สถาปัตยกรรมฟื้นฟูเรอแนซ็องส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คฤหาสน์แฟร์ริเยร์สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1855 เป็นสถาปัตยกรรมที่จงใจที่จะเป็นงานก็อปปีของคฤหาสน์เมนท์มอร์เทาเออร์ส (ภาพล่าง) แต่ลักษณะ “ฟื้นฟูเรอแนซ็องส์แบบอังกฤษ” เมื่อมาถึงฝรั่งเศสก็ได้รับการเพิ่มเติม “แบบอิตาลี” เข้าไปบ้าง
คฤหาสน์เมนท์มอร์เทาเออร์สเป็นสถาปัตยกรรม “ฟื้นฟูเรอแนซ็องส์แบบอังกฤษ” ที่สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1854 เป็นงานก็อปปีของคฤหาสน์วอลลาทันฮอลล์ที่สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1588

สถาปัตยกรรมฟื้นฟูเรอแนซ็องส์ หรือบางครั้งก็เรียกสั้นๆ ว่า ฟื้นฟูเรอแนซ็องส์ หรือ เรอแนซ็องส์ใหม่ (อังกฤษ: Renaissance Revival architecture หรือ Neo-Renaissance) คือลักษณะสถาปัตยกรรมที่รวมลักษณะต่างๆ ของสถาปัตยกรรมฟื้นฟูของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ไม่เชิงกรีก (ดูบทความ สถาปัตยกรรมฟื้นฟูกรีก) หรือ กอธิค (ดูบทความ สถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิค) แต่เป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกอิตาลีต่างๆ ตามความหมายอย่างกว้างๆ ของสถาปนิกและนักวิพากษ์ “สถาปัตยกรรมเรอแนซ็องส์” ของคริสต์ศตวรรษที่ 19 มิได้ใช้แต่เพียงสถาปัตยกรรมเรอแนซ็องส์ที่เริ่มขึ้นในฟลอเรนซ์และตอนกลางของอิตาลีของต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 ที่เป็นเครื่องมือในการแสดงออกของลัทธิมนุษยนิยม แต่ยังรวมไปถึงลักษณะสถาปัตยกรรมที่มารู้จักกันว่าแมนเนอริสม์ และ บาโรก นอกจากนั้นลักษณะของตนเองก็ยังปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายในคริสต์ศตวรรษที่ 19: “เรอแนซ็องส์ใหม่” ตามความหมายของผู้ร่วมสมัยจึงหมายถึงสิ่งก่อสร้างที่เป็น “แบบอิตาลี” (Italianate) หรือสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะบาโรกฝรั่งเศสเข้าไปผสม (สถาปัตยกรรมจักรวรรดิฝรั่งเศสที่สอง)

ลักษณะอันเป็นที่ต่างกันของสถาปัตยกรรมฟื้นฟูเรอแนซ็องส์ในบริเวณต่างๆ ของยุโรป โดยเฉพาะในฝรั่งเศสและอิตาลีเป็นการเพิ่มอุปสรรคในการบ่งลักษณะของสถาปัตยกรรมที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมฟื้นฟูเรอแนซ็องส์ยิ่งขึ้นไปอีก ที่จะเห็นได้จากคฤหาสน์วอลลาทันฮอลล์ในอังกฤษ[1] วังพิตติในอิตาลี, พระราชวังชองบอร์ดในฝรั่งเศส และ วังฟาเซต์ในรัสเซีย — ซี่งต่างก็จัดอยู่ในกลุ่ม “สถาปัตยกรรมเรอแนซ็องส์” — ที่ต่างก็มีลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันออกไปแม้ว่าจะจัดว่าเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันก็ตาม

ที่มา[แก้]

วังฟาร์เนเซ, โรม ค.ศ. 1534 -ค.ศ. 1545 ออกแบบโดยอันโตนิโอ ดา ซานกาลโลผู้เยาว์ และ ไมเคิล แอนเจโล คฤหาสน์ของผู้มีตระกูลชาวโรม “แบบที่หรูหรามีสง่าต่อมากลายเป็นลักษณะที่เป็นที่ยอมรับกันในยุโรปสำหรับเป็นแบบในการก่อสร้างตึกสมาคมและธนาคาร”[2]
คฤหาสน์แวสเดสดันมาเนอร์ของตระกูลรอธส์ไชลด์ในอังกฤษ, ค.ศ. 1874

ที่มาของสถาปัตยกรรมเรอแนซ็องส์โดยทั่วไปแล้วก็กล่าวกันว่าริเริ่มขึ้นโดยฟีลิปโป บรูเนลเลสกี (ค.ศ. 1377 - ค.ศ. 1446)[3] บรูเนลเลสกีและสถาปนิกร่วมสมัยต้องการที่สร้างผลงานทางสถาปัตยกรรมที่มีระบบที่เป็นผลให้เกิดลักษณะสถาปัตยกรรมที่เน้นลักษณะความเป็นสมมาตรและความได้สัดส่วน ขบวนการนี้พัฒนาขึ้นมาจากการสังเกตธรรมชาติโดยเฉพาะจากการสังเกตลักษณะกายวิภาคของมนุษย์

