เอจออฟมีโธโลจี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เอจ ออฟ มีโธโลยี)
เอจออฟมีโธโลจี
Age of Mythology
ผู้พัฒนาเอนเซมเบิล สตูดิโอส์
ผู้จัดจำหน่ายวินโดวส์: ไมโครซอฟท์เกมสตูดิโอส์
แม็คอินทอช: แม็คซอฟต์
แต่งเพลง
  • Stephen Rippy Edit this on Wikidata
เครื่องเล่นไมโครซอฟท์ วินโดวส์[1]
แมคโอเอสเท็น[2]
วางจำหน่าย
แนวเกมวางแผนเรียลไทม์
รูปแบบผู้เล่นคนเดียว, หลายผู้เล่น

เอจออฟมีโธโลจี (อังกฤษ: Age of Mythology) หรือมักย่อเป็น AoM เป็นเกมคอมพิวเตอร์แนววางแผนเรียลไทม์ ซึ่งมีเนื้อหาของปรัมปราวิทยา พัฒนาโดย เอนเซมเบิลสตูดิโอส์ และจัดจำหน่ายโดยไมโครซอฟท์เกมสตูดิโอส์ ออกวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ในทวีปอเมริกาเหนือ และอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมาในทวีปยุโรป[3]

เอจออฟมีโธโลจีเป็นเกมที่พัฒนาต่อยอดมาจากเกมคอมพิวเตอร์ชุดเอจออฟเอ็มไพร์ส โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากปรัมปราและตำนานของกรีซโบราณ อียิปต์โบราณ และนอร์ส มากกว่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์[4] อย่างไรก็ตาม รูปแบบการเล่นหลายอย่างยังคงคล้ายคลึงกับเกมชุดเอจออฟเอ็มไพร์ส เนื้อหาในโหมดเนื้อเรื่องเป็นเรื่องราวของนายพลเรือชาวแอตแลนติส อาร์แคนทอส ผู้ซึ่งถูกบังคับให้ท่องไปยังดินแดนของวัฒนธรรมทั้งสามในเกมเพื่อตามล่าไซคลอปส์ ผู้ซึ่งเป็นศัตรูของแอตแลนติสเช่นเดียวกับโพไซดอน[5]

เอจออฟมีโธโลจีประสบความสำเร็จในด้านการขายอย่างมาก ในแง่ยอดขายที่จำหน่ายได้มากกว่า 1 ล้านชุดภายในสี่เดือนนับจากวันออกจำหน่ายวันแรก[6] ทั้งยังได้คะแนนสูงถึง 89% ในการจัดอันดับเกมจากทั้งเกมแรงกิงส์และเมตาคริติก[7][8]

รูปแบบการเล่น[แก้]

ภาพหน้าปกซีดี

เช่นเดียวกับเกมวางแผนเรียลไทม์เกมอื่น ๆ เอจออฟมีโธโลจีเน้นการสร้างเมือง รวบรวมทรัพยากร สร้างกองทัพ และทำลายยูนิตและสิ่งก่อสร้างของศัตรูในที่สุด ซึ่งด้วยวิธีการดังกล่าว ผู้เล่นจะสามารถเอาชนะและยึดครองเมืองและอารยธรรมของคู่แข่งได้ ผู้เล่นพัฒนาเผ่าพันธุ์ของตัวเองผ่าน "ยุค" ทั้งสี่: เริ่มตั้งแต่ยุคอาร์เคอิค (Archaic Age) ซึ่งผู้เล่นจะสามารถพัฒนาต่อไปสู่ยุคคลาสสิก (Classic Age) ยุควีรบุรุษ (Heroic Age) และยุคเทพนิยาย (Mythic Age) การอัพเกรดสู่ยุคที่สูงกว่าจะปลดล็อกยูนิคและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งจะเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่เผ่าของผู้เล่น ในทางกลับกัน การอัพเกรดจะต้องใช้ทรัพยากรจำนวนหนึ่ง รวมถึงเงื่อนไขที่จะต้องสร้างสิ่งปลูกสร้างบางอย่างก่อนด้วย[9]

ผู้เล่นสามารถเลือกเล่นอารยธรรมได้จาก 3 อารยธรรมในเกมเอจออฟมีโธโลจี ได้แก่ กรีก อียิปต์ และนอร์ส การที่ผู้เล่นเลือกอารยธรรมใดในการเล่น จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงสิ่งปลูกสร้างที่สามารถสร้างได้ รวมถึงยูนิตที่สามารถสร้างได้ ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งในแง่ของความสามารถพื้นฐาน ความสามารถพิเศษ และเงื่อนไขในการสร้างสิ่งปลูกสร้างหรือยูนิตเหล่านั้น ซึ่งล้วนมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบในการเล่นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแนวทางของผู้เล่น องค์ประกอบของฉาก รวมถึงรูปแบบการเล่นของคู่แข่ง แต่ละอารยธรรมมี "เทพเจ้าหลัก" สามองค์ เช่น ซูสหรือโอดิน ซึ่งผู้เล่นจะต้องเลือกก่อนเกมจะเริ่มต้น ทุกครั้งที่ผู้เล่นพัฒนาไปยังยุคที่สูงขึ้น ผู้เล่นจะต้องเลือก "เทพเจ้ารอง" เทพเจ้ารองมีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ด้อยกว่าเทพเจ้าหลักเล็กน้อย เทพเจ้ารอง เช่น บาสเต็ดหรืออาโฟร์ไดท์[10] เทพเจ้าทั้งหมดให้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ตลอดจนถึงยูนิตปรัมปรา (myth unit) และอำนาจของเทพเจ้า (god power) ซึ่งเป็นความสามารถพิเศษซึ่งสร้างความเสียหายแก่ศัตรูหรือก่อประโยชน์ให้แก่ผู้เล่น[11]

