ข้ามไปเนื้อหา

แจ๊ส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก แจ๊ซ)

แจ๊ส หรือ แจซ (อังกฤษ: jazz)[1] เป็นลักษณะดนตรีชนิดหนึ่งที่พัฒนามาจากกลุ่มคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา (African Americans) ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยมีลักษณะพิเศษคือโน้ตบลูส์ การลัดจังหวะ จังหวะสวิง การโต้และตอบทางดนตรี และการเล่นสด โดยแจ๊สถือเป็นลักษณะดนตรีคลาสสิกชนิดหนึ่งของสหรัฐอเมริกา

ความหมายของคำว่า แจ๊ส

[แก้]

ความหมายของคำว่าแจ๊ส เคยมีผู้พยายามนิยามความหมายไว้หลายแบบ ซึ่งยากต่อการนิยาม ผศ.ธีรัช เลาห์วีระพานิช ได้ให้คำนิยามว่า ดนตรีแจ๊สเป็นดนตรีที่เหมาะสำหรับการผสมผสาน เราสามารถเรียกดนตรีทุกประเภทว่าแจ๊สได้ หากดนตรีนั้นมีการอิมโพรไวส์เป็นองค์ประกอบหลัก ดนตรีแจ๊สเกิดจากชาวแอฟริกันที่ย้ายถิ่นฐานมาอาศัยในอเมริกาซึมซับและรับวัฒนธรรมจากชนชาติอื่นมาผสมผสานกับวัฒนธรรมของตัวเอง ดนตรีแจ๊สกำเนิดจากการพัฒนาทางอารมณ์และความรู้สึกของทาสชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาไม่ใช่ ชาวแอฟริกัน

สำหรับพจนานุกรมฉบับอ๊อกฟอร์ดให้คำจำกัดความไว้ว่า "เป็นดนตรีที่ถือกำเนิดจากชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันซึ่งมีจังหวะชัดเจนที่เล่นอย่างอิสระโดยการประสานกันขึ้นเองของนักดนตรีในขณะที่กำลังบรรเลง"

ดุ๊ก เอลลิงตันเคยกล่าวไว้ว่า "แจ๊สก็คือดนตรีทั้งหมดรวมกัน" ซึ่งก็มีนักวิจารณ์พูดว่า เอลลิงตันนั้นจริง ๆ แล้วเขาไม่ได้ทำดนตรีแจ๊ส เพื่อนของเอลลิงตันอีกคนชื่อ เอิร์ล ไฮนส์ กล่าวไว้ว่า มันคือ "ดนตรีเปลี่ยนรูป" ส่วนเบน แรตลิฟฟ์ นักวิจารณ์จากนิวยอร์กไทม์สเคยกล่าวไว้ว่า "ตัวอย่างที่ดีที่จะอธิบายขั้นตอนของแจ๊สมันไม่มีเลย"

ประวัติ

[แก้]
หลุยส์ อาร์มสตรอง นักดนตรีแจ๊สที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง

ดนตรีแจ๊สมีต้นกำเนิดราวทศวรรษ 1920 โดยวงดนดรีวงแรกที่นำสำเนียงแจ๊สมาสู่ผู้ฟังหมู่มากคือ ดิ ออริจินัล ดิกซีแลนด์ แจ๊ส แบนด์ (The Original Dixieland Jazz Band: ODJB) ด้วยจังหวะเต้นรำที่แปลกใหม่ ทำให้โอดีเจบีเป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างมาก พร้อมกับให้กำเนิดคำว่า "แจ๊ส" ตามชื่อวงดนตรี โอดีเจบีสามารถขายแผ่นได้ถึงล้านแผ่น

รากลึกของแจ๊สนั้นมีมาจากเพลงบลูส์ (Blues) คนผิวดำที่เล่นเพลงบลูส์เหล่านี้เรียนรู้ดนตรีจากการฟังเป็นพื้นฐาน จึงเล่นดนตรีแบบถูกบ้างผิดบ้าง เพราะจำมาไม่ครบถ้วน มีการขยายความด้วยความพึงพอใจของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งกลายเป็นที่มาของคีตปฏิภาณ (Improvisation) คือ การแต่งทำนองเพลงขึ้นมาใหม่ สด ๆ โดยไม่ได้เตรียมตัวมาล่วงหน้า หรือการโซโล่แบบด้นสด ในภายหลังดนตรีแร็กไทม์ (Ragtime) ก็เชื่อว่ามีต้นกำเนิดคล้าย ๆ กันคือ เกิดจากดนตรียุโรปผสมกับจังหวะขัดของแอฟริกัน บลูส์และแร็กไทม์นี่เองที่เป็นรากของดนตรีแจ๊สในเวลาต่อมา

