ถนนสายนี้ หัวใจไม่เคยลืม

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Always: Sunset on Third Street)

ถนนสายนี้ หัวใจไม่เคยลืม
ใบปิดภาพยนตร์
กำกับทะกะชิ ยะมะซะกิ
บทภาพยนตร์ทะกะชิ ยะมะซะกิ
เรียวตะ โคะซะวะ
อำนวยการสร้างชุจิ อะเบะ
เซจิ โอะกุดะ
จิกะฮิโระ อันโดะ
เคอิจิโระ โมะริยะ
โนะโซะมุ ทากะฮะชิ
นักแสดงนำมะกิ โฮะริกิตะ
ฮิเดะตะกะ โยะชิโอะกะ
ชินอิจิ สึสึมิ
โคะยุกิ
ฮิโระโกะ ยะกุชิมะรุ
คะซุยะ โคะชิมิสุ
เค็นตะ ซุงะ
กำกับภาพโคะโสะ ชิบะซะกิ
ตัดต่อมิยะจิมะ ริวจิ
ดนตรีประกอบนะโอะกิ ซะโตะ
ผู้จัดจำหน่ายญี่ปุ่น โทโฮ
ไทย มงคลภาพยนตร์
วันฉายญี่ปุ่น 5 พฤศจิกายน 2548
ไทย 20 เมษายน 2549
สาธารณรัฐจีน 23 มีนาคม 2550
ความยาว133 นาที
ประเทศญี่ปุ่น
ภาษาญี่ปุ่น
ทุนสร้าง¥1,400,000,000/$12,000,000
ต่อจากนี้ถนนสายนี้ หัวใจไม่เคยลืม 2
ข้อมูลจาก All Movie Guide
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากสยามโซน

"ถนนสายนี้ หัวใจไม่เคยลืม" (ญี่ปุ่น: ALWAYS 三丁目の夕日 ; โรมาจิ: Ōruweizu: San-chōme no Yūhi ; อังกฤษ: Always: Sunset on Third Street) หรือเรียกโดยย่อว่า "ออลเวย์ส" (Always) คือ ภาพยนตร์ญี่ปุ่นปี พ.ศ. 2548 ที่ดัดแปลงมาจากมังงะของเรียวเฮ ไซงัง เรื่อง ซังโจเมะโนะยูฮิ กำกับและประพันธ์บทภาพยนตร์โดย ทะกะชิ ยะมะซะกิ นำแสดงโดย มะกิ โฮะริกิตะ, ฮิเดะตะกะ โยะชิโอะกะ, ชินอิจิ สึสึมิ, โคะยุกิ, ฮิโระโกะ ยะกุชิมะรุ, คะซุกิ โคะชิมิสุ และเค็นตะ ซุงะ เข้าฉายในประเทศญี่ปุ่นวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ฉายแบบจำกัดโรงในประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2549 และเข้าฉายในไต้หวันเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2550

เนื้อเรื่องของภาพยนตร์เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต ความสัมพันธ์ ความหวัง และความรักของสมาชิกในชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งบนถนนสายที่ 3 โดยมีกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ประมาณคริสต์ทศวรรษที่ 1950) เป็นฉากหลัง

ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือได้ว่าประสบความสำเร็จทั้งรายได้และรางวัลที่ได้รับ โดยผลงานที่โดดเด่นที่สุดคือการได้รับรางวัลแจแปนิสอคาเดมี ประจำปี พ.ศ. 2549 12 สาขา จากที่ถูกเสนอชื่อ 14 สาขา เช่น รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม รางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม และรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม เป็นต้น

ภาคต่อของภาพยนตร์เรื่องนี้มีชื่อว่า ถนนสายนี้ หัวใจไม่เคยลืม 2 (Always: Sunset on Third Street 2) ออกฉายในญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 โดยมีเนื้อเรื่องต่อเนื่องจากภาคนี้ และยังคงตัวละครเดิมเอาไว้ทั้งหมด ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 ภาคที่สามของ Always: Sunset on Third Street 3 ได้เข้าฉายในเดือนมกราคม

เนื้อเรื่องย่อ[แก้]

เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในชุมชนขนาดเล็กแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนถนนสายที่ 3 แห่งเขตยูฮี กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น[1] เมื่อปีโชวะที่ 33 (พ.ศ. 2501) ซึ่งเป็นช่วงเวลาของญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ภายใต้การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี และการก่อสร้างหอคอยโตเกียว โดยมีครอบครัวซุซุกิ เจ้าของอู่ซ่อมรถขนาดเล็กชื่อ “ซุซุกิออโต” และนักประพันธ์ รีวโนะซุเกะ จะงะวะ เป็นตัวละครดำเนินเรื่อง

ครอบครัวซุซุกิประกอบด้วยหัวหน้าครอบครัว โนะริฟุมิ ซุซุกิ (ชินิจิ สึสึมิ) เจ้าของอู่ซุซุกิออโต โทะโมะเอะ ซุซุกิ (ฮิโระโกะ ยะกุชิมะรุ) ภรรยา และ อิปเป ซุซุกิ (คะซุกิ โคะชิมิสุ) ลูกชาย ฝั่งตรงข้ามของอู่ซุซุกิ คือบ้าน และร้านขายของเล่นและขนมสำหรับเด็กของ รีวโนะซุเกะ จะงะวะ (ฮิเดะตะกะ โยะชิโอะกะ) นักประพันธ์ “ไส้แห้ง” เจ้าของนิยายเยาวชนชั้นรอง โชเน็งโบเก็งดัง (ชมรมหนุ่มน้อยผจญภัย)

วันหนึ่ง ครอบครัวซุซุกิได้รับ มุสึโกะ โฮะชิโนะ (มะกิ โฮะริกิตะ) หญิงสาวจากอะโอะโมะริ มาเป็นลูกจ้างในอู่ พร้อมกันนั้น ฮิโระมิ อิชิซะกิ (โคะยุกิ) อดีตนางระบำในสถานเริงรมย์ ก็เข้ามาเปิดร้านขายสุราภายในชุมชนแห่งนั้น

ในวันแรกที่เธอเปิดร้าน ฮิโระมิได้รับมอบหมายให้เลี้ยงดูเด็กชายที่ชื่อ จุนโนะซุเกะ ฟุรุยุกิ (เค็นตะ ซุงะ) แทนมารดาที่ทิ้งเขาไป เธอรับจุนโนะซุเกะไว้อย่างไม่เต็มใจ และต้องการจะหาที่อยู่อื่นให้ ในค่ำวันนั้น เธอได้พบกับจะงะวะที่เข้ามาดื่มสุราในร้าน จะงะวะเมาและพูดนำเสนอตัวเองว่าเป็นผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก ทำให้เธอคิดว่าจะงะวะน่าจะเป็นคนที่สามารถเลี้ยงดูจุนโนะซุเกะได้ เธอจึงอ้อนวอนให้จะงะวะรับเลี้ยงจุนโนะซุเกะ ด้วยเสน่ห์ของเธอ จะงะวะจึงรับจุนโนะซุเกะไปเลี้ยงและอยู่กินกับเขา

