ข้ามไปเนื้อหา

2022 สึนามิ วันโลกสังหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
2022 สึนามิ วันโลกสังหาร
กำกับทรนง ศรีเชื้อ
เขียนบททรนง ศรีเชื้อ
อำนวยการสร้างทรนง ศรีเชื้อ
นักแสดงนำพิศาล ศรีมั่นคง
สิรินดา เจนเซ่น
ภาณุเดช วัฒนสุชาติ
สุเชาว์ พงษ์วิไล
ชุมพร เทพพิทักษ์
ชลิต เฟื่องอารมย์
นิชาภา ประกรณ์กิจวัฒนา
ปริญญา วงษ์ศิลป์
ธนายง ว่องตระกูล
ดนตรีประกอบSave The Earth โดย หฤทัย ม่วงบุญศรี
ผู้จัดจำหน่ายทเว็นตี้จูน เอนเตอร์เทนเมนท์
วันฉาย28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 (เลื่อนมาจาก 30 เมษายน ปีเดียวกัน)
ประเทศไทย ไทย
ภาษาไทย
ทุนสร้าง160 ล้านบาท
ทำเงิน3.7 ล้านบาท
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากสยามโซน

2022 สึนามิ วันโลกสังหาร (อังกฤษ: 13-04-2022 Tsunami[1]) เป็นภาพยนตร์ไทยที่เข้าฉายในวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 นำแสดงโดย พิศาล ศรีมั่นคง, สิรินดา เจนเซ่น, ภาณุเดช วัฒนสุชาติ, สุเชาว์ พงษ์วิไล, ชุมพร เทพพิทักษ์, ชลิต เฟื่องอารมย์, นิชาภา ประกรณ์กิจวัฒนา, ปริญญา วงษ์ศิลป์ อำนวยการสร้าง, บทภาพยนตร์และกำกับการแสดงโดย ทรนง ศรีเชื้อ

คำโปรย

[แก้]
  • มนุษย์ทำร้ายโลกมานาน ใกล้ถึงเวลาโลกทวงแค้นจากเรา

เนื้อเรื่อง

[แก้]

หลังจากเหตุการณ์สึนามิในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์เอลนีโญ, ลานีญา, ทุพภิกขภัย, อุทกภัย, แผ่นดินไหวนับครั้งไม่ถ้วนและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

ในปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีหนุ่ม ไตรภพ (ภาณุเดช วัฒนสุชาติ) ได้ออกพระราชกำหนดฉุกเฉินจัดอันดับความรุนแรงของภัยพิบัติและวางแผนการเตือนภัย โดยจัดตั้ง "ศูนย์เตือนภัยภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย" ภายใต้การดูแลของ ด๊อกเตอร์สยาม (สุเชาว์ พงษ์วิไล) ซึ่งมีหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไฟแรงสามคน คือ ภูเก็ต (พิศาล ศรีมั่นคง) ซินดี้ (สิรินดา เจนเซ่น) และ พีพี (นิชาภา ประกรณ์กิจวัฒนา) ทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันด้วยอุดมการณ์รักธรรมชาติอันมุ่งมั่นทั้งสามคนทำงานกันอย่างสนิทสนมเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน

นายกรัฐมนตรีไตรภพเชื่อถือและเชื่อมั่นการคาดการณ์ภัยพิบัติของ ดร.สยาม อย่างมาก แต่ด้วยลักษณะของภัยธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดแผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์สึนามินั้นไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และที่ไหน ด้วยเหตุนี้ทำให้ ดร.สยาม คำนวณการเกิดแผ่นดินไหวที่มีผลต่อชีวิตประชาชนผิดพลาด สร้างความตระหนกให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ เขาจึงถูกกดดันอย่างหนักจาก สมชาติ (ชลิต เฟื่องอารมย์) หัวหน้าพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล

เมื่อมีการเตือนภัยครั้งต่อมา ดร.สยาม รู้ตัวดีว่าเขาคือตัวแปรสำคัญของความน่าเชื่อถือและอนาคตทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีไตรภพ และไตรภพ ก็ต้องเลือกระหว่างลาภยศสรรเสริญ กับ ชีวิตของประชาชนทั้งประเทศที่เขาเป็นผู้นำ

เบื้องหลังและการถูกวิพากษ์วิจารณ์

[แก้]

ยังไม่ทันที่ภาพยนตร์จะได้ออกฉาย แต่กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงภาพโปสเตอร์ว่าไม่เหมาะสม เพราะเป็นภาพของศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิ จำนวน 15 ศพ ที่กำลังอยู่ในสภาพขึ้นอืดนอนเรียงรายอยู่ริมชายหาด บางรายอยู่ในสภาพไม่มีเสื้อผ้าห่อหุ้มร่างกาย สามารถมองเห็นอวัยวะเพศ ซึ่งภาพนี้เป็นคัตเอ้าท์ที่ด้านข้างอาคารพาณิชย์ 5 ชั้น บริเวณทางขึ้นทางด่วนหัวลำโพง[2]

