อาณาจักรอาหม
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
อาณาจักรอาหม আহোম ৰাজ্য เมืองนุนสุนคำ | |
---|---|
ค.ศ. 1228–ค.ศ. 1826 | |
แผนที่อาณาจักรอาหมประมาณ ค.ศ. 1826 (สีเขียว) | |
สถานะ | ราชอาณาจักร |
เมืองหลวง | เจ้รายดอย[1] จรากุรา เจ้หุง[2] เจ้ม่วน[3] |
ภาษาทั่วไป | ภาษาอัสสัม, ภาษาอาหม |
การปกครอง | สมบูรณาญาสิทธิราชย์ |
พระมหากษัตริย์ | |
เจ้าหลวงเสือก่าฟ้า | |
เจ้าฟ้าเสือดำมา | |
เจ้าเสือเดือนฟ้า | |
ประวัติศาสตร์ | |
• สถาปนาอาณาจักร | ค.ศ. 1228 |
• ดินแดนอาณัติของพม่า | ค.ศ. 1821 |
• ดินแดนอาณัติของสหราชอาณาจักร | ค.ศ. 1822 |
• รวมเข้ากับบริติชราช | ค.ศ. 1826 |
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | เป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดีย |
อาณาจักรอาหม (อัสสัม: আহোম ৰাজ্য; อาโหมะ ราชยะ; อังกฤษ: Ahom Kingdom) บ้างเรียก อาณาจักรอัสสัม (Kingdom of Assam)[4] มีชื่อในภาษาอาหมว่า เมืองถ้วนสวนคำ[5] หรือ เมืองนุนสุนคำ (Mioung Dun Sun Kham)[6] ไทใหญ่เรียกว่า เวสาลีโหลง[5] เป็นรัฐรุ่นเดียวกับอาณาจักรสุโขทัย เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 1771 นำโดยเจ้าหลวงเสือก่าฟ้า ปฐมกษัตริย์ หลังจากที่ต้องอพยพเดินทางทั้งยังทำการต่อสู้และย้ายถิ่นตลอด 38 ปี จึงได้วางรากฐานอาณาจักรอาหม โดยตั้งราชธานีที่เจ้รายดอย (หรือ จรวยเทพ)[1] ในช่วงแรกที่ได้ตั้งอาณาจักรอาหมขึ้นมีการต่อสู้กับชนชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ซึ่งเป็นชนพื้นเมือง
ยุคแรกของอาณาจักรอาหม
[แก้]อาณาจักรอาหมที่ตั้งขึ้นครั้งแรกเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ เพราะมักมีการอพยพย้ายถิ่นฐาน ซึ่งเวลาอพยพนั้นตำนานให้ตัวเลขเพียง 9,000 คน รวมผู้หญิงและเด็ก ซึ่งคาดได้ว่าอีก 38 ปีภายหลัง จำนวนประชากรทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นจากผู้อพยพเดิม ก็ยังคงไม่ถึง 20,000 คน
การต่อสู้ของชาวอาหม
[แก้]อาณาจักรอาหมดำรงอยู่ได้มากว่า 260 ปี ซึ่งในช่วงเวลาระหว่างนี้มีประชากรเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากที่เป็นชาวป่าชาวเขาในท้องถิ่นเดิม และทั้งที่อพยพมาอีก นับได้ว่าอาณาจักรอาหมมีความมั่นคง แต่ประมาณปี พ.ศ. 2070 อาณาจักรอาหมได้พบกับศัตรูร้ายกาจ นั่นคือจักรวรรดิโมกุล ในเบื้องต้นอาหมทำการต่อสู้ต้านทาน การรุกรานจึงไม่รุนแรงนัก และได้เงียบหายไปเป็นครั้งคราว เมื่อ พ.ศ. 2150 การรุกรานเริ่มหนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้น และกลายเป็นสงครามที่ต่อเนื่องและยาวนานถึง 175 ปี ประวัติศาสตร์อาหมในตอนนี้ถือเป็นยุคของ สงครามโมกุล ในที่สุด สงครามได้สิ้นสุดในปี พ.ศ. 2225 โดยที่พวกโมกุลไม่สามารถเอาชนะอาหมได้ จึงต้องมีการทำการตกลงปักปันดินแดนเป็นการแน่นอนแล้วเลิกรบกันไป