ในช่วงแรก เขาปฏิบัติต่อจุนโนะซุเกะอย่างเย็นชา แต่ต่อมา หลังจากที่พบว่าจุนโนะซุเกะเป็นผู้ที่ชื่นชอบนิยายของเขามาก เขาก็เริ่มมอบความอบอุ่นแก่จุนโนะซุเกะมากขึ้น วันหนึ่ง ด้วยความที่ตนขาดแรงบันดาลใจในการประพันธ์ตอนต่อไป จะงะวะได้ขโมยเนื้อเรื่องที่จุนโนะซุเกะเขียนไว้ด้วยตัวเองไปตีพิมพ์ภายใต้ชื่อของเขา เมื่อจุนโนะซุเกะทราบพฤติกรรมนี้ จะงะวะก็ยอมรับผิด แต่จุนโนะสุเกะก็ไม่ถือโทษ และแสดงความดีใจพร้อมขอบคุณจะงะวะที่ทำให้ผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์ หลังจากนั้น ความผูกพันของทั้งสองก็แนบแน่นยิ่งขึ้น ประกอบกับการที่ฮิโระมิที่คอยมาเยี่ยมเยียน ก็ทำให้จุนโนะซุเกะสัมผัสถึงบรรยากาศครอบครัวที่อบอุ่น

ทางด้านครอบครัวซุซุกิ โนะริฟุมิไม่พอใจมุสึโกะที่ไม่มีความสามารถในการซ่อมรถอย่างที่เธอเขียนไว้ในใบสมัครงาน มุสึโกะก็แสดงความไม่พอใจกับขนาดอู่ของเขาที่เล็กกว่าที่เธอหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ ทำให้โนะริฟุมิโมโหมาก แต่หลังจากที่โทะโมะเอะและอิปเปให้เขาอ่านใบสมัครงานอีกครั้ง เขาก็พบว่าเธอซ่อมได้เพียงรถจักรยานเท่านั้น ทำให้เขารู้สึกผิดที่ไม่ตรวจสอบให้ดีและขอโทษมุสึโกะ ทางด้านมุสึโกะก็ให้อภัยและขอโทษที่เธอหวังมากเกินไป จากนั้นมา มุสึโกะก็ค่อย ๆ ปรับตัวและใช้ชีวิตเสมือนสมาชิกครอบครัวซุซุกิคนหนึ่ง

ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างฮิโระมิกับจะงะวะก็พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ วันหนึ่ง ฮิโระมิได้เปรยกับจะงะวะว่า เธอควรจะหมั้นกับจะงะวะเพื่อมาช่วยกันเลี้ยงดูจุนโนะซุเกะ เมื่อได้ยินดังนั้น จะงะวะจึงตัดสินใจขอหมั้นกับเธอในคืนวันคริสต์มาสอีฟด้วยกล่องใส่แหวนเปล่า ๆ ฮิโระมิรับหมั้นเขาด้วยความซาบซึ้งใจ แต่แล้ววันถัดมา เธอก็ย้ายออกจากชุมชนแห่งนั้น จะงะวะได้มาทราบข่าวภายหลังว่า เธอต้องกลับไปทำงานเป็นนางระบำอีกครั้ง เพื่อหาเงินมาชดใช้หนี้สินที่เธอก่อเอาไว้ได้ทัน

ต่อมาไม่นาน ได้มีชายนักธุรกิจผู้หนึ่งเดินทางมาหาจะงะวะและอ้างตนว่าเป็นบิดาของจุนโนะซุเกะ เขากล่าวว่าจะขอรับเลี้ยงจุนโนะซุเกะต่อ และจะเลี้ยงดูจนสามารถทำงานในอาณาจักรธุรกิจของเขาได้ จะงะวะยอมรับตามความประสงค์ของเขา และปล่อยให้จุนโนะซุเกะเดินทางกลับไป เพื่อให้มีชีวิตที่ดีกว่า แต่หลังการตัดสินนั้นไม่นาน จะงะวะก็ต้องจมปรักกับความเศร้าที่ต้องเสียทั้งฮิโระมิและจุนโนะซุเกะ และพังข้าวของในบ้านของตัวเอง ทันใดนั้น เขาได้พบจดหมายลาที่จุนโนะซุเกะเขียนขอบคุณตัวเขาโดยบังเอิญ เมื่อเขาอ่านเสร็จ เขาก็ออกวิ่งตามรถของนักธุรกิจผู้นั้นไปด้วยความหวังว่าจะได้พบกับจุนโนะซุเกะอีกครั้ง และแล้วความหวังของเขาก็เป็นจริง เมื่อพบว่าจุนโนะซุเกะเดินกลับมาหาเขา เขาจึงรับจุนโนะซุเกะกลับมาเลี้ยงดูเช่นเดิม พร้อมกับหวังว่าพวกเขาและฮิโระมิจะได้กลับมาใช้ชีวิตร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง

ทางด้านครอบครัวซุซุกิ มุสึโกะได้รับตั๋วรถไฟจากครอบครัวซุซุกิเป็นของขวัญวันคริสต์มาส เพื่อให้เธอได้กลับไปเยี่ยมครอบครัวที่อะโอะโมะริ แต่เธอไม่ยอมเดินทางกลับ เพราะน้อยใจและเชื่อว่าที่บ้านไม่มีใครต้องการเธออีก แต่หลังจากที่โทะโมะเอะได้นำจดหมายแสดงความห่วงใยที่แม่ของมุสึโกะส่งให้ครอบครัวซุซุกิ มาให้เธอได้อ่าน เธอจึงตัดสินใจเดินทางกลับไปพบครอบครัวด้วยความสุข

เรื่องราวทั้งหมดสรุปด้วยภาพของครอบครัวซุซุกิที่กล่าวแสดงความศรัทธาต่อพลังของความหวัง และยืนดูตะวันที่กำลังคล้อยต่ำอยู่เบื้องหลังหอคอยโตเกียวที่สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว

ตัวละครและนักแสดง[แก้]

ตัวละครหลัก[แก้]

