พระยาวิชิตภักดี (เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน)
พระยาวิชิตภักดี (เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน) | |
---|---|
![]() | |
เกิด | พ.ศ. 2420 เมืองปัตตานี ประเทศสยาม ![]() |
เสียชีวิต | พ.ศ. 2477 รัฐกลันตัน นิคมช่องแคบ ![]() |
ศาสนา | อิสลาม |
คู่สมรส | เต็งกูบุตรีกลันตัน รายา เมืองสายบุรี |
บุตร | 7 คน |
บิดามารดา | พระยาวิชิตภักดี (เต็งกูสุไลมานซารีฟุดดีน) |
พระยาวิชิตภักดี (เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน) (มลายู: Tengku Abdul Kadir Kamaruddin) เป็นพระยาเมืองปัตตานีในช่วงปี พ.ศ. 2442 - 2445 ถือเป็นรายาปัตตานีองค์ที่ 5 และเป็นองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์กลันตันที่ปกครองปัตตานี
ประวัติ[แก้]
เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน เป็นโอรสในเต็งกูสุไลมานซารีฟุดดีน โดยมีพระพี่น้องร่วมกัน 4 คนดังนี้ คือ
- เต็งกูสุหลง ชายาเต็งกูบิตารา ชายาท่านนี้มีมารดาคือเต็งกูนิปูเตะ ธิดารายาเมืองสายบุรี
- เต็งกูบือซาร์ ต่วนกัมบัล ชายาเต็งกูมูฮัมหมัด อุปราชเมืองปัตตานี
- เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน
- เต็งกูมูฮัมหมัดซอและ
โอรส-ธิดา[แก้]
เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน มีทายาทจากเต็งกูบุตรีกลันตันด้วยกัน 6 คน โดยเป็นโอรส 3 คน ธิดา 3 คน ได้แก่
- เต็งกูอะหมัดนูรุดดีน (เต็งกูศรีอาการายา) จากต่วนนามัสปะตานี
- เต็งกูซูไบด๊ะ (เต็งกูบือซาร์) พระอัยกีในสมเด็จพระราชาธิบดีตวนกู ซัยยิด ซีรอญุดดีน รายาแห่งรัฐปะลิส
- เต็งกูยูโซฟชาฟุดดีน
- เต็งกูราว์เดาะ ประไหมสุหรีรายาหะยี ฮาหมัดเประ
- เต็งกูกามารีเยาะ ทายาทอินเจะมอร์นะปะตานี
- เต็งกูมะห์มูดหมูดมะห์ยุดดีน
- เต็งกูยะห์ ชายาเต็งกูอับดุลกอเดร์ (เต็งกูปุตรา) บุตรรายาเมืองสายบุรี (อีก 1 คน)
รายาแห่งปัตตานี[แก้]
หลังจากพระยาวิชิตภักดี (เต็งกูสุไลมานซารีฟุดดีน) บิดาได้ถึงแก่พิราลัยแล้ว เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน จึงได้ขึ้นรั้งตำแหน่งเจ้าเมืองปัตตานีในปี พ.ศ. 2441 ระหว่างที่รอพระบรมราชโองการแต่งตั้งเจ้าเมืองนี้เอง พระยาสุขุมนัยวินิตเกณฑ์กำลังทหารกว่า 600 คนมาบีบบังคับการเสียภาษีของประชาชน และสั่งห้ามมิให้รั้งตำแหน่งเจ้าเมืองลงโทษผู้ขาดละหมาดวันศุกร์ สร้างความคับแค้นใจแก่เขาอย่างมาก หลังเต็งกูอับดุลกอเดร์ได้รับพระบรมราชโองการให้เป็นเจ้าเมืองปัตตานีในตำแหน่ง "พระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาเขตประเทศราช" แล้ว เขาจึงเขียนจดหมายร้องเรียนความทุกข์ต่างๆไปยังข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำสิงคโปร์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2441 โดยระบุว่านโยบายของสยามต่อปัตตานี "กำลังนำไปสู่ความพินาศของบ้านเมืองของข้าพเจ้า"[1] อังกฤษต้องการจะรักษาไมตรีกับสยามจึงเมินเฉยต่อจดหมายดังกล่าว
คิดขบถต่อสยาม[แก้]
หลังถูกอังกฤษเมินเฉย เขาจึงเรียกประชุมเจ้าเมืองต่างๆที่ปัตตานี ที่ประชุมเห็นชอบที่จะก่อขบถขึ้นในปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2444 โดยหวังว่าเมื่อหัวเมืองทางใต้ลุกฮือขึ้น ฝรั่งเศสจะถือเข้าตีสยามจากอินโดจีนทางเหนือทำให้สยามคงต้องยอมปล่อยหัวเมืองมลายูให้เป็นอิสระ[2] อย่างไรก็ตาม ก่อนการขบถเพียงหนึ่งเดือน ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำสิงคโปร์ได้พบกับเต็งกูอับดุลกอเดร์ และเกลี้ยกล่อมให้เขาอดทนไม่ใช้ความรุนแรง โดยรับปากว่าจะปรึกษากับรัฐบาลอังกฤษให้หาทางคืนอำนาจให้รายาปัตตานี[3] เต็งกูอับดุลกอเดร์คล้อยตามจึงยกเลิกแผนก่อขบถ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษกลับตัดสินใจนำข่าวการขบถนี้แจ้งไปยังรัฐบาลสยามเสียเอง
ลงนามให้สยามปกครอง[แก้]