ทรัพยากรหลักทั้งสี่ในเกมเอจออฟมีโธโลจี ได้แก่ อาหาร ไม้ ทองคำ และพรเทพเจ้า (favor) แตกต่างจากเกมที่ผ่านมาของเอนเซมเบิลสตูดิโอส์ โดยเกมดังกล่าวไม่มีทรัพยากรหินด้วย ทรัพยากรสามารถถูกใช้ในการสร้างยูนิต ปลูกสิ่งก่อสร้าง และปลดล็อกเทคโนโลยี เป็นต้น ยูนิตพลเรือน ได้แก่ ชาวบ้านของกรีก ผู้รวบรวมทรัพยากรและคนแคระของนอร์ส และกรรมกรของอียิปต์ ตลอดจนเรือประมง เป็นยูนิตที่ใช้ในการเก็บทรัพยากร การล่าสัตว์ เก็บผลเบอร์รี่ ผลผลิตปศุสัตว์ เกษตรกรรมและการประมงเป็นวิธีที่จะเก็บรวบรวมอาหาร ไม้สามารถเก็บได้จากการตัดไม้เพียงวิธีเดียว ส่วนทองคำได้มาจากเหมืองทองคำหรือการค้า แต่ละอารยธรรมสามารถอัพเกรดเพื่อเพิ่มอัตราการรวบรวมทรัพยากรต่าง ๆ ได้ สำหรับพรเทพเจ้าของแต่ละอารยธรรมสามารถได้มาด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน: อารยธรรมกรีกสามารถได้มาโดยให้ชาวบ้านบวงสรวงที่เทวสถาน อารยธรรมอียิปต์สามารถได้จากการสร้างอนุสาวรีย์ และอารยธรรมนอร์สสามารถได้มาจากการสู้รบหรือการสร้างฮีโร่[12] ทรัพยากรสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ที่ตลาดของผู้เล่น

ยูนิต[แก้]

ส่วนสำคัญของกองทัพในทุกอารยธรรมประกอบขึ้นจากทหารมนุษย์ แต่ละอารยธรรมจะมีจำนวนช่องประชากรสูงสุด แต่จำนวนสูงสุดดังกล่าวมิได้มานับตั้งแต่เริ่มเกมในทันที การสร้างบ้านหรือศูนย์กลางเมือง ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างหลักในเมืองของผู้เล่น เป็นการเพิ่มจำนวนประชากรสูงสุด ยูนิตแต่ละตัวจะใช้ช่องประชากรแตกต่างกันออกไป: พลเรือนใช้หนึ่ง ในขณะที่ยูนิตปรัมปราบางตัวอาจใช้ช่องทรัพยากรไปถึงห้า[13] ยูนิตเกือบทั้งหมดสามารถอัพเกรดได้ ทำให้ยูนิตเหล่านั้นมีประสิทธิภาพดีขึ้นในหน้าที่ของตน[14]

ยูนิตสามารถแบ่งออกได้เป็น 7 ประเภท: ทหารราบ พลธนู ทหารม้า ซึ่งเป็นสามประเภทของยูนิตมนุษย์ส่วนใหญ่ อาวุธปิดล้อม ยูนิตเรือ วีรบุรุษและยูนิตปรัมปรา[15] รูปแบบของค้อน-กระดาษ-กรรไกรมีผลต่อยูนิตเกือบทั้งหมดในการรบ ยกตัวอย่างเช่น ทหารราบทำความเสียหายมากขึ้นต่อทหารม้า ทหารม้าทำความเสียหายมากขึ้นต่อพลธนู และพลธนูทำความเสียหายมากขึ้นต่อทหารราบ รูปแบบเดียวกันนี้ยังมีผลในยูนิตเรือสามประเภทที่แตกต่างกันด้วย ได้แก่ เรือธนู เรือปิดล้อม (siege ships) และเรือค้อน ยูนิตอาวุธปิดล้อมมักยกเว้นจากรูปแบบค้อน-กระดาษ-กรรไกร แต่มีความโดดเด่นที่สามารถทำลายสิ่งปลูกสร้างได้อย่างง่ายดาย แต่ถูกทำลายได้ง่ายโดยทหารม้า วีรบุรุษทำความเสียหายอย่างมากต่อยูนิตปรัมปรา แต่ได้รับความเสียหายมากจากทหารมนุษย์เช่นเดียวกัน[16] นอกจากนี้ วีรบุรุษสามารถเก็บรวบรวมวัตถุมงคล (relic) ซึ่งจะให้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจหรือการทหารเพิ่มเติมให้แก่ผู้เล่นเมื่อผู้เล่นนำวัตถุมงคลไปไว้ในเทวสถาน[17]

สิ่งปลูกสร้าง[แก้]