  • โนะริฟุมิ ซุซุกิ หรือ ซุซุกิออโต (แสดงโดย ชินอิจิ สึสึมิ) หัวหน้าครอบครัวซุซุกิ และเจ้าของอู่ซ่อมรถขนาดเล็กในชุมชนถนนสายที่ 3 ที่ชื่อ “ซุซุกิออโต” (นอกจากจะเป็นชื่ออู่ เพื่อนบ้านของเขาก็มักจะเรียกเขาในชื่อนี้เช่นกัน) เขามีความใฝ่ฝันที่จะก่อร่างอู่แห่งนี้ให้เป็นบริษัทขนาดใหญ่ สิ่งที่เป็นจุดเด่นของเขาคือนิสัยขี้โมโห
  • โทะโมะเอะ ซุซุกิ (แสดงโดย ฮิโระโกะ ยะกุชิมะรุ) ภรรยาของโนะริฟุมิ ซุซุกิ เธอเป็นแม่บ้านผู้ใจดี ซึ่งคอยให้ความอบอุ่นแก่ครอบครัวซุซุกิตลอดมา
  • อิปเป ซุซุกิ (แสดงโดย คะซุกิ โคะชิมิสุ) ลูกชายคนเดียวของโนะริฟุมิ และโทะโมะเอะ ซุซุกิ มีนิสัยซุกซน เขาเป็นเพื่อนร่วมห้องเรียนของจุนโนะซุเกะ ฟุรุยุกิ
  • มุสึโกะ โฮะชิโนะ หรือ โระกุจัง (แสดงโดย มะกิ โฮะริกิตะ) นักเรียนหญิงคนซื่อจากอะโอะโมะริที่เดินทางมาฝึกงานที่อู่ซุซุกิออโต ในกรุงโตเกียว เธอเดินทางมาพร้อมกับความหวังว่าซุซุกิออโตจะเป็นบริษัทยานยนต์ขนาดใหญ่ แต่ต้องผิดหวังเมื่อพบว่ามันเป็นเพียงอู่ซ่อมรถที่ทั้งเล็กและซอมซ่อ เธอทำงานและอาศัยในอู่ดังกล่าวร่วมกับครอบครัวซุซุกิ โดยสมาชิกในครอบครัวมักจะเรียกชื่อเธอว่า โระกุ ซึ่งเป็นอีกคำหนึ่งที่สามารถอ่านได้จากตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นที่ใช้เขียนคำว่า มุสึ ในชื่อของเธอ
  • จะงะวะ รีวโนะสุเกะ (แสดงโดย ฮิเดะตะกะ โยะชิโอะกะ) นักประพันธ์ตกยาก ที่เลี้ยงชีพตนเองอยู่ในชุมชนถนนสายที่ 3 ด้วยการเป็นเจ้าของร้านค้าของเล่นและขนมสำหรับเด็กที่รับช่วงต่อจากญาติผู้เสียชีวิตไปแล้ว และแต่งนิยายชั้นรองสำหรับเด็กเรื่อง โชเน็งโบเก็งดัง (ชมรมหนุ่มน้อยผจญภัย) กล่าวกันว่าเขาเป็นทายาทของตระกูลร่ำรวย แต่ถูกอัปเปหิออกมาเพราะความใฝ่ฝันที่จะเป็นนักประพันธ์[2]
  • ฮิโระมิ อิชิซะกิ (แสดงโดย โคะยุกิ) หญิงสาวทรงเสน่ห์ อดีตนางระบำในสถานเริงรมย์ที่ผันตัวมาเปิดร้านสุราในชุมชนถนนสายที่ 3 เธอมาพร้อมกับหนี้สินก้อนใหญ่ที่เกิดจากเงินค่ารักษาพยาบาลของบิดาของเธอ
  • จุนโนะซุเกะ ฟุรุยุกิ (แสดงโดย เค็นตะ ซุงะ) เด็กชายจากครอบครัวที่แตกแยก ซึ่งถูกส่งมาให้ฮิโระมิรับเลี้ยง แต่ได้รับการส่งต่อให้อยู่ในการอุปถัมภ์ของจะงะวะในเวลาต่อมา บิดาของเขาเป็นนักธุรกิจผู้มั่งคั่งที่มีอาณาจักรธุรกิจของตนเอง ส่วนมารดาของเขาเป็นนางระบำเพื่อนเก่าของฮิโระมิและมีฐานะเป็นเพียงภรรยาน้อย จุนโนะซุเกะมีพรสวรรค์ทางด้านการประพันธ์และชื่นชอบการอ่านหนังสือเป็นพิเศษ โดยหนังสือที่เขาคลั่งไคล้ที่สุดคือนิยาย ชมรมหนุ่มน้อยผจญภัย ที่แต่งโดยจะงะวะ
  • ชิโร "อะกุมะ" ทะกุมะ หรือ หมอยักษ์ (แสดงโดย โทะโมะกะสุ มิอุระ) นายแพทย์ประจำชุมชนถนนสายที่ 3 ผู้มีความทรงจำอันเจ็บปวดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เด็ก ๆ ในชุมชนมักเรียกเขาว่า "หมอยักษ์" เนื่องจากพวกเขามักจะถูกทะกุมะฉีดยาเวลาที่เจ็บป่วย
  • คิง โอตะ (แสดงโดย มะซะโกะ โมะไต) แม่ค้าเจ้าของร้านบุหรี่ประจำชุมชนถนนสายที่ 3 มีอุปนิสัยห้าว และคิดจะลองทุกอย่างในชีวิต[2]

ตัวละครอื่นๆ[แก้]

นอกจากตัวละครหลักข้างต้นแล้ว ออลเวย์สยังประกอบไปด้วยตัวละครตัวอื่นๆ อีก ได้แก่[3]

กระบวนการสร้าง[แก้]

แนวความคิด[แก้]

ออลเวย์สถูกสร้างขึ้นด้วยงบประมาณ 1.4 พันล้านเยน (ประมาณ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) [4] โดยมีองค์กรที่ร่วมมือกันผลิต 8 องค์กร ได้แก่ เด็นสึ, นิปปง เทเลวิชัน คอร์โปเรชัน, โรบอต, โชงะกุกัง, โทโฮ, วีเอพี, โยะมิอุริชิมบุง, และวายทีวี โดยในส่วนของโทโฮ ยังทำหน้าที่จัดจำหน่ายด้วย[5]

แนวคิดในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้นมาจากความต้องการของ ชุจิ อะเบะ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ที่มีความคิดจะสร้างภาพยนตร์ที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับประเทศญี่ปุ่นช่วงยุคโชวะ โดยได้หยิบยกหนังสือการ์ตูนชุด ซังโจเมะโนะยูฮิ ผลงานของเรียวเฮ ไซงัง (วางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2517[6]) ที่เล่าถึงชีวิตของผู้คนในชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งของกรุงโตเกียว มาเป็นพื้นฐานในการดำเนินเรื่อง[7] อะเบะได้มอบหมายให้ ทะกะชิ ยะมะซะกิ ผู้กำกับภาพยนตร์ ซึ่งมีประสบการณ์ทางด้านสเปเชียลเอฟเฟคต์และการสร้างภาพเสมือนจริง และเคยร่วมงานกับเขามาแล้วในภาพยนตร์เรื่อง อัศวินอนาคตเจาะมิติมหัศจรรย์ (Juvenile, พ.ศ. 2543) และ นักฆ่าทะลุศตวรรษ (Returner, พ.ศ. 2545) มาทำหน้าที่ผู้กำกับ ผู้ดูแลงานด้านเทคนิคพิเศษ และผู้ประพันธ์บทภาพยนตร์ร่วมกับเรียวตะ โคะซะวะ

บทภาพยนตร์[แก้]