เมื่อรัฐบาลสยามทราบข่าวจากอังกฤษว่าบรรดาหัวเมืองมลายูวางแผนขบถ จึงโปรดเกล้าให้พระยาศรีสหเทพลงไปสืบความ หลังพระยาศรีสหเทพรับฟังปัญหาต่างๆจากเต็งกูอับดุลกอเดร์แล้ว พระยาศรีสหเทพได้พูดจาหว่านล้อมให้เต็งกูอับดุลกอเดร์ลงนามในหนังสือฉบับหนึ่งซึ่งเขียนด้วยภาษาไทยจนสำเร็จ เมื่อพระยาศรีสหเทพเดินทางออกจากปัตตานีไปยังสิงคโปร์แล้ว เต็งกูอับดุลกอเดร์จึงให้พนักงานแปลหนังสือดังกล่าวให้ถูกต้องอีกครั้ง ก่อนจะพบว่าเนื้อหาของหนังสือดังกล่าวแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากที่พระยาศรีสหเทพได้อ่านให้ฟัง โดยมีเนื้อหาที่แท้จริงว่า "รายาปัตตานีเห็นชอบและยอมรับพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ เพื่อความมั่นคงของปัตตานี และเห็นชอบให้แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงของสยามที่มีอำนาจเด็ดขาดทุกเรื่องในปัตตานี"[3] ส่วนพระยาศรีสหเทพได้เดินทางไปยังสิงคโปร์เพื่อแจ้งต่อข้าหลวงอังกฤษว่าปัญหาปัตตานีคลี่คลายแล้ว
เต็งกูอับดุลกอเดร์ได้พยายามต่อรองกับรัฐบาลสยามเพื่อขอให้ปัตตานีปกครองตนเองเหมือนแต่ก่อน แต่ก็ไม่เป็นผล จึงร้องขอให้อังกฤษเข้าช่วยเจรจากับรัฐบาลสยาม โดยกล่าวว่าถ้าอังกฤษไม่ให้ความร่วมมือ ปัตตานีก็ไม่มีทางเลือกนอกจากก่อขบถ[3] อังกฤษเมื่อทราบเช่นนี้จึงแจ้งไปยังรัฐบาลสยาม รัฐบาลสยามจึงโปรดเกล้าให้พระยาศรีสหเทพลงมาปัตตานีอีกครั้งเพื่อชำระความ
ถูกปลดจากตำแหน่งและถูกควบคุมตัว[แก้]
พระยาศรีสหเทพในฐานะเสนาบดีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเดินทางไปยังปัตตานีพร้อมตำรวจสยามราว 100 นาย และได้เข้าพบเต็งกูอับดุลกอเดร์ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 และบังคับให้เต็งกูอับดุลกอเดร์ลงนามในข้อบังคับปกครองเจ็ดหัวเมือง พ.ศ. 2445 โดยให้เวลา 5 นาทีไม่เช่นนั้นจะถูกปลดจากเจ้าเมือง เต็งกูอับดุลกอเดร์ไม่ยอมลงนามจึงถูกปลดจากตำแหน่งและถูกกุมตัวมาที่สงขลา หลังไม่กี่วันหลังจากนั้น เจ้าเมืองระแงะและเจ้าเมืองสายบุรีก็ถูกจับด้วยและถูกนำตัวไปยังพิษณุโลกโดยต้องโทษพิพากษาจำคุก 3 ปี [4]
ได้รับอภัยโทษ[แก้]
ภายหลังเต็งกูอับดุลกอเดร์ได้สำนึกผิดและขอไปอยู่อย่างสามัญชน รับปากว่าจะไม่ข้องเกี่ยวกับการปกครองใดๆ จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษให้เดินทางกลับปัตตานี[5] เมื่อเดินทางไปถึงปัตตานีมีราษฎรประมาณ 500 คน นั่งเรือ 80 ลำ ไปรับที่ปากน้ำ อีกประมาณ 2,000 คนยืนต้อนรับอยู่บนตลิ่งสองข้างแม่น้ำตานี อยู่ที่ปัตตานีได้ไม่นานก็ย้ายไปพำนักในรัฐกลันตันในเวลาต่อมาและถึงแก่อนิจกรรมที่นั่นเมื่อปี พ.ศ. 2477
เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)
อ้างอิง[แก้]
- ↑ บางนรา. ปัตตานี : อดีต-ปัจจุบัน. หน้า ๘๕-๘๗. อ้างถึงใน ทวีศักดิ์ เผือกสม. “อยุธยาในเงื้อมมือของปัตตานี,” หน้า ๔๓.
- ↑ Nik Anuar Nik Mahmud. Sejarah Perjuangan Melayu Patani. p.31.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 จดหมายลับของ Swettenham ถึง CO, Rahsia และ Sulit ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๐๑ อ้างถึงใน Ibid.
- ↑ รัตติยา สาและ. การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกที่ปรากฏในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส. (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๔), หน้า ๕๔.
- ↑ เตช บุนนาค. ขบถ ร.ศ. ๑๒๑. หน้า ๙๗.
- อิบรอฮิม ชุกรี. ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี. เชียงใหม่:ซิลค์เวอร์ม บุคส์, 2549 ISBN 974-9575-99-7, หน้า 68-71
- รศ.มัลลิกา คณานุรักษ์. บุคคลสำคัญของปัตตานี, 2545
ก่อนหน้า | พระยาวิชิตภักดี (เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
เต็งกูสุไลมานซารีฟุดดีน | ![]() |
รายาแห่งปัตตานี (พ.ศ. 2441 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445) |
![]() |
สยามยกเลิกตำแหน่งและเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นมณฑลปัตตานี |