โดยทั่วไป สิ่งปลูกสร้างในเกมเอจออฟมีโธโลจีสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท: สิ่งปลูกสร้างทางเศรษฐกิจ ทางทหารและการป้องกัน สิ่งปลูกสร้างทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด คือ ศูนย์กลางเมือง ซึ่งคล้ายคลึงกับสิ่งปลูกสร้างชื่อเดียวกันในเกมชุดเอจออฟเอ็มไพร์ส ยูนิตพลเรือนเกือบทั้งหมดสร้างมาจากศูนย์กลางเมือง เช่นเดียวกับเทคโนโลยีบางอย่าง และที่สำคัญที่สุด ผู้เล่นจะพัฒนาไปยังยุคที่สูงกว่าผ่านทางศูนย์กลางเมืองด้วย ศูนย์กลางเมืองเพิ่มช่องประชากรจำนวนสิบห้า ในขณะที่การสร้างบ้านเพิ่มเติมจะให้ช่องประชากรแก่ผู้เล่นอีกสิบต่อบ้านหนึ่งหลัง ในยุควีรบุรุษ ผู้เล่นสามารถสร้างศูนย์กลางเมืองในถิ่นฐานที่ยังไม่มีเจ้าของได้ซึ่งจะเพิ่มช่องประชากรอีก ในบางกรณี การครอบครองศูนย์กลางเมืองทุกแห่งจะเริ่มการนับถอยหลังที่จะนำไปสู่ชัยชนะในเกม[13] สิ่งปลูกสร้างทางเศรษฐกิจอื่นรวมไปถึงฟาร์มและตลาด

สิ่งปลูกสร้างยังสามารถปลดล็อกเทคโนโลยีและอัพเกรดได้ เช่นเดียวกับให้ทรัยพยากรแก่ผู้เล่น ยูนิตทั้งหมดยกเว้นยูนิตพลเรือนสร้างจากสิ่งปลูกสร้างทางทหาร ซึ่งจะมีชื่อและจุดประสงค์แตกต่างกันไปในแต่ละอารยธรรม แต่สามารถสร้างยูนิตที่คล้ายกัน สิ่งปลูกสร้างทางทหารยังสามารถใช้ปลดล็อกเทคโนโลยีทางทหารเฉพาะอย่าง เช่น การอัพเกรดเกราะและเพิ่มพลังโจมตี[13]

กำแพงและหอคอยเป็นสิ่งปลูกสร้างการป้องกัน ซึ่งไม่สามารถสร้างยูนิตได้ เพียงแต่ถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ในการป้องกันเท่านั้น สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้สามารถอัพเกรดได้บางอย่าง ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะมีผลเฉพาะกำแพงและหอคอยเท่านั้น[13] สิ่งปลูกสร้างอีกประเภทหนึ่งที่ผู้เล่นสามารถสร้างได้ คือ สิ่งมหัศจรรย์ ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่แสดงถึงความสามารถทางสถาปัตยกรรมของแต่ละอารยธรรม ในบางโหมด เมื่อผู้เล่นสร้างสิ่งมหัศจรรย์เสร็จ เวลาจะนับถอยหลังจากสิบนาที หากสิ่งมหัศจรรย์ยังไม่ถูกทำลายเมื่อครบกำหนดเวลา ผู้เล่นที่สร้างสิ่งมหัศจรรย์จะเป็นผู้ชนะในเกมนั้น[13]

ระบบหลายผู้เล่น[แก้]

ระบบหลายผู้เล่นเป็นส่วนที่ได้รับความนิยมอย่างสูงของเอจออฟมีโธโลจี เกมหลายผู้เล่นส่วนใหญ่เล่นผ่านเอ็นเซมเบิลสตูดิโอส์ออนไลน์ (ESO) หรือผ่านการเชื่อมต่อแลนหรือหมายเลขไอพีโดยตรง

เอจออฟมีโธโลจีจะบรรจุบัญชีผู้ใช้หลายผู้เล่นหนึ่งบัญชีบน ESO คล้ายกับฟังก์ชันในแบตเทิล.เน็ตของบลิซซาร์ด เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งจะอนุญาตให้ผู้เล่นเล่นเกมและแชตกับผู้เล่นคนอื่นได้[18]

ในเกมแบบหลายผู้เล่น มี 7 ประเภทเกมให้เลือกเล่น ซึ่งแต่ละประเภทจะถูกจัดไว้เป็นมาตรฐานของเกม:[19] โหมดมาตรฐานของเกม ครองความเป็นใหญ่ (Supremacy) รวมไปถึงแผนที่และรูปแบบการเล่นซึ่งจะถูกสุ่มขึ้นมา โหมดยึดครอง (Conquest) คล้ายคลึงกับโหมดแรก แต่ผู้เล่นจะได้รับชัยชนะก็ต่อเมื่อเอาชนะผู้เล่นคนอื่นทั้งหมด โหมดเดตแมตช์ (Deathmatch) ซึ่งผู้เล่นจะมีทรัพยากรมหาศาลในช่วงเริ่มต้น แต่รูปแบบการเล่นโดยรวมเหมือนกับโหมดครองความเป็นใหญ่ ในโหมดสายฟ้า (Lightning) รูปแบบการเล่นเหมือนกับโหมดครองความเป็นใหญ่เช่นกัน แต่ความเร็วของเกมจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ในโหมดเร่ร่อน (Nomad) ผู้เล่นเริ่มเกมด้วยยูนิตพลเรือนเพียงหนึ่งตัว โดยที่ไม่มีศูนย์กลางเมือง และจะต้องครอบครองถิ่นฐาน เป้าหมายของโหมดราชาแห่งภูเขา (King of the Hill) คือ การควบคุมอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่ ณ ใจกลางของแผนที่ในระยะเวลาที่กำหนด และในโหมดซัดเดนเดธ (Sudden Death) ผู้เล่นจะแพ้เมื่อศูนย์กลางเมืองถูกทำลาย และไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด

