ข้ามไปเนื้อหา

คนแคระ (คติชนวิทยา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก คนแคระ)
ภาพวาด Men hur kommer man in i berget, frågade tomtepojken (ข้าจะกลับไปในภูเขาได้อย่างไร, คนแคระน้อยถาม) ของ จอห์น บาวเออร์

คนแคระ (อังกฤษ: Dwarf) เป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรากฏในตำนานปรัมปราในกลุ่มประเทศเจอร์แมนิก (สแกนดิเนเวียและเยอรมัน) ปรากฏในเทพนิยาย นิยายแฟนตาซี และเกมอาร์พีจีจำนวนมาก มักมีพรสวรรค์อันวิเศษโดยเฉพาะด้านเกี่ยวกับการเหมืองและการโลหะ

แนวคิดเริ่มแรกเกี่ยวกับกำเนิดตำนานของคนแคระไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แหล่งกำเนิดที่ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่สามารถค้นพบคือในตำนานปรัมปราของเจอร์แมนิกที่สืบทอดมาจากตำนานนอร์ส แต่กระนั้นก็หาหลักฐานได้ยากและมีรูปแบบหลากหลายมาก เรื่องราวที่ผิดเพี้ยนไปทำให้คนแคระดูน่าขบขันมากขึ้นและช่างเชื่อถือโชคลาง[1] คนแคระมีลักษณะคล้ายมนุษย์ แต่เรื่องเล่าระบุถึงความสูงและชีวิตความเป็นอยู่แตกต่างกันไป บางเรื่องถึงกับบรรยายพวกเขาไปคล้ายกับพวกเอลฟ์ เมื่อพิจารณาจากแหล่งข้อมูลที่เก่าแก่ที่สุดและจากลักษณะตามธรรมชาติของคนแคระ เชื่อได้ว่าในยุคแรกๆ คนแคระมีความสูงพอกันกับมนุษย์นี้เอง บทบาทของพวกเขาในตำนานมักมีความผูกพันใกล้ชิดกับความตาย[2][3] มีผิวกายซีด ผมสีเข้ม ชอบอยู่กับพื้นโลก มีประเพณีที่นิยมนับถือลัทธิภูตผี ซึ่งสอดคล้องกับความผูกพันกับความตาย บางครั้งมีลักษณะคล้ายคลึงกับพวก 'Vættir' หรือจิตวิญญาณแห่งธรรมชาติ เช่นพวกเอลฟ์[2]

ตำนานปรัมปราเกี่ยวกับคนแคระที่พัฒนาการต่อมา มีข้อเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ พวกเขาดูน่าขบขันมากขึ้น มีความลึกลับมากขึ้น คนแคระเริ่มมีรูปร่างเตี้ยลงและน่าเกลียดมากขึ้นตามภาพลักษณ์ในยุคใหม่ รวมถึงภาพการใช้ชีวิตใต้พื้นดินของพวกเขาก็โดดเด่นยิ่งขึ้น คนแคระเป็นสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ที่มีทักษะด้านการโลหะอย่างวิเศษ มีชื่อเสียงในการสร้างของวิเศษในตำนานมากมาย แนวคิดเกี่ยวกับคนแคระในตำนานนอร์สยุคหลังมีความแตกต่างจากตำนานดั้งเดิมมาก คนแคระในแนวคิดใหม่นี้ไปปรากฏในเทพนิยายและนิทานพื้นบ้านในยุคหลังมากขึ้น (ดูเพิ่มเติมใน นิทานพื้นบ้านเยอรมัน และนิทานพื้นบ้านดัตช์) พวกเขากลายเป็นสิ่งมีชีวิตซึ่งมีเวทมนตร์ ไม่สามารถมองเห็นได้ เป็นเจ้าแห่งมนตร์มายา คำสาป และคำล่อลวง