ยะมะซะกิได้กล่าวถึงการดัดแปลงเนื้อเรื่องจากหนังสือการ์ตูนให้กลายเป็นบทภาพยนตร์ว่า "...มังงะเรื่องนี้มีทั้งหมด 51 ชุด[8] ซึ่งผมอ่านมันทั้งหมด 2 รอบ จากนั้นค่อยเลือกหยิบเอาเนื้อหาตอนที่ดี ๆ ออกมา ในเรื่อง มันจะมีตัวละครจำนวนหนึ่งที่ปรากฏตัวหลายครั้ง ซึ่งหนึ่งในนั้นผมได้เลือกจะงะวะมาใช้เป็นตัวละครหลัก ที่เป็นเช่นนี้ เพราะไม่มีตัวละครตัวใดเลยที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเติบโตนอกจากจะงะวะ เขาเริ่มต้นด้วยการเป็นคนใจร้ายและหลงตัวเอง แต่เมื่อผ่านเรื่องราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ เขาก็กลายเป็นผู้ชายที่สุภาพและเป็นมิตร เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่าเขาเหมาะสมสำหรับการเป็นตัวละครในภาพยนตร์ ส่วนตัวละคร ‘ซุซุกิออโต’ ผมได้วางตำแหน่งเขาเอาไว้ตรงข้ามกับจะงะวะ เพื่อสร้างการปะทะกันระหว่างความเป็นคอบครัว (ของซุซุกิออโต) และความไม่มั่นคงของจะงะวะ"[7]

การคัดเลือกนักแสดง[แก้]

ในส่วนของการคัดเลือกนักแสดง เนื่องจากยะมะซะกิต้องการผู้ที่มีกลิ่นไอของความเป็นชาวญี่ปุ่นสมัยโชวะ นักแสดงวัยผู้ใหญ่ที่เขาคัดเลือกมาจึงเป็นนักแสดงที่เคยโด่งดังจากภาพยนตร์ที่ออกฉายในสมัยโชวะจริง ๆ เช่น ฮิโระโกะ ยะกุชิมะรุ (จากเรื่อง เซเลอร์ซูตแอนด์แมชีนกัน, พ.ศ. 2524) ฮิเดะตะกะ โยะชิโอะกะ (จากเรื่อง โทะระซัง, พ.ศ. 25122538) หรือ โทะโมะกะสุ มิอุระ (จากเรื่อง อิสุโนะโอะโดะริโกะ, พ.ศ. 2517) เป็นต้น ในจำนวนนี้ มีเพียง โคะยุกิ คะโต (หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า โคะยุกิ) ผู้รับบทเป็นฮิโระมิ อิชิซะกิ เท่านั้นที่ไม่ใช่นักแสดงในยุคโชวะ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาต้องการให้ฮิโระมิเป็นตัวละครที่แตกต่างจากตัวละครตัวอื่น และดูเป็นคนแปลกหน้าสำหรับชาวบ้านบนถนนสายที่ 3 ฉะนั้น เขาจึงเลือกนักแสดงหญิงที่ต่างจากผู้หญิงญี่ปุ่นในยุคโชวะ มีความงามเหมือนนางฟ้า และสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้คนได้เพียงเดินผ่าน ซึ่งในที่สุด เขาก็ได้เลือกโคะยุกิมาแสดงในบทนี้[7]

การถ่ายทำและเทคนิคพิเศษ[แก้]

ด้านการถ่ายทำ ด้วยเหตุที่เรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้นในญี่ปุ่นช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950 ฉากต่าง ๆ จึงต้องถูกสร้างขึ้นมาใหม่ให้สมจริงกับช่วงเวลาดังกล่าว โดยทีมงานได้เลือกใช้โรงถ่ายภาพยนตร์โรงใหญ่ที่สุดของโทโฮ ในการถ่ายทำฉากชุมชนและภายในบ้าน และสนามบินขนาดเล็กในทะเตะบะยะชิ ในการถ่ายทำฉากถนนสายหลัก เมื่อการถ่ายทำเสร็จสิ้น ทางทีมงานจึงได้เพิ่มเติมองค์ประกอบที่ยังขาดหายและตกแต่งภาพอีกครั้งด้วยเทคนิคพิเศษต่าง ๆ เช่น การสร้างภาพคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ของหอคอยโตเกียวที่ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างจนกระทั่งสร้างเสร็จ รวมถึงรถยนต์รุ่นเก่าที่แล่นอยู่บนถนน และการใช้แบบจำลองขนาดเล็กของหัวรถจักรรุ่นซี 62 มาใช้เป็นต้นแบบในการสร้างรถไฟที่มุสึโกะโดยสารเข้ามาทำงานในกรุงโตเกียว เป็นต้น ยะมะซะกิได้กล่าวถึงแนวทางในการใช้เทคนิคพิเศษสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า เขาเลือกที่จะใช้เทคนิคเหล่านี้ให้มีความเป็นผู้ใหญ่ โดยไม่พยายามทำให้มันดูฉูดฉาดเกินไป จนมันโดดเด่นกว่าเนื้อเรื่องและตัวละครเหมือนภาพยนตร์ขายเทคนิคพิเศษของฮอลลีวูดหลายๆ เรื่อง[7]

เพลงประกอบภาพยนตร์[แก้]

Always Sanchome no Yuhi (Sunset on the Third Street) - Original Soundtrack
ดนตรีประกอบภาพยนตร์โดย
Naoki Sato
วางตลาด21 ตุลาคม พ.ศ. 2548
ความยาว44:03
ลำดับชื่อเพลงยาว
1."Always - Opening Title"2:53
2."Desire"2:32
3."Brown River Novelist"1:30
4."New Tokyo"1:21
5."Riyuunosuke and Ziyuosuke"2:02
6."Late Riser"1:41
7."Boy Venture Group"1:07
8."Suzuki's Anger"1:43
9."Suzuki's Dream"1:42
10."Rice Calais"1:20
11."The Television"1:24
12."Memory"0:59
13."The Refrigerator"1:29
14."Boy Venture Group II"1:01
15."To Kouenzi"1:33
16."The Way Back"0:46
17."Christmas Present"3:11
18."Ring"1:50
19."A Winter's Day"1:49
20."New Year's Eve"1:26
21."Abrupt Separation"1:40
22."Family Bond"3:05
23."Always - Sunset On Third Street"5:59
ความยาวทั้งหมด:44:03

ปฏิกิริยาตอบรับ[แก้]

คำวิจารณ์[แก้]

