ข้ามไปเนื้อหา

เหมา อี๋ชาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหมา อี๋ชาง
毛贻昌
เกิด15 ตุลาคม พ.ศ. 2413
อำเภอเฉาชาน มณฑลหูหนาน จักรวรรดิชิง
เสียชีวิต23 มกราคม พ.ศ. 2463 (49 ปี)
อำเภอเฉาชาน มณฑลหูหนาน สาธารณรัฐจีน
อาชีพเกษตรกร, พ่อค้าธัญพืช
คู่สมรสเหวิน ซู่ฉิน
บุตรเหมา เจ๋อตง
เหมา เจ๋อหมิน
เหมา เจ๋อถาน
เหมา เจ๋อเจี้ยน (บุตรบุญธรรม)

เหมา อี๋ชาง (จีน: 毛贻昌; พินอิน: Máo Yíchāng; 15 ตุลาคม พ.ศ. 2413 – 23 มกราคม พ.ศ. 2463) เป็นเกษตรกรและพ่อค้าธัญพืชชาวจีน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะบิดาของเหมา เจ๋อตง เขาเป็นทายาทรุ่นที่ 19 ของตระกูลเหมา เกิดและใช้ชีวิตอยู่ที่หมู่บ้านเฉาชานจง ในอำเภอเฉาชาน มณฑลหูหนาน

เหมา อี๋ชาง เป็นบุตรชายของเหมา เอินผู่ เติบโตมาในครอบครัวชาวนาที่ยากจน เขาแต่งงานกับเหวิน ซู่ฉิน เมื่ออายุได้ 15 ปี ต่อมาเขารับราชการในทัพเซียงเป็นเวลา 2 ปี หลังจากกลับมาทำการเกษตรกรรม เขาก็กลายเป็นผู้ปล่อยเงินกู้และพ่อค้าธัญพืช โดยการซื้อข้าวในท้องถิ่นไปขายในเมืองเพื่อหารายได้ที่สูงขึ้น ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในชาวนาที่ร่ำรวยที่สุดในเฉาชาน และมีที่ดินถึง 50 ไร่ เขากับเวินมีบุตร 4 คนได้แก่ เหมา เจ๋อตง, เหมา เจ๋อหมิน, เหมา เจ๋อถาน และเหมา เจ๋อเจี้ยน ซึ่งบุตรคนหลังนี้เป็นบุตรบุญธรรม

ประวัติ[แก้]

ตามประวัติความเป็นมาที่เล่าต่อกันมาในครอบครัว บรรพบุรุษของตระกูลเหมาในเฉาชานคือ เหมา ไท่หัว ไท่หัวเดินทางออกจากบ้านเกิดที่มณฑลเจียงซีไปยังมณฑยูนนาน ที่นั่นเขาเข้าร่วมกบฏของจู หยวนจาง เพื่อต่อต้านราชวงศ์หยวน จากนั้นจูก็ได้โค่นล้มราชวงศ์หยวนและสถาปนาราชวงศ์หมิงขึ้นในปี พ.ศ. 1911 ไท่หัวแต่งงานกับหญิงท้องถิ่นในยูนนาน ในปี พ.ศ. 1923 ครอบครัวของไท่หัวได้ย้ายไปตั้งรกรากที่อำเภอเซียงเซียงถาน มณฑลหูหนาน ประมาณ 10 ปีต่อมา ลูกชายสองคนก็ได้ย้ายไปอยู่ที่อำเภอเฉาชานในจังหวัดเซียงถาน โดยมีเหมา อี๋ชางเป็นลูกหลานของพวกเขา[1]

เหมา อี้ชาง เกิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2413 เป็นบุตรคนเดียวของเหมา เอินผู่ และภรรยาชื่อหลิว เอินผู่เป็นเกษตรกรที่ยากจนมาตลอดชีวิต ทำให้เหมา อี๋ชางมีหนี้สินติดตัวมาตั้งแต่เด็ก[2] เขาหมั้นกับเหวินตั้งแต่เธออายุ 13 ปี ตอนเขาอายุ 10 ปี งานแต่งงานเกิดขึ้นในอีก 5 ปีต่อมาตอนเขาอายุได้ 15 ปี[2] เนื่องจากหนี้สินของบิดา อี๋ชางจึงต้องไปรับใช้ในทัพเซียงของเจิง กั๋วฟาน ในท้องถิ่นเป็นเวลา 2 ปี ในช่วงเวลานี้เขาเก็บเงินได้มากพอที่จะซื้อที่ดินคืนกลับมาได้จำนวนมาก ซึ่งเป็นที่ดินที่บิดาของเขาเคยสูญเสียไป[3] ด้วยความขยันขันแข็งและความมัธยัสถ์ เหมา อี๋ชาง จึงสามารถไต่เต้าจนกลายเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ในหมู่บ้าน[4] ตามเรื่องเล่าที่เล่าต่อกันมาตั้งแต่เหมา เจ๋อตง ถึงลูกสาวคนหนึ่งของเขา อี๋ชางมักจะพูดว่า:[5]

