เหตุระเบิดที่จังหวัดยะลา พ.ศ. 2520

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหตุระเบิดที่ยะลา พ.ศ. 2520
หลังเสียงระเบิด ราษฎรต่างหมอบลงกับพื้นและวิ่งหนี
สถานที่สวนสาธารณะเทศบาลเมืองยะลา
จังหวัดยะลา ประเทศไทย
วันที่22 กันยายน พ.ศ. 2520 (46 ปีที่แล้ว)
15:15 น.
เป้าหมายสมาชิกพระราชวงศ์ไทย
ประเภทระเบิด, การลอบสังหาร
อาวุธระเบิดแสวงเครื่อง
ตายไม่มี
เจ็บ47 คน
ผู้ก่อเหตุองค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี (พูโล)

เหตุระเบิดที่ยะลา 22 กันยายน พ.ศ. 2520 เป็นเหตุการณ์ที่มีความพยายามลอบร้ายต่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลยโสภาคย์ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ขณะเสด็จพระราชดำเนินเยือนจังหวัดยะลา ในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2520 เชื่อว่าเป็นการปฏิบัติการขององค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี (พูโล)

เบื้องหลัง[แก้]

การก่อความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ สงขลา, ยะลา, นราธิวาส และ ปัตตานี นั้นมีจุดเริ่มต้นที่จังหวัดปัตตานีก่อน ซึ่งเดิมจังหวัดปัตตานี เป็นส่วนหนึ่งของรัฐเอกราชที่ชื่อว่า อาณาจักรปัตตานี และในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2351 ปัตตานีก็ได้กลายมาเป็นหัวเมืองประเทศราชของสยาม ที่ขึ้นตรงต่อราชสำนักสยาม

ต่อมาใน พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงจัดตั้ง "มณฑลเทศาภิบาล" ซึ่งทำให้แต่ละหัวเมืองเก็บภาษีเข้าสู่ราชสำนักสยามโดยตรง ทำให้ข้าราชการปัตตานีเกิดความไม่พอใจต่อสยาม ทำให้ พระยาวิชิตภักดี (เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน) รายาแห่งปัตตานี ได้วางแผนก่อขบถและปลุกระดมราษฎร 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กระด้างกระเดื่องต่อสยาม จนถูกทางราชสำนักสยามจับกุมตัว หลังจากนั้น ก็มีเหตุความไม่สงบในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่เรื่อยมา แม้ว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลจะพยายามแก้ไขปัญหานี้ แต่ก็ยังไม่บรรลุผล

เหตุการณ์[แก้]

เดือนกันยายน พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ มีหมายกำหนดการในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนเพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจและเยี่ยมเยือนราษฎรในจังหวัดภาคใต้

แผนการ[แก้]

หน่วยข่าวกรองของรัฐ ได้รับข้อมูลตรงกันว่า ขบวนการพูโลจะก่อเหตุร้ายขึ้น ในวันที่ 22 กันยายน 2520 ซึ่งตามหมายกำหนดการ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานรางวัลแก่ครูสอนศาสนาอิสลามภาคใต้ และพระราชทานธงประจำรุ่นแก่ลูกเสือชาวบ้าน ที่สนามโรงพิธีช้างเผือก ในสวนสาธารณะเทศบาลเมืองยะลา โดยสมาชิกขบวนการพูโลได้ประชุมกันถึงแผนการดังกล่าวหลายครั้ง ที่ตุมปัต รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย โดยให้สมาชิกในขบวนการแต่งกายเป็นลูกเสือชาวบ้าน ร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จฯ และเมื่อเมื่อสบโอกาสก็จะเข้าประทุษร้าย แต่ถึงกระนั้น ในวันที่ 21 กันยายน 2520 ก่อนเหตุระเบิดราว 20 ชั่วโมง ได้มีตำรวจชั้นนายพลขี่รถมอเตอร์ไซต์ฝ่าสัญญาณไฟจราจรพุ่งชนรถยนต์พระที่นั่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงขับอยู่ เหตุการณ์อลหม่านเล็กน้อย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทอดพระเนตรอยู่โดยไม่มีพระราชกระแสรับสั่งอย่างใด จนกระทั่งคนเจ็บที่กำลังหมดสติถูกนำตัวไปพ้นที่เกิดเหตุแล้ว จึงทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จฯต่อไปยังพระตำหนัก