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการตอบรับจากนักวิจารณ์ภาพยนตร์ในหลาย ๆ ด้าน โดยแต่ละด้านนั้น ต่างได้รับความเห็นทั้งที่สอดคล้องกันและแตกต่างกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ด้านโครงเรื่องและแนวการดำเนินเรื่อง มาร์ก สคิลลิง จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ เดอะแจแปนไทม์ส กล่าวว่า “ออลเวย์สไม่ต่างอะไรจากภาพยนตร์แนวประโลมโลก (melodrama) ทั่วไป แต่ที่ทำให้มันโดดเด่นกว่า คือทุกโครงเรื่องในหนังสามารถเข้ากันได้อย่างกลมกลืน”[9] เช่นเดียวกับ จอช รัลสค์ นักวิจารณ์จากเว็บไซต์ ออลมูวีฟ์ไกด์ดอตคอม ที่กล่าวในทำนองเดียวกันว่า “แม้ ออลเวย์สจะมีโครงเรื่องและลักษณะตัวละครที่ไม่ได้แปลกใหม่หรือมีความเฉพาะตัวแต่อย่างใด แต่มันก็เป็นภาพยนตร์แนวประโลมโลกที่มีประสิทธิภาพ”[10] ทางด้านนักวิจารณ์ชาวไทย ธาตรี ช่างเหล็ก ได้เขียนเกี่ยวกับแนวเรื่องของออลเวย์สเอาไว้ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น โคราชรายวัน ว่า “ถนนสายนี้ หัวใจไม่เคยลืม...มาพร้อมกับพลอตเรื่องแบบ feel good เต็มที่ เรื่องราวไม่ได้สลับซับซ้อนแถมยังดำเนินเหตุการณ์ไปตามสูตรเหมือนละคร...แต่ในความเรียบง่ายนั้นมันก็ทำให้ผมคาดไม่ถึง...ไม่คิดว่าหนังจะเล่นกับต่อมน้ำตากันซึ่ง ๆ หน้า”[11]

ด้านบรรยากาศของเรื่อง รัสเซลล์ เอดเวิร์ดส์ จากเว็บไซต์ วาไรอิตีดอตคอม กล่าวว่า “ออลเวย์สสามารถแสดงบรรยากาศที่เปี่ยมด้วยความหวังและแสดงออกในรูปแบบภาพยนตร์ถวิลหาอดีต (nostalgic) ด้วยตัวมันเอง”[12] ซึ่งในประเด็นของความเป็นภาพยนตร์ nostalgic เว็บไซต์ บีอาร์เอ็นเอสดอตคอม ยังกล่าวว่า “สำหรับเนื้อเรื่องแนวถวิลหาอดีตนั้น ภาพยนตร์กระแสหลักจำนวนมากพิสูจน์ให้เห็นว่ามันเป็นแนวเนื้อเรื่องที่สะเทือนอารมณ์ง่ายเกินไป เบาหวิวเกินไป อ่อนเกินไป และคร่ำครึเกินไป แต่สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ (ออลเวย์ส) ฉันกลับตกอยู่ใต้แนวคิดการมองโลกในแง่ดีอันอ่อนหวานของมัน และมันทำให้ฉันหวนกลับไปหาช่วงเวลาธรรมดา ๆ อีกครั้งหนึ่ง”[13] ส่วน นิโคลัส ดริสโคลล์ จากเว็บไซต์ โทโฮคิงดอมดอตคอม ก็กล่าวว่า “โลกที่ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดใจอย่างมาก มันสามารถเรียกความประทับใจเกี่ยวกับความมหัศจรรย์ของบางสิ่งที่ดูจะธรรมดาในปัจจุบัน อย่างโทรทัศน์และตู้เย็น ให้กลับมาอีกครั้ง”[14]

ด้านการถ่ายทำ เอดเวิร์ดส์กล่าวว่า “การถ่ายทำของภาพยนตร์เรื่องนี้มีคุณภาพสูง และสามารถส่งเสริมความสมบูรณ์ให้กับ...กระบวนการออกแบบด้านภาพ (production design) ได้" นอกจากนั้นเขายังกล่าวถึงงานด้านภาพของภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า เป็นภาพที่มีระดับความคมชัดอันน่าประทับใจ จนทำให้ฉากถนนในกรุงโตเกียวเมื่อปี พ.ศ. 2501 กลับมามีชีวิตใหม่ใหม่ได้อย่างสวยงาม[12]

ด้านนักแสดงและการแสดง สคิลลิงกล่าวว่า “นักแสดงเด็กชายทั้งสอง (คะซุกิ โคะชิมิสุ และเค็นตะ ซุงะ) สามารถแสดงได้อย่างเป็นธรรมชาติและมีเสน่ห์ ส่วนการแสดงของผู้ใหญ่ก็มีทั้งความตลกและจริงจังไม่ต่างจากการแสดงที่พบได้ในละครโทรทัศน์[9] ส่วน ดริสโคลล์มีความคิดว่า “แม้ตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้จะแสดงออกอย่างเกินจริง และมักจะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งต่าง ๆ แบบตัวการ์ตูน แต่ลักษณะพิเศษบางอย่างของตัวละครเหล่านี้ก็สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ชมจนเป็นที่จดจำและชวนให้นึกถึง”[14]

ในส่วนของการใช้เทคนิคพิเศษ ที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญอันโดดเด่นของออลเวย์สนั้น รัลสค์กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “ภาพยนตร์เรื่องนี้เปี่ยมด้วยความมหัศจรรย์ทางเทคโนโลยี ที่สามารถนำมาใช้สร้างภาพกรุงโตเกียวยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างซับซ้อนและน่าชื่นชม”[10] ทางด้านเอดเวิร์ดส์ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า “การใช้ซีจีไอที่เชื่อมโยงผสมผสานเข้ากับการแสดงสดและฟุตเตจสำคัญ ๆ ในออลเวย์ส ได้นำภาพกรุงโตเกียวในอดีตกลับมาอย่างยิ่งใหญ่พอสมควร”[12] ส่วนดริสโคลล์ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของการใช้เทคนิคพิเศษในออลเวย์สว่า “บางครั้ง (ซีจีไอที่ใช้) ก็สามารถจับสังเกตได้ง่าย เช่นในฉากสถานีรถไฟ จะเห็นได้ชัดว่าฝูงชนที่อยู่ในฉากนั้นส่วนหนึ่งไม่ใช่คนจริง เพราะพวกเขาเคลื่อนไหวแข็งทื่อเหมือนหุ่นยนต์ ส่วนการเปลี่ยนผ่านพื้นหลังและฉากบางฉากก็ยังไม่น่าเชื่อถือนัก...เป็นที่ชัดเจนว่าซีจีไอของออลเวย์สไม่ได้ดีเท่าภาพยนตร์เทคนิคพิเศษของฮอลลีวูด แต่ก็ยอมรับว่าเป็นการใช้เทคนิคพิเศษที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ”[14]

ด้านความสามารถในการกำกับของทะกะชิ ยะมะซะกิ รัลสค์กล่าวว่า “การใช้กรรมวิธีที่แปลกประหลาดของเขาในฉากบางฉาก ทำให้นึกถึงผลงานของ ชอง-ปิแอร์ เชอเน ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส แต่ถึงแม้ว่ายะมะซะกิจะไม่ได้ริเรื่มสิ่งใหม่ ๆ ในภาพยนตร์ได้เท่าเชอเน และผลงานของเขาก็ยังปรากฏช่องโหว่อยู่ในบางจุด แต่ภาพยนตร์ของเขาก็ยังคงทำหน้าที่ได้ถึงระดับของสารัตถะ”[10] ส่วนวิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา ได้กล่าวไว้ในเว็บไซต์ โอเพ่นออนไลน์ ว่า "เขา (ยะมะซะกิ) ...เล่าเรื่องราวที่เต็มไปด้วยการเร้าอารมณ์ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการให้ความรู้สึกซ้ำซาก น่าเบื่อ แบบหนังสูตร ๆ เรียกน้ำตาที่คนดูรู้ทัน...ได้นุ่มนวล ค่อยๆ ปล่อยให้เรื่องเล่าเร้าอารมณ์ ซึมซับเข้าไปในใจคนดู จนเราอดหลั่งน้ำตา (ทั้งๆ ที่รู้ว่าจงใจบีบคั้น) อย่างไม่ต้องอาย"[2]