เพลงบลูส์เริ่มได้รับความนิยมในช่วงเวลาเดียวกันกับแร็กไทม์ ปลาย ๆ ทศวรรษ 1910 เพลงบลูส์และแร็กไทม์ถูกผสมผสานจนกลมกลืนโดย บัดดี โบลเดน (Charles Joseph 'Buddy' Bolden) เป็นผู้ริเริ่ม หากแต่เวลานั้นยังไม่มีการประดิษฐ์คำว่าแจ๊สขึ้นมา และเรียกดนตรีเหล่านี้รวม ๆ กันว่า "ฮ็อต มิวสิก" (Hot Music) จนกระทั่งโอดีเจบีโด่งดัง คำว่า แจ๊ส จึงเป็นคำที่ใช้เรียกขานกันทั่ว แจ๊สในยุคแรกนี้เรียกกันว่าเป็น แจ๊สดั้งเดิม หรือ นิวออร์ลีนส์แจ๊ส

ทศวรรษที่ 1920 และ 1930

[แก้]
บิลลี ฮอลิเดย์

สหรัฐเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทางการสั่งปิดสถานเริงรมณ์ในนิวออร์ลีนส์ ทำให้นักดนตรีส่วนใหญ่เดินทางมาหากินในชิคาโก นิวยอร์ก และ ลอสแอนเจลิส ทั้งสามเมืองจึงกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะนักดนตรีแจ๊สในช่วงนั้น ชิคาโกดูจะเป็นเมืองที่มีความก้าวหน้าทางดนตรีแจ็สเหนือกว่าอีกสองเมือง เพราะมีนักดนตรีมาทำงานมาก ชิคาโกเป็นเมืองที่ทำให้ หลุยส์ อาร์มสตรอง (Louis Armstrong) เป็นที่รู้จัก และกลายเป็นนักดนตรี นักร้องแจ๊สชื่อก้องโลกในเวลาต่อมา ในด้านการพัฒนา ชิคาโกมีดนตรีแจ๊สที่สืบสายมาจากนิวออร์ลีนส์แต่มีลักษณะเฉพาะตัว มีการทดลองจัดวงในแบบของตัวเอง เริ่มเอาเครื่องดนตรีใหม่ ๆ เช่น แซ็กโซโฟนมาใช้รวมกับ คอร์เน็ต ทรัมเป็ต มีการทดลองแนวดนตรีใหม่ ๆ เช่น การเล่นเปียโนแบบสไตรด์ (Stride piano) ของเจมส์ จอห์นสัน (James P. Johnson) ซึ่งมีพื้นฐานจากแร็กไทม์ การทดลองลากโน้ตให้ยาวจนผู้ฟังคาดเดาได้ยากของอาร์มสตรอง และการปรับแพทเทิร์นของจังหวะกันใหม่เป็น Chicago Shuffle

ส่วนนิวยอร์กรับหน้าที่เป็นศูนย์กลางของแจ๊สในยุคปลายทศวรรษ 1920 แทนชิคาโก ดนตรีแจ๊สในนิวยอร์กพัฒนาเพื่อเป็นดนตรีเต้นรำให้ความสนุกสนานบันเทิง และเป็นที่มาของ สวิง (Swing) และ บิ๊กแบนด์ (Big Band)

สวิงเป็นดนตรีที่ก่อให้เกิดการจัดวงแบบใหม่ที่เรียกว่า "บิ๊กแบนด์" ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และองค์ประกอบของวงก็เริ่มลงตัว มีการแบ่งโครงสร้างเครื่องดนตรีเป็นสามส่วนคือ เครื่องทองเหลือง คือ กลุ่มแตรซึ่งมีทรัมเปทและทรอมโบนเป็นหลัก จำนวน3-5 คัน, เครื่องลมไม้ มีแซกโซโฟนเป็นหลัก จำนวน 3-5 คันและมักมีคลาริเนต ไว้ให้นักแซกโซโฟนเพื่อให้เล่นสลับกันด้วย และเครื่องให้จังหวะ ได้แก่ กลองชุดซึ่งมีกลองเพิ่มเติม และกระดึงกับฉาบเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ มีเปียโน สตริงเบส และกีตาร์ ส่วนแบนโจก็จะถูกแทนที่ด้วยเปียโน

ศิลปินที่แจ้งเกิดในยุคนี้เช่น เอลลา ฟิทซ์เจอรัลด์ (Ella Fitzgerald) บิลลี ฮอลิเดย์ (Billy Holiday) และหลุยส์ อาร์มสตรอง จุดเด่นของนักร้องแจ๊สคือการ "สแกต" (Scat) หรือเปล่งเสียง ฮัมเพลง แทนเครื่องดนตรี ซึ่งนับเป็นการแสดงคีตปฏิภาณของนักร้อง

