โจนแห่งเคนต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โจนแห่งเคนต์
เคาน์เตสแห่งเคนต์
เจ้าหญิงแห่งเวลส์
ดำรงพระยศ1361–1376
ก่อนหน้าสถาปนาตำแหน่ง
ถัดไปแอนน์ เนวิลล์
ประสูติ29 กันยายน 1326/1327
พระราชวังวูดสต็อก ออกซฟอร์ดเชอร์ อังกฤษ
สิ้นพระชนม์7 สิงหาคม 1385 (พระชนมายุ 57/58 พรรษา)
ปราสาทวอลลิงฟอร์ด, บาร์กเชอร์ อังกฤษ
ฝังพระศพ27 มกราคม 1386
Greyfriars, Stamford ลิงคอล์นเชอร์ อังกฤษ
คู่อภิเษก
พระราชบุตร
among others
  • ธอมัส ฮอลแลนด์ เอิร์ลที่ 2 แห่งเคนต์
  • จอห์น ฮอลแลนด์ ดยุคที่ 1 แห่งเอ็กซิเตอร์
  • โจน ฮอลแลนด์ ดัชเชสแห่งเบรอตาญ
  • เอ็ดเวิร์ดแห่งอ็องกูแลม
  • พระเจ้าริชาร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ
ราชวงศ์แพลนแทเจเนต
พระบิดาเอ็ดมันด์แห่งวูดสต็อก เอิร์ลที่ 1 แห่งเคนต์
พระมารดามาร์กาเร็ต เวก บารอนเนสเวกที่ 3 แห่งลิดเดลล์

โจน เคาน์เตสแห่งเคนต์ (อังกฤษ: Joan, Countess of Kent; 29 กันยายน ค.ศ. 1326/1327[1] – 7 สิงหาคม ค.ศ. 1385) หรือ สาวน้อยผู้งดงามแห่งเคนต์ (อังกฤษ: The Fair Maid of Kent) เป็นพระราชมารดาในพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ และเป็นพระชายาของเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายดำ พระราชโอรสและทายาทของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3

วัยเยาว์[แก้]

โจนประสูติที่พระราชวังวูดสต็อกเมื่อวันที่ 28 หรือ 29 กันยายน ค.ศ. 1328 โดยทรงเป็นพระบุตรองค์ที่สามหรือสี่ของเอ็ดมันด์แห่งวูดสต็อก พระราชโอรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ที่เกิดจากพระมเหสีคนที่สอง คือ พระนางมาร์เกอรีตแห่งฝรั่งเศส พระราชธิดาของพระเจ้าฟีลิปที่ 3 แห่งฝรั่งเศส มารดาของโจนคือมาร์กาเร็ต เวก บารอนเนสเวกที่ 3 แห่งลิดเดลล์ซึ่งเป็นชายาคนที่สองของเอ็ดมันด์

เอ็ดมันด์เป็นผู้สนับสนุนที่ภักดีต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษผู้เป็นพระเชษฐาต่างมารดา พระองค์จึงไม่ถูกกับอีซาแบลแห่งฝรั่งเศส พระราชินีของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 (ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของเอ็ดมันด์) และโรเจอร์ มอร์ติเมอร์ เอิร์ลที่ 1 แห่งมาร์ช คนรักของพระนางซึ่งต่อมาทั้งคู่ได้ร่วมมือกันถอดพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ลงจากบัลลังก์และให้พระราชโอรสน้อย (และลูกพี่ลูกน้องลำดับที่หนึ่งของโจน) ขึ้นครองบัลลังก์เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 โดยมีมอติเมอร์และพระราชินีอีซาแบลเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน หลังพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 สวรรคตอย่างปริศนาในที่คุมขัง สองผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้สั่งตัดหัวบิดาของโจนด้วยข้อหากบฏ เนื่องจากในตอนที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ยังมีชีวิต เอ็ดมันด์ได้ร่วมวางแผนเพื่อช่วยพระเชษฐาออกมาจากที่คุมขัง