ส่วนดนตรีประกอบภาพยนตร์ ที่สร้างโดยนะโอะกิ ซะโตะ นั้น ดริสโคลล์กล่าวว่า “เป็นดนตรีที่มีความหลากหลาย แตกต่างกันไปตามตัวละครแต่ละตัว...ส่วนเพลงประกอบหลักในภาพยนตร์ที่ใช้เสียงของเปียโนและเครื่องดนตรีแนวสตริง ผสมผสานกับดนตรีออร์เคสตรา ก็ส่งผลถึงอารมณ์อันอ่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการใช้เพลงประกอบอย่างสม่ำเสมอ...โดยดนตรีที่ใช้มีหน้าที่ปลุกเร้าอารมณ์ผู้ชมอย่างเห็นได้ชัด แต่นั่นอาจสร้างความรำคาญให้แก่บางคนได้”[14]

นอกจากนั้น ในระดับองค์รวมของภาพยนตร์เรื่องนี้ รัลสค์และเอดเวิร์ดส์ ต่างเห็นพ้องกันกว่า ออลเวย์สมีความคล้ายคลึงกับภาพยนตร์ของยะซุจิโร โอะสุ (พ.ศ. 24462506) ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของญี่ปุ่น โดยรัลสค์กล่าวว่า “เนื้อเรื่องของมุสึโกะ สาวบ้านนอกผู้เดินทางมาแสวงโชคในเมือง และมีปัญหากับครอบครัวซุซุกิในช่วงแรกนั้น ทำให้เราได้สัมผัสถึงสภาพแวดล้อมทางสังคมในภาพยนตร์ของโอะสุ”[10] ส่วนเอดเวิร์ดกล่าวว่า “การอ้างอิงถึงวัฒนธรรมและการแสดงที่เต็มไปด้วยความตลก (ของออลเวย์ส) ทำให้นึกถึงภาพยนตร์เรื่อง กู๊ดมอร์นิง (พ.ศ. 2502) ของโอะสุ และ คาร์เมนคัมส์โฮม (พ.ศ. 2494) ของเคซุเกะ คิโนะชิเตะ[12]

การเข้าฉายและรายได้[แก้]

ออลเวย์สเข้าฉายในประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2548[15] ด้วยจำนวนโรงฉาย 271 โรง โดยสามารถเปิดตัวบนบอกซ์ออฟฟิซของญี่ปุ่น ด้วยอันดับที่ 2 รองจากเรื่อง The Brothers Grimm พร้อมกับรายได้ 1,844,651 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 218 ล้านเยน ต่อมา สามารถทำรายได้ขึ้นสู่อันดับที่ 1 เป็นเวลาสองสัปดาห์ติดต่อกัน (12 - 20 พ.ย. 2548) รายได้รวมทั้งหมดของออลเวย์สอยู่ที่ 19,504,733 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.5 พันล้านเยน ด้วยยอดจำหน่ายตั๋วมากกว่า 2 ล้านใบในญี่ปุ่น[16][17]

ในส่วนของต่างประเทศ ออลเวย์สเข้าฉายในประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2549[15] แบบจำกัดโรงฉาย ที่โรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ (ลิโดและสยาม) และเฮาส์ และเข้าฉายในไต้หวัน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2550[15] ด้วยจำนวนโรงฉาย 5 โรง โดยสามารถทำรายได้ติดอันดับที่ 7 บนบอกซ์ออฟฟิซของไต้หวัน ด้วยรายได้สัปดาห์แรก 22,814 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.5 แสนดอลลาร์ไต้หวันใหม่[18]

นอกจากนั้น ออลเวย์สยังได้รับเชิญให้ไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ต่าง ๆ เช่น เทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น ครั้งที่ 10 ประจำปี พ.ศ. 2549 (เครือรัฐออสเตรเลีย, ซึ่งออลเวย์สได้รับเกียรติให้เป็นภาพยนตร์ฉายเปิดเทศกาลนี้) [19] เทศกาลภาพยนตร์เอเชียซานดิเอโก ครั้งที่ 7 ประจำปี พ.ศ. 2549[20] เทศกาลภาพยนตร์ "แจแปนิสเคอร์เรนต์สนิวซิเนมา"[21] เทศกาลภาพยนตร์เอเชียนิวยอร์ก ประจำปี พ.ศ. 2549[22] เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติฮาวาย[23] เทศกาลภาพยนตร์นิวพอร์ตบีช ประจำปี พ.ศ. 2550[5] (สหรัฐอเมริกา) และเทศกาลภาพยนตร์แฟนเทเชีย ประจำปี พ.ศ. 2550 (ประเทศแคนาดา) [24] เป็นต้น

ตารางแสดงอันดับบนบอกซ์ออฟฟิซญี่ปุ่น[แก้]

สัปดาห์ที่ ช่วงเวลา
(พ.ศ. 2548)
อันดับในบอกซ์ออฟฟิซ[16] รายได้ประจำสัปดาห์
(ดอลลาร์สหรัฐ)
รายได้รวม
(ดอลลาร์สหรัฐ)
จำนวนโรงฉาย
(โรง)
1 5 - 6 พ.ย. 2 1,844,651 1,844,651 271
2 12 - 13 พ.ย. 1 1,849,722 5,687,377 270
3 19 - 20 พ.ย. 1 1,658,983 9,430,658 270
4 26 - 27 พ.ย. 2 1,421,332 13,371,003 269
5 3 - 4 ธ.ค. 3 1,295,541 16,115,234 270
6 10 - 11 ธ.ค. 6 851,578 18,288,261 254
7 17 - 18 ธ.ค. 8 275,811 19,504,733 182

ตารางแสดงอันดับบนบอกซ์ออฟฟิซไต้หวัน[แก้]

สัปดาห์ที่ ช่วงเวลา
(พ.ศ. 2550)
อันดับในบอกซ์ออฟฟิซ[25] รายได้ประจำสัปดาห์
(ดอลลาร์สหรัฐ)
รายได้รวม
(ดอลลาร์สหรัฐ)
จำนวนโรงฉาย
(โรง)
1 24 - 25 มี.ค. 7 22,814 22,814 5
2 31 มี.ค. - 1 เม.ย. 8 15,032 60,882 5
3 7 - 8 เม.ย. 11 6,365 81,348 3
4 14 - 15 เม.ย. 15 2,866 88,297 3
5 22 - 22 เม.ย. 22 2,209 92,201 3
6 28 - 29 เม.ย. 25 1,093 95,217 2
7 5 - 6 พ.ค. 17 1,195 97,301 1

รางวัลที่ได้รับ[แก้]