ความยากจนไม่ได้มาจากการกินมากหรือใช้จ่ายมากเกินไป แต่เกิดจากความไม่สามารถทางคณิตศาสตร์ ผู้ใดคำนวณเป็น ย่อมมีพอกินพอใช้ ผู้ใดคำนวณไม่เป็น แม้ภูเขาทองคำก็จะสุรุ่ยสุร่ายหมด![5]

หลิว มารดาของเหมา อี๋ชาง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2427 ขณะมีอายุ 37 ปี[2]

เหมา เจ๋อตง[แก้]

ก่อนที่เหมา เจ๋อตงจะเกิด เหมา อี๋ชางและภรรยาเคยมีบุตรชายด้วยกันสองคน แต่ทั้งคู่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารก[5] หลังจากเหมา เจ๋อตง เกิด บิดาและมารดาของเขาได้รับไก่ตัวผู้เป็นของขวัญตามธรรมเนียมท้องถิ่น[5] 2 ปีต่อมา ก็ได้กำเนิดบุตรชายคนที่สอง ชื่อเจ๋อหมิน ตามมาด้วยบุตรชายคนที่สาม ชื่อเจ๋อถาน เกิดในปี พ.ศ. 2448 ลูกสาวอีกสองคนเสียชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก แต่ครอบครัวได้รับบุตรสาวอีกคนมาเลี้ยงดู[5]

แม้ว่าจะเป็นเกษตรกรที่ได้รับการศึกษาเพียงเล็กน้อย แต่เหมา อี๋ชาง ก็กลายเป็นหนึ่งในคนที่ร่ำรวยที่สุดในหมู่บ้าน[6] เขาปลูกข้าวไว้เลี้ยงดูครอบครัว โดยแบ่งข้าวเป็น 2 ส่วน สองในสามเก็บไว้กินเอง ส่วนที่เหลือนำไปขายที่ตลาด[7] นอกจากนี้ เขายังจ้างคนงานอีก 2 คน และเป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อข้าวจากชาวนาเพื่อเอาไปขายต่อในเมือง[7] อาชีพพ่อค้าคนกลางลักษณะนี้เองที่ เหมา เจ๋อตงมองว่าเป็นการแสวงหาผลประโยชน์บนความเดือดร้อนของผู้อื่น[7] เหมา อี๋ชาง ยังเป็นผู้ให้กู้เงินที่คิดดอกเบี้ยสูง โดยยึดที่ดินของชาวนารายอื่นเป็นประกัน[8]

เหมา อี๋ชาง เสียชีวิตด้วยโรคไข้รากสาดน้อยในปี พ.ศ. 2463[9]

เหมา เจ๋อตง เคยเล่าว่าบิดาของเขาเป็นคนเคร่งครัดในระเบียบวินัย ชอบลงโทษเขาและพี่น้องด้วยการเฆี่ยนตีอย่างรุนแรง บิดาของเขามองว่าเขามีนิสัยเกียจคร้าน เพราะเหมา เจ๋อตงชอบอ่านหนังสือมากกว่าที่จะช่วยทำงานบ้าน[10][11][12]

อ้างอิง[แก้]

  1. Pantsov & Levine 2012, p. 11
  2. 2.0 2.1 2.2 Pantsov & Levine 2012, p. 13
  3. Short 1999, p. 20; Pantsov & Levine 2012, p. 13.
  4. Short 1999, p. 20.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 Pantsov & Levine 2012, p. 14
  6. Karl, Rebecca E. (2010). Mao Zedong and China in the twentieth-century world : a concise history. Durham [NC]: Duke University Press. pp. 4–5. ISBN 978-0-8223-4780-4. OCLC 503828045.
  7. 7.0 7.1 7.2 Karl, Rebecca E. (2010). Mao Zedong and China in the twentieth-century world : a concise history. Durham [NC]: Duke University Press. p. 5. ISBN 978-0-8223-4780-4. OCLC 503828045.
  8. Karl, Rebecca E. (2010). Mao Zedong and China in the twentieth-century world : a concise history. Durham [NC]: Duke University Press. p. 6. ISBN 978-0-8223-4780-4. OCLC 503828045.
  9. http://assets.cambridge.org/97811070/92723/excerpt/9781107092723_excerpt.pdf [bare URL PDF]
  10. Schram, Stuart (1966). Mao Tse-tung. London: Simon & Schuster.
  11. Terrill, Ross (1980). Mao: A Biography.
  12. Feigon, Lee (2002). Mao: A Reinterpretation. Chicago: Ivan R. Dee.