การแข่งขันทัวร์นาเมนต์หลายผู้เล่นและกลุ่มแลนได้รับความนิยมทั่วโลก โดยผู้เล่นหลายคนเข้าเยี่ยมชมห้องพักเกมคอมพิวเตอร์เพื่อเข้าร่วมเล่น[20]

โปรแกรมสร้างแผนที่[แก้]

โปรแกรมสร้างแผนที่ของเอจออฟมีโธโลจีมีการพัฒนาอย่างมากเมื่อเทียบกับโปรแกรมสร้างแผนที่ของเกมก่อนหน้า เอจออฟเอ็มไพร์ส 2[2] นอกเหนือไปจากความสามารถในการวางยูนิตพื้นฐาน โปรแกรมยังเปิดโอกาสให้วางยูนิตซ้อนกันได้ เช่นเดียวกับการสร้างภูเขาสูงและพื้นที่สูงชัน[21] ตัวนำ (trigger) ส่วนที่ได้รับความนิยมในการออกแบบแผนที่ในเอจออฟเอ็มไพร์ส 2 ได้ถูกนำมาเสนอในโปรแกรมสร้างแผนที่ของเอจออฟมีโธโลจีด้วย เช่นเดียวกับคัตซีนและสเปเชียลเอฟเฟ็กซ์อื่น ๆ[22]

การดำเนินเรื่อง[แก้]

ไม่เหมือนกับโหมดยุทธการในเอจออฟเอ็มไพร์ส และเอจออฟเอ็มไพร์ส 2 กล่าวคือ โหมดยุทธการในเกมเอจออฟมีโธโลจีนี้มีเพียงเนื้อเรื่องหลักอย่างเดียว โดยมีความยาวมากกว่าโหมดเดียวกันในอีกสองเกมก่อนหน้า ซึ่งมีถึง 36 ฉาก[23]

เนื้อเรื่องของเอจออฟมีโธโลจีมีชื่อว่า ฟอล ออฟ เดอะ ไทรเดนท์ (การล่มสลายของสามง่าม) และเล่าเรื่องราวของอาร์แคนทอส นายพลเรือชาวแอตแลนติสผู้ซึ่งถูกส่งไปทำภารกิจนอกบ้านเกิดเมืองนอนในความพยายามที่จะได้รับพรคืนจากโพไซดอน เทพของชาวแอตแลนติส[5] ภารกิจของอาร์แคนทอสชักนำให้เขาเข้าไปมีส่วนในสงครามกรุงทรอย ที่ซึ่งเขาพบเอแจกซ์ อกาเมมนอนและโอดีสซุส หลังจากช่วยเหลือจนมีชัยในการรบแล้ว เขาเดินทางต่อไปจนพบกับไครอน ไครอนได้แนะนำให้เขาติดตามไซคล็อปส์ตนหนึ่งซึ่งมีนามว่า การ์กาเรนซิส ผู้ติดตามของโพไซดอน[24] อาร์แคนทอส เอแจ็กซ์และไครอนได้ท่องไปยังโลกบาดาลเพื่อติดตามการ์กาเรนซิสจนกระทั่งไปสิ้นสุดที่อียิปต์

ในอียิปต์ อาร์แคนทอสพบกับอเมนรา ราชินีของทหารรับจ้าง ผู้ซึ่งขอให้เขาช่วยเหลือในปัญหาภายใน เขาได้ช่วยเหลือและสนับสนุนเธอในการสู้รบกับพันธมิตรของการ์กาเรนซิส เค็มซิท ขณะอยู่ในอียิปต์ อาร์แคนทอสได้ทราบเรื่องราวที่แท้จริงเกี่ยวกับการ์กาเรนซิส คือ เขาพยายามที่จะได้รับความเป็นอมตะโดยการปลดปล่อยไททันโครนอสจากขุมนรกทาร์ทารัส[15] เขาเดินทางต่อไปทางเหนือ ตามวัตถุประสงค์เดิมในการตามหาการ์กาเรนซิส

ในดินแดนนอร์ส อาร์แคนทอสพบกับเรกินลีฟ วาลคิรี และร่วมมือกันพยายามที่จะหยุดยั้งสงครามแร็กนาร็อกมิให้เกิดขึ้น ทั้งหมดพบกับการ์กาเรนซิสอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทำให้อาร์แคนทอสและพวกติดอยู่ในหุบเขาเล็ก ๆ ที่ไม่มีทางหลบหนี อาร์แคนทอสต้านการโจมตีของกองทัพการ์กาเรนซิสขณะที่รอความช่วยเหลือจากโอดีสซุส[25]

ระหว่างที่ฝ่ายวีรบุรุษกำลังรบกับกองทัพของการ์กาเรนซิส เขาได้เดินทางกลับไปยังแอตแลนติส และกักขังตัวผู้นำแอตแลนติสเอาไว้ ในบทสรุปของเนื้อเรื่อง อาร์แคนทอสและพันธมิตรได้เดินทางกลับมายังแอตแลนติส ซุสได้ประทานพรมาเหนืออาร์แคนทอส ทำให้เขาสามารถมีชัยเหนือโพไซดอนและการ์กาเรนซิสได้ หลังจากทำลายรูปปั้นมีชีวิตของโพไซดอนและการ์กาเรนซิสแล้ว อาร์แคนทอสได้เสียชีวิตด้วยความเหน็ดเหนื่อย ก่อนที่จะได้รับประทานความเป็นอมตะจากอธีนา และกลายเป็นหนึ่งในเทพเจ้าในที่สุด

เดอะโกลเด้นกิฟต์[แก้]