หลังเอ็ดมันด์ถูกประหารชีวิต ชายาของพระองค์กับลูกๆ (ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโจนที่ขณะนั้นมีอายุไม่ถึง 2 ปี) ถูกคุมตัวในปราสาทอารันเดล จอห์น บุตรคนที่สี่และน้องชายของโจนเกิดหลังบิดาถูกประหารชีวิตได้หนึ่งเดือน เคาน์เตสม่ายแห่งเคนต์กับลูกๆ ต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ความเป็นอยู่ของครอบครัวที่ดีขึ้นเมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 บรรลุนิติภาวะ ทรงหลุดพ้นจากอำนาจควบคุมของมอร์ติเมอร์และขึ้นปกครองบ้านเมืองอย่างเต็มตัว กษัตริย์ได้รับครอบครัวเอ็ดมันด์ผู้เป็นพระปิตุลามาอยู่ในการดูแล อีกทั้งพระราชินีฟีลีปา พระมเหสีของพระองค์ยังเป็นลูกพี่ลูกน้องลำดับที่สองของโจน โดยทั้งคู่ต่างเป็นลูกหลานของพระเจ้าฟีลิปที่ 3 แห่งฝรั่งเศส โจนกับพี่น้องเติบโตในราชสำนัก ในครัวเรือนของพระราชินี

การสมรสครั้งแรก[แก้]

เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น โจนเป็นที่หมายตาของชายมากมาย เธอมีดีทั้งรูปโฉมและสติปัญญา ทั้งยังเติบโตในครัวเรือนเดียวกันกับพระราชบุตรคนแรกๆ ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 คือ เอ็ดเวิร์ดผู้เป็นพระราชโอรสและทายาท กับสองพระราชธิดา คือ อิซาเบลลาและโจน

ในปี ค.ศ. 1340 ขณะมีพระชนมายุได้ 12 พรรษา โจนแอบสมรสอย่างลับๆ กับธอมัส ฮอลแลนด์วัย 26 ปี โดยไม่ได้ขอพระบรมราชานุญาตกษัตริย์ ซึ่งตามหลักแล้วด้วยลำดับฐานะของเธอจะต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนจึงจะสมรสได้ หลังสมรสได้ไม่นานฮอลแลนด์ต้องเดินทางไปทวีปใหญ่เพื่อร่วมทำศึกกับแฟลนเดอส์และฝรั่งเศส ในช่วงฤดูหนาวถัดมา (ค.ศ. 1340 หรือ ค.ศ. 1341) ระหว่างที่ฮอลแลนด์ยังอยู่ต่างแดน ครอบครัวของโจนได้จับเธอสมรสกับวิลเลียม มอนตาคิวต์ บุตรชายและทายาทของเอิร์ลที่ 1 แห่งซอลส์บรี โจนวัย 13 ปีไม่ได้แย้งอะไรและได้สมรสกับมอนตาคิวต์ที่มีอายุเท่ากันกับเธอ ภายหลังโจนได้บอกว่าเธอไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าตนเองสมรสอยู่แล้วกับธอมัส ฮอลแลนด์ เนื่องจากกลัวว่าจะทำให้ฮอลแลนด์ถูกประหารชีวิตด้วยข้อหากบฏ ทั้งนี้เธออาจถูกเกลี้ยกล่อมว่าการสมรสครั้งแรกของเธอไม่ถูกต้องตามกฎหมาย บิดาของมอนตาคิวต์ถึแก่กรรมในปี ค.ศ. 1344 สามีของโจนได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเอิร์ลที่ 2 แห่งซอลส์บรี

ในปี ค.ศ. 1348 ฮอลแลนด์กลับมาจากการทำศึกในฝรั่งเศสและได้เป็นมหาดเล็กรับใช้เอิร์ลแห่งซอลส์บรี ต่อมาเขากระอักกระอ่วนเมื่อรู้ว่าตนเองกำลังรัชใช้ชายที่สมรสกับภรรยาของตน การสมรสของฮอลแลนด์กับโจนก็ถูกเปิดเผยเมื่อเขาสารภาพเรื่องการสมรสอย่างลับๆ ของตนต่อกษัตริย์และยื่นคำร้องต่อสมเด็จพระสันตะปาปาเพื่อขอตัวภรรยาคืน โดยอ้างว่าโจนถูกบังคับให้สมรสกับเอิร์ลแห่งซอลส์บรีทั้งที่เธอสมรสกับเขาอยู่ก่อนแล้วและการสมรสของทั้งคู่ถูกทำให้สมบูรณ์แล้ว โจนถูกเอิร์ลแห่งซอลส์บรีคุมตัวราวกับนักโทษ กระทั่งในปี ค.ศ. 1349 สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 6 ได้ประกาศให้การสมรสของโจนกับเอิร์ลแห่งซอลส์บรีเป็นโมฆะและให้เขาคืนตัวเธอให้ธอมัส ฮอลแลนด์

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1352 โจนได้สืบทอดตำแหน่งเป็นเคาน์เตสที่ 4 แห่งเคนต์และบารอนเนสเวกที่ 5 แห่งลิดเดลต่อจากจอห์น น้องชายที่ถึงแก่กรรม ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1353 ฮอลแลนด์ได้รับแต่งตั้งเป็นเอิร์ลแห่งเคนต์โดยสิทธิ์ของภรรยา

