ์ของคริสต์ศตวรรษที่ 18 สถาปนิกอูกส์ เดอ ลิแบร์ฌิเอร์ (Hugues de Libergier) ใช้ศัพท์ที่มีอยู่ขององค์ประกอบต่างของสถาปัตยกรรมกอทิกในการบรรยายความงามทางทัศนะใหม่ที่ว่านี้ แต่องค์ประกอบที่มีอิทธิพลที่สุดคือด้านหน้าด้านตะวันตก ที่เป็นซุ้มโค้งจั่วแหลมสามซุ้มตกแต่งด้วยงุ้มใบไม้ (Crocket) และลายงานหินทั้งเปิดและปิดสลับกับยอดแหลมเพรียว

ด้านหน้าด้านตะวันตกแทนที่จะเป็นการแบ่งสามแนวนอนหรือแนวตั้งที่เห็นได้ชัด งานของลิแบร์ฌิเอร์จะมีลักษณะเหมือนฉาก ซึ่งอาจจะเป็นได้ว่าเป็นอิทธิพลมากจากฉากกางเขนก็เป็นได้ และขนาดก็จะย่อส่วนลงมาให้เหมาะกับมนุษย์เดินดินมากกว่าที่เป็นงานมหึมาเหมือนทางเข้าถ้ำใหญ่ของมหาวิหารนอเทรอดามแห่งแร็งส์ องค์ประกอบสองสามอย่างของด้านหน้าของแอบบีแซงต์นิเคส์ที่นำไปใช้โดยสถาปนิกอื่นก็มองเห็นได้เช่นที่ใช้ในการสร้างประตูทางเข้าด้านเหนือของแขนกางเขนมหาวิหารนอเทรอ-ดามแห่งปารีสและรอบขอบคันของหลังคาที่วิหารแซ็งต์-ชาแปล

ลักษณะทั่วไปของสถาปัตยกรรมแรยอน็อง[แก้]

ด้านหน้าของวัดเซนต์เออร์บันแห่งทรัวแสดงการใช้จั่ว, จุลหอ และลายตกแต่งหินโปร่ง
“ลายงานหินบอด” ที่มหาวิหารแซงต์แฌร์เวส์และแซงต์โพรเทส์แห่งซัวซองส์
“bar-tracery” หน้าต่างกระจกประดับระเบียงแนบที่มหาวิหารแซ็ง-เดอนี หน้าต่างที่เห็นปัจจุบันเป็นหน้าต่างที่สร้างขึ้นแทนที่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19

ขณะที่สถาปัตยกรรมกอทิกไม่ว่าจะในสมัยใดจะคำนึงถึงระดับแสงและความดูเบาของโครงสร้าง สถาปัตยกรรมแรยอน็องเน้นองค์ประกอบของทั้งสองแนวคิดนี้อย่างเต็มที่ ผนังได้รับการปรุให้เป็นหน้าต่างมากกว่าสมัยใดเช่นที่เห็นได้บนผนังของวิหารแซ็งต์-ชาแปลในปารีส และ สิ่งก่อสร้างด้านนอกก็มีลักษณะคล้ายฉากลูกไม้เพื่อพรางความหนาหนักของผนังหรือกำแพงหรือครีบยันที่ต้องรับน้ำหนักของสิ่งก่อสร้าง เช่นที่เห็นได้ที่มหาวิหารนอเทรอดามแห่งสทราซบูร์ในฝรั่งเศส และวัดเซนต์เออร์บันแห่งทรัว)

นอกจากจะขยายขนาดของหน้าต่างให้กว้างใหญ่ขึ้นแล้ว สมัยสถาปัตยกรรมแรยอน็องตรงกันกับการวิวัฒนาการของหน้าต่างแผง ที่แผงกลางจะมีหน้าต่างกระจกที่ตกแต่งอย่างบรรเจิดด้วยกระจกสีต่าง ๆ ตั้งอยู่ตอนบนและตอนล่างของแผงหน้าต่างที่ทำด้วยกระจกใสหรือเอกรงค์ ที่ทำให้แสงส่องเข้ามาในตัวอาคารมากขึ้น

แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการออกแบบหน้าต่างของสถาปัตยกรรมแรยอน็อง แต่อันที่จริงแล้วก็เป็นหันเหลักษณะพื้นฐานของความงดงามตามปกติ หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงหน้าต่างคือลักษณะลายงานหิน จากการใช้ “plate-tracery” (ที่ดูเหมือนหน้าต่างจะถูกเจาะโดยตรงบนแผ่นหินแบน) เป็นการใช้ “bar-tracery” (ที่ดูเหมือนส่วนที่เป็นหินที่แยกแผงกระจกภายในหน้าต่างสร้างจากแถบหินสลักโค้งที่ทั้งด้านนอกและด้านในของแถบเกลาจนมน) “bar-tracery” อาจจะใช้เป็นครั้งแรกกับหน้าต่างของมหาวิหารนอเทรอดามแห่งแร็งส์ หลังจากนั้นก็เผยแพร่อย่างรวดเร็วไปทั่วยุโรป นอกจากจะเป็นวิธีการก่อสร้างหน้าต่างที่มีประสิทธิภาพและมีความยืดหยุ่นแล้ว “bar-tracery” ก็ยังเป็นการปูทางไปสู่การวิวัฒนาการการสร้าง “blind tracery” (ลายงานหินบอด) ที่ใช้ในการตกแต่งผนังที่เดิมเป็นเพียงผนังที่เกลี้ยง ๆ และ “open tracery” (ลายงานหินโปร่ง) ที่มักจะใช้ลวดลายเดียวกันกับหน้าต่างจริงที่ติดกัน

วิวัฒนาการสุดท้ายของสถาปัตยกรรมแรยอน็องในฝรั่งเศสคือการตกแต่งระเบียงแนบ ตามปกติแล้วระเบียงแนบของสถาปัตยกรรมของมหาวิหารกอทิกตอนต้นและตอนกลาง จะเป็นระเบียงมืดยาวที่อาจจะมีระเบียงทางเดินแคบ ๆ แนบกับผนัง ที่แยกระหว่างซุ้มโค้งชั้นล่างกับหน้าต่างชั้นบน แม้ว่าระเบียงแนบจะทำให้สิ่งก่อสร้างมืดลงแต่ก็เป็นองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมที่จำเป็นที่จะต้องมีเพื่อใช้รับน้ำหนักของเพดางที่โค้งลงมายังช่องทางเดินข้างและคูหาสวดมนต์ที่ยื่นออกมาขนาบสองข้างช่องทางเดินข้าง

การแก้ปัญหาของสถาปัตยกรรมแรยอน็องคือการใช้หลังคาสองชั้นเหนือช่องทางเดินข้างที่ซ่อนรางน้ำฝนไว้ข้างใต้ ที่เป็นการแก้ปัญหาที่ได้ผลเป็นอย่างดีที่ใช้กับทางเดินกลางของมหาวิหารแซ็งเดอนีในคริสต์ทศวรรษ การใช้วิธีนี้สามารถทำให้สร้างหน้าต่างกระจกบนผนังนอกของระเบียงแนบ และผนังในก็ทำเป็นเพียงซี่หินบาง ๆ นอกจากนั้นสถาปนิกก็ยังเริ่มเน้นการเชื่อมต่อระหว่างระเบียงแนบกับหน้าต่างชั้นบนโดยการยืดซี่หินจากตอนบนของหน้าต่างชั้นบนเรื่อยลงมายัง “ลายงานหินบอด” ของระเบียงแนบ ต่อลงมายังตอนบนของซุ้มโค้งชั้นล่าง

อิทธิพลของสถาปัตยกรรมแรยอน็อง[แก้]

จั่วแหลมและลายหินโปร่งที่เป็นลักษณะเด่นของแรยอน็องใช้ในการสลักงาช้างสำหรับบานพับภาพสอง