นอกจากนี้ ได้มีเรื่องราวใหม่อย่างเป็นทางการในชื่อ เดอะโกลเด้นกิฟต์ (ของขวัญสีทอง) ซึ่งถูกพัฒนาโดยเอนเซมเบิลสตูดิโอส์ โดยได้เปิดให้ดาวน์โหล์ดจากเว็บไซต์ โดยเป็นเรื่องราวการผจญภัยของบรอคค์และอีทริ สองคนแคระซึ่งปรากฏตัวตั้งแต่เรื่องราวเดิม โดยเรื่องราวใหม่นี้มีทั้งหมด 4 ฉาก[26]

การพัฒนา[แก้]

เอนเซมเบิลสตูดิโอส์เริ่มทำงานบนเกมเอนจิน 3 มิติเป็นครั้งแรกในขณะเดียวกับที่มีการพัฒนาเกมเอจออฟเอ็มไพร์ส 2: ดิเอจออฟคิงส์ เกมเอนจินดังกล่าวมีชื่อว่า แบง! เอนจิน ซึ่งได้รับการประกาศในเดือนมกราคม พ.ศ. 2544 สำหรับใช้ในเกมใหม่ ภายใต้รหัส RTSIII และในภายหลังได้ถูกเปิดเผยชื่อออกมาว่าเอจออฟมีโธโลจี[27] ในระหว่างการพัฒนาเอจออฟมีโธโลจี เอนเซมเบิลสตูดิโอส์ตัดสินใจที่จะย้ายเรื่องราวออกจากประวัติศาสตร์ของเกมชุดเอจออฟเอ็มไพรส์ เพื่อหลีกเลี่ยงความน่าเบื่อและความซ้ำซาก ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเปิดโอกาสให้ทีมงานทำงานกับความคิดและรูปแบบใหม่ ๆ[28]

หลังจากได้มีการประกาศตัวเกมออกมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2545[29] ได้มีการออกเวอร์ชันทดลอง[30] เวอร์ชันทดลองนี้ประกอบด้วยฉาก 5 ฉากในโหมดเรื่องราว และแผนที่ซึ่งถูกสุ่มขึ้นมาอีก 2 แผนที่ และในเวอร์ชันทดลองนี้ ผู้เล่นสามารถเลือกเทพเจ้าหลักได้เพียงซุสเท่านั้น ส่วนในเกมเวอร์ชันเต็มจะมีเทพเจ้าถึง 9 องค์[30] ในระหว่างการสร้างเกม ได้มีการโต้เถียงกันเกี่ยวกับพลังเทพเจ้าที่ไม่ค่อยสมดุลกันและจะทำอย่างไรให้ตัวเกมมีความยุติธรรมในขณะที่คงไว้ซึ่งความสนุกสนานเอาไว้ด้วย[31] เอจออฟมีโธโลจีดำเนินการทดสอบเบต้าหลายครั้งในระหว่างช่วงพัฒนาเกม เนื่องจากผู้ผลิตพยายามที่จะสร้างเกมที่สมดุลและท้าทายผู้เล่นมากกว่าเกมที่ผ่านมา เกรก ที. สตรีตได้ให้ความคิดเห็นว่า หนึ่งในสาเหตุที่เอจออฟมีโธโลจี ได้รับความนิยมอย่างมากนั้นเนื่องจากทีมผู้พัฒนาได้ใช้เวลานานหลายชั่วโมงกับเกมผ่านการทดสอบอย่างกระตือรือร้น มากกว่าการรับข้อเสนอแนะจาก "บุคคลไร้ตัวตนจากอีกอาคารหนึ่ง"[32]

ภาคต่อและผลงานสืบเนื่อง[แก้]

เกมเอจออฟมีโธโลจี: เดอะไททันส์เป็นภาคต่อของเอจออฟมีโธโลจี ซึ่งออกวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2546[33] ภาคต่อนี้ได้เพิ่มอารยธรรมใหม่ที่ผู้เล่นสามารถเลือกเล่นได้ นั่นคือ แอตแลนติส เช่นเดียวกับยูนิตใหม่ ๆ เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงไททัน นักวิจารณ์และแฟนรอคอยภาคต่อนี้ด้วยความกระตือรือร้น ถึงแม้ว่าความนิยมของมันจะไม่เท่ากับภาคดั้งเดิมก็ตาม[34]

เอจออฟเอ็มไพร์ส: มีโธโลจีส์ เป็นเรื่องราวสืบเนื่องจากเอจออฟเอ็มไพร์ส: ดิเอจออฟคิงส์ แต่มีรูปแบบการเล่นตั้งอยู่บนพื้นฐานของเทวตำนานเช่นเดียวกับเอจออฟมีโธโลยี เป็นเกมที่พัฒนาโดยกริปโตไนต์เกมส์ บนเครื่องเล่นนินเทนโด ดีเอส[35]

เสียง[แก้]

ซาวด์แทร็คของเอจออฟมีโธโลจีออกวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2545 โดยค่ายเพลง "ซัมธิง เอลส์" (Sumthing Else)[36] เนื้อเพลงเขียนโดยผู้กำกับด้านดนตรี สตีเฟน ริปปี และศิลปิน เควิน แมคมัลแลน ริปปีกล่าวถึงศิลปินคนอื่น ๆ อย่างเช่น ปีเตอร์ กาเบรียล ทัวทารา บิล แลสเวลล์ ทัลวิน ซิงห์ และชาด เบลก ว่าเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เขาในการผลิตซาวด์แทร็คชุดนี้ ผลงานดนตรีในเอจออฟมีโธโลจีนี้เป็นสิ่งที่ริบปีไม่เคยทำมาก่อน ตัวอย่างของขั้นตอนการทำงานนี้ อาทิ "การเขียนออร์เครสตรา 70 ชิ้น จากนั้นบินไปยังวอชิงตันเพื่อบันทึกเสียง"[37]