ออลเวย์สได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ดีเด่นสาขาต่าง ๆ จาก 8 รายการด้วยกัน โดยแบ่งเป็นรายการภายในญี่ปุ่น 7 รายการ และรายการระดับนานาชาติ 1 รายการ โดยรายการภายในประเทศที่ประสบความสำเร็จที่สุด คือ รางวัลแจแปนิส อคาเดมี ประจำปี พ.ศ. 2548 ที่ได้รับการเสนอชื่อ 14 สาขา และได้รับรางวัลทั้งสิ้น 12 สาขา ส่วนสาขาที่ประสบความสำเร็จที่สุด คือ สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (ฮิโระโกะ ยะกุชิมะรุ) ที่ได้รับรางวัลจากรายการต่าง ๆ ทั้งสิ้น 6 รางวัลด้วยกัน[26]

ส่วนรางวัลระดับนานาชาติที่ได้รับ คือ รางวัลฟิล์มพรีเซนเต็ด จากเทศกาลภาพยนตร์นิวพอร์ตบีช ประจำปี พ.ศ. 2550[5] และรางวัลออเดียนซ์อวอร์ด จากเทศกาลภาพยนตร์เอเชียนิวยอร์ก[27]

นอกจากนั้น ในประเทศไทย ออลเวย์สยังได้รับการเสนอชื่อจากสมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอตคอม โต๊ะเฉลิมไทย ให้เข้าชิงรางวัลเฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2550 4 สาขาด้วยกัน โดยสาขาที่ชนะรางวัล คือ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทภาพยนตร์ฉายแบบจำกัดโรง

ตารางแสดงผลรางวัลที่ได้รับการเสนอชื่อ[แก้]

รางวัล สาขารางวัล ผู้ได้รับการเสนอชื่อ ผล
งานประกาศรางวัลแจแปนนิสอคาเดมี (พ.ศ. 2549)
รางวัลแจแปนนิสอคาเดมี ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้รับรางวัล
ผู้กำกับยอดเยี่ยม ทะกะชิ ยะมะซะกิ
นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ฮิเดะตะกะ โยะชิโอะกะ
นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม โคะยุกิ ได้รับการเสนอชื่อ
นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ชินอิจิ สึสึมิ ได้รับรางวัล
นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ฮิโระโกะ ยะกุชิมะรุ
บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ทะกะชิ ยะมะซะกิ และเรียวตะ โคะซะวะ
กำกับภาพยอดเยี่ยม โคะโสะ ชิมะซะกิ
ลำดับภาพยอดเยี่ยม ริวจิ มิยะจิมะ
กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม อันริ โจโจะ
ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม นะโอะกิ ซะโตะ
กำกับเสียงยอดเยี่ยม ฮิโตะชิ สึรุมะกิ
กำกับแสงยอดเยี่ยม เค็นอิจิ มิซุโนะ
นักแสดงดาวรุ่งแห่งปี มะกิ โฮะริกิตะ ได้รับการเสนอชื่อ
งานประกาศรางวัลบลูริบบอน (พ.ศ. 2549)
รางวัลบลูริบบอน นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ฮิโระโกะ ยะกุชิมะรุ ได้รับรางวัล
งานประกาศรางวัลภาพยนตร์โฮะจิ (พ.ศ. 2548)
รางวัลภาพยนตร์โฮะจิ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ทะกะชิ ยะมะซะกิ ได้รับรางวัล
นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ชินอิจิ สึสึมิ
นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ฮิโระโกะ ยะกุชิมะรุ
งานประกาศรางวัลคิเนะมะจุมโปะ (พ.ศ. 2549)
รางวัลคิเนะมะจุมโปะ นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ชินอิจิ สึสึมิ ได้รับรางวัล
นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ฮิโระโกะ ยะกุชิมะรุ
รางวัลรีดเดอร์สชอยซ์ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ทะกะชิ ยะมะซะกิ
ไมนิจิฟิล์มคอนเคอร์ส (พ.ศ. 2549)
รางวัลไมนิจิฟิล์มคอนเคอร์ส กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม อันริ โจโจะ ได้รับรางวัล
กำกับภาพยอดเยี่ยม โคะโสะ ชิมะซะกิ
รางวัลด้านเทคนิค ทีมงานวิชวลเอฟเฟคต์
รางวัลรีดเดอร์สชอยซ์ ภาพยนตร์ญี่ปุ่นยอดเยี่ยม
งานประกาศรางวัลภาพยนตร์นิกกังสปอร์ต (พ.ศ. 2548)
รางวัลอิชิฮะระ ยุจิโระ ได้รับรางวัล
รางวัลภาพยนตร์นิกกังสปอร์ต นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ชินอิจิ สึสึมิ
นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ฮิโระโกะ ยะกุชิมะรุ
เทศกาลภาพยตร์โยะโกะฮะมะ (พ.ศ. 2548)
รางวัลเฟสติวัลไพรซ์ นักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยม มะกิ โฮะริกิตะ ได้รับรางวัล
นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ฮิโระโกะ ยะกุชิมะรุ
เทคนิคยอดเยี่ยม ทะกะชิ ยะมะซะกิ
เทศกาลภาพยนตร์นิวพอร์ตบีช (พ.ศ. 2550)
รางวัลฟิล์มพรีเซนเต็ด ได้รับรางวัล
เทศกาลภาพยนตร์เอเชียนิวยอร์ก
รางวัลออเดียนซ์อวอร์ด ได้รับรางวัล
เฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 4 (พ.ศ. 2550)
รางวัลเฉลิมไทยอวอร์ด บทภาพยนตร์ต่างประเทศแห่งปี ได้รับการเสนอชื่อ
ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทภาพยนตร์ฉายแบบจำกัดโรง ได้รับรางวัล
งานภาพในภาพยนตร์แห่งปี ได้รับการเสนอชื่อ
งานศิลป์ในภาพยนตร์แห่งปี

ดีวีดีบ๊อกซ์เซ็ต[แก้]

ชุดสินค้าดีวีดีแบบบ๊อกซ์เซ็ตของออลเวย์ส วางจำหน่ายในญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549[28] ภายในประกอบด้วย[29]