ทศวรรษที่ 1940

[แก้]

เพลงสวิงมาถึงจุดอิ่มตัวเมื่อนักดนตรีเริ่มเบื่อหน่ายการจัดวงและการเรียบเรียงที่ค่อนข้างตายตัว จึงเริ่มเกิดการหาแนวทางใหม่ ๆ เล่นตามความพอใจหลังการซ้อมหรือเล่นดนตรี หรือเรียกว่า "แจม" (Jam session) ชาร์ลี "เบิร์ด" พาร์คเกอร์ (Charlie "Bird" Parker) นักแซ็กโซโฟน และ ดิซซี่ กิลเลสปี (Dizzy Gillespie) นักทรัมเป็ต เสนอแจ๊สในแนวทางใหม่ขึ้นมา เมื่อทั้งสองร่วมตั้งวงห้าชิ้นและออกอัลบั้มตามแนวทางดังกล่าว คำว่า "บีบ็อพ" (Bebop) "รีบ็อพ" (Rebop) หรือ "บ็อพ" (Bop) ก็กลายเป็นคำติดปาก

คำว่าบีบ็อพเชื่อกันว่ามาจากสแกตของโน้ตสองตัว (การร้องโน้ต2 ตัวเร็ว ๆ) บ็อพมีสุ้มเสียง จังหวะ การสอดประสานที่ต่างไปจากสวิงค่อนข้างมาก เช่นจังหวะไม่ได้บังคับเป็น 4/4 เหมือนสวิง ใช้คอร์ดแทน (Alternate chords) ในขณะที่โซโลและการแสดงคีตปฏิภาณยังคงวางบนคอร์ดเดิม

ทศวรรษที่ 1950

[แก้]

ไมล์ส เดวิส และ จอห์น โคลเทรน (John Coltrane) ก็มาลงตัวกับท่วงทำนองที่ใช้ฮาร์โมนีของโหมด (Mode) มากกว่า คอร์ด กลายมาเป็น โมดัลแจ๊ส (Modal Jazz) ในเวลาต่อมา โดยมีอัลบั้ม Kind of Blue ของเดวิสในปี 1959 เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของฟรีแจ๊ส การใช้โหมดทำให้นักดนตรีสามารถโซโล หรือแสดงคีตปฏิภาณได้อิสระยิ่งขึ้น เพราะไม่มีข้อจำกัดเรื่องคอร์ดเหมือนที่ผ่านมา จึงเกิดสเกลแปลกใหม่มากมาย

ต่อมา ออร์เน็ต โคลแมน (Ornette Coleman) นักแซ็กโซโฟนก็เสนออีกแนวทางหนึ่งที่ให้อิสระยิ่งกว่าโมดัลแจ๊ส คือดนตรีสายฟรีแจ๊ส (Free Jazz) ซึ่งเน้นปฏิสัมพันธ์เป็นแกน อาศัยความรู้สึกและคีตปฏิภาณอย่างหนักหน่วง ซึ่งมีโครงสร้างของเพลงเพียงคร่าว ๆ เท่านั้น หลาย ๆ เพลงไม่มีแม้แต่จังหวะทำนอง ไม่มีห้องดนตรี และมักเน้นจังหวะตบหรือการรักษาความเร็วจังหวะน้อยกว่าแจ๊สยุคก่อน ๆ ส่วนเครื่องดำเนินจังหวะ และแนวเบสได้รับการเน้นให้มีอิสระในการบรรเลงมากขึ้น

ดนตรีในแนวฟรีแจ๊สและที่ใกล้เคียงกันในเวลานั้นทั้งหมดเรียกรวมว่า "อวองต์ การ์ด" (Avante Garde) นอกจาก โคลแมนแล้ว ผู้ที่มีชื่อเสียงในฟรีแจ๊ส เช่น อัลเบิร์ต ไอย์เลอร์ (Albert Ayler) ซึ่งเป็นผู้ชักนำให้ โคลเทรนหันมาสนใจฟรีแจ๊สในระยะหลัง ๆ

ทศวรรษที่ 1970

[แก้]