นักวิจารณ์ของมิวสิก 4 เกม เจย์ เซเมราด ได้ยกย่องผลงานซาวด์แทร็คของเอจออฟมีโธโลจี เขาสรุปการวิจารณ์ของเขาโดยประกาศว่า "ในภาพรวม ซาวด์แทร็คเอจออฟมีโธโลจีเป็นประสบการณ์ที่ไม่ควรพลาด มันได้กลายมาเป็นหนึ่งในซาวด์แทร็คที่ผมประทับใจมากที่สุดชิ้นหนึ่งในหลายปีที่ผ่านมาได้อย่างง่ายดาย" เซเมราดยังได้รู้สึกประหลาดใจและชื่นชมกับการใช้เครื่องดนตรี อย่างเช่น ฟลุตเนย์ ทาบลา และเปียโนของเล่น ซึ่งทั้งหมดนั้น เขากล่าวว่าได้สร้าง "นวัติกรรมเอฟเฟ็กซ์อนาล็อกและอิเล็กทรอนิกส์สังเคราะห์" ข้อติเพียงประการเดียวของเขาคือว่า เวลาเมโลดีพื้นหลังเล่นบางครั้ง "ผูกมัดกับการกลมกลืนพื้น ๆ" และขาด "จุดประสงค์ที่หนักแน่นหรือเป็นของใหม่อย่างแท้จริง"[38]

การตอบรับ[แก้]

การตอบรับ
คะแนนรวม
ผู้รวมคะแนน
เกมแรงกิงส์89%[7]
เมทาคริติก89%[8]
คะแนนปฏิทรรศน์
สิ่งพิมพ์เผยแพร่คะแนน
เกมอินฟอร์เมอร์9.5 จาก 10[41]
เกมเรโวลูชันB+[42]
เกมสปอต9.2 จาก 10[15]
ไอจีเอ็น9.3 จาก 10[25]
พีซี เกมเมอร์ ยูเอส86%[40]

เอจออฟมีโธโลจีได้รับการตอบรับอย่างดีจากสาธารณะ โดยจำหน่ายได้ถึงหนึ่งล้านแผ่นภายในห้าเดือนนับตั้งแต่วันออกจำหน่ายวันแรก[6] ตัวเกมได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลการพัฒนาอินเทอร์แอคทีฟสำหรับเกมคอมพิวเตอร์แห่งปีของสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์อินเทอร์แอคทีฟและเกมคอมพิวเตอร์วางแผนแห่งปี[43]

กราฟิกส์ของเอจออฟมีโธโลจีได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ นักวิจารณ์ของ IGN สตีฟ บัททส์ กล่าวว่า "นับเป็นเอฟเฟ็กซ์ที่มหัศจรรย์และแอนิเมชันที่เหลือเชื่อทำให้มีความสุขที่จะได้ดูกราฟิกส์นี้ ความแตกต่างระหว่างกองทัพและสิ่งแวดล้อมนั้นดีเลิศ" และเขาได้ให้คะแนนกราฟิกส์ 9 เต็ม 10[44] ในขณะเดียวกัน นักวิจารณ์ของเกมสปอต เกรก คาซาวิน ยังได้ให้คะแนนกราฟิกส์ 9 จาก 10 โดยกล่าวว่า "เอจออฟมีโธโลจีเป็นเกมที่ดูเยี่ยมยอดมาก เต็มไปด้วยสีสันเจิดจ้าและแอนิเมชันที่มีรายละเอียดที่ได้รับการออกแบบอย่างระมัดระวัง"[45] เกมเรโวลูชันยังได้ชื่นชมกราฟิกส์ของเอจออฟมีโธโลจี กล่าวในการวิจารณ์ของพวกเขาว่า "ภูมิประเทศ 3 มิติแบบใหม่ดูดี" รวมไปถึงกราฟิกส์ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยบวกของบทสรุปการวิจารณ์[42] นักวิจารณ์ของพีซีเกมเมอร์ วิลเลียม ฮาร์มส์ ชื่นชมกราฟิกส์ว่า "สภาพแวดล้อม ยูนิต และสิ่งปลูกสร้างเต็มไปด้วยรายละเอียด" และให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเอฟเฟ็กซ์อย่างตื่นเต้น: "สิ่งที่สร้างความประทับใจให้ผมจริง ๆ คือ แอนิเมชันของเกม เมื่อมิโนทอร์ตบศัตรูด้วยกระบองของมัน ไอ้โง่นั้นลอยขึ้นไปบนฟ้า ไถลลงไปบนพื้น จากนั้นกระเด็นกลับขึ้นไปในอากาศอีกครั้ง"[40]

เสียงของเกมได้รับการชื่นชมจากนักวิจารณ์เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะมีการวิจารณ์จากหลายฝ่ายว่าเสียงมักจะเล่นซ้ำและคาดเดาได้ในหลายโอกาส IGN อธิบายมันว่า "เป็นดนตรีที่ยอดเยี่ยม หากแต่เล่นซ้ำ"[44] ในขณะที่เกมเรโวลูชันประกาศว่าเสียง "เป็นการแสดงความสนใจในรายละเอียดอย่างต่อเนื่องของเอนเซมเบิล" ก่อนที่จะกล่าวยกย่องเสียงในภาษาที่แตกต่างกันด้วย[42]

IGN รู้สึกพอใจกับโหมดเนื้อเรื่องของเอจออฟมีโธโลจี และไม่รู้สึกเบื่อไปกับความยาวของเรื่อง พวกเขากลับให้ความเห็นว่า "โหมดเนื้อเรื่องผู้เล่นคนเดียวที่เต็มไปด้วยความหมายและเป็นที่ดึงดูดใจได้ให้ประสบการณ์ที่เกือบจะไร้ที่ติ"[44] อย่างไรก็ตาม เกมสปอตได้วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับโหมดผู้เล่นคนเดียวเล็กน้อย โดยกล่าวว่า "ในขณะที่บางภารกิจในโหมดเนื้อเรื่องได้มีลักษณะของสภาพแวดล้อมที่ไม่ธรรมดาหรือเป้าหมายที่เปลี่ยนไป เรื่องราวของเกมไม่ได้น่าดึงดูดใจอย่างเหลือเชื่อ" แต่ทางผู้ผลิตได้ประนีประนอมกับแนวคิดดังกล่าวโดยกล่าวว่า แฟนเกมเอจออฟเอ็มไพรส์อาจไม่คาดหวังเรื่องราวที่มหัศจรรย์ และพวกเขาจะ "ตรงดิ่งไปยังโหมดสุ่มแผนที่ในทันที"[45] พีซีเกมเมอร์ยังได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับโหมดเนื้อเรื่อง โดยกล่าวว่า "ภารกิจส่วนใหญ่ได้รับการออกแบบมาดีมาก" และ "การเล่นโหมดเนื้อเรื่องนี้เป็นช่วงเวลาของความสนุกสนานอย่างแท้จริง เป็นความน่าประหลาดใจและปิติยินดีจริง ๆ" อย่างไรก็ตาม ก็ได้วิพากษ์วิจารณ์ว่า "น่าสลดใจ ภารกิจส่วนมากของเอจออฟมีโธโลจีมีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ กันและเป็นปัญหาที่น่าท้อแท้: กรณีภารกิจ 'สร้างฐาน'" นักวิจารณ์ได้ขยายความว่า: "ผมทราบว่าการสร้างฐานเป็นสิ่งปกติสำหรับเกมแนวนี้ แต่แม้กระทั่งแฟนที่กระตือรือร้นที่สุดก็ยังท้อใจกับความมากมายของมัน สิ่งที่น่าผิดหวังที่สุด คือ ท้องเรื่องเอจออฟมีโธโลจีโน้มไปยังการออกแบบภารกิจที่เพ้อฝัน และผมไม่คิดว่าผู้ออกแบบจะใช้ประโยชน์ได้เต็มที่จากฉาก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าละอาย"[40]

การใช้ในการศึกษาทางวิทยาศาสตร์[แก้]

ปัญญาประดิษฐ์ของเอจออฟมีโธโลจีถูกใช้โดยนักวิจัยชาวออสเตรียจำนวนสี่คน คริสตอฟ เฮอร์มันน์ เฮลมุธ เมลเชอร์ สตีเฟน แรงค์ และโรเบิร์ต แทรพพ์ เพื่อเป็นกรณีศึกษาเข้าถึงประโยชน์ของอารมณ์ในเกมวางแผนเรียลไทม์ ตามข้อสรุปของการวิจัยระบุว่า "เราสนใจว่าการเพิ่มรูปแบบอารมณ์พื้นฐานเข้าไปในสคริปต์ของบอตเดิมจะเพิ่มกำลังในการเล่นหรือไม่"[46] ผลสรุปของการศึกษาได้อธิบายว่าในบอตทั้งสี่ที่พวกเขาได้ทดลอง บอตโรคประสาทมีความสามารถสูงสุดในการเอาชนะปัญญาประดิษฐ์ปริยายของเอจออฟมีโธโลจีได้ ตามมาด้วยบอตที่มีความก้าวร้าว ไม่มีบอตตัวใดที่แพ้ปัญญาประดิษฐ์มาตรฐาน แต่บอตโรคประสาทสามารถเอาชนะปัญญาประดิษฐ์ของเกมได้มากกว่าบอตประเภทอื่นถึง 25%[47] แผนการดังกล่าวเพื้อขยายการวิจัยในอนาคตโดยการทดลองให้เล่นระหว่างบอตโรคประสาทกับผู้เล่นมนุษย์[48]

อ้างอิง[แก้]

  1. "System Requirements". Microsoft Game Studios. สืบค้นเมื่อ 2007-10-04.
  2. 2.0 2.1 "Age of Mythology on MacSoft Games". MacSoft. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-19. สืบค้นเมื่อ 2007-06-04.
  3. 3.0 3.1 3.2 "MobyGames Age of Mythology Info". MobyGames. สืบค้นเมื่อ 2007-07-20.
  4. "Age of Mythology civilizations on MacGamer.net". MacGamer.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2007-05-11.
  5. 5.0 5.1 Fahey, Rob (2002-12-10). "Age of Mythology". Eurogamer. สืบค้นเมื่อ 2007-05-26.
  6. 6.0 6.1 ""Age of Mythology" Goes Platinum With More Than 1 Million Units Sold". Microsoft PressPass. สืบค้นเมื่อ 2007-07-22.
  7. 7.0 7.1 "Age of Mythology Reviews". Game Rankings. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-07. สืบค้นเมื่อ 2007-07-23.
  8. 8.0 8.1 "Age of Mythology (pc: 2002): Reviews". Metacritic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-24. สืบค้นเมื่อ 2007-07-23.
  9. "Apple Games page on Age of Mythology". Apple Inc. สืบค้นเมื่อ 2007-07-04.
  10. Burrell, M. "Age of Mythology Review - GamersHell.com". GamersHell.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-05. สืบค้นเมื่อ 2007-04-20.
  11. "Age of Mythology page on Ensemble Studios Website". Ensemble Studios. สืบค้นเมื่อ 2007-06-04.
  12. "Age of Mythology Heaven Hersir info". Age of Mythology Heaven. สืบค้นเมื่อ 2007-06-05.
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 "Buildings on MacGamer.net". MacGamer.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-12. สืบค้นเมื่อ 2007-06-04.
  14. "Age of Mythology Heaven Unit Guide". Age of Mythology Heaven. สืบค้นเมื่อ 2007-06-05.
  15. 15.0 15.1 15.2 Kasavin, Greg (2002-11-02). "GameSpot review on Age of Mythology". GameSpot. สืบค้นเมื่อ 2007-06-04.
  16. "Greek Hero Units". Age of Mythology Heaven. สืบค้นเมื่อ 2007-06-05.
  17. "Relics page on Age of Mythology Heaven". Age of Mythology Heaven. สืบค้นเมื่อ 2007-05-04.
  18. "Ensemble Studios Online (ESO) FAQ". Age of Mythology Heaven. สืบค้นเมื่อ 2007-07-22.
  19. ES_Bigdog. "How many game modes are there in AoM?". Age of Mythology Heaven Forums. สืบค้นเมื่อ 2007-07-22.
  20. "What games can I play in competition?". Uptime Games. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-12. สืบค้นเมื่อ 2007-10-04.
  21. "Elevation in Scenario Editor". Age of Mythology Heaven. สืบค้นเมื่อ 2007-06-04.
  22. "Scenario Editor Glossary". Age of Mythology Heaven. สืบค้นเมื่อ 2007-06-04.
  23. "Age of Mythology for PC". ToTheGame. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-29. สืบค้นเมื่อ 2007-10-06.
  24. "Age of Mythology overview". MacGamer.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-26. สืบค้นเมื่อ 2007-05-26.
  25. 25.0 25.1 Butts, Steve. "IGN Review". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-14. สืบค้นเมื่อ 2007-05-11. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |published= ถูกละเว้น (help)
  26. Downloads: Campaigns. Microsoft Game Studios. สืบค้นเมื่อ 17-10-10
  27. "Ensemble Studios Interview". Amer Ajami. GameSpot. 2001-01-31. สืบค้นเมื่อ 2007-07-24.
  28. Stuart Bishop (2002-08-19). "Interview: Rock of Ages". C&VG. สืบค้นเมื่อ 2007-07-24.
  29. "Age of Mythology announced". GameZone Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-08-19. สืบค้นเมื่อ 2007-04-27.
  30. 30.0 30.1 "Age of Mythology Trial". Age of Mythology Heaven. สืบค้นเมื่อ 2007-04-29.
  31. Street, Greg T. (2002-08-21). "Age of Mythology: Volume II". GameSpy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-12. สืบค้นเมื่อ 2007-04-29.
  32. Street, Greg T. (2002-09-05). "Age of Mythology: Volume III". GameSpy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-05-07. สืบค้นเมื่อ 2007-04-29.
  33. "Age of Mythology: The Titans Info". MobyGames. สืบค้นเมื่อ 2008-01-14.
  34. "Age of Mythology:The Titans GameRankings page". Game Rankings. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-06. สืบค้นเมื่อ 2007-07-18.
  35. Daemon Hatfield (2 June 2008). "A sequel to Age of Kings is on the way". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-25. สืบค้นเมื่อ 2008-06-14.
  36. "Age of Mythology Soundtrack CD". CD Universe. สืบค้นเมื่อ 2007-07-23.
  37. "Age of Music". Steve Butts. IGN. สืบค้นเมื่อ 2007-07-23.
  38. "Age of Mythology". Jay Semerad. Music 4 Games. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-12. สืบค้นเมื่อ 2007-10-04.
  39. Microsoft Corporation Age of Mythology - Soundtrack. Published 2002. Retrieved July 28, 2007
  40. 40.0 40.1 40.2 William Harms. "PC Gamer review". PC Gamer. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-12. สืบค้นเมื่อ 2007-10-06.
  41. Brogger, Kristian (2002-12-17). "Game Informer review". Game Informer. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-12. สืบค้นเมื่อ 2007-12-06.
  42. 42.0 42.1 42.2 "Age of Mythology". Game Revolution. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-05. สืบค้นเมื่อ 2007-10-05.
  43. "6th Annual Interactive Achievement Awards". The Academy of Interactive Arts & Sciences. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-29. สืบค้นเมื่อ 2007-07-22.
  44. 44.0 44.1 44.2 "Age of Mythology review". Steve Butts. IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-19. สืบค้นเมื่อ 2007-10-05.
  45. 45.0 45.1 "Age of Mythology Review, Page 3". Greg Kasavin. GameSpot. สืบค้นเมื่อ 2007-07-22.
  46. "Neuroticism – A Competitive Advantage (Also) for IVAs?". SpringerLink. สืบค้นเมื่อ 2007-10-11.[ลิงก์เสีย]
  47. "AI research". New Scientist Technology Blog. 2007-10-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-25. สืบค้นเมื่อ 2007-10-11.
  48. "Neurotic software has a winning personality". Tom Simonite. New Scientist Technology Blog. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-25. สืบค้นเมื่อ 2007-10-11.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]