แม้ฝ่ายทหาร ตำรวจ พลเรือน ได้ร่วมวางแผนกันเพื่อถวายความปลอดภัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและพระบรมวงศานุวงศ์อย่างเต็มกำลัง แต่ก็ได้เกิดเหตุร้ายขึ้น เมื่อคนร้ายได้ลอบวางระเบิด 2 ลูก บริเวณปะรำพิธีใกล้ลาดพระบาทที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินผ่าน โดยกลวิธีในการวางระเบิดนั้น ได้วางไฟแช็กที่ต่อสายเอ็นไนลอนไว้กับวงจรของระเบิด หากมีคนหยิบไฟแช็กขึ้นมาก็จะเกิดระเบิดทันที และเมื่อประชาชนแตกตื่นก็จะเหยียบกับระเบิดลูกที่สองซึ่งจะทำให้ระเบิดลูกที่สองระเบิดขึ้นทันที

เหตุระเบิด[แก้]

แผนภาพแสดงตำแหน่งของระเบิด

22 กันยายน 2520 เวลา 15.15 น. ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถและพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ทรงประทับบนพลับพลาที่ประทับ ซึ่งมีประชาชนมาเฝ้ารับเสด็จฯราว 30,000 คน ก็ได้มีราษฏรที่มาเฝ้ารับเสด็จฯไปหยิบไฟแช็กดังกล่าวเป็นเหตุให้ระเบิดลูกแรกเกิดระเบิดขึ้น ราษฏรต่างพากันแตกตื่นและเหยียบกับระเบิดลูกที่สอง ทำให้ระเบิดลูกที่สองเกิดระเบิดขึ้น ระเบิดลูกแรกห่างจากพลับพลาที่ประทับ 60.15 เมตร ห่างจากลาดพระบาท 5.20 เมตร และระเบิดลูกที่สองห่างจากพลับพลาที่ประทับ 105.15 เมตร ห่างจากลาดพระบาท 6.00 เมตร แรงระเบิดทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 47 คน บาดเจ็บสาหัส 11 คน ขณะที่เกิดความโกลาหลนั้น บรรดาเจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาลูกเสือชาวบ้านได้เข้าระงับควบคุมฝูงชนอย่างฉับพลัน มีการใช้เครื่องขยายเสียงแบบมือถือที่เตรียมไว้แล้วปลอบโยนประชาชนมิให้ตื่นตระหนกและให้อยู่กับที่ ขณะเดียวกันก็มีการลำเลียงผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาล ในการนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถและพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์มิได้ทรงรับบาดเจ็บใดๆ

ขณะเกิดเหตุนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงยืนประทับอยู่กับที่และทอดพระเนตรมองเหตุการณ์ต่างๆพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ยืนรายล้อมถวายการอารักขา ในขณะที่พิธีการต้องหยุดชะงักชั่วครู่

ภายหลังเกิดเหตุ[แก้]

ภายหลังเกิดเหตุ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่อไป โดยมิได้แสดงพระอาการปริวิตกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีพระราชดำรัสให้ทุกคนมีจิตใจเข้มแข็งไม่ตื่นเต้นต่อสถานการณ์ เมื่อจบคำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ซึ่งประทับอยู่ในพลับพลาฯทรงนำเหล่าราษฎรร้องเพลง “เราสู้” และภายหลังเสร็จพระราชกรณียกิจ เวลา 18.55 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลจังหวัดยะลา โดยจากเหตุการณ์นี้ มีผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น 47 คน [1]


สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยังมีพระราชดำรัสต่อเหตุการณ์ดังกล่าวว่า

...ตอนนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่บนพลับพลาซึ่งอยู่สูงจากพื้นดิน พอที่จะมองเห็นเหตุการณ์ได้อย่างชัดเจน เมื่อมีเสียงระเบิดตูมขึ้นสองครั้ง ประชาชนที่มารับเสด็จกันแน่นต่างพากันวิ่งหนีอย่างอลหม่าน...

— สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

1 สัปดาห์ภายหลังเกิดเหตุ กลุ่มนักศึกษาอาชีวะ ขบวนการกระทิงแดง ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาตนเองกรณีระเบิดที่ยะลา และกล่าวหารัฐบาลนายธานินทร์ว่า "ไม่จงรักภักดีเพียงพอ" ที่จะปกป้องราชบัลลังก์ ทั้งๆที่รัฐบาลนายธานินทร์เป็นรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักโดยตรง

เหตุการณ์ระเบิดในครั้งนี้เป็นหนึ่งในข้ออ้างของการรัฐประหารล้มรัฐบาลธานินทร์ในอีก 3 สัปดาห์ต่อมาที่นำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

คำพิพากษา[แก้]

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนสอบสวน จนสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้ทั้งหมด 4 คน และหลังจาก พนักงานอัยการ โจทก์ และจำเลยสืบพยานเสร็จแล้ว ศาสทหารกรุงเทพ (ศาลอาญา) ได้มีคำพิพากษา "ข้อหาความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรเกี่ยวกับกบฏ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร และความผิดฐานเป็นอั้งยี่และซ่องโจร" ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสี่

อ้างอิง[แก้]

  1. ไทยรัฐ. 23 กันยายน 2520