หลังจากช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งเป็นยุคที่เพลงร็อก (ร็อกแอนด์โรล) มีอิทธิพลต่อวงการเพลง หลังกำเนิดฟรีแจ๊ส ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ได้เกิดดนตรีแจ๊สอีกแนวที่เรียกว่า ฟิวชัน (Fusion) ซึ่งบ่งชี้ถึงการนำดนตรีสองแนวหรือมากกว่ามาหลอมรวมกัน ซึ่งในช่วงนั้นคือการรวมกันของดนตรีแจ๊สเข้ากับร็อกเป็นหลัก โดยการใช้รูปแบบจังหวะ และสีสันของเพลงร็อก เครื่องดนตรีในวงฟิวชั่นมักประกอบด้วยเครื่องดนตรีสองประเภททั้ง เครื่องดนตรีดั้งเดิม และเครื่องดนตรีไฟฟ้า หรืออีเลคโทรนิค มีกลุ่มเครื่องประกอบจังหวะที่ใหญ่กว่าแจ๊สยุคก่อน ๆ และมักมีเครื่องดนตรีต่างชาติอื่นเช่น เครื่องดนตรีจากแอฟริกา ลาตินอเมริกา หรืออินเดีย และอีกสองลักษณะเด่นของฟิวชั่นแจ๊สคือ แนวทำนองของอีเลคโทรนิคเบสและการซ้ำทวนของจังหวะ

ไมล์ส เดวิส นักปฏิวัติดนตรีแจ๊ส ก็ได้หยิบเอาโครงสร้างของร็อกมารวมกับแจ๊ส ทดลองใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้า เครื่องดนตรีประเภทสังเคราะห์เสียง โดยเริ่มจากอัลบั้ม In A Silent Way ก่อนจะมาเป็นอัลบั้ม Bitches Brew ซึ่งเป็นต้นแบบของแนวฟิวชันในเวลาต่อมา

แจ๊สยุคใหม่

[แก้]
จามิโรไคว์ ศิลปินแอซิดแจ๊ส

ยุคหลังทศวรรษ 1970 ฟิวชันไม่ได้ครอบคลุมเพียงแจ๊ส-ร็อก หากรวมถึงดนตรียุคหลัง เช่น แจ๊ส-รึทึมแอนด์บลูส์ แจ๊ส-ฟังกี้ แจ๊ส-ป๊อป เป็นต้น ฟิวชันยุคหลังนี้มีอิทธิพลกับแนวดนตรีนิวเอจ (New Age) และ เวิลด์ มิวสิก (World Music) ในเวลาต่อมาโดยมีสังกัด ECM และ วินด์แฮม ฮิล (Windham Hill) นักดนตรีฟิวชันที่โด่งดังมีหลายคน เช่น คีธ จาร์เร็ต (Keith Jarrett) แพท เมธินี (Pat Metheny) บิลล์ ฟริเซล (Bill Frisell) โตชิโกะ อะกิโยชิ (Toshiko Akiyoshi) ซาดาโอะ วาตานะเบ (Sadao Watanabe) เป็นต้น

ช่วงต้นทศวรรษที่ 80 แจ๊สได้รับความนิยมระดับนึงมีการผสมแจ๊สเข้ากับป็อป เรียกป็อปฟิวชัน หรือ สมูธแจ๊ส ประสบความสำเร็จในยอดการเปิดออกอากาศในสถานีวิทยุ นักแซกโซโฟนสมูธแจ๊สอย่าง กรูเวอร์ วอชิงตัน จูเนียร์, เคนนี จี และ นาจี เพลงของพวกเขาเล่นในสถานีวิทยุโดยมักจะทำเพลงร่วมกับเพลงแนว ไควเอ็ดสตรอมในตลาดคนผิวสีในสหรัฐอเมริกา อย่างเช่นเล่นในเพลงของศิลปินอย่าง อะนิทา เบเกอร์, ชากา คาน, อัล จาร์รู และชาเด เป็นต้น

มีความพยายามหาสุ้มเสียงใหม่ ๆ จากฟิวชันเหมือนกัน เช่น แอซิดแจ๊ส (Acid Jazz) หรือกรูฟแจ๊ส (Groove Jazz) ซึ่งเป็นผลการผสมระหว่างแจ๊ส โซล ฟังกี้ และฮิปฮอป เช่น จามิโรไคว์ (Jamiroquai) อีกแนวที่ใกล้กับแอซิดแจ๊สคือ นูแจ๊ส (Nu Jazz) หรือ อิเล็กโทรแจ๊ส (Electro-Jazz) ซึ่งเกิดในปลายทศวรรษ 1990 โดยนำเนื้อหนังของแจ๊สมาผสมผสานด้วยดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องสังเคราะห์เสียง เช่น วงอิเล็กโทรนิกา (Electronica)

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]

[2]

  1. "แจ๊ส, แจซ (๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒)" (PDF). สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. 1 มกราคม 2562. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2563. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  2. ดนตรีแจ๊สปัจจุบันที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]