โรงเรียนกฎหมาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระรูปพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผู้ทรงสถาปนาโรงเรียนกฎหมาย ประดิษฐาน ณ อาคารสำนักงานศาลยุติธรรม

โรงเรียนกฎหมาย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2440 โดยพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม (ฐานันดรศักดิ์และตำแหน่งขณะนั้น) เพื่อให้การศึกษาอบรมด้านนิติศาสตร์โดยเฉพาะ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน อย่างไรก็ดี แม้ครั้งนั้นมีสถานะเป็นแต่โรงเรียน อันมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ แต่ก็มีประกาศของโรงเรียน เกี่ยวกับกำหนดการสอบไล่ของนักเรียนกฎหมาย ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา อันเป็นหนังสือพิมพ์ข่าวราชการด้วย[ต้องการอ้างอิง] สำหรับที่ตั้งของโรงเรียนกฎหมาย ได้แก่ห้องเสวยของเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ซึ่งอยู่ถัดจากห้องทรงงาน[ต้องการอ้างอิง] โดยเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ทรงให้การศึกษาด้วยพระองค์เอง เมื่อทรงเสร็จสิ้นการเสวยพระกระยาหารกลางวันแล้ว ครั้นมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จึงย้ายไปทำการเรียนการสอน ยังตึกสัสดีหลังกลาง กระทรวงยุติธรรม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2453 กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ฯ ทรงพ้นจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม หลังจากนั้น โรงเรียนกฎหมายก็ทรุดโทรมตามลำดับ และต้องไปเปิดการเรียนการสอน เป็นการชั่วคราวที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร และที่เรือนไม้หลังเล็กๆ ระหว่างตึกศาลแพ่งกับตึกเก๋งจีน ซึ่งบัดนี้ทำลายลงแล้ว และปี พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับโรงเรียนแห่งนี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยให้สังกัดอยู่กับกระทรวงยุติธรรม และให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโรงเรียน โดยย้ายสถานที่เรียนมายังอาคารห้างแบดแมนเดิม บริเวณเชิงสะพานผ่านพิภพลีลา (ปัจจุบันเป็นที่จอดรถข้างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล)

จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2476 รัฐบาลจัดตั้งคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ขึ้น ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วให้โอนโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม ไปสมทบกับคณะดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 เมษายน ปีนั้นเอง[1] ครั้งนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดให้การเรียนการสอน ของโรงเรียนกฎหมาย เป็นแผนกวิชาหนึ่งของคณะนี้ อนึ่ง การเรียนการสอนยังคงจัดอยู่ที่อาคาร เชิงสะพานผ่านพิภพลีลาเช่นเดิม[2] ซึ่งคำสั่งให้โอนโรงเรียนกฎหมาย ไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้ สร้างความไม่พอใจแก่นักเรียนของโรงเรียนกฎหมาย ที่ต้องการให้ยกสถานะโรงเรียนของตนเป็นมหาวิทยาลัย แต่รัฐบาลกลับทำให้เสมือนยุบหายไป กลุ่มนักเรียนกฎหมายดังกล่าว จึงเคลื่อนไหวหนุนให้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น[3] ทั้งนี้ เมื่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจัดตั้งขึ้น ตามพระราชบัญญัติฯ ให้โอนทรัพย์สิน ตลอดจนคณาจารย์ ของโรงเรียนกฎหมายเดิม เข้าสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งใหม่นี้ด้วย[4]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2492 ได้มีการแยกหลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิต ออกเป็นคณะวิชาต่างๆ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้เป็นคณะวิชาคณะหนึ่งในคณะก่อตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาปนาหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตขึ้น และมีพัฒนาการเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน

เบื้องหลังและพื้นภูมิ[แก้]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หลังจากผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้เสด็จไปศึกษาที่โรงเรียนมัธยมกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นเวลา 3 ปี พระองค์ทรงสอบเรียนต่อกฎหมายที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดได้ด้วยพระชนมายุเพียงแค่ 14 ชันษา แต่ทางมหาวิทยาลัยไม่ยอมให้ทรงเข้าศึกษาต่อ เนื่องจากติดข้อบังคับที่ว่าพระชนมายุไม่ถึง 18 ชันษา แต่ทรงเสด็จไปขอร้องเป็นกรณีพิเศษต่อทางมหาวิทยาลัยโดยอ้างว่า “คนไทยเกิดง่ายตายเร็ว” สุดท้ายมหาวิทยาลัยยินยอมให้สอบอีกครั้ง ซึ่งทรงสอบได้และศึกษาต่อจนจบหลักสูตรปริญญาตรีด้านกฎหมายชั้นเกียรตินิยม พระชนมายุเพียง 17 ชันษาเท่านั้น นับเป็นบัณฑิตที่มีอายุน้อยที่สุด

หลังจากเสด็จกลับมาไทยทรงเข้ารับราชการที่กรมราชเลขานุการ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี ในขณะเดียวกันทรงมีตำแหน่งเป็นสภานายกพิเศษจัดตั้งศาลมณฑลและศาลเมือง (ศาลจังหวัด) ขึ้นในท้องที่ต่าง ๆ โดยทรงจัดตั้งศาลหัวเมืองในมณฑลอยุธยาขึ้นเป็นแห่งแรก แม้ว่าในช่วงเวลานั้นจะมีคดีความในศาลคั่งค้างอยู่มาก แต่ก็ทรงตัดชำระความด้วยพระองค์เองจนเสร็จสิ้นภายในเวลาอันรวดเร็วได้อย่างถูกต้องและเที่ยงธรรม[5]


อ้างอิง[แก้]

  1. ประกาศโอนโรงเรียนกฎหมายไปขึ้นแก่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, ราชกิจจานุเบกษา
  2. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ธรรมศาสตร์การเมืองไทย จากปฏิวัติ 2475 ถึง 16 ตุลา 2516 - 6 ตุลา 2519.กรุงเทพฯ : มติชน,2547.
  3. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ปรีดีกับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เก็บถาวร 2012-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สถาบันปรีดี พนมยงค์
  4. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476, ราชกิจจานุเบกษา
  5. "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-24. สืบค้นเมื่อ 2018-04-23.