องค์ประกอบสำคัญของสถาปัตยกรรมแรยอน็องได้รับการผสานเข้าไปใช้กับสถาปัตยกรรมอังกฤษในการแอบบีเวสต์มินสเตอร์ใหม่โดยสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 3 ผู้ทรงมีโอกาสเข้าร่วมในการสถาปนาวิหารแซงต์-ชาแปลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศส ลักษณะสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานของแอบบีเวสต์มินสเตอร์ (ซึ่งมีความสำคัญต่อการวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมกอทิกวิจิตรของอังกฤษ) เป็นลักษณะที่นักประวัติศาสตร์ศิลป์เรียกว่า “สถาปัตยกรรมฝรั่งเศสเชิงอังกฤษ” นอกจากนั้นสถาปัตยกรรมแรยอน็องก็ยังมีอิทธิพลต่อจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เช่นที่เห็นในการก่อสร้างมหาวิหารนอเทรอดามแห่งสทราซบูร์, มหาวิหารโคโลญ และมหาวิหารปราก

ลักษณะการตกแต่งต่าง ๆ ของสถาปัตยกรรมแรยอน็อง (“bar-tracery”, ลายหินบอดและลายหินโปร่ง, จั่ว และจุลหอ) อาจจะใช้ในการตกแต่งขนาดที่ย่อส่วนลงมามาก ทั่งในการเป็นสิ่งตกแต่งของสถาปัตยกรรมที่มีขนาดเล็ก หรือลวดลายตกแต่งของอนุสรณ์ผู้ตาย, ศาล, บนแท่นเทศน์ และอื่น ๆ หรือสิ่งของที่เคลื่อนที่ได้เช่นการตกแต่งหีบมงคลวัตถุ, เครื่องมือประกอบคริสต์ศาสนพิธี, บานพับภาพ และอื่น ๆ ความยืดหยุ่นและการเคลื่อนที่ได้อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ศิลปะและสถาปัตยกรรมแรยอน็องเผยแพร่ไปทั่วยุโรปในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 และต้นคริสต์ศตวรรษ 14

การวิวัฒนาการจากแรยอน็องไปเป็นสถาปัตยกรรมกอทิกวิจิตร หรือ “สถาปัตยกรรมกอทิกเพลิง” (Flamboyant Gothic) เป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไปทางรูปทรง ที่เปลี่ยนไปใช้ลายงานหินลักษณะใหม่ที่มาจากโค้งตัว “S” (โค้งลักษณะนี้ดูคล้ายเปลวเพลิงที่ทำให้กลายมาเป็นชื่อของสมัย “Flamboyant”) ท่ามกล่างความยุ่งเหยิงของสงครามร้อยปีและวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ในยุโรประหว่างคริสต์ศตวรรษ 14 ก็มีการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่กันไม่กี่แห่ง และองค์ประกอบของแรยอน็องก็ยังคงใช้กันต่อมาอีกร้อยปี

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

บรรณานุกรม[แก้]

  • Robert Branner, Paris and the Origins of Rayonnant Gothic Architecture down to 1240 ; The Art Bulletin, Vol. 44, No. 1 (Mar., 1962), pp. 39-51; JSTOR
  • Bony, Jean (1983). French Gothic Architecture of the Twelfth and Thirteenth Centuries. University of California Press. ISBN 978-0-520-02831-9.
  • Ducher, Robert (2014). Caractéristique des Styles (ภาษาฝรั่งเศส). Flammarion. ISBN 978-2-0813-4383-2.
  • Gothic Architecture, Paul Frankl (revised by Paul Crossley), Yale, 2000
  • Smith, A. Freeman, English Church Architecture of the Middle Ages - an Elementary Handbook (1922), T. Fisher Unwin, Ltd., London (1922) (Full text available on Project Gutenberg)
  • Mignon, Olivier (2015). Architecture des Cathédrales Gothiques (ภาษาฝรั่งเศส). Éditions Ouest-France. ISBN 978-2-7373-6535-5.
  • Renault, Christophe; Lazé, Christophe (2006). Les Styles de l'architecture et du mobilier (ภาษาฝรั่งเศส). Gisserot. ISBN 9-782877-474658.
  • Trintignac, Andrei; Coloni, Marie-Jeanne (1984). Decouvrir Notre-Dame der Paris. Les Editions du Cerf. ISBN 2-204-02087-7.
  • The Gothic Cathedral, Christopher Wilson, London, 1990, especially p. 120ff

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]