แมกซิมิเลียน คอลบี
นักบุญแมกซิมิเลียน คอลบี | |
---|---|
![]() | |
บาทหลวงและมรณสักขี | |
เกิด | 8 มกราคม ค.ศ. 1894 เมือง Zduńska Wola อดีตจักรวรรดิรัสเซีย (ปัจจุบันอยู่ในโปแลนด์) |
เสียชีวิต | 14 สิงหาคม ค.ศ. 1941 ค่ายกักกันเอาชวิทซ์ ประเทศโปแลนด์ |
นิกาย | โรมันคาทอลิก |
เป็นนักบุญ | 10 ตุลาคม ค.ศ. 1982 โรม โดย สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 |
วันฉลอง | 14 สิงหาคม |
องค์อุปถัมภ์ | ผู้เสพติดยา, นักโทษทางการเมือง, ผู้ถูกจองจำ |
แมกซิมิเลียน มาเรีย คอลบี (อังกฤษ: Maximilian Maria Kolbe, 8 มกราคม ค.ศ. 1894 – 14 สิงหาคม ค.ศ. 1941) เป็นบาทหลวงโรมันคาทอลิกและไฟรเออร์คณะฟรันซิสกันคอนเวนชวล (Conventual Franciscan) ชาวโปแลนด์ ผู้อาสาตายแทนคนแปลกหน้าที่ชื่อว่า ฟรานซิส กาโยนิเชค ซึ่งเป็นเชลยในค่ายกักกันเอาชวิทซ์ในประเทศโปแลนด์ใต้อาณัติเยอรมนีระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
เขาได้รับการประกาศเป็นนักบุญและมรณสักขีแห่งเมตตาธรรมเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1982 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ผู้ติดยาเสพติด นักโทษการเมือง ครอบครัว สื่อสารมวลชน นักโทษ และขบวนการสนับสนุนชีวิต[1] สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ยังทรงประกาศว่าเขาเป็น "นักบุญองค์อุปถัมภ์ศตวรรษอันยุ่งยากของเรา"[2]
เอาชวิทซ์[แก้]
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เขาจัดหาที่พักให้แก่ผู้ลี้ภัยจากเกรเทอร์โปแลนด์ ซึ่งรวมถึงชาวยิว 2,000 คนที่เขาซ่อนไว้จากการเบียดเบียน (persecution) ของพวกนาซีในอารามของเขาใน Niepokalanów
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1941 เขาถูกเกสตาโปของเยอรมนีจับกุมและขังที่เรือนจำ Pawiak เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม เขาถูกโอนไปยังเอาชวิทซ์ เป็นนักโทษหมายเลข 16670
ปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1941 มีนักโทษสามคนหายไปจากค่าย ทำให้เฮาพท์สทุร์มฟือแรร์ของเอสเอส (ยศเทียบเท่าร้อยเอก) คาร์ล ฟรีทซช์ รองผู้บัญชาการค่าย เลือกชาย 10 คนมาอดอาหารจนตายในบังเกอร์ใต้ดินเพื่อขัดขวางมิให้มีความพยายามหลบหนีอีก เมื่อหนึ่งในชายที่ถูกเลือก Franciszek Gajowniczek ร้องมาว่า "ภรรยาผม! ลูกผม!" คอลบีได้อาสาถูกเลือกแทนเขา[3]
ในห้องขังอดอาหารนั้น เขาทำพิธีมิสซาทุกวันนานเท่าที่เขาสามารถทำได้และทำพิธีศีลมหาสนิทแก่นักโทษอย่างลับ ๆ ระหว่างวัน ขนมปังที่ให้แก่นักโทษนั้นไม่ได้ใส่เชื้อฟูและสามารถใช้ในพิธีศีลมหาสนิทได้ ทหารยามที่มีใจสงสารมอบสิ่งของจำเป็นแก่เขา ซึ่งรวมถึงไวน์ ซึ่งเขาสามารถใช้ได้
เขานำนักโทษทั้งหลายร้องเพลงและอธิษฐาน ตลอดจนให้กำลังใจโดยบอกพวกเขาว่าจะอีกไม่นานจะได้ไปอยู่กับพระนางมารีย์พรหมจารีบนสวรรค์ แต่ละครั้งที่ทหารยามมาตรวจดูเขา จะพบว่าเขากำลังยืนหรือคุกเข่าอยู่กลางห้องขังและมองอย่างสงบไปยังทุกคนที่เข้ามา หลังจากการอดน้ำและอดอาหารมาสองสัปดาห์ มีเพียงคอลบีเท่านั้นที่ยังรอดชีวิต ทหารยามต้องการให้บังเกอร์ว่างเปล่า ดังนั้นจึงจัดการฉีดกรดคาร์บอลิกให้คอลบีถึงแก่มรณกรรม บางคนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นกล่าวว่า เขายกแขนซ้ายขึ้นและรอคอยการฉีดอย่างสงบ[4] ร่างของเขาถูกเผาในวันที่ 15 สิงหาคม ตรงกับวันฉลองแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์
อ้างอิง[แก้]
- ↑ Saints Index; Catholic Forum.com, Saint Maximilian Kolbe เก็บถาวร 2006-03-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "St. Maximilian Kolbe Martyr of Love". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-15. สืบค้นเมื่อ 2011-10-09.
- ↑ Saint Maximilian Kolbe เก็บถาวร 2009-08-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Catholic-Pages.com
- ↑ Blessed Maximilian Kolbe--Priest Hero of a Death Camp by Mary Craig