  • ดีวีดีภาพยนตร์ ถนนสายนี้ หัวใจไม่เคยลืม บันทึกด้วยระบบเอ็นทีเอสซี (เรเจียน 2) มาตรฐาน อัตราส่วนภาพ 2.35:1 บันทึกเสียงด้วยระบบแจแปนิสดอลบีดิจิตอล 2.0, 5.1 เซอร์ราวนด์ และ 5.1 ดีทีเอส[30]
  • ดีวีดีพิเศษ ภายในบรรจุสารคดีการสร้างภาพยนตร์ออลเวยส์ ฉากพิเศษในภาพยนตร์ รวมถึงการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกในภาพยนตร์ และภาพยนตร์บันทึกการสร้างหอคอยโตเกียวที่มีผู้บันทึกเอาไว้เมื่อคริสต์ทศวรรษที่ 1950
  • สมุดรวมภาพเบื้องหลังการถ่ายทำ ภายในมีทั้งหมด 129 หน้า บรรจุภาพการสร้างออลเวย์ส การใช้คอมพิวเตอร์กราฟิก ข้อมูลของกรุงโตเกียวในคริสต์ทศวรรษที่ 1950 ที่นำมาใช้ในการสร้างภาพยนตร์ รวมถึงนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่ตัวละครจุนโนะซุเกะประพันธ์ไว้ในภาพยนตร์ เป็นต้น
  • ซีดีรอมมัลติมีเดีย บันทึกด้วยระบบแฟลชและเอชทีเอ็มแอล ภายในบรรจุรายละเอียดเบื้องหลังของนักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์ และไฟล์เพลงประกอบภาพยนตร์แบบเอ็มพี 3
  • กล้องสามมิติขนาดเล็ก ใช้สำหรับชมภาพสามมิติที่แถมมาให้ในกล่อง
  • โปสการ์ด บรรจุภาพตัวละครในภาพยนตร์ เช่น ภาพครอบครัวซุซุกิ ริวโนะซุเกะ จะงะวะ และฮิโระมิ อิชิซะกิ เป็นต้น

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Always: Sunset on Third Street - เรื่องย่อ. www.siamzone.com. เรียกข้อมูล 24 กุมภาพันธ์ 2551
  2. 2.0 2.1 2.2 วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา. ALWAYS SUNSET ON THIRD STREET ถวิลหาสายัณห์. www.onopen.com. เรียกข้อมูล 9 เมษายน 2551
  3. Always: Sunset on Third Street. www.tohokingdom.com. เรียกข้อมูล 9 เมษายน 2551 (อังกฤษ)
  4. Always: Sunset on Third Street (Box Office Report). www.tohokingdom.com. เรียกข้อมูล 10 เมษายน 2551 (อังกฤษ)
  5. 5.0 5.1 5.2 Always - Sunset on Third Street[ลิงก์เสีย]. www.allmovie.com. เรียกข้อมูล 8 เมษายน 2551 (อังกฤษ)
  6. Miyuki Kondo. In Sight: Nostalgic sequel has a sure way with the past. www.asahi.com. เรียกข้อมูล 2 พฤษภาคม 2551 (อังกฤษ)
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 Michi Kaifu. Takashi Yamazaki’s new success formula in “Always.” เก็บถาวร 2008-04-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน www.hogacentral.com (June 20, 2006.) เรียกข้อมูล 23 เมษายน 2551 (อังกฤษ)
  8. ตามความเป็นจริง มังงะเรื่องนี้มีทั้งหมด 54 ชุด ดู "三丁目の夕日 夕焼けの詩[ลิงก์เสีย]," ビッグコミックス. www.s-book.com. เรียกข้อมูล 23 เมษายน 2551 (ญี่ปุ่น)
  9. 9.0 9.1 Mark Schilling. Golden days on silver screen. japantimes.co.jp (November 4, 2005.) เรียกข้อมูล 9 พฤษภาคม 2551 (อังกฤษ)
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 Josh Ralske. Always - Sunset on Third Street: Review. www.allmovieguide.com. เรียกข้อมูล 9 พฤษภาคม 2551 (อังกฤษ)
  11. ธาตรี ช่างเหล็ก. ถนนสายนี้ หัวใจไม่เคยลืม เก็บถาวร 2008-01-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. หนังสือพิมพ์โคราชรายวัน (ปีที่ 30 ฉบับที่ 1631, 14 กันยายน 2549.)
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 Russell Edwards. Always - Sunset on Third Street. www.variety.com (November 21, 2005.) เรียกข้อมูล 9 พฤษภาคม 2551 (อังกฤษ)
  13. Always, Sunset on Third Street (Always--3-chome no Yuhi.) www.brns.com. เรียกข้อมูล 9 พฤษภาคม 2551 (อังกฤษ)
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 Nicholas Driscoll. Always: Sunset on Third Street (Review.) www.tohokingdom.com. เรียกข้อมูล 9 พฤษภาคม 2551 (อังกฤษ)
  15. 15.0 15.1 15.2 Release dates for Always san-chôme no yûhi (2005.) www.imdb.com. เรียกข้อมูล 17 เมษายน 2551 (อังกฤษ)
  16. 16.0 16.1 Japan Box Office: Index, 2005. boxofficemojo.com (เรียกข้อมูล 12 เม.ย. 2551.) (อังกฤษ)
  17. Michi Kaifu. Interview with Takashi Yamazaki, director of "Always - Sunset on Third Street". www.dmc.keio.ac.jp (September 26, 2006.) เรียกข้อมูล 11 เมษายน 2551 (อังกฤษ)
  18. Taiwan Box Office: March 24–25, 2007. boxofficemojo.com. เรียกข้อมูล 17 เมษายน 2551 (อังกฤษ)
  19. Film List เก็บถาวร 2008-04-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. 10thjff.jpf-sydney.org. เรียกข้อมูล 2 มิถุนายน 2551 (อังกฤษ)
  20. Jessica Chang. Ode to Bygone Era Earns Every Chuckle and Tear เก็บถาวร 2008-12-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. www.sdaff.org. เรียกข้อมูล 2 มิถุนายน 2551 (อังกฤษ)
  21. Event: "Japanese Currents New Cinema" Film Festival May 3-6, 2007[ลิงก์เสีย]. www.pdx.edu. เรียกข้อมูล 3 มิถุนายน 2551 (อังกฤษ)
  22. New York Asian Film Festival 2006 : New generation of Japanese films. www.dmc.keio.ac.jp. เรียกข้อมูล 3 มิถุนายน 2551 (อังกฤษ)
  23. HawaiiWood[ลิงก์เสีย]. www.midweek.com. เรียกข้อมูล 3 มิถุนายน 2551 (อังกฤษ)
  24. Always: Sunset on Third Street เก็บถาวร 2008-06-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. www.fantasiafestival.com. เรียกข้อมูล 3 มิถุนายน 2551 (อังกฤษ)
  25. Taiwan Box Office Index: 2007. boxofficemojo.com. เรียกข้อมูล 22 เมษายน 2551 (อังกฤษ)
  26. Awards for Always san-chôme no yûhi (2005). www.imdb.com. เรียกข้อมูล 8 เมษายน 2551 (อังกฤษ)
  27. NTV: Feature Films เก็บถาวร 2006-07-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. www.ntv.co.jp/english. เรียกข้อมูล 24 เมษายน 2551 (อังกฤษ)
  28. ALWAYS 三丁目の夕日. www.vap.co.jp. เรียกข้อมูล 9 มิถุนายน 2551 (ญี่ปุ่น)
  29. "Always: Sanchome no yuhi" DVD edition surprises เก็บถาวร 2008-06-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. www.hanamiweb.com (August 18, 2006.) เรียกข้อมูล 9 มิถุนายน 2551 (อังกฤษ)
  30. Always - Sunset on Third Street. www.dvdtimes.co.uk (July 29, 2006.) เรียกข้อมูล 10 มิถุนายน 2551 (อังกฤษ)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]