ตลอดชีวิตสมรส 11 ปี ธอมัส ฮอลแลนด์กับโจนมีบุตรด้วยกัน 5 คน คือ

การเสกสมรสกับเจ้าชายดำ[แก้]

เอ็ดเวิร์ดแห่งวูดสต็อก เจ้าชายแห่งเวลส์ หรือที่นักประวัติศาสตร์เรียกกันว่าเจ้าชายดำ (พระราชโอรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องลำดับที่หนึ่งของโจน) เป็นเจ้าชายแห่งเวลส์คนที่สองของอังกฤษ เดิมทีพระราชโอรสที่ยังมีชีวิตอยู่คนโตของกษัตริย์อังกฤษไม่จำเป็นต้องได้รับเป็นตำแหน่งเจ้าชายแห่งเวลส์ เนื่องจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 (ซึ่งเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์คนแรก) ไม่เคยแต่งตั้งพระราชโอรส (ที่ต่อมาคือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3) เป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 เป็นผู้ที่นำธรรมเนียมการตั้งพระราชโอรสคนโตเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์กลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งกษัตริย์คนต่อๆ มาต่างยึดถือธรรมเนียมนี้

ฮอลแลนด์ สามีของโจนถึงแก่กรรมในช่วงคริสต์มาสของปี ค.ศ. 1360 หลังเขาตาย เจ้าชายดำอาจเข้ามาปลอบใจเลดีโจนซึ่งเป็นเพื่อนในวัยเด็กของพระองค์ ทั้งคู่มีความสัมพันธ์ดีๆ ต่อกันมาอย่างช้านาน โดยมีหลักฐานคือการที่เจ้าชายดำมอบจอกเงินซึ่งเป็นหนึ่งในสมบัติที่ปล้นมาได้จากการทำศึกครั้งแรกๆ ให้แก่โจนเพื่อเป็นของขวัญ แม้จะเป็นหญิงม่ายที่มีบุตร 5 คน และไม่มีประโยชน์ในการสร้างสัมพันธไมตรีเท่ากับเจ้าหญิงต่างแดน แต่เอ็ดเวิร์ดได้ตกหลุมรักโจน แม้จะสร้างความผิดหวังให้แก่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ที่ต้องการให้ทายาทในบัลลังก์สมรสเพื่อสร้างผลประโยชน์ทางการเมือง แต่การเจรจาเรื่องการสมรสเชื่อมสัมพันธไมตรีกับเจ้าหญิงจากกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า

พระราชบิดามารดาของเจ้าชายดำไม่โปรดให้พระราชโอรสสมรสกับอดีตเด็กในปกครอง ในตอนแรกโจนเป็นที่โปรดปรานของพระราชินีฟีลีปา แต่ทั้งพระนางและกษัตริย์ต่างกังวลกับชื่อเสียงของโจน การสมรสซ้อนกับวิลเลียม มอนตาคิวต์ของโจนเป็นที่โจษจันและเขายังมีชีวิตอยู่ เธอมีบุตรห้าคนกับธอมัส ฮอลแลนด์ สามีคนแรก และมีอายุ 33 ปีซึ่งแก่กว่าเจ้าชายถึง 2 ปี นอกจากนี้เอ็ดเวิร์ดกับโจนยังเป็นญาติกันในลำดับต้องห้าม

แต่กระนั้นเจ้าชายดำก็ต้องการสมรสกับเธอ พระองค์พยายามขอพระราชานุญาตจากพระราชบิดาที่สุดท้ายก็ยอมอนุญาต ปัญหาจึงเหลือแค่เรื่องที่ทั้งคู่เป็นญาติกันในลำดับต้องห้าม เมื่อกษัตริย์เอ่ยปากขอ สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 6 ได้พระราชทานการผ่อนผันให้ทั้งสองสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ปัญหาต่างๆ คลี่คลายอย่างรวดเร็ว โจนได้สมรสอย่างเป็นทางการกับเจ้าชายดำหลังสามีคนแรกถึงแก่กรรมได้เพียงเก้าเดือน พิธีฉลองมงคสมรสอย่างเป็นทางการถูกจัดขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1361 ที่ปราสาทวินด์เซอร์ โดยมีกษัตริย์กับพระราชินีเข้าร่วมงานด้วย ไซมอน อิสลิป อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์บรี เป็นผู้ดูแลงานฉลองในครั้งนี้ หลังพิธีสมรสทั้งคู่ได้ย้ายไปอยู่ที่ปราสาทเบอร์เคมสเต็ด หลังเทศกาลคริสต์มาส กษัตริย์ได้แวะไปเยือนทั้งคู่