เป็นภาพยนตร์จากการกำกับและเขียนบทโดย ทรนง ศรีเชื้อ ผู้กำกับที่ได้ชื่อว่าผู้กำกับจอมซาดิสต์ ที่มีชื่อเสียงมาจากภาพยนตร์แนวอีโรติค เป็นภาพยนตร์ในแนววิทยาศาสตร์และพิบัติภัยด้วยทุนสร้าง 160 ล้านบาท เป็นเรื่องแรกของไทย ใช้เวลาถ่ายทำนาน 3 ปี โดยเป็นการถ่ายทำในสตูดิโอเป็นหลัก โดยมีการสร้างสตูดิโอสำหรับถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเฉพาะขึ้นที่บริเวณเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งทาง ทรนง ศรีเชื้อ ผู้สร้างและผู้กำกับหวังจะให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต [3] อีกทั้งเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกด้วยที่กำหนดบทให้นายกรัฐมนตรีเป็นตัวละครเอกและมีบทบาทสำคัญในเรื่อง[4] นอกจากนี้แล้วตัวละครสำคัญอย่าง ดร.สยาม ที่รับบทโดย สุเชาว์ พงษ์วิไล ยังได้แบบอย่างมาจากบุคคลที่มีตัวตนจริง คือ สมิทธ ธรรมสโรช อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ผู้ที่เคยทำนายล่วงหน้าถึงเหตุการณ์สึนามิเมื่อปลายปี พ.ศ. 2547 แต่ไม่มีใครเชื่อ[5]

อย่างไรก็ตาม เมื่อภาพยนตร์เข้าฉาย 4 วันแรก ทำรายได้เพียงแค่ 2 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้ ทรนง ศรีเชื้อ ผู้สร้างและผู้กำกับเครียดจนถึงพยายามจะฆ่าตัวตายโดยอ้างว่า ลงทุนและตั้งใจกับภาพยนตร์เรื่องนี้มากเพื่อที่จะเตือนภัยคนกรุงเทพฯ แต่กลับไม่มีใครสนใจ แต่บางส่วนก็เชื่อว่าเป็นความพยายามที่จะสร้างกระแสเพื่อโปรโมต [6][7]

โดยรวมแล้ว ภาพยนตร์ทำรายได้ไปทั้งหมด 3.7 ล้านบาท[8]

หน้าปกดีวีดี

ต่อมา ในต้นปี พ.ศ. 2553 ได้มีการฟ้องร้องเรื่องการว่าจ้างให้โฆษณาภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้น เมื่อฝ่ายที่ถูกทรนงว่าจ้างให้โฆษณาภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดเผยว่า ได้รับเงินค่าจ้างยังไม่ครบ เมื่อนำเช็คที่ทางทรนงจ่ายให้ไปก่อนไปขึ้นเงิน ก็ปรากฏว่าเช็คเด้ง จึงออกมาฟ้องร้อง[9]

ในส่วนของการออกเป็นวีซีดีและดีวีดีได้ออกมาเมื่อกลางปี พ.ศ. 2552 โดย บริษัท เอ็มวีดี จำกัด

และได้ฉายออกอากาศทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก ในรายการหนังดังวันพุธทางช่อง 7 เมื่อวันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เวลา 23.00 น.[10]

อ้างอิง

[แก้]
  1. [1] จากสยามโซน (ไทย)
  2. โวยประจานเหยื่อสึนามิ โปรโมตหนัง อุจาดศพเปลือยอืด
  3. ทรนงภูมิใจทำ2022สึนามิฯไม่ใช่หนังตลาด สื่อถึง[ลิงก์เสีย]
  4. บทสัมภาษณ์จากเว็บไซต์กะปุก
  5. 2022 Tsunami / 2022 สึนามิ วันโลกสังหาร[ลิงก์เสีย]
  6. [https://web.archive.org/web/20090605064533/http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A7929502/A7929502.html เก็บถาวร 2009-06-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน “ทรนง” คิดสั้นฆ่าตัวตาย หนัง “สึนามิฯ” ไม่เปรี้ยง ความคิดเห็นจากเว็บไซต์พันทิป]
  7. [https://web.archive.org/web/20121224113310/http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9520000061957 เก็บถาวร 2012-12-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ฟัง “ทรนง” เปิดใจถึงมรสุมชีวิตที่เป็นเหตุให้อยากลาโลก “จริง” หรือ “โปรโมต” หนัง ข่าวจากเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์]
  8. หนังไทยไตรมาสสี่ เก็บถาวร 2009-10-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน deknang.com
  9. "ความ "ทรนง ศรีเชื้อ" เบี้ยวค่าโปรโมทหนัง คู่กรณียันเดินหน้าฟ้องแพ่งเมินไกล่เกลี่ย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-24. สืบค้นเมื่อ 2010-02-03.
  10. จากเว็บไซต์รายการช่อง 7

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]