สถาปัตยกรรมฟื้นฟูเรอแนซ็องส์พัฒนาขึ้นมาจากไม่แต่จากลักษณะรูปทรงของการก่อสร้างสถาปัตยกรรมแบบอิตาลีเดิม แต่ยังรวมทั้งรูปทรงของสถาปัตยกรรมเรอแนซ็องส์ที่มาพัฒนาขึ้นในฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ด้วย ระหว่างปีแรกๆ ของคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อฝรั่งเศสไปทำสงครามอยู่ทางตอนเหนือของอิตาลีก็ได้นำไม่แต่สมบัติศิลปะเรอแนซ็องส์เป็นของที่ยึดได้ติดตัวกลับมายังฝรั่งเศสเท่านั้นแต่ยังได้นำลักษณะรูปแบบทางด้านความคิดกลับมาด้วย ในบริเวณลุ่มแม่น้ำลัวร์ก็ได้มีการก่อสร้างวังและคฤหาสน์กันขึ้นอย่างมากมายโดยสร้างเป็นแบบกอธิคฝรั่งเศสแต่ตกแต่งด้วยรายละเอียดเช่นจั่ว, ซุ้มโค้ง, เสาตื้นเป็นแบบเรอแนซ็องส์อิตาลี

ในอังกฤษเรอแนซ็องส์มักจะออกมาในรูปของจตุรัสใหญ่, ที่อยู่อาศัยทรงสูงเช่นคฤหาสน์ลองลีต สิ่งก่อสร้างดังว่ามักจะมีหอสูงสองข้างที่เป็นนัยยะถึงหอสำหรับป้อมที่ใช้ในการป้องกันข้าศึกในยุคกลาง ที่เห็นได้ชัดในการก่อสร้างคฤหาสน์แฮทฟิลด์ที่สร้างระหว่าง ค.ศ. 1607 ถึง ค.ศ. 1611 ที่ประกอบด้วยลูกเล่นระหว่างหอยุคกลางกับโดมใหญ่แบบอิตาลี การก่อสร้างลักษณะนี้ทำให้สิ่งก่อสร้างสมัยต้นยุคฟื้นฟูเรอแนซ็องส์ของอังกฤษมีบรรยากาศของ “ปราสาท” ที่แตกต่างไปจากสิ่งก่อสร้างในสมัยเดียวกันในยุโรป ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความสับสนกับลักษณะฟื้นฟูกอธิค

เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ลักษณะเรอแนซ็องส์ก็กลายเป็นสถาปัตยกรรมสมัยนิยม ลักษณะรูปทรงที่วิวัฒนการขึ้นมาก็ไม่แต่จะเป็นรูปลักษณ์ของทรงดั้งเดิมตามแต่สถานที่ที่ก่อสร้าง แต่ยังเป็นลักษณะผสานกับลักษณะต่างๆ ก่อนหน้านั้นตามแต่ทัศนคติหรือความคิดของสถาปนิกหรือผู้ว่าจ้างในชั่วขณะที่ออกแบบ แทนที่จะเป็นไปตามที่ตั้งและวัฒนธรรม ถ้าปัจจัยดังว่ายังไม่ทำให้เป็นที่สับสนพอ สถาปัตยกรรมฟื้นฟูเรอแนซ็องส์ใหม่ก็ยังมักจะยืมองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมจากสมัยแมนเนอริสม์เข้ามาอีก และในหลายกรณีก็อาจจะนำเอาลักษณะบาโรกเข้ามาผสมผเสด้วย แมนเนอริสม์และบาโรกเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะตรงกันข้ามกัน แมนเนอริสม์แท้ก็เช่นพาลัซโซเตในอิตาลี และบาโรกแท้ก็ได้แก่วังเวิร์ทซบวร์กในเยอรมนี

ฉะนั้นเรอแนซ็องส์อิตาลี, ฝรั่งเศส และเฟล็มมิชผสมกับลักษณะสถาปัตยกรรมของสมัยต่อมาทำให้เป็นการยากที่จะระบุลักษณะตระกูลสถาปัตยกรรมของคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะในการแยกระหว่างสถาปัตยกรรมฟื้นฟูเรอแนซ็องส์กับสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิคของฝรั่งเศสเพราะลักษณะสถาปัตยกรรมทั้งสองลักษณะต่างก็เป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในคริสต์ศตวรรษที่ 19

อ้างอิง[แก้]

  1. Wollaton Hall
  2. Copplestone, Trewin (1963). World Architecture. Hamlyn. Page 245
  3. Copplestone, Trewin (1963). World Architecture. Hamlyn. Page 243

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สถาปัตยกรรมฟื้นฟูเรอแนซ็องส์