ในปี ค.ศ. 1362 เจ้าชายดำได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าชายแห่งอากีแตน แคว้นหนึ่งในฝรั่งเศสที่เป็นของราชบัลลังก์อังกฤษมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่อาลีเยนอร์แห่งอากีแตนสมรสกับพระเจ้าเฮนรีที่ 2 พระองค์กับโจนย้ายไปอยู่ที่บอร์โดซ์ เมืองหลวงของราชรัฐดังกล่าว ราชสำนักของเจ้าชายหรูหรายิ่งกว่าราชสำนักของกษัตริย์เอง ทั้งคู่อยู่ที่นั่นเก้าปี ในระหว่างนั้นโจนได้ให้กำเนิดบุตรชายสองคน คือ

  • เอ็ดเวิร์ดแห่งอ็องกูแลม (เกิด ค.ศ. 1365) ตั้งชื่อตามชื่อของบิดาและปู่ ถึงแก่กรรมในวัย 5 ปี
  • ริชาร์ดแห่งบอร์โดซ์

ในช่วงที่ริชาร์ดแห่งบอร์โดซ์ บุตรชายคนเล็กเกิด เจ้าชายดำกำลังติดพันอยู่กับการทำสงครามในสเปนซึ่งมีเป้าหมายคือเพื่อสนับสนุนการอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์ของพระเจ้าเปโดรแห่งกัสติยา โดยผู้ท้าชิงบัลลังก์ในศึกครั้งนี้คือเอนริเกแห่งตรัสตรามารา พระอนุชาต่างมารดาของพระเจ้าเปโดร แม้สงครามดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในชัยชนะครั้งสำคัญของเจ้าชายดำ ทว่าในเวลาต่อมาพระเจ้าเปโดรถูกสังหารทำให้ทำให้กองทัพของอังกฤษไม่ได้รับค่าจ้าง ในขณะเดียวกันสถานการณ์ในอากีแตนของพระองค์ก็กำลังระส่ำระส่าย เนื่องจากทรงรีดภาษีจากดัชชีเพื่อมาใช้เป็นเงินทุนในการทำสงคราม

เจ้าหญิงม่ายแห่งเวลส์[แก้]

ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1370 หรือต้นปี ค.ศ. 1371 พระราชวงศ์เผชิญกับโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เมื่อเอ็ดเวิร์ดน้อยแห่งอ็องกูแลมสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคไข้กาฬโรค การสิ้นพระชนม์ของพระโอรสองค์โตสร้างความเสียพระทัยอย่างมากแก่เจ้าชายดำ พระองค์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าชายแห่งอากีแตนได้เนื่องจากทรงประชวร พระสุขภาพของพระองค์ย่ำแย่จนแพทย์ประจำพระองค์แนะนำให้เสด็จกลับอังกฤษซึ่งขณะนั้นกาฬโรคกำลังระบาด

ในวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1376 หนึ่งสัปดาห์ก่อนวันครบรอบวันคล้ายวันประสูติปีที่ 46 เอ็ดเวิร์ดแห่งวูดสต็อก เจ้าชายแห่งเวลส์ เจ้าชายดำ สิ้นพระชนม์บนพระแท่นบรรทมในพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ ริชาร์ด พระโอรสของเอ็ดเวิร์ดกับโจนได้ขึ้นเป็นรัชทายาทลำดับที่หนึ่งของผู้เป็นพระอัยกาตามสิทธิของบุตรหัวปี หนึ่งปีต่อมาพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 เสด็จสวรรคตในวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1377 ริชาร์ดได้ขึ้นครองบัลลังก์เป็นพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 พระองค์ได้รับการสวมมงกุฎในเดือนต่อมาด้วยพระชนมายุ 10 พรรษา

เมื่อกลายเป็นพระราชชนนีของกษัตริย์ โจนทรงมีอิทธิพลอย่างมากอยู่หลังฉาก เป็นที่รู้กันว่าพระนางคืออำนาจที่อยู่หลังบัลลังก์ในช่วงต้นรัชสมัยของกษัตริย์น้อย พระนางยังทรงเป็นพระชายาม่ายผู้เป็นที่เคารพและทรงเกียรติในสายตาประชาชน ตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งที่พระนางเสด็จกลับลอนดอนหลังเสด็จไปแสวงบุญที่แท่นบูชาธอมัส เบ็กเก็ตในอาสนวิหารแคนเทอร์บรีในปี ค.ศ. 1381 ระหว่างทางได้ทรงเจอกับวัต ไทเลอร์และฝูงชนที่รวมตัวกันก่อกบฏในแบล็กฮีธ โจนทรงไม่เพียงแต่ไม่ได้รับอันตรายใดๆ แต่ยังทรงได้รับจุมพิตถวายความเคารพและได้รับการคุ้มกันตลอดการเดินทางที่เหลือ