ความเจริญของอาณาจักรอาหม
[แก้]จากข้อเขียนของฟาติยะ อิบริยา ซึ่งติดตามไปกับกองทัพอิสลามเขียนบรรยายราชธานีครหคาออน ไว้ดังนี้
เมืองครหคาออน มีประตูเมือง 4 ประตู สร้างด้วยหินและปูนขาว มีถนนพูนดินสูง กว้าง และมั่นคงอยู่รอบเมือง สะดวกแก่การสัญจรไปมา สองฝั่งของแม่น้ำทิขุมีอาคารบ้านเรือนใหญ่โต ถนนที่ผ่านไปในตลาดแคบ และมีพ่อค้าขายหม้อขายกระทะเท่านั้น ไม่ขายของกินเช่นตลาดของเรา เพราะแต่ละบ้านตุนอาหารไว้กินตลอดปี
ตัวเมืองแออัดไปด้วยหมู่บ้าน ภายในเขตพระราชวังมีอาคารสูงและโอ่โถงอยู่หลายหลัง ท้องพระโรงยาว 120 ศอก (60 เมตร) กว้าง 30 ศอก (15 เมตร) มีเสา 66 ต้น แต่ละต้นหนา 4 ศอก เสาเหล่านี้แม้จะใหญ่แต่ก็เกลี้ยงเกลา เครื่องตกแต่งและความวิจิตรของท้องพระโรงนี้ อยู่เหนือคำบรรยายใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่มีอาคารใดในโลกจะเปรียบได้ในเรื่องความมั่นคงแข็งแรง และความงดงามแห่งรูปภาพและของท้องพระโรง กล่าวกันว่าต้องใช้คนงานสองหมื่นสองพันคน
ความยุ่งยากและการล่มสลาย
[แก้]ภายหลังต่อต้านการรุกรานของพวกโมกุลอย่างทรหด ก็ได้เกิดการขัดแย้งภายในเอง ข้างต้นเริ่มยุ่งยากกับหมู่ชนต่าง ๆ และการแตกสามัคคีกันภายใน จนต้องขออาศัยการช่วยเหลือจากสหราชอาณาจักรที่มาปกครองอินเดีย สหราชอาณาจักรไม่อยากเกี่ยวข้องกับอาณาจักรอาหม พยายามให้อาหมแก้ปัญหาด้วยตนเองโดยสหราชอาณาจักรไม่ต้องไปเกี่ยวข้อง แต่อาหมก็ขอร้องให้สหราชอาณาจักรมาแทรกแซงอยู่เรื่อยมา
ภายใต้การปกครองอาณัติแห่งพม่า และการตกเป็นดินแดนบริติชอินเดีย
[แก้]เมื่ออาหมอยู่ภายใต้การปกครองอาณัติแห่งพม่า สหราชอาณาจักรจึงต้องเข้าช่วยอาหมให้พ้นจากการปกครองของพม่า วิธีเดียวที่จะช่วยอาหมได้คือต้องให้อาหมเป็นอยู่ภายใต้การอารักขาของสหราชอาณาจักรโดยตรงตั้งแต่ พ.ศ. 2385 เมื่ออินเดียเป็นเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อาหมก็ถูกรวมอยู่กับอินเดีย
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม, หน้า 35
- ↑ การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม, หน้า 81
- ↑ การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม, หน้า 34
- ↑ Wade, Dr John Peter, (1805) "A Geographical Sketch of Assam" in Asiatic Annual Register, reprinted (Sharma 1972, p. 341)
- ↑ 5.0 5.1 จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:ชนนิยม. 2556, หน้า 126
- ↑ การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม, หน้า 66
- ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และเรณู วิชาศิลป์. การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:สร้างสรรค์, 2552 ISBN 978-974-9936-15-3