แฟนตาซีและวรรณกรรมยุคใหม่ช่วยกันถักทอความเจ้าเล่ห์แสนกลให้กับเหล่าคนแคระเพิ่มเติมไปยิ่งกว่าคนแคระดั้งเดิม คนแคระในยุคใหม่จึงมีลักษณะเฉพาะตัวคือ มีร่างกายเตี้ยแคระ ผมและขนดกหนา มีความสามารถในการทำเหมืองและการช่างโลหะอย่างพิเศษ อย่างไรก็ดีวรรณกรรมยุคใหม่ยังบรรยายภาพของคนแคระที่แตกต่างกันออกไปอีกตามแต่ตำนานและประวัติศาสตร์ของแต่ละท้องถิ่น วรรณกรรมแฟนตาซีหลายเรื่องประดิษฐ์คิดค้นอำนาจหรือภาพลักษณ์ของคนแคระขึ้นใหม่ ทำให้ "คนแคระ" ในตำนานยุคใหม่ไม่อาจมีคำจำกัดความที่ชัดเจนได้

แต่แนวคิดเรื่องคนแคระมีร่างเตี้ยดูจะเป็นประเด็นที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงมากที่สุด และคำว่า "คนแคระ" (dwarf) ก็ถูกนำมาใช้บรรยายถึงมนุษย์ร่างเตี้ยโดยทั่วไปไม่ว่าจะมีอำนาจเวทมนตร์หรือไม่ ดังนั้นคำจำกัดความสากลในยุคใหม่สำหรับคำว่า คนแคระ จึงหมายถึงสิ่งมีชีวิตร่างเตี้ย มีความเกี่ยวข้องกับเวทมนตร์ อยู่ในวรรณกรรมแฟนตาซีและเทพนิยาย

คนแคระในตำนานเจอร์แมนิก

[แก้]

ในตำนานและความเชื่อของชาวเจอร์แมนิก เผ่าคนแคระเป็นสิ่งมีชีวิตมีลักษณะคล้ายมนุษย์แต่ตัวเล็กกว่า พวกเขามักถูกเชื่อว่ามีความสามารถในการทำงานช่างที่เก่งกาจ และมักอาศัยอยู่ในถ้ำหรือใต้ดิน

คนแคระในตำนานชาวเจอร์แมนิกถูกเชื่อว่ามีความเชี่ยวชาญในด้านการทำงานช่าง การทำเหมืองแร่ และการตีเหล็ก พวกเขามีทักษะในการสร้างอาวุธและเครื่องประดับที่มีคุณภาพสูง ซึ่งบางครั้งมีพลังวิเศษหรือความสามารถพิเศษ ตัวอย่างเช่น ค้อนของเทพเจ้า Thor ที่ชื่อว่า Mjölnir ก็ถูกทำโดยคนแคระ

คนแคระมักอาศัยอยู่ในถ้ำหรือใต้ดิน ในสถานที่ที่มีแร่ธาตุที่มีค่ามากมาย พวกเขามีความสามารถในการขุดหาทรัพยากรเหล่านี้และนำมาใช้ในการสร้างสิ่งของต่างๆ

หนึ่งในเรื่องเล่าที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับคนแคระในตำนานของชาวเจอร์แมนิกคือเรื่อง "The Lay of the Völsungs" หรือ "Völsunga saga" ซึ่งเป็นตำนานของตระกูล Völsung ในเรื่องนี้มีการกล่าวถึงคนแคระที่ชื่อว่า Andvari ซึ่งมีความสามารถในการแปลงร่างเป็นปลาและมีแหวนวิเศษที่สามารถนำโชคและความมั่งคั่งมาให้

ในเรื่องเล่า Andvari อาศัยอยู่ในแม่น้ำและแปลงร่างเป็นปลาเพื่อซ่อนตัว แต่เขาถูก Loki เทพเจ้าแห่งการลวงหลอกจับได้ และถูกบังคับให้มอบแหวนวิเศษให้กับ Loki แหวนนี้นำมาซึ่งความมั่งคั่งและโชคลาภ แต่ก็ยังนำมาซึ่งคำสาปและความทุกข์ ซึ่งสุดท้ายแล้วนำไปสู่ความล่มสลายของตระกูล Völsung

คนแคระในตำนานชาวเจอร์แมนิกยังมีบทบาทในตำนานและนิทานอื่น ๆ มากมาย ทั้งในตำนานเทพนิยายของชาวนอร์ส และในวรรณกรรมยุโรปอื่น ๆ ด้วย

คนแคระในตำนานและนิทานพื้นบ้านยุคหลัง

[แก้]

คนแคระในนิยายแฟนตาซียุคใหม่

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]