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1382 พระเจ้าริชาร์ดที่ 2 อภิเษกสมรสกับแอนน์แห่งโบฮีเมีย พระราชธิดาของจักรพรรดิคาร์ลที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และกษัตริย์แห่งโบฮีเมีย

การสิ้นพระชนม์[แก้]

เซอร์จอห์น ฮอลแลนด์เป็นบุตรชายที่เกิดจากการสมรสครั้งแรกของโจน เอลิซาเบธ ภรรยาของเขาเป็นธิดาของจอห์นแห่งกอนท์ พระปิตุลาของกษัตริย์ ในปี ค.ศ. 1385 เซอร์จอห์น ฮอลแลนด์ออกทำศึกในสกอตแลนด์ร่วมกับกษัตริย์ ระหว่างนั้นได้เกิดการมีปากเสียงขึ้นระหว่างเขากับราล์ฟ สตาฟฟอร์ด บุตรชายของเอิร์ลที่ 2 แห่งสตาฟฟอร์ดซึ่งเป็นคนโปรดของพระราชินีแอนน์แห่งโบฮีเมีย จอห์น ฮอลแลนด์ได้สังหารสแตฟฟอร์ดและเข้าไปขอการคุ้มภัยที่สถานศักดิ์สิทธิ์ของนักบุญจอห์นแห่งเบเวอร์ลีย์ เมื่อกษัตริย์เสด็จกลับอังกฤษ ฮอลแลนด์ถูกตัดสินประหารชีวิต โจนอ้อนวอนพระบุตรชายอยู่สี่วันเพื่อขอให้ไว้ชีวิตพระเชษฐาต่างบิดา ในวันที่ห้า (ซึ่งอยู่ในเดือนสิงหาคม แต่ไม่รู้วันที่แน่นอน) พระนางก็สิ้นพระชนม์ที่ปราสาทวอลลิงฟอร์ด วันต่อมาพระเจ้าริชาร์ดได้พระราชทานอภัยโทษให้แก่ฮอลแลนด์

โจนถูกฝังเคียงข้างพระสวามีคนแรกที่เกรย์ไฟอาร์สในเมืองสแตมฟอร์ดในลิงคอล์นเชอร์ตามพระประสงค์ของพระนางในพินัยกรรม แม้เจ้าชายดำ พระสวามีองค์ที่สามของพระนางจะสร้างโบสถ์น้อยไว้ให้พระชายาในชั้นใต้ดินของอาสนวิหารแคนเทอร์บรี (ซึ่งเป็นที่ฝังร่างเจ้าชายดำ) ในนั้นมีพระรูปนูนต่ำรูปพระพักตร์ของพระนางบนเพดาน ว่ากันว่าพระรูปนูนต่ำอีกภาพซึ่งอยู่ตรงทางเดินในวิหารเหนือก็เป็นพระรูปของพระนางเช่นกัน

อ้างอิง[แก้]

  1. Stamp et al. 1921, pp. 42, 45.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Barber, Richard (2004). "Joan, suo jure countess of Kent, and princess of Wales". Oxford Dictionary of National Biography (online) (online ed.). Oxford University Press. doi:10.1093/ref:odnb/14823. (ต้องรับบริการหรือเป็นสมาชิกหอสมุดสาธารณะสหราชอาณาจักร)
  • Goodman, Anthony, (2017) Joan, the Fair Maid of Kent: A Fourteenth-Century Princess and her World, The Boydell Press, Woodbridge ISBN 978 1 78327 176 4
  • Lawne, Penny, (2015) Joan of Kent: The First Princess of Wales, Amberley Publishing, Gloucestershire
  • Stamp, A.E.; Salisbury, E.; Atkinson, E.G. & O'Reilly, J.J. (1921). Calendar of Inquisitions Post Mortem, volume 10: Edward III, 1352–1361. London: His Majesty's Stationery Office. hdl:2027/umn.31951t001412556. ISBN 9781843834793.
  • Tait, James (1892). "Joan". Dictionary of National Biography. 29: 392–393.
  • The Times Kings & Queens of The British Isles by Thomas Cussans (page 92); ISBN 0-00-714195-5
  • Wentersdorf, Karl P. (1979). "The clandestine marriages of the Fair Maid of Kent". Journal of Medieval History. 5 (3): 203–231. doi:10.1016/0304